รอลงอาญา3ปี 'อมเรศ' อดีต ปธ.ปรส.คดี ไฟแนนซ์เน่า

รอลงอาญา3ปี 'อมเรศ' อดีต ปธ.ปรส.คดี ไฟแนนซ์เน่า

ศาลฎีกาจำคุก “อมเรศ ศิลาอ่อน” อดีตประธาน ปรส. และอดีตเลขาธิการ ปรศ.คนละ 2 ปี คดีไฟแนนซ์เน่าปี 41 รอลงอาญา 3 ปี

ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาคดีดำ อ.3344/2551 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายอมเรศ ศิลาอ่อน อายุ 83 ปีอดีตประธานคณะกรรมการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) , นายวิชรัตน์ วิจิตรวาทการ อายุ 69 ปี อดีตเลขาธิการ ปรส. , บริษัท เลแมน บาเดอร์ส โฮลดิ้ง อิงค์จำกัด โดยนาย ชาร์ล เจสัน รูบิน (CHARLES JASON RUBIN)ผู้รับประโยชน์ , บริษัท เลแมน บาเดอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด โดยนาย ชาร์ล เจสัน รูบิน (CHARLES JASON RUBIN)ที่ปรึกษา ปรส., กองทุนรวมโกลบอลไทย พร็อพเพอร์ตี้ ผู้รับโอนสิทธิจากการประมูลสินทรัพย์และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมวรรณ จำกัดผู้จัดตั้ง กองทุนรวมโกลบอลไทย ฯ เป็นจำเลยที่ 1– 6ในความผิดฐานร่วมกันกระทำผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงาน ในองค์การ หรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502มาตรา11

โดยอัยการโจทก์ ยื่นฟ้องจำเลยเมื่อวันที่ 8 ก.ย.51 ระบุความผิดสรุปว่า เมื่อวันที่2มิ.ย. -1ต.ค.41 นายอมเรศ จำเลยที่1ในฐานะประธาน ปรส. มีอำนาจวางนโยบายและควบคุมดูแลกิจการของ ปรส.รวมทั้งกำหนดวิธีการชำระบัญชีและขายทรัพย์สินของ56สถาบันการเงิน (ไฟแนนซ์เน่า) ที่ถูกระงับการดำเนินกิจการตาม พ.ร.ก.การปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2540ที่กำหนดให้จัดตั้ง ปรส.ขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาของสถาบันการเงินฟื้นฟูฐานะของสถาบันการเงิน 

ส่วนนายวิชรัตน์ จำเลยที่2 มีหน้าที่ดำเนินกิจการของ ปรส.ให้เป็นไปตามนโยบายและข้อบังคับที่องค์การกำหนด โดยเมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 41 คณะกรรมการ ปรส. มีมติให้มีการจำหน่ายสินทรัพย์หลักการเช่าซื้อที่อยู่อาศัย ครั้งที่ 2 แล้ววันที่ 3 ก.ค.41 ปรส. และบริษัท เลแมน บราเดอร์ส ฯ จำเลยที่ 3ได้ออกข้อกำหนดนโยบาย และขั้นตอนการจำหน่ายสินทรัพย์ พร้อมกำหนดวันประมูลในวันที่ 30 ก.ค.41และปิดการจำหน่ายในวันที่ 1 ก.ย.41

แต่ต่อมา ปรส. มีมติเมื่อวันที่ 21 ก.ค.41ให้เลื่อนการประมูลจากวันที่ 30 ก.ค.41 ไปเป็นวันที่ 13 ส.ค.41 แทน โดยเมื่อวันที่ 4 ก.ค.41 ปรส.และบริษัทจำเลยที่ 3 ออกข้อกำหนดเพิ่มเติมอีกหลายประการโดยให้ผู้เสนอราคา สามารถเสนอราคาโดยให้กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์เป็นตัวแทนผู้ซื้อได้หากกองทุนดังกล่าวสามารถจัดตั้งได้ภายในวันปิดการจำหน่ายแล้วบริษัทจำเลยที่3 ยื่นแบบฟอร์มขอเสนอราคาซื้อในนามของตนเอง เข้าประมูลร่วมกับผู้ประมูลรายอื่นอีก 3 รายโดยเสนอราคาที่ 11,520 ล้านบาทพร้อมวางหลักประกันเป็นเงิน 10 ล้านบาท โดยบริษัทจำเลยที่3เป็นผู้เสนอราคาประมูลสูงสุด ปรส.จึงมีมติให้จำเลยที่3ต้องทำสัญญาซื้อขายภายใน 7 วันนับจากวันที่ 20 ส.ค.41 และต้องชำระเงินงวดแรก 20% ของราคาเสนอซื้อที่ชนะการประมูลเป็นเงิน 2,304 ล้านบาท ซึ่งหากจำเลยที่ 3 แต่วันที่ 20 ส.ค.41 ที่เป็นวันครบกำหนดจำเลยที่ 3 กลับไม่เข้าทำสัญญาซื้อขายและไม่ชำระเงินงวดแรก

กระทั่งวันที่ 11 ก.ย.41 นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รมว.คลังขณะนั้น แจ้งว่า การปฏิบัติหน้าที่ของ ปรส.ไม่โปร่งใส มีความขัดแย้งผลประโยชน์ โดยบริษัทจำเลยที่ 3 ที่ชนะการประมูลเป็นบริษัทกลุ่มเดียวของจำเลยที่ 4 ที่ปรึกษา ปรส. และจำเลยที่1ไม่ดำเนินการตรวจสอบและปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย แต่กลับให้ ปรส.เข้าทำสัญญาซื้อขายกับบริษัทจำเลยที่ 5 ในวันที่1ต.ค.41ทั้งที่จำเลยที่5ไม่มีสิทธิเข้าทำสัญญาในฐานะผู้ซื้อเนื่องจากไม่ได้เป็นผู้ร่วมประมูลและไม่ได้รับอนุมัติให้ชนะประมูลทั้งในนามตนเองและผู้อื่น และการกระทำของจำเลยที่ 1-4 กับพวก ยังเป็นการดำเนินการให้จำเลยที่5ซึ่งเป็นกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับการยกเว้นภาษีตามประมวลรัษฎากร เข้าทำสัญญาซื้อขายเพื่อประโยชน์ทางภาษีอากร เหตุเกิดที่แขวงลุมพินี แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน และแขวงสีลม เขตบางรัก กทม.เกี่ยวพันกันจำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธ ต่อสู้คดี โดยเฉพาะจำเลยที่ 1 –2 อ้างว่า ถูกกลั่นแกล้งทางการเมือง 

โดยศาลชั้นต้น มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 17 ก.ย.55 เห็นว่า การที่ ปรส. มีมติให้ให้เลื่อนการประมูลออกไปจากเดิมวันที่ 30 ก.ค.41 เป็นวันที่ 13 ส.ค.41 ทำให้จำเลยที่ 3 สามารถไปจัดตั้งจำเลยที่ 5 เพื่อมารับโอนสิทธิการประมูลทรัพย์ได้ทันนั้น แสดงให้เห็นถึงพฤติการณ์ และการกระทำที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกัน ขณะเดียวกันก็ทำให้ ปรส. ในฐานะผู้เปิดประมูลขายสินทรัพย์ได้รับความเสียหายดังนั้นจำเลยที่ 1-2 จึงมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 11 ส่วนการจัดเก็บภาษีนั้นเป็นหน้าที่ของหน่วยงานรัฐอื่น ซึ่ง ปรส.มีหน้าเพียงการซื้อขายสินทรัพย์ จึงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองกระทำผิดในส่วนนี้ อย่างไรก็ตามเมื่อพิเคราะห์แล้วจำเลยที่1-2เป็นผู้บริหารสูงสุดของ ปรส. และต่อมาได้มีการชำระเงินเต็มจำนวนจากการประมูลสินทรัพย์ให้แก่ ปรส.จนครบถ้วนแล้ว จึงพิพากษาให้จำคุก จำเลยที่ 1-2 คนละ 2 ปี และปรับคนละ 20,000 บาท

ขณะที่ศาลเห็นว่า จำเลยที่ 1 เคยเป็น รมว.พาณิชย์ และประธานคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ ส่วนจำเลยที่ 2เคยเป็นประธานคณะอนุกรรมการการกลั่นกรองติดตามแผนการฟื้นฟูกิจการของสถาบันการเงิน 58 แห่ง กรณีถือว่าได้เคยทำคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ ประกอบกับขณะตัดสิน จำเลยที่ 1 มีอายุ 79 ปี จำเลยที่ 2 มีอายุ 65 ปีจึงเห็นสมควรให้โอกาสจำเลยทั้งสอง กลับตัวเป็นพลเมืองดี โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้ 3 ปี และให้รายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือนภายกำหนด 1 ปีพร้อมทั้งให้ทำกิจกรรมบริการสังคมตามสมควรอีก 24 ชั่วโมง 

ส่วนบริษัทจำเลยที่ 3-6 จากทางนำสืบของโจทก์คงปรากฏเพียงว่า จำเลยที่ 3 เป็นผู้ได้รับผลประโยชน์จากการกระทำของจำเลยที่ 1-2สำหรับจำเลยที่ 4 เป็นที่ปรึกษา ปรส. จำเลยที่ 5 เป็นผู้รับโอนสิทธิการประมูลสินทรัพย์ และจำเลยที่ 6 เป็นผู้ดำเนินการจดทะเบียนจัดตั้งจำเลยที่ 5 กรณีจึงยังไม่พอฟังได้ว่าจำเลยที่ 3-6 กระทำผิด จึงให้ยกฟ้องจำเลยที่ 3-6 ให้ยกฟ้อง

ต่อมานายอมเรศ และนายวิชรัตน์ จำเลยที่ 1-2 ยื่นอุทธรณ์ ซึ่งมีการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ เมื่อวันที่ 17 มิ.ย.57 ให้ยกฟ้องทั้งสอง

ภายหลังอัยการโจทก์ จึงยื่นฎีกาเฉพาะในส่วนของนายอมเรศ และนายวิชรัตน์ จำเลยที่ 1-2 ว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย ขอให้พิพากษาลงโทษจำเลยตามความผิด

โดยวันนี้ นายอมเรศ อดีต ปธ.ปรส. เดินทางมาพร้อมบุตรชายและทนายความ ขณะที่นายวิชรัตน์ อดีตเลขาธิการ ปรส. ก็เดินทางมาพร้อมฟังคำพิพากษา

ขณะที่ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้ว เห็นว่า การกระทำที่จำเลยที่ 1-2 รับบริษัทจำเลยที่ 3 เป็นผู้เข้าร่วมประมูลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยแล้วให้บริษัทจำเลยที่ 3 เป็นผู้ชนะประมูล ทำให้ ปรส.ได้รับชำระราคาน้อยลงและรัฐบาลไทยเสียหายเพราะต้องรับผิดชอบในส่วนต่าง อีกทั้งทำให้บริษัทจำเลยที่ 3 ได้เปรียบผู้ร่วมประมูลรายอื่นอันเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย เป็นการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด และเป็นการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต

อย่างไรก็ดี โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่กำหนดโทษจำคุก 2 ปีและปรับ 20,000 บาทโดยรอการลงโทษเป็นเวลา 3 ปี พร้อมกำหนดเงื่อนไขคุมประพฤติ ซึ่งแม้ความเสียหายที่เกิดขึ้นมีมูลค่าสูงแต่ศาลฎีกาไม่อาจลงโทษหนักขึ้นได้ จึงพิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ โดยให้บังคับตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น 

ภายหลังฟังคำพิพากษา นายอมเรศ ศิลาอ่อน อดีต ปธ.ปรส. กล่าวว่า ที่ผ่านมาตนทำงานเพื่อส่วนร่วมมาโดยตลอด ตั้งแต่สมัยเป็นรัฐมนตรีและปรส. แต่ทำให้ส่วนร่วมแล้วถูกลงโทษคิดว่าคุ้มหรือไม่หากทุกคนเข้าใจการค้า ต้องรู้อยู่แล้ว ซึ่งประเด็นที่บอกว่าตนทำผิด คือไม่ยกเลิกการประมูลหรือปล่อยให้คนไม่มีสิทธิเข้าไปประมูล ตนจึงตั้งคำถามว่า คนของปรส.ไม่เข้าใจแล้วจะมีใครที่จะเข้าใจได้อีก และตอนที่ธนาคารปิดไปแล้ว อยากให้ไปถามว่าธนาคารได้เงินคืนไปเท่าใด