รถไฟฟ้าสายสีส้มวุ่น รฟม.รื้อกติกาประมูล เอกชนหวั่นเปิดช่องไม่สุจริต

รถไฟฟ้าสายสีส้มวุ่น รฟม.รื้อกติกาประมูล เอกชนหวั่นเปิดช่องไม่สุจริต

รฟม.ปรับกติกาชิงรถไฟฟ้าสายสีส้ม บางขุนนนท์–มีนบุรี เพิ่มน้ำหนักด้านเทคนิคควบคู่ราคา สอดคล้องข้อเสนอ “อิตาเลียนไทย” ลอดเจ้าพระยาต้องเข้มเทคนิค พร้อมยื่นซองขยายเวลา 45 วัน “บีทีเอส” ยื่นค้าน ห่วงเปิดช่องทางไม่สุจริตเอื้อเอกชน

การประมูลโครงการรถไฟสายสีส้มตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์ ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร และการติดตั้งระบบรถไฟฟ้าและการเดินรถตลอดเส้นทางสายสีส้ม (มีนบุรี-บางขุนนนท์) ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร วงเงิน 142,789 ล้านบาท มีผู้ซื้อซองข้อเสนอ 10 ราย แต่กำลังจะปรับหลักเกณฑ์การประมูลใหม่

คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่มีนายกิตติกร ตันเปาว์ รองผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นประธานได้ประชุมวานนี้ (21 ส.ค.) เพื่อปรับเกณฑ์การประมูล

การประชุมดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่บริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ยื่นหนังสือขอให้ปรับเกณฑ์การประมูลโครงการนี้ โดยไม่ควรพิจารณาให้ผู้ชนะการคัดเลือกเป็นผู้ที่เสนอผลประโยชน์ทางการเงินสูงสุดเท่านั้น แต่ควรพิจารณาถึงปัจจัยและผลกระทบด้านอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น ข้อเสนอด้านเทคนิคการดำเนินงาน ความน่าเชื่อถือ ศักยภาพและความสามารถของผู้ยื่นข้อเสนอ

รฟม.เคาะรื้อเกณฑ์ประมูล

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม.เปิดเผยว่า ขณะนี้ที่ประชุมคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีมติปรับหลักเกณฑ์การพิจารณาข้อเสนอประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มดังกล่าว โดยปรับให้พิจารณาข้อเสนอทางด้านเทคนิคควบคู่กับด้านราคา เพราะพบว่าหลักเกณฑ์ดังกล่าวจะให้ประโยชน์กับรัฐได้อย่างสูงสุด

อีกทั้งยังมีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์ เนื่องจากการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มมีช่วงลอดผ่านแม่น้ำเจ้าพระยา ดังนั้นข้อเสนอทางด้านเทคนิคจึงมีความจำเป็นที่จะต้องนำมาพิจารณา โดยยืนยันว่าการปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์ดังกล่าวสามารถดำเนินการได้ เพราะตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 ไม่ได้กำหนดห้ามดำเนินการ

อีกทั้งยังไม่ขัดต่อระเบียดจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ เพราะถ้าตรวจสอบเนื้อหาของกฎหมายได้กำหนดให้พิจารณาการจัดซื้อจัดจ้างที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงพิจารณาได้ด้วย

นอกจากนี้ พรบ.ร่วมทุนฯ ยังสงวนสิทธิ์ให้คณะกรรมการคัดเลือกสามารถพิจารณาเรื่องของการเปลี่ยนแปลง แก้ไขเพิ่มเติมเอกสารประกวดราคาได้ 

159800813563

คลอดเกณฑ์ใหม่สัปดาห์หน้า

ทั้งนี้ ในสัปดาห์หน้าจะมีการออกเอกสารประกวดราคาเพิ่มเติมจากการปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์ดังกล่าวให้กับผู้ซื้อซองทุกราย และขยายระยะเวลาการยื่นข้อเสนอออกไปอีก 45 วัน จากเดิมที่ต้องยื่นซองข้อเสนอภายใน 23 ก.ย.นี้ ไปจนถึงวันที่ 6 พ.ย.2563 เพื่อให้ผู้ซื้อทุกรายได้เตรียมตัว

โดยยืนยันการดำเนินการดังกล่าวมีความโปร่งใส และเป็นประโยชน์แก่รัฐมากที่สุด ทั้งยืนยันว่าการเปลี่ยนแปลงข้อเสนอไม่ได้ทำให้รายใดรายหนึ่งเสียเปรียบ เพราะเกณฑ์การพิจารณาข้อเสนอจะยึดการให้คะแนนซองข้อเสนอเทคนิคสัดส่วน 30% และซองข้อเสนอราคา 70% หากคะแนนทางเทคนิคไม่ต่างกันมาก คะแนนข้อเสนอราคาก็จะมีน้ำหนัก เช่น คะแนนเทคนิกรายแรกได้ 86 รายสองได้ 99 คะแนน หากรายแรกเสนอข้อเสนอทางการเงินสูงก็มีโอกาสชนะรายที่สองเช่นกัน

ใช้เกณฑ์ใหม่ทุกโครงการอนาคต

ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบกับหลักเกณฑ์การประเมินเดิม มีความแตกต่างกันที่ข้อกำหนดเดิมจะไม่มีการพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคมาเป็นน้ำหนักการให้คะแนน เพียงแค่ผ่านเกณฑ์ให้ถูกต้องตามกำหนด หากไม่ผ่านก็ถูกปัดตก มาพิจารณาข้อเสนอราคาอย่างเดียวเท่านั้น อย่างไรก็ตาม หลักเกณฑ์การพิจารณาให้คะแนนทั้งซองเทคนิค และด้านราคานี้ จะถูกนำมาปรับใช้กับการประมูลทุกโครงการของ รฟม.ในโครงการรถไฟฟ้าทุกสายด้วย

นอกจากนี้ ยืนยันว่าการปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์ไม่ได้เกิดขึ้นหลังจากบริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ยื่นหนังสือขอปรับหลักเกณฑ์ แต่เป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้ เพียงแต่หลักเกณฑ์เดิมที่ประกาศให้ซื้อซองประกวดราคาเกิดขึ้นก่อน พรบ.ร่วมทุนฯ ฉบับใหม่จะมีผลบังคับใช้

ส่วนผู้ซื้อที่ไม่เห็นด้วยและยื่นคัดค้านให้ใช้หลักเกณฑ์เดิมนั้น หากจะไปฟ้องกระบวนการศาลก็เป็นสิทธิ์ของรายนั้นที่จะใช้อำนาจตามศาล แต่ รฟม.ยืนยันว่าหลักเกณฑ์ที่ทำใหม่ไม่ได้ทำให้รายใดเกิดข้อได้เปรียบเสียเปรียบ เพราะได้ขยายระยะเวลาในการยื่นข้อเสนอหลักเกณฑ์ใหม่ออกไปอีก 45 วัน เพื่อให้เอกชนได้พิจารณาหลักเกณฑ์ข้อกำหนดต่างๆ

“ศักดิ์สยาม”สั่งยึดระเบียบ

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ยังไม่ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับกรณีที่ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ได้ทำหนังสือเรื่องการประเมินข้อเสนอการร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ซึ่งในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มองว่า รฟม.จะดำเนินการปรับหลักเกณฑ์ในการประเมินข้อเสนออย่างไรก็ขอให้ยึดตามระเบียบข้อกำหนดในเอกสารประกวดราคา (RFP)

ส่วนเรื่องการขยายเวลายื่นข้อเสนอที่จะทำให้โครงการล่าช้าออกไปอีกนั้น ซึ่งขอให้เน้นย้ำที่การดำเนินการต้องตามระเบียบขั้นตอนประมูลเช่นกัน หากสามารถทำได้ไม่ขัดต่อ RFP แต่ส่งผลกับการประมูลล่าช้าออกไปก็ต้องให้เป็นไปตามระเบียบกำหนด

“บีทีเอส”ค้านเปลี่ยนเกณฑ์

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ทำหนังสือลงวันที่ 20 ส.ค.2563 เรื่องโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ถึงผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) 

หนังสือดังกล่าวระบุถึงกรณีที่มีผู้ซื้อเอกสารข้อเสนอการร่วมลงทุนครงกรรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางชุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) รายหนึ่งทำหนังสือเพื่อให้พิจรณาปรับเปลี่ยนการประเมินและเปรียบเทียบผลประโยชน์ทางการเงินสูงสุดเป็นผู้ชนะการคัดเลือก แต่ควรพิจารณาปัจจัยและผลประโยชน์อื่น เช่น ข้อเสนอด้านเทคนิคร่วมด้วย 

จึงขอเรียนถาม รฟม.ว่า ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร เนื่องจากหากเป็นความจริง บริษัทฯ เห็นว่า ถ้าพิจารณาปรับเปลี่ยนวิธีการประเมินข้อเสนอดังกล่าว จะถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เป็นสาระสำคัญและไม่เคยมีการดำเนินการลักษณะนี้กับโครงการโครงสร้างพื้นฐนขนาดใหญ่ที่เป็นโครการร่วมลทุนระหว่างรัฐและเอกชนมาก่อน

นอกจากนั้น บริษัทฯ เห็นว่า ผู้ที่จะเข้ายื่นข้อสนอในโครงการนี้ได้ต้องผ่านเกณฑ์ด้านต่างๆ ของ รฟม. ซึ่งต้องเป็นบริษัทหรือกลุ่มบริษัทที่มีศักยภาพและความเป็นไปได้ในการดำเนินงานสูง ดังนั้น จึงเป็นไปไม่ได้ที่บริษัทที่ผ่านเกณฑ์จะไม่ทำตามข้อเสนอที่ได้ยื่นต่อ รฟม. 

หวั่นเอื้อประโยชน์รายอื่น

อีกทั้งบริษัทที่ยื่นข้อเสนอยังต้องมีภาระรับผิดชอบค้ำประกันต่อ รฟม.ด้วย และที่สำคัญการพิจรณาผู้ชนะการคัดเลือกโดยใช้ข้อเสนอทางเทคนิคทั้งๆที่ได้พิจาณากำหนดหลักเกณฑ์การพิจรณาผู้ชนะการคัดเลือกมาแล้ว จะเป็นช่องทางที่ส่อไปในทางไม่สุจริต ไม่เป็นธรรม หรืออาจเอื้อประโยชน์ต่อบุคคลหนึ่งบุคคลใดได้ การพิจารณาผู้เสนอผลประโยชน์ทางการเงินสูงสุดกับรัฐให้เป็นผู้ชนะการประมูล จึงจะก่อประโยชน์สูงสุดแก่รัฐและมีความธรรมมากที่สุด บริษัทฯ จึงเห็นว่าเป็นการไม่สมควร ถ้หากจะปรับแก้วิธีการประเมินข้อเสนอดังกล่าว

นอกจากนี้ บริษัทฯ เห็นว่าการร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีสัมในครั้งนี้ จะมิใช่การจัดซื้อจัดจ้างกับหน่วยงานภาครัฐ แต่การยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการในข้อเท็จจริงข้างต้น เทียบเคียงได้ว่าเป็นการอุทธรณ์ ซึ่งแม้ไม่ได้มีกำหนดไว้ในกฎหมายร่วมลทุนก็ตาม คณะกรมการคัดเลือกควรต้องนำกฎกระทรวงการคลังกำหนดเรื่องการจัดซื้อจัตจ้างกับหน่วยงานของรัฐที่ใช้สิทธิอุทธรณ์ไม่ได้ พ.ศ.2560 มาใช้บังคับโดยอนุโลม และถือเป็นการอุทธรณ์ที่ไม่สามารถกระทำได้