‘อีอีซีไอ’ พื้นที่นวัตกรรมเข้มข้น ปลายปี61ได้ฤกษ์ตอกเสาเข็ม

‘อีอีซีไอ’ พื้นที่นวัตกรรมเข้มข้น ปลายปี61ได้ฤกษ์ตอกเสาเข็ม

อัพเดตแผนการพัฒนาพื้นที่ “อีอีซีไอ” 2 พันไร่ในวังจันทร์วัลเลย์ จ.ระยอง ระบุชัดเป็นไปตามกรอบเวลากำหนด เผยพร้อมตอกเสาเข็มปลายปี 61 จากนั้นอีก 2 ปีเปิดให้ภาคธุรกิจเข้าใช้พื้นที่ ส่วนปีหน้ามุ่งโรดโชว์ดึงเอกชนทั้งไทยและยักษ์ข้ามชาติเข้ามาลงทุน

โครงการพัฒนาเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซีไอ (EECi) ดำเนินการโดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พื้นที่ประมาณ 2,000 ไร่ตั้งอยู่ในวังจันทร์วัลเลย์ ของ ปตท. ต.ป่ายุบใน อ.วังจันทร์ จ.ระยอง ถูกกำหนดให้เป็นแหล่งวิจัยและนวัตกรรมที่เข้มข้น (R & I Focus) เพื่อนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่ได้ไปตอบโจทย์ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายทั้งในพื้นที่อีอีซีและทั่วประเทศ


นายเจนกฤษณ์ คณาธารณา รองผู้อำนวยการ สวทช. เปิดเผยว่า หัวใจสำคัญของ อีอีซีไอ คือ การเป็น “สะพาน” ที่จะนำทางให้งานวิจัยไปสู่ห้างหรือการใช้ประโยชน์จริง ดังนั้น ในช่วงแรกจะมุ่งแสวงหาเทคโนโลยีจากต่างประเทศที่จะนำมาปรับแต่งให้เหมาะกับบริบทของไทยรวมถึงประเทศอาเซียน โดยวางกรอบการทำงานโดยใช้อุตสาหกรรมเป้าหมายเป็นตัวนำ เพื่อตอบแนวคิดไทยแลนด์ 4.0 ที่ต้องการให้แข็งแกร่งในเรื่องที่ต้องการ (Everything in Something) แทนที่จะทำทุกอย่างแต่ไม่เก่ง

ฉะนั้น ในเฟสแรกจะมุ่งเน้นที่อุตสาหกรรมเกษตรสมัยใหม่และอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง ยกตัวอย่างในอีอีซีไอจะมี Phenomics Greenhouse ทำหน้าที่ศึกษาพืชในสภาวะแวดล้อมต่างๆ ที่จะแสดงลักษณะที่แตกต่างในเชิงพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นฐานข้อมูลเชื่อมโยงไปยังโรงปลูกพืช (Plant Factory) ทำให้ได้ผลผลิตที่ดี จากนั้นส่งต่อมายังโรงกลั่นชีวภาพ (Biorefinery) ที่นำผลผลิตมาสู่ผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงอย่างสารปรุงแต่งในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น อาหาร เครื่องสำอาง การแพทย์และเคมีชีวภาพ รวมถึงสมาร์ทฟาร์ม สมาร์ทกรีนเฮาส์ ที่ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ช่วยคาดการณ์เพื่อใช้วางแผนการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยว

“ทั้งหมดนี้จะไม่ได้พูดถึงการทำงานเฉพาะในไบโอโพลิส อารีโพลิส หรือสเปซคีโนวาโพลิส แต่จะทำงานเชื่อมโยงกันตามหน้าที่รับผิดชอบและความเชี่ยวชาญของแต่ละแห่ง รวมถึงมีการพูดคุยกับภาคเอกชน มหาวิทยาลัย และสถาบันวิจัยต่างๆ ในการสรรหางานวิจัยที่มีอยู่ในมือและตอบโจทย์ของอุตสาหกรรมเกษตรสมัยใหม่และอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง เพื่อทำงานร่วมกัน”

ตามแผนงานแล้วช่วงปลายปี 2561 จะเริ่มก่อสร้างในส่วนของอาคารวิจัยและนวัตกรรม พร้อมไปกับระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานทั้งหมด อาทิ ถนน ระบบประปา ระบบบำบัดน้ำเสีย ซึ่งส่วนนี้ ปตท. รับผิดชอบในฐานะผู้ดูแลพื้นที่ ขณะที่ สวทช.ดูแลส่วนของอาคารวิจัยและนวัตกรรม ส่วนปี 2562 สวทช. จะเดินหน้าทำการตลาดอย่างจริงจังเพื่อเชิญชวนเอกชนทั้งไทยและต่างประเทศ โดยร่วมกับบีโอไอ หอการค้าต่างประเทศ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ฯลฯ เป็น “ทีมไทยแลนด์” นอกจากนี้ ปี 2562-2563 จะเป็นช่วงของการก่อสร้างอีอีซีไอเฟสแรก จะเริ่มลงครุภัณฑ์ในช่วงปี 2563 และเปิดให้เข้าดำเนินการในพื้นที่ปี 2564

ปัจจุบันมีเอกชนในเครือ ปตท. 4 รายที่อยู่ในพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์อยู่แล้ว และมีอีก 4-5 รายที่อยู่ในช่วงการเจรจาเพื่อเข้ามาลงทุนทั้งในส่วนของที่ดินเพื่อจัดสร้างอาคารหรือศูนย์วิจัยของตนเอง และเช่าพื้นที่ในอาคารของ สวทช. ในส่วนของ สวทช. ก็มีการลงทุน 1.4 พันล้านบาท โดยเป็นงบที่ได้รับอนุมัติแล้วสำหรับการดำเนินงาน 2 ปี ส่วนงบสำหรับครุภัณฑ์ยังอยู่ระหว่างเตรียมหารือ ในขณะที่ ปตท. จะลงทุนในส่วนของตนเอง แต่ทั้ง 2 องค์กรตกลงร่วมกันว่า พื้นที่อีอีซีไอเป็นภาพรวมของประเทศ ดังนั้น เอกชนที่จะเข้ามาลงทุนหรือทำงานวิจัยและพัฒนาในพื้นที่จะติดต่อผ่าน สวทช. ซึ่งทำหน้าที่เป็นคนกลาง สร้างความเชื่อมั่นในเรื่องของข้อมูลงานวิจัยต่างๆ ที่จะไม่เกิดการรั่วไหลหรือผลประโยชน์ทับซ้อนใดๆ

ในขณะเดียวกัน สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ก็เตรียมที่จะขยายโครงสร้างพื้นฐานเข้ามาอยู่ในพื้นที่อีอีซีไอ เพื่อขยายการใช้งานเทคโนโลยีนี้ เข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมที่หลากหลายขึ้น ส่วนของมหาวิทยาลัยที่จะมาร่วมกันทำงานก็พูดคุยกันหลายแห่ง เช่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ให้ความสนใจในเรื่องสารประกอบในอาหารที่ทำหน้าที่พิเศษ (functional Ingredient) มหาวิทยาลัยมหิดลสนใจด้านการแพทย์ มหาวิทยาลัยบูรพาสนใจการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำสมัยใหม่ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีก็เป็นด้านหุ่นยนต์และชีวเคมี

ขณะที่สถาบันวิจัยของต่างประเทศก็มีความร่วมมือจากทั้งจากญี่ปุ่น ไต้หวัน จีน สิงคโปร์และอื่นๆ ตั้งเป้าภายในปี 2569 งานวิจัยและพัฒนาในพื้นที่นี้จะผลิดอกออกผลอย่างเป็นรูปธรรม แต่ทั้งนี้ ระหว่างทางก็จะต้องมีผลงานออกมาอย่างต่อเนื่องเช่นกัน

นายเจนกฤษณ์ กล่าวอีกว่า บุคลากรส่วนของ สวทช. นั้น ในระยะสั้นจะใช้กำลังคนส่วนของนักวิจัยที่มีอยู่ พร้อมรับคนเพิ่มอีกหลักพันตำแหน่ง สำหรับแผนระยะกลางก็ได้เตรียมนักศึกษาที่ได้รับทุนระดับปริญญาโท-เอกของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจำนวนกว่า 300 ทุน ที่จะกลับมาทำงานที่อีอีซีไอใน 5-7 ปี

“ความท้าทายหลักของอีอีซีไอ คงหนีไม่พ้นเรื่องของการวิจัยขยายผล ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ ความชำนาญในประเทศเรามีบ้างแต่ไม่พอ จึงต้องเสริมทัพด้วยการดึงเอาความเชี่ยวชาญจากต่างประเทศเพื่อทำงานร่วมกันแบบวิน-วิน โซลูชั่น แต่ที่สำคัญคือ ต้องทำให้ได้ในลักษณะ 2+2 คือ สถาบันวิจัยไทย/เอกชนไทย+สถาบันวิจัยต่างประเทศ/เอกชนต่างประเทศ หรืออย่างน้อยตั้งเป็น 1+2 หรือ 2+1 เพื่อที่จะเกิดผลทั้งในเชิงเทคโนโลยีและการลงทุน”

สำหรับเอกชนที่ลงทุนในพื้นที่อีอีซีไอ นอกจากจะได้รับสิทธิประโยชน์ตามเกณฑ์ของบีโอไอ เช่น ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 13 ปีขึ้นไป ตามหลักเกณฑ์พื้นฐานของแต่ละประเภทกิจการแล้ว ยังจะได้รับสิทธิเพิ่มเติมเป็นพิเศษสำหรับผู้เชี่ยวชาญ เช่น อัตราภาษีเงินได้บุคคลคงที่ 17% หรือสมาร์ทวีซ่าสำหรับผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ เป็นต้น ที่สำคัญ ไม่ต้องรอถึงเวลาที่อีอีซีไอจะพร้อมให้เข้าพื้นที่ แต่หากพร้อมที่จะทำงานวิจัยต่างๆ ในตอนนี้ สามารถทำในอุทยานวิทยาศาสตร์ได้เลยทั้งที่ส่วนกลางและภูมิภาค โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์แบบเดียวกับอีอีซีไอ

ในช่วงปลายปีนี้ สวทช.จะลงนามบันทึกข้อตกลงการดำเนินงานโครงการ “การเชื่อมโยงการวิจัยพัฒนาและการลงทุนฐานนวัตกรรมระหว่างอีอีซีไอกับอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค” รวมถึงการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการสนับสนุนการพัฒนาอีอีซีไอ กับบริษัทไทยแอลกอฮอล์ จำกัด (มหาชน) ในเครือไทยเบฟ เพื่อการวิจัยขยายผลในโรงกลั่นชีวภาพ รวมถึงการลงนามความร่วมมือกับพันธมิตรอีก 2 รายคือ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย และมหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล

“ปัจจุบันถือว่า อีอีซีไอเดินหน้าไปอย่างมั่นคงตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้ และแม้ว่า การเมืองจะมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ก็เชื่อว่าจะไม่มีผลกระทบ เนื่องจากมี พ.ร.บ.อีอีซี ทำให้เชื่อว่า จะไม่มีอะไรมาทำให้สะดุดโดยเฉพาะเมื่อเป็นโครงการที่มุ่งเน้นประโยชน์ในการพัฒนาประเทศเป็นสำคัญ” นายเจนกฤษณ์ กล่าว