ทำอย่างไรให้ SMEs เข้าถึง Soft Loan?

ทำอย่างไรให้ SMEs เข้าถึง Soft Loan?

ไขปมธุรกิจ SMEs เหตุใดจึงเข้าไม่ถึงมาตรการ "ซอฟท์โลน" หรือการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำจากแบงก์ชาติ ทั้งที่มาตรการนี้เข้ามาช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีโดยตรง โดยเฉพาะช่วงวิกฤติโควิด-19

ซอฟท์โลน (Soft Loan) หรือการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำจากธนาคารแห่งประเทศไทย (แบงก์ชาติ) ผ่านธนาคารพาณิชย์ เป็นหนึ่งในมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อม หรือเอสเอ็มอี (SMEs) ที่แบงก์ชาติประกาศออกมาตั้งแต่ช่วงเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม นับจนถึงวันที่ 13 ก.ค.  ธนาคารพาณิชย์อนุมัติสินเชื่อให้กับเอสเอ็มอีไปเพียง 103,750 ล้านบาท หรือคิดเป็น 1 ใน 5 ของวงเงินทั้งหมด และมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเพียงแค่ 63,342 รายเท่านั้น ที่ได้รับสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ

นั่นหมายความว่า จะมีเอสเอ็มอีที่สามารถขอซอฟท์โลนได้แค่ประมาณ 520,000 ราย หรือเท่ากับ 17% ของเอสเอ็มอีทั้งหมด เนื่องจากเอสเอ็มอีจำนวน 520,000 รายนี้ เป็นผู้มีสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์อยู่ก่อนแล้ว แต่ในจำนวนดังกล่าวก็มีเอสเอ็มอีได้รับสินเชื่อซอฟท์โลนเพียงแค่ 12%

ขณะที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอีกกว่า 83% หรือประมาณ 2,480,000 ราย ที่ไม่เคยมีหรือไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ได้ตั้งแต่ก่อนเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยิ่งไม่มีสิทธิเข้าถึงสินเชื่อซอฟท์โลนเลย

  • ทำไม SMEs เข้าไม่ถึง Soft Loan

จากผลการสำรวจที่สภาเอสเอ็มอีได้ทำการสำรวจความต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย เมื่อวันที่ 25 มี.ค. ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) พบว่า

  • ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกว่า 40.52% ที่มีรายได้ต่อปีอยู่ระหว่าง 1-10 ล้านบาท (ระหว่างวันละ 2,730 ถึง 27,300 บาทต่อวัน) ส่วนมากมีการจ้างแรงงาน 5-10 คน เอสเอ็มอีกลุ่มนี้ส่วนมากอยู่ในกลุ่มธุรกิจค้าปลีกบริการอาหารและเครื่องดื่ม สินค้าค้าปลีกอุปโภคบริโภค และธุรกิจการเกษตรที่เป็นซัพพลายเชนให้กับธุรกิจค้าปลีกค้าส่งไปเป็นสินค้า ขับเคลื่อนธุรกิจต่อเนื่องจนไปถึงมือผู้บริโภคขั้นสุดท้าย

  • ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 18.08% มีรายได้ต่อปีไม่เกิน 1 ล้านบาท (น้อยกว่า 2,730 บาทต่อวัน) ส่วนมากมีการจ้างแรงงาน 1-5 คน กลุ่มนี้ส่วนมากอยู่ในกลุ่มธุรกิจค้าปลีกสินค้า อย่างร้านโชห่วยและค้าปลีกบริการอย่างบะหมี่ชายสี่หมี่เกี๊ยว

  • ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่มีรายได้ต่อปีอยู่ระหว่าง 10-50 ล้านบาท คิดเป็น 29.74% ส่วนใหญ่จะมีการจ้างแรงงานจำนวน 10-25 คน

  • ผู้ประกอบการที่มีรายได้ต่อปีมากกว่า 50 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 11.37%  มีการจ้างแรงงาน 25-250 คน

แต่ปัญหาของมาตรการการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจำนวนมากร้องเรียนว่าเข้าไม่ถึงสินเชื่อดังกล่าว เพราะสินเชื่อนี้ปล่อยผ่านธนาคารพาณิชย์ ซึ่งเน้นดูแลลูกหนี้ของตัวเอง และเรียงลำดับดูแลลูกหนี้ชั้นดีก่อน และแบงก์ชาติกำหนดว่าเอสเอ็มอีที่ไม่ได้เป็นลูกหนี้เดิมของสถาบันการเงินจะขอซอฟท์โลนแบงก์ชาตินั้น ไม่สามารถขอได้ เนื่องจากซอฟท์โลนแบงก์ชาติกำหนดให้เฉพาะลูกหนี้เดิมของสถาบันการเงิน เพื่อความรวดเร็วในการพิจารณาคุณสมบัติลูกหนี้ และเพื่อการบริหารความเสี่ยงเรื่องหนี้เสียของสถาบันการเงิน

ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่เป็นตัวเล็กจริงๆ มีรายได้วันละ 2,730 ถึง 27,300 บาท และที่รายได้น้อยกว่าวันละ 2,730 บาท รวมกันแล้วเกือบ 60% ของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั้งหมด ซึ่งเป็นกลุ่มที่ต้องการเข้าถึงสินเชื่อมากสุด กลับไม่สามารถเข้าถึงซอฟท์โลนแบงก์ชาติได้ ด้วยเงื่อนไขกลัวหนี้เสีย (NPL) ให้ปล่อยกับพวกที่มีประวัติการกู้ก่อน 

อ้าว! เอสเอ็มอีกลุ่มนี้ประมาณ 2,480,000 ราย ที่ไม่เคยมีหรือไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ได้ตั้งแต่ก่อนเกิดโควิด-19 ไม่มีสิทธิเข้าถึงสินเชื่อซอฟท์โลนเลยจึงต้องหันไปพึ่ง สินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อนอกระบบ!!

ฉบับหน้ามาต่อกันว่าแพลตฟอร์มค้าปลีกเชื่อมโยงภาคการผลิตสู่ผู้บริโภคและช่วยเอสเอ็มอีได้อย่างไร?