'โฆษกรัฐบาล' ยันจ่ายเบี้ย 'ผู้พิการ-ผู้สูงอายุ' พร้อมพัฒนาระบบ E-Payment

'โฆษกรัฐบาล' ยันจ่ายเบี้ย 'ผู้พิการ-ผู้สูงอายุ' พร้อมพัฒนาระบบ E-Payment

"โฆษกรัฐบาล" ยืนยันเดินหน้าจ่ายเบี้ยผู้พิการและผู้สูงอายุ พร้อมพัฒนาระบบ E-Payment เพื่อผู้มีสิทธิได้รับเงินโดยตรง

เมื่อวันที่ 14 ก.ย.63 เวลา 13.00 น. ณ ศูนย์แถลงข่าว ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีชี้แจงการจ่ายเบี้ยคนพิการและเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ยืนยันว่า ทั้งกรมบัญชีกลาง สำนักงบประมาณ กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้ดำเนินการจัดสรรงบประมาณสำหรับจ่ายเบี้ยคนพิการและเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุอย่างต่อเนื่อง หลังจากได้มีการปรับปรุงตัวเลขจากเดิมที่ตั้งเบิกจ่ายไว้ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2562 พบว่า จำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น 184,538 ราย จำนวนผู้พิการเพิ่มขึ้น 265,608 ราย ประกอบกับการพัฒนาการโอนตรงด้วยระบบ E-Payment เพื่อเป็นการจ่ายเบี้ยสู่บัญชีธนาคารของคนพิการและผู้สูงอายุโดยตรง ซึ่งมีสูงถึงร้อยละ 80 ส่วนที่เหลือ ร้อยละ 20 ซึ่งเป็นผู้ที่ไม่ได้ลงทะเบียนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะทำหน้าที่จ่ายเบี้ยเป็นเงินสด

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรียืนยันว่า หลังจากการการปรับปรุงระบบจากนี้ไป การชำระเงินให้กับผู้มีสิทธิจะมีความคล่องตัวเพิ่มมากขึ้น เพราะเมื่อผู้สูงอายุหรือผู้พิการได้ขึ้นทะเบียนแล้ว จะได้รับเบี้ยยังชีพในเดือนถัดไปทันทีโดยไม่ต้องรอการประกาศสิทธิ์เหมือนในอดีต

สำหรับงวดเดือนกันยายนนี้ ให้กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นได้อนุมัติงบเหลือจ่าย เพื่อนำไปจ่ายเบี้ยคนพิการ และเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ทันที จำนวน 2,400 ล้านบาท แบ่งเป็น

  • เบี้ยคนพิการ 700 ล้านบาท
  • เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 1,700 ล้านบาท ที่มีการแบ่งจ่ายแบบขั้นบันไดตามช่วงอายุ

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติม ถึงความล่าช้าในการใช้จ่ายงบประมาณประจำปี พ.ศ. 2564 ตามร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของผู้สภาผู้แทนราษฎร ในวาระที่ 2 และ 3 ในช่วงสัปดาห์นี้ ซึ่งอาจมีความล่าช้าไม่เกิน 1 อาทิตย์ และสำนักงบประมาณจะนำเรื่องดังกล่าวแจ้งให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีรับทราบ เนื่องจากต้องมีการใช้งบประมาณประจำปี 2563 ไปพลางก่อน

ทั้งนี้ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงผลการวิจัยว่าจะมีจำนวนผู้ตกงานในภาคธุรกิจการท่องเที่ยว ธุรกิจค้าปลีก/ค้าส่ง ซึ่งข้อมูลดังกล่าวเป็นการทำวิจัยตั้งแต่เดือนเมษายน ซึ่งไม่ใช่ข้อมูลล่าสุดและเป็นเพียงการนำตัวเลขจากสถิติมาคาดคะเนสถานการณ์เศรษฐกิจ หากนำมาอ้างอิงอาจคลาดเคลื่อนและผิดพลาดได้ ซึ่งรัฐบาลได้จัดเตรียมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ทั้งการกระตุ้นการท่องเที่ยว ที่รัฐบาลสนับสนุนภาคธุรกิจโรงแรมและสายการบิน มาตรการส่งเสริมการจ้างงานสำหรับบัณฑิตจบใหม่ตั้งแต่ระดับปริญญาตรี ปวช. และ ปวส. กว่า 260,000 ตำแหน่ง

โดยรัฐบาลจะสนับสนุนผู้ประกอบการในการจ่ายเงินเดือนร้อยละ 50 รวมถึง ศบศ. จะมีการพิจารณามาตรการต่าง ๆ ในอนาคต อาทิ สนับสนุน Soft Loan หรือกระตุ้นการใช้จ่ายในร้านค้าปลีกขนาดย่อย เพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป