'ธุรกิจค้าปลีก-บันเทิง' เสริมแกร่งสนามบินเอเชีย

'ธุรกิจค้าปลีก-บันเทิง' เสริมแกร่งสนามบินเอเชีย

การเดินทางไปต่างประเทศยุคนี้น่าสังเกตว่า สนามบินดูสนุกและมีสีสันมากขึ้น โดยเฉพาะสนามบินเอเชียที่อาศัยข้อได้เปรียบจากชนชั้นกลางขยายตัว และสายการบินราคาประหยัดเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว รุกขยายธุรกิจค้าปลีกและบันเทิง

เว็บไซต์นิกเคอิ รายงานว่า แต่ละวันสนามบินนานาชาติรองรับผู้โดยสารหลายหมื่นคนอยู่แล้ว จึงเปิดช่องให้ขยายธุรกิจไปสู่ภาคค้าปลีกและการพักผ่อนหย่อนใจได้ไม่ยาก เช่น ห้างสรรพสินค้าจีเวลในสนามบินชางงีของสิงคโปร์ มูลค่า 1.24 พันล้านดอลลาร์ พื้นที่ 135,700 ตารางเมตร ให้บริการมากยิ่งกว่าห้างปลอดภาษีแบบพื้นๆ เพราะภายในยังมีน้ำตกในร่มสูงที่สุดในโลก และเขาวงกตใหญ่สุดในประเทศ

สมาคมการขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (ไอเอทีเอ) คาดว่า จำนวนผู้โดยสารเครื่องบินทั่วโลกจะเพิ่มจำนวนเป็น 2 เท่าที่ 8.2 พันล้านคนภายในปี 2580 โดยเอเชียเติบโตมากที่สุด หนุนให้ผู้บริหารสนามบินทุ่มสุดตัวกับธุรกิจเสริม

สนามบินเอเชียพยายามทำตัวเป็นห้างสรรพสินค้ามากขึ้นทุกที มุ่งเน้นเพิ่มยอดขายและรายได้จากค่าเช่า โดยชางงีแอร์พอร์ตกรุ๊ปเป็นผู้นำ ในปีงบประมาณสิ้นสุดเมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา 60% ของรายได้กลุ่มมาจากค่าเช่าและธุรกิจค้าปลีก

จีเวลมีผู้เช่า 280 ราย แต่ละวันมีผู้มาเยือนราว 300,000 คน การท่าอากาศยานสิงคโปร์หวังว่าการที่ร้านค้าและแหล่งบันเทิงเปิดจนดึกดื่นจะดึงผู้โดยสารที่รอเปลี่ยนเครื่องได้

“ในสิงคโปร์ สนามบินชางงีเป็นแหล่งท่องเที่ยวโดยตัวเองอยู่แล้ว ยิ่งมีจีเวลก็ยิ่งสร้างชื่อและเพิ่มแรงดึงดูดมากขึ้นไปอีก” นายกรัฐมตรีลี เซียนหลุงกล่าวตอนทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 18 ต.ค.

ส่วนสนามบินนานาชาติอินชอนของเกาหลีใต้ ที่โด่งดังที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เนื่องจากมีพื้นที่ชอปปิงสินค้าปลอดภาษีกว้างใหญ่ และโรงภาพยนตร์ 1 โรง ประกาศโครงการ “วิสัยทัศน์ 2030” เมื่อเดือน ก.ย.ภายในปี 2567 สนามบินมีแผนเพิ่มทางวิ่งและอาคารผู้โดยสาร รวมทั้งเล็งใช้เอไอและเทคโนโลยีก้าวหน้าอื่นๆ มาช่วยให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น

สื่อเกาหลีใต้รายงานว่า สนามบินอินชอนตั้งเป้าเพิ่มจำนวนผู้โดยสาร เป็นกว่า 100 ล้านคนต่อปี และเพิ่มยอดขายมาอยู่ที่ 5 ล้านล้านวอน (4.19 พันล้านดอลลาร์) ภายในปี 2573 โดยตั้งเป้าเป็นเบอร์ 1 โลกในแง่การจัดการทั้งผู้โดยสารและสินค้า นำร้านอาหารและบูติกยอดนิยมเข้ามามากขึ้นเพื่อดึงดูดผู้โดยสาร

ที่จีน เพิ่งเปิดสนามบินนานาชาติปักกิ่งต้าชิงเมื่อเดือน ก.ย. เริ่มให้บริการเที่ยวบินต่างประเทศเมืื่อปลายเดือน ต.ค. สนามบินมูลค่า 1.13หมื่นล้านดอลลาร์แห่งนี้ตั้งเป้ามีผู้โดยสารปีละ 45 ล้านคนภายในปี 2564 แล้วค่อยๆ เพิ่มจำนวนเป็น 100 ล้านคน มุ่งเน้นที่เที่ยวบินระหว่างประเทศ ให้สนามบินกรุงปักกิ่งรองรับผู้โดยสารในประเทศเป็นส่วนใหญ่

ด้านสนามบินนานาชาติฮ่องกงมีแผนเปิดสกายซิตี้ คอมเพล็กซ์ใหญ่บริเวณใกล้เคียงในปี 2564 สนามบินหวังจะกลายเป็นศูนย์การค้าใหญ่ จำนวนผู้โดยสารแต่ละปีทะลุ 100 ล้านคนภายในปี 2573

สนามบินญี่ปุ่นก็กำลังเพิ่มรายได้จากส่วนที่ไม่ใช่การบินเช่นกัน ในปีงบประมาณสิ้นสุดเมื่อเดือน มี.ค. ยอดขายจากผู้เช่าในสนามบินนาริตะสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 1.43 แสนล้านเยนพุ่งขึ้น 70% จากเมื่อ 5 ปีก่อน เทียบเท่ากับยอดขายที่มิตสุโคชิ นิฮงบาชิ ห้างสรรพสินค้าเรือธงของอิเซตัน มิตสุโคชิ โฮลดิงส์ ห้างเก่าแก่ที่สุดห้างหนึ่งของญี่ปุ่น ตอนนี้รายได้จากแผนกค้าปลีกของนาริตะ คิดเป็น 42% ของรายได้รวม ที่ 2.49 แสนล้านเยน เทียบได้กับรายได้จากธุรกิจการบิน

ส่วนสนามบินฮาเนดะ ฤดูใบไม้ผลิปีหน้าจะเปิดคอมเพล็กซ์ ที่เชื่อมตรงถึงอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ ภายในมีทั้งโรงแรม ร้านอาหาร ร้านค้า และสปา

ทั้งนี้ การเป็นศูนย์กลางการบินในเอเชียที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานบริเวณใกล้เคียงและจัดงานระดับนานาชาติ จะช่วยสร้างขุมพลังทางเศรษฐกิจ สนามบินฮาเนดะคาดว่า การเพิ่มตารางบินทั้งขาเข้าและขาออกในปี 2563 จะเพิ่มรายได้ 6.5 แสนล้านเยนต่อปี

อย่างไรก็ตาม ความวุ่นวาย ความตึงเครียดทางการเมือง หรือโรคระบาดที่เกิดขึ้นเป็นครั้งคราว อาจทำให้นักเดินทางห่างหายออกไป

ขณะที่โคทาโร โทริอุมิ นักวิเคราะห์มองว่า กำไรที่มั่นคงจากธุรกิจนอกภาคการบินจะนำไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน