“พาณิชย์”ปรับแผนจ่ายหน้ากากให้ประชาชน หันจัดสรร“บุคลากรการแพทย์”

“พาณิชย์”ปรับแผนจ่ายหน้ากากให้ประชาชน หันจัดสรร“บุคลากรการแพทย์”

พาณิชย์ งดขายหน้ากากอนามัยในร้านค้าธงฟ้าและช่องทางค้าปลีกปกติแล้ว แนะประชาชนใช้หน้ากากทางเลือก ระบุต้องจัดสรรให้บุคลากรการแพทย์เป็นหลักตามความรุนแรงของสถานการณ์ รับจ่ายหน้ากากจ่ายผ่านร้านธงฟ้าพบรั่วไหลซ้ำขายแบบแพค4ชิ้นเสียเวลารีแพคกิ้ง

นายสุชาติ สินรัตน์ รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้ลงนามในคำสั่งถึงพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศเรื่องการจัดสรรหน้ากากอนามัยให้ร้านธงฟ้าราคาประหยัดพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น  สาระสำคัญคือให้พาณิชย์จังหวัดตรวจสอบและติดตามสถานการณ์หน้ากากอนามัยอย่างใกล้ชิดหลังมีคำสั่งตามมติคณะอนุกรรมการศูนย์บริหารจัดการสินค้าหน้ากากอนามัยเมื่อ 18 มี.ค. ที่ผ่านมา ให้ยกเลิกการจัดสรรสินค้าหน้ากากอนามัยผ่านช่องทางร้านค้าธงฟ้าฯ และการกระจายผ่านร้านสะดวกซื้อ(7-11) และห้างสรรพสินค้า เช่น เทสโก้โลตัส แม็คโคร BIG C วิลล่ามาร์เก็ต TOPs เดอะมอลกรุ๊ป และโฮมโปร โดยจะมีการจัดสรรหน้ากากฯ รอบการส่งสุดท้าย ณ  16 มี.ค.63

อย่างไรก็ตาม  ให้พาณิชย์จังหวัดออกตรวจติดตามสถานการณ์การจำหน่ายหน้ากากอนามัย อย่างใกล้ชิดเป็นประจำทุกวันโดยดำเนินการตรวจสอบผู้ประกอบการ ร้านขายยา/ร้านค้าปลีก และห้างสรรพสินค้า ติดตามภาวะราคา ปริมาณการจำหน่ายของหน้ากากอนามัย รวมถึงการชี้แจงสร้างความเข้าใจในการปฎิบัติตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราค 158493249622 าสินค้าและบริการ เพื่อให้มีการปิดป้ายแสดงราคาอย่างชัดเจน ตรวจสอบการขายเกินราคาควบคุม และป้องกันปราบปรามการฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้าแพงเกินสมควร หรือ ทำการกักตุนสินค้าหน้ากากอนามัย 

“ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่าหน้ากากอนามััยมี 2 ประเภทคือหน้ากากอนามัยทั่วไป และหน้ากากทางการแพทย์ ดังนั้นหน้ากากทางการแพทย์ควรส่งให้บุคลากรทางการแพทย์ได้มีใช้อย่างเพียงพอ ส่วนประชาชนทั่วไปสามารถใช้หน้ากากทางเลือก ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ตรวจตราอย่างเข้มงวดไม่ให้เกิดการฉวยโอกาสไม่ว่ากรณีใดๆก็ตาม ตอนนี้สถานการณ์เปลี่ยนไปต้องปรับการทำงานให้เหมาะสมซึ่งหวังว่าประชาชนจะเข้าใจและให้ความร่วมมืออย่างดี” นายสุชาติ กล่าว 

นอกจากนี้ ในคำสั่งดังกล่าว ได้สั่งให้พาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ ติดตามสถานการณ์การจำหน่ายและราคาสินค้าอุปโภคบริโภคในร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้า และแหล่งจำหน่ายสินค้าในพื้นที่ อย่างใกล้ชิด หากมีสถานการณ์ผิดปกติ เช่น พบการกักตุนสินค้า สินค้าเริ่มขาดตลาด มีการฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้าให้แจ้งกระทรวงฯทันที

นายประโยชน์ เพ็ญสุต รองอธิบดีกรมการค้าภายใน ในฐานะรักษาราชการแทนอธิบดีกรมการค้าภายใน (คน.) กล่าวว่า กรมการค้าภายในได้ปรับเปลี่ยนการบริหารจัดการหน้ากากอนามัยใหม่ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรงมากขึ้น และให้สอดคล้องกับความต้องการใช้ โดยหน้ากากอนามัยที่ขณะนี้ผลิตได้ทั้งหมดราว 2.2 ล้านชิ้นนั้น ส่วนใหญ่จะจัดสรรให้กับกระทวงสาธารณสุขเป็นหลัก เพื่อให้นำไปจัดสรรต่อให้กับโรงพยาบาลทุกแห่ง ของทุกสังกัดทั่วประเทศ รวมถึงกลุ่มเสี่ยงที่ถูกกักตัว 14 วัน ให้มีใช้อย่างเพียงพอมากที่สุด ซึ่งจากการหารือกับกระทรวงสาธารณสุข แจ้งว่า เมื่อการระบาดเพิ่มขึ้น ความต้องการใช้น่าจะเพิ่มจากขณะนี้อีก 30-50% ของจำนวนหน้ากากอนามัยที่ศูนย์บริหารจัดการหน้ากากอนามัย จัดสรรให้วันละ 1.3 ล้านชิ้น

“ขณะนี้ สถานการณ์การแพร่ระบาดเพิ่มมากขึ้น จึงต้องปรับเปลี่ยนการบริหารจัดการหน้ากากอนามัยใหม่ทั้งหมด โดยมุ่งเน้นไปที่โรงพยาบาล แพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ และกลุ่มเสี่ยงเป็นหลัก ส่วนประชาชนทั่วไป สามารถใช้หน้ากากอนามัยทางเลือก และหน้ากากอนามัยผ้าได้”

รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ แจ้งว่า การจัดสรรหน้ากากไปยังร้านธงฟ้าฯ ก่อนหน้านี้พบปัญหาหลายด้าน ทั้งการรั่วไหลของหน้ากากที่อาจรั่วไหลตั้งแต่ต้นทางจัดส่ง หรือ รั่วไหลเมื่อไปถึงร้านค้าต่างๆแล้ว เพราะระบบการค้าของร้านธงฟ้าฯ ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่ามีการจำหน่ายไปเท่าไหร่ ช่วงเวลาใด หรือแม้แต่ราคาเท่าไหร่ เนื่องจากไม่มีระบบบันทึกข้อมูลดังกล่าว ขณะที่การจำหน่ายผ่านห้างสรรพสินค้า หรือร้านสะดวกซื้อ สามารถตรวจสอบได้ หรือแม้แต่การสั่งให้จำหน่ายในช่วงเวลาใด การจำกัดการจำหน่ายแต่ละบุคคลไม่ให้เกินเท่าไหร่คนตน ก็สามารถทำได้ เพราะมีระบบบันทึกข้อมูลตรวจสอบย้อนกลับได้ นอกจากนี้ ไม่ว่าจะจำหน่ายในช่องทางใดก็พบว่า การรีแพคเกจหน้ากากฯเพื่อบรรจุให้ได้ 4 ชิ้นต่อ1ซอง ในราคาซองละ 10 บาท นั้น เป็นการเสียเวลาและกำลังแรงงานมาก ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์

ก่อนหน้านี้ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานการประชุมเรื่องการบริหารจัดการด้านเวชภัณฑ์ป้องกันร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ว่า กระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธานเห็นควรเสนอมาตรการด้านเวชภัณฑ์ป้องกันที่จำเป็นต้องใช้รองรับการระบาดของโรคโควิด-19 แล้ว และจะนำเสนอให้คณะกรรมการฯ เพื่อพิจารณาเห็นชอบในวันที่ 23 มี.ค.2563 นี้ เพราะจะมีการปรับเปลี่ยนระบบการบริหารจัดการใหม่ทั้งหมด และต้องเสนอของบประมาณจากรัฐบาลในการดำเนินการ

โดยมาตรการดำเนินการในส่วนของหน้ากากอนามัย ได้กำหนดให้จัดหาให้กับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อนำไปใช้ในโรงพยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ ให้ได้มากที่สุด เพราะถือเป็นกลุ่มที่มีความจำเป็นต้องใช้สูงสุดในการปฏิบัติหน้าที่ และเพื่อความปลอดภัย โดยกระทรวงสาธารณสุข แจ้งว่า ถ้ามีหน้ากากอนามัยเพิ่มจากเดิม 30-50%จากที่ได้รับในปัจจุบัน ก็น่าจะเพียงพอต่อความต้องการใช้

ส่วนการกระจายให้กับกลุ่มเสี่ยง เห็นว่า ขณะนี้การแพร่ระบาดของโควิด-19 เปลี่ยนไป มีการแพร่กระจายมากขึ้น และปัจจุบันได้มีการแต่งตั้งให้ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นพนักงานควบคุมโรคระดับพื้นที่ ตามพ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 จึงจะเสนอให้ผู้ว่าฯ เป็นผู้พิจารณาการกระจายหน้ากากอนามัยให้กับกลุ่มเสี่ยงต่างๆ เพราะจังหวัดรู้ดีว่าในพื้นที่ใครคือกลุ่มเสี่ยง เช่น กลุ่มแท็กซี่ กลุ่มผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ กลุ่มที่มีความเสี่ยงติดเชื้อ เป็นต้น ซึ่งจะต้องให้กลุ่มเสี่ยงเหล่านี้ มีหน้ากากอนามัยใช้ป้องกันตัวเองและป้องกันการแพร่ระบาด

 โดยกระทรวงสาธารณสุขจะไปหารือกับกระทรวงมหาดไทย เพื่อพิจารณาว่าความต้องการที่แท้จริงเป็นยังไงต่อไป สำหรับประชาชนทั่วไป จะรณรงค์ให้ใช้หน้ากากทางเลือก หน้ากากผ้า ซึ่งรัฐบาลได้ส่งเสริมให้มีการผลิตเพิ่มขึ้นโดยลำดับแล้ว