โควิด-ปิดล้อมการค้าโลก 'ดับเบิลยูทีโอ' เตรียมเวทีถกทางออก

  โควิด-ปิดล้อมการค้าโลก 'ดับเบิลยูทีโอ' เตรียมเวทีถกทางออก

ความตึงเครียดทางการค้า ในปี 2562 ทำให้การขยายตัวของการค้าสินค้าโลกลดลงและในปี 2563 โลกเผชิญกับโรคโควิด-19 ที่รุนแรงและดูเหมือนการปิดล้อมการค้าและการลงทุนโลกอยํู่

 ความตึงเครียดทางการค้า ในปี 2562 ทำให้การขยายตัวของการค้าสินค้าโลกลดลงจากการประเมินขององค์การการค้าโลก หรือ ดับเบิลยูทีโอ  เมื่อต.ค.ที่ผ่านมา มีอัตราเพียง1.2%  ต่ำที่สุดตั้งแต่วิกฤตการเงินปี 2551 แต่ในปี 2563 โลกเผชิญกับโรคโควิด-19 ที่รุนแรงและดูเหมือนว่ากำลังปิดล้อมการค้าการลงทุนของไทยและของโลกไปทุกทาง ซึ่งดับเบิลยูทีโอในฐานะองค์กรผู้กำหนดกติกาการค้าโลก มีแผนสำหรับสถานการณ์นี้ 

สุนันทา กังวาลกุลกิจ เอกอัครราชทูตคณะผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลก(WTO)และองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก ณ นครเจนีวาและประธานคณะมนตรีใหญ่WTO ให้สัมภาษณ์ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า เครื่องมือติดตามแนวโน้มสภาวะการค้าโลกของ WTO ในเดือนก.พ.ที่ผ่านมา ยังแสดงสัญญาณการชะลอตัวทางการค้าต่อเนื่องจากปีที่แล้ว แม้ว่าจะยังไม่ได้มีการประเมินผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19

ส่วนความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีนมองว่ายังต้องเจรจากันอีกมาก นอกจากนี้ ปัจจัยที่จะกระทบต่อการค้าโลกอีกอย่างคือ Digital Transformation ที่มีนัยสำคัญต่อการค้าโลก ที่สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ การผลิต และการให้บริการ เพิ่มประสิทธิภาพของห่วงโซ่มูลค่าโลก (GVC) ตลอดจนเสริมสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ผลิต ผู้ค้า ผู้บริโภค และภาครัฐ โดยในปี 2560 การสั่งสินค้า online ทั่วโลก ทั้งในรูปแบบสินค้าดั้งเดิม (Physical goods) และที่ส่งผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ มีมูลค่าสูงถึง 29 ล้านล้านดอลลาร์

158476071779

อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ ยังมีปัจจัยกระทบต่อการค้าโลกอีกประการคือ การการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ หาก Donald Trump ชนะการเลือกตั้ง การผลักดันนโยบายและการใช้มาตรการทางการค้าต่างๆ ของรัฐบาลปัจจุบัน คงมีต่อไป และอาจเข้มข้นขึ้น หรืออาจทวีความรุนแรงของมาตรการมากขึ้น เนื่องจากเทอมที่ 2 จะเป็นเทอมสุดท้ายของนาย Trump แล้ว จึงอาจไม่สนใจเสียงคัดค้านภายในประเทศเท่ากับในช่วงก่อนการเลือกตั้ง 

ในขณะเดียวกันหากพรรค Democrat คู่แข่งของนายTrump ชนะการเลือกตั้ง อย่างน้อยที่สุดแนวทางการดำเนินนโยบายทางการค้าระหว่างประเทศน่าจะกลับไปเป็นแบบ Trade Diplomacy หรือ Soft Power โดยเน้นการสร้างความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างประเทศ และดำเนินนโยบายอย่างนิ่มนวลขึ้น

แม้โลกกำลังเผชิญคลื่นลูกใหญ่ ที่โหมกระทบต่อการค้าการลงทุนของโลก แต่ปีนี้ WTO มีกำหนดการประชุมใหญ่ว่าด้วยการประชุมระดับรัฐมนตรีองค์การการค้าโลก (WTO Ministerial Conference) ครั้งที่ 12 หรือ WTO MC 12 ระหว่าง วันที่ 8-11 มิ.ย. 2563 ณ กรุงนูร์-ซุลตัน สาธารณรัฐคาซัคสถาน แม้ล่าสุด WTO จะหยุดแผนการประชุมดังกล่าวไว้ก่อน เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 โดยกำหนดว่าหากสถานการณ์ชัดเจนขึ้นจะมีการพิจารณาจัดการประชุมอีกครั้ง ทั้งกำหนดเวลาและสถานที่

 การประชุม MC12 อาจเหมาะในการที่มหาอำนาจทั้งสองประเทศจะหันหน้ามาคุยกันอีกครั้ง เนื่องจากเศรษฐกิจโลกจะรู้สึกถึงผลกระทบจากโควิด19 อย่างชัดเจนมากขึ้น ซึ่งจีนอาจได้รับผลกระทบรุนแรง บวกกับความเสียหายเดิมจากสงครามการค้า และสหรัฐฯ ที่อาจได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และสงครามการค้าไม่น้อยเช่นกัน ประกอบกับรัฐบาล Trump กำลังเข้าสู่การเลือกตั้ง จะต้องการสร้างผลงานและกอบกู้สถานการณ์เศรษฐกิจ จึงต้องจับตาดูต่อไปอย่างใกล้ชิด

      “ส่วนตัวหวังว่าปัจจัยผลกระทบจากโควิดที่กระทบต่อเศรษฐกิจโลกในวงกว้างจะช่วยให้สองประเทศตระหนักถึงความเปราะบางของเศรษฐกิจโลก และบีบให้เร่งหาข้อสรุประหว่างกันได้ สมาชิก WTO จะมีบทบาทอย่างยิ่งในระยะยาว ในการช่วยกันสร้างกฎเกณฑ์ที่ทันสมัย ชัดเจน และเป็นธรรม ผ่านการจัดทำความตกลงใหม่ๆ และการปฏิรูป WTO เพื่อป้องกันความขัดแย้งทางการค้าในอนาคต”

 ส่วนไทยในฐานะที่เป็นพันธมิตรทางการค้ากับทั้งสหรัฐ และจีน ได้แสดงบาทบาทในการหารือเรื่องการปฏิรูป WTO อย่างสร้างสรรค์ รวมทั้ง ในฐานะที่ไทยเป็นประธานคณะกรรมการอาเซียน ณ นครเจนีวา ในปี 2562 ได้ผลักดันให้อาเซียนมีบทบาทร่วมกันในการแสดงความเห็นในการประชุมระดับเอกอัครราชทูตของ WTO ตลอดทั้งปี เพื่อเสริมสร้างให้ WTO มีประสิทธิภาพในการดำเนินงานและมีกฎเกณฑ์ที่สอดคล้องกับสถานการณ์การค้าในปัจจุบันยิ่งขึ้น ทั้งในงานทั่วไป เช่น การเสริมสร้างความโปร่งใส และการแก้ไขปัญหาทางการค้าระหว่างสมาชิกก่อนเข้าสู่กลไกการระงับข้อพิพาท ตลอดจนการเสริมสร้างกลไกการเจรจาให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ในส่วนของการเจรจาเรื่องเกษตร ที่ถือเป็น highlight ของการประชุม MC ทุกครั้ง สมาชิกก็ผลักดันกันเต็มที่เช่นกัน ตอนนี้เรื่องการอุดหนุนภายในถือว่ามีความคืบหน้าและได้รับแรงผลักดันจากสมาชิก WTO มากที่สุด ซึ่งในเรื่องนี้ ออสเตรเลียได้จัดการประชุมระดับรัฐมนตรีกลุ่มเครนส์ที่เมืองดาวอส เมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา 

โดยไทยได้ร่วมกับสมาชิกกลุ่มเครนส์อีก 18 ประเทศประกาศว่าจะร่วมกันผลักดันให้มีการเจรจาเพื่อลดมูลค่าการอุดหนุนภายในที่บิดเบือนการค้าโดยรวมลงอย่างน้อย50 %ภายในปี 2573 ตามสัดส่วนของวงเงินการอุดหนุนภายในที่สมาชิก WTO แต่ละประเทศมีสิทธิใช้ กล่าวคือ สมาชิกที่มีวงเงินอุดหนุนเยอะต้องลดเยอะ 

สอดคล้องกับแผนพัฒนาของไทยที่ทำให้เงินอุดหนุนของเรามีคุณค่าในการช่วยเหลือเกษตรกรมากขึ้น ลดการบิดเบือนและเสริมสร้างความเป็นธรรมในการค้าสินค้าเกษตร และช่วยให้เกษตรไทยสามารถแข่งในการค้าสินค้าเกษตรโลกได้มากขึ้น แนวทางนี้ได้รับการตอบรับที่ดีจากสมาชิก WTO หลายประเทศ และหวังว่าการเจรจาในเรื่องนี้จะสามารถมีข้อสรุปได้ใน MC12

ในส่วนของความตกลง E-commerce หรือที่เรียกว่าการเจรจาภายใต้กรอบ WTO Joint Statement Initiative (JSI) on Electronic Commerce นั้น ถึงแม้ว่ากระบวนการเจรจายังเป็นไปในรูปแบบของการจัดทำความตกลงหลายฝ่าย ไม่ใช่การเจรจาแบบพหุภาคีทั้ง 164 ประเทศก็ตาม แต่ได้มีสมาชิก WTO ให้ความสนใจและเข้าร่วมการเจรจาเป็นจำนวนมาก 

เนื่องจากต่างตระหนักถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงรูปแบบทางการค้าในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล และความจำเป็นของการมีกฎเกณฑ์ทางการค้าระหว่างประเทศด้าน E-commerce ซึ่งขณะนี้ มีสมาชิกฯ เข้าร่วมเจรจาอย่างเป็นทางการแล้ว 83 ประเทศ ถือว่าเกินกว่าครึ่งหนึ่งของสมาชิกฯ ทั้งหมด และมีสัดส่วนของการค้าระหว่างประเทศรวมกันมากกว่า90% โดยมีสมาชิกอาเซียนเข้าร่วม 8 ประเทศแล้ว ยกเว้นเวียดนามและกัมพูชา ซึ่งสมาชิก WTO ที่เข้าร่วมการเจรจาพยายามเร่งเดินหน้าการหารือให้มีคืบหน้าในทุกรอบ

โลกหลังการระบาดอของโควิด-19 จะเกิดการเปลี่ยนแปลงต่างๆมากมาย รวมถึงโลกแห่งการค้าซึ่งWTOจะต้องเป็นเวทีกลางเพื่อหาทางออกพร้อมวางกติกาใหม่ให้สอดคล้องกับโลกที่เป็นปัจจุบันให้มากที่สุด