กระทรวงอุตฯ สู้ 2 ประเด็นเหมืองทองอัครา

กระทรวงอุตฯ สู้ 2 ประเด็นเหมืองทองอัครา

“วิษณุ” เผย ครม.รับทราบข้อเสนอแก้ปัญหาคดีเหมืองทองอัครา อุตฯ เตรียมข้อมูลสู้อนุญาโตฯ 2 ประเด็นหลัก คำสั่ง ม.44-สุขภาพประชาชน จ่อบินไปสิงคโปร์แจงข้อมูล 18 พ.ย.นี้

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 29 ต.ค.ที่ผ่านมา รับทราบรายงานข้อเสนอเกี่ยวกับการแก้ปัญหาข้อขัดแย้งเหมืองทองอัคราของกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งขอไม่ลงรายละเอียดเพราะจะมีผลต่อรูปคดีที่อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการ โดยหลังจากนี้จะดำเนินการอย่างไรขึ้นกับการพิจารณาของกระทรวงอุตสาหกรรมที่จะดำเนินการตามความเหมาะสมและมารายงาน ครม.อีกครั้ง

“มีการอภิปรายกันในที่ประชุม ครม.แต่ไม่ได้มีเป็นข้อเสนอหรือมีมติ เพราะถือว่าพูดแล้วและทุกคนได้ยิน ส่วนในทางกฎหมาย 4 ทางออกที่เสนอสามารถทำได้หรือไม่นั้น ขอไม่ตอบเรื่องนี้ โดยมติ ครม.มีมานานแล้วว่าให้เข้าสู่กระบวนการเจรจา แต่ ครม.เมื่อวันที่ 29 ต.ค.ที่ผ่านมา ไม่ได้มีมติอะไร แค่รับทราบสถานการณ์ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมรายงาน”

ทั้งนี้ บริษัทคิงส์เกต คอนโซลิเดตเต็ด ลิมิเต็ด จากออสเตรเลีย ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของบริษัทอัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ผู้ประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำชาตรีใน 3 จังหวัด คือพิจิตร พิษณุโลกและเพชรบูรณ์ ได้ใช้สิทธิ์ตามข้อตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย​ (TAFTA)​ ฟ้องรัฐบาลไทยกรณีละเมิดข้อตกลงการค้าเสรีฯ​ โดยใช้คำสั่งตาม ม.44 ระงับการทำเหมืองแร่ทอง​คำ​ ซึ่งส่งผลให้บริษัทฯ​ เสียหายเป็นอย่างมากเนื่องจากต้องหยุดดำเนินกิจการมาตั้งแต่ 1 ม.ค.​2560​

แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงอุตสาหกรรมอยู่ระหว่างเตรียมประเด็นสำหรับการชี้แจงต่อคณะอนุญาโตตุลาการ ซึ่งมีกำหนดเริ่มในวันที่ 18-29 พ.ย.นี้ที่สิงคโปร์ โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้จ้างที่ปรึกษาต่างประเทศเพื่อมาช่วยดำเนินการ ซึ่งการเตรียมข้อมูลมีหลายประเด็น อาทิ 1.การดูแลผลกระทบทางสุขภาพของประชาชน

2.เหตุผลการใช้มาตรา 44 ประกาศคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 72/2559 ระงับการสำรวจและประกอบกิจการทำเหมืองแร่ทองคำชาตรี รวมถึงใบอนุญาตประกอบโลหะกรรมเหมืองแร่ทองคำของของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน)

สำหรับข้อเสนอที่ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เสนอ ครม.เมื่อวันที่ 29 ต.ค.ที่ผ่านมา มี 4 ข้อ ประกอบด้วย 1.จ่ายเงินชดเชยให้บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) และให้เลิกกิจการ 2.ดำเนินการตามข้อเสนอของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ซึ่งจะช่วยให้อาจไม่ต้องจ่ายเงิน 3.รอผลการตัดสินของอนุญาโตตุลาการ แล้วปฏิบัติตาม 4.การหาช่องจ่ายเงินชดเชยบางส่วนและให้ให้ดำเนินการเหมืองต่อ

ทั้งนี้ นายสุริยะ ได้มีนโยบายที่จะเจรจากับเอกชน โดยต้องการใช้แนวทางการเจรจาจะต้องยึดหลักรัฐไม่เสียหาย เอกชนต้องอยู่ได้ โดยถ้าหากได้ข้อสรุปก่อนที่อนุญาโตตุลาการจะมีคำวินิจฉัยออกมาอาจจะทำให้ คิงส์เกตฯ ถอนคำฟ้อง ซึ่งคาดว่าอนุญาโตตุลาการจะมีคำวินิจฉัยออกมาในช่วงต้นปี 2563

แหล่งข่าวจากบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ได้ยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อขอเจรจา 2 ฉบับ คือ 1.การส่งหนังสือเมื่อเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา หลังจากที่นายสุริยะเข้ามารับตำแหน่งในช่วงแรก แต่ไม่ได้รับการพิจารณาให้เข้าพบ 2.การส่งหนังสือในเดือน ต.ค.นี้ เพื่อสอบถามความคืบหน้าของการเจรจาระหว่างเอกชนกับกระทรวงอุตสาหกรรมในการยุติข้อขัดแย้ง ซึ่งการส่งหนังสือถึงครั้งที่ 2 นี้ ต้องการเห็นการเจรจาและการแก้ปัญหาร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม

ในขณะที่ก่อนหน้านี้ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ออกมาระบุถึงการดำเนินการของเหมืองแร่ทองคำชาตรี​ ที่เริ่มตั้งแต่ปี​ 2544 ปัจจุบันมีแร่คงเหลือ 35.4 ล้านตัน โดยแบ่งเป็นแร่ทองคำ 890,000 ออนซ์ คิดเป็นเงินไทย 37,024 ล้านบาท แร่เงิน 8.9 ล้านออนซ์ คิดเป็นเงินไทย 4,272 ล้านบาท แต่การประเมินดังกล่าวยังไม่ใช่ข้อเสนอเกี่ยวกับการจ่ายเงินชดเชยให้เอกชน