"เติบโตทุกมิติ" โมเดลธุรกิจ "อาร์เอส"

"เติบโตทุกมิติ" โมเดลธุรกิจ "อาร์เอส"

ปรับยุทธศาสตร์ตามสภาพตลาดแผนเติบโต บมจ.อาร์เอส “เฮียฮ้อ-“สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์” มองยาว 4 ปี

เมื่อ “ความยืดหยุ่น” ได้กลายเป็นคาแรคเตอร์ส่วนตัวของ “เฮียฮ้อ-“สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์” บมจ.อาร์เอส หรือ RS จึงไม่แปลกหากจะเห็นดินแดนบันเทิงอายุกว่า 30 ปี แห่งนี้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างธุรกิจแทบทุกปี

จากธุรกิจขายแผ่นเพลงสู่ธุรกิจดิจิตอล ก่อนจะผลันตัวเองสู่โลกคอนเทนต์กีฬา และกล่องรับสัญญาณดาวเทียม ล่าสุดกำลังหันมาเอาดีใน “ธุรกิจมีเดีย” หลังทุ่มเวลาปั้นธุรกิจดิจิตอลทีวี แซทเทลไลท์ทีวี และคลื่นวิทยุ จนมีเรตติ้งอันดับต้นๆของเมืองไทย

“ธุรกิจใดหากพิสูจน์แล้วพบว่า ไม่เป็นที่น่าพอใจ หรือความนิยมได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว อาร์เอสพร้อมเลิกทำทันที เพื่อจะได้มีเวลาไปทำธุรกิจที่สามารถสร้างกำไรได้สูงสุด”

"สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์” ประธานกรรมการบริษัท ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการ บมจ.อาร์เอส ยืนยันความเชื่อดั่งเดิมให้ “กรุงเทพ Biz Week” ฟัง

แม้จะปรับโครงสร้างธุรกิจทุกปี แต่ไม่ได้หมายความว่า มีความสุข หรือพึ่งพอใจแล้ว ที่ผ่านมาเราบอกพนักงานทุกคนเสมอว่า “อย่าพอใจในสิ่งที่ทำได้ในวันนี้ ถ้าวันนี้ทำได้ดี พรุ่งนี้ต้องทำได้ดีกว่า” ฉะนั้นเราจึงต้องมีเป้าหมายการทำงาน ทั้งระยะสั้นและระยะยาว

เป้าหมายระยะสั้น คือ ในปี 2558 อาร์เอส ต้องมีรายได้ประมาณ 4,600 ล้านบาท กำไรสุทธิ 700 ล้านบาท และช่อง 8 ต้องมีเรตติ้งอันดับ 3 เพื่อมุ่งหน้าไปสู่เป้าหมายที่ใหญ่ขึ้นในปีถัดไป ถามว่า เป้าหมายนี้ท้าทายหรือไม่ ตอบเลยว่า “ใช่” แต่ถ้าในอดีตเราเคยทำได้อนาคตก็ย่อมทำซ้ำได้อีกครั้ง

ก่อนจะพูดเรื่องเป้าหมายระยะยาว “เฮียฮ้อ” เล่าถึงธุรกิจที่อาร์เอสจะให้ความสำคัญน้อยลงในปี 2558 ว่า การแข่งขันและความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไป ประกอบการช่อง 8 แข็งแรงมากขึ้น ทำให้เราจำเป็นต้องลดระดับความสำคัญของ “ธุรกิจกีฬา” และ “ธุรกิจรับสัญญาณดาวเทียม SUN BOX”

ในช่วง 4-5 ปีก่อน คอนเทนต์กีฬาฟุตบอลเคยมีการแข่งขันสูง แต่วันนี้ไม่ใช่แล้ว เห็นได้จากต้นทุนลิขสิทธิ์กีฬาที่ไม่ได้อยู่ในราคาที่เหมาะสมในการทำธุรกิจกีฬาอีกต่อไป ฉะนั้นหากยังอยากทำต่อคงต้องใช้ความรอบคอบในการทำธุรกิจอย่างสูง

ส่วนตัวยังคงมีความเชื่อที่ว่า คอนเทนต์กีฬาสามารถดึงสายตาคนดูได้มากที่สุด แต่สุดท้ายทุกอย่างย่อมมีต้นทุน ความคุ้มค่าอยู่ที่ตรงไหน เราต้องคิดเรื่องนี้ให้มาก ฉะนั้นลิขสิทธิ์ฟุตบอลลาลีกา สเปน ที่กำลังจะหมดสัญญาในเดือนพ.ค.นี้ เราอาจให้ความสนใจน้อยลง ดังนั้นอนาคตกีฬาอาจมีความจำเป็นน้อยมากสำหรับอาร์เอส

สำหรับธุรกิจกล่องรับสัญญาณดาวเทียม SUN BOX ที่ดำเนินการมาแล้ว 3 ปี และมียอดขายแล้วประมาณ 2 ล้านกล่อง เขา ยอมรับว่า ในปี 2558 ยังไม่แผนจะบุกตลาดอย่างจริงจังเหมือนในช่วง 2-3 ปีก่อน แต่คงวางกลยุทธ์การขายให้เหมาะสมกับความต้องการ วันนี้ตลาดเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมค่อนข้างมาก โดยเฉพาะช่วงทางการแจกคูปองกล่องทีวีดิจิทัล

“แม่ทัพใหญ่” เล่าแผนธุรกิจระยะยาวว่า ในช่วง 4 ปีข้างหน้า (2558-25561)

เราจะพยายามทุบสถิติใหม่ของ “กำไรสุทธิทุกปี” หากพิจารณาในแง่ของอัตรากำไรสุทธิตัวเลขที่เหมาะสมควรยืนระดับ 30 เปอร์เซ็นต์ เท่ากับต้องขยับขึ้นจากปี 2558 ที่อยู่ระดับ 15 เปอร์เซ็นต์

เหตุผลที่จะทำให้บริษัทสามารถคว้าตัวเลขนี้มาครอบครอง คือ เรตติ้งช่อง 8 และช่องแซทเทลไลท์ทีวี ต้องขยับขึ้นต่อเนื่อง เมื่อเรตติ้งดีย่อมทำให้อัตราค่าโฆษณาสูงขึ้นด้วย แน่นอนว่า จะสะท้อนมาถึงผลกำไรสุทธิของบริษัท เบื้องต้นในปี 2558 เรามีแผนจะปรับค่าโฆษณาช่อง 8 และช่อง 2 ประมาณ 4-5 เท่าต่อช่อง และหากระหว่างปีเรตติ้งขยับ เราก็สามารถปรับขึ้นได้อีก

ก่อนจะเห็นตัวเลขอัตรากำไรสุทธิที่ระดับดังกล่าว คงต้องวางรากฐานธุรกิจให้แน่น โดยในปี 2558 เราวางแผนจะทุ่มเงินประมาณ 1,000 ล้านบาท เพื่อลงทุนในคอนเทนต์ของสื่อทีวี ซึ่งคงเน้นหนักไปในช่อง 8 ประมาณ 700 ล้านบาท สำหรับเรื่องเงินลงทุนนักลงทุนไม่ต้องห่วง สุขภาพการเงินของเราแข็งแรง

ปัจจุบันเรามีกระแสเงินสดค่อนข้างมาก แถมยังมีวงเงินกู้แบงก์อีกเพียบ ที่สำคัญบริษัทมีแผนจะขายหุ้น อาร์เอส ที่เคยซื้อคืนมาจำนวน 17,700,000 หุ้น ให้แล้วเสร็จก่อนเดือนก.ย.นี้ ซึ่งหุ้นที่ซื้อเคยมา ส่วนใหญ่มีต้นทุนเฉลี่ย 4 บาท ปัจจุบันราคาหุ้นอาร์เอสซื้อขายเฉลี่ย 18 บาท

“แม้ใช้เงินลงทุนเยอะ แต่เรายืนยันจะจ่ายเงินปันผลเหมือนเดิม และไม่มีแผนจะขายหุ้นเพิ่มทุน เพราะฐานทุนของเราเพียงพอแล้ว”

เขา เล่าต่อว่า ปีนี้เราคงยังทำงานในคอนเซ็ปต์ “มีเดีย เรโวลูชั่น” ซึ่งเป็นกลยุทธ์เดิมที่เคยใช้มาแล้วเมื่อ 2 ปีก่อน หัวใจสำคัญของกลยุทธ์นี้ คือ เปลี่ยนบริษัทที่ผลิตคอนเทนต์บันเทิงมาเป็นบริษัทมีเดียเต็มรูปแบบ

ฉะนั้นปีนี้สัดส่วนรายได้จะเปลี่ยนแปลงไป โดยบริษัทจะรับเงินจากธุรกิจมีเดียมากถึง 80 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือเป็นธุรกิจเพลง และธุรกิจอีเวนท์ ซึ่งจะแตกต่างจากปี 2557 ที่มีสัดส่วนรายได้ 50:50

ธุรกิจมีเดีย ประกอบด้วย 1.สื่อทีวี 4 ช่อง คือ ช่อง 8 ดิจิตอลทีวี ,ช่อง 2 ,ช่องสบายดีทีวี และช่องยูแชนแนล ปัจจุบันทุกช่องมีเรตติ้งเป็นอันดับต้นๆของกลุ่ม

“การได้มาของเรตติ้งช่อง 8 ไม่ได้มาจากช่องใดช่องหนึ่ง แต่มาจากสายตาคนดูทั้ง 24 ช่อง วันนี้ช่องใหม่ทุกช่องได้เรตติ้งกันหมดแล้ว ซึ่งเป็นดึงสายตาคนดูมาจากผู้ประกอบการรายเดิมอย่างช่องฟรีทีวี ดูอย่างช่อง 3 วันนี้เรตติ้งหายไปเกือบครึ่งแล้ว”

อาร์เอสจะใช้คอนเทนต์รูปแบบใดมาแย่งสายตาคนดู? ตอนนี้บอกไม่ได้จริงๆ ตอบได้เพียงว่า รายการส่วนใหญ่ของเราจะตอบโจทย์ทุกกลุ่มเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นรายการกีฬา เกมโชว์ วาไรตี้ บันเทิง และข่าว ซึ่งคอนเทนต์บางรายการ บริษัทอาจซื้อลิขสิทธิ์ แต่ส่วนใหญ่จะผลิตเอง 90 เปอร์เซ็นต์

ธุรกิจสื่อทีวีดีตรงที่ไม่จำเป็นต้องทำรีเสิร์ช เพราะเรตติ้งเราจะรู้วันต่อวัน ฉะนั้นจะทำให้รู้ว่า รายการอะไรถูกใจและไม่ถูกใจกลุ่มลูกค้า วันนี้รายการเสียงสวรรค์พิชิตฝัน ละคร และรายการข่าว ถือเป็นรายการที่ถูกใจคนดูช่อง 8 ส่วนรายการที่ไม่ถูกใจ ส่วนใหญ่เป็นรายการเล็กๆ ที่ไม่ได้อยู่ในช่วงไพร์มไทม์ ซึ่งเราก็จะดำเนินการปรับปรุงรูปแบบต่อไป

2.สื่อวิทยุ คือ คลื่นคูล 93 และคลื่น 88.5 สบายดีเรดิโอ โดยคลื่นคูล 93 ปัจจุบันมีเรตติ้งอันดับ 1 ต่อเนื่องมา 14 ปี ส่วนคลื่น 88.5 สบายดีเรดิโอ มีเรตติ้งอันดับ 2 สำหรับคลื่น คูล เซลเซียส 91.5 เราเลิกทำไปแล้ว

หลังดำเนินการมาได้แค่ 1 ปี แล้วพบว่า คลื่นไม่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ ทำเต็มที่ได้แค่เท่าทุน เนื่องจากตลาดเพลงสากลไม่ได้ใหญ่มากพอเหมือนที่เคยทำผลสำรวจ ขณะที่สื่อวิทยุเป็นธุรกิจขาลง หรือ Sunset ฉะนั้นหากอยากอยู่รอดต้องชนะเท่านั้น เมื่อพิจารณาอย่างรอบคอบทำให้รู้ว่า คลื่น คูล เซลเซียส 91.5 ไม่ได้อยู่ในยุทธศาสตร์ของเรา

“ปีนี้อยากให้น้ำหนักในสื่อทีวีมากที่สุด เพราะธุรกิจน่าจะมีการแข่งขัน ค่อนข้างรุนแรง ฉะนั้นหากเราไม่ปรับตัวจะอยู่ลำบาก จริงๆแล้วอุตสาหกรรมสื่อในช่วง 2-3 ปีก่อน มีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก ฉะนั้นผู้ประกอบการต้องตื่นตัวตลอดเวลา”

ถามว่า เพราะอะไรอาร์เอสจึงให้ความสำคัญกับธุรกิจเพลงลดลงเรื่อยๆ เขาตอบว่า เราได้ปรับกลยุทธ์ธุรกิจเพลงใหม่ครั้งล่าสุดเมื่อปี 2557 ด้วยการรวมศูนย์การบริหารใหม่ โดยได้นำเพลงเพลงสตริงและเพลงลูกทุ่งมาให้ “เณร-ศุภชัย นิลวรรณ” รองกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส กลุ่มธุรกิจเพลง เป็นผู้ดูแลทั้งหมด ฉะนั้นเชื่อว่าธุรกิจเพลงจะยังคงสร้างกำไรได้ดีเหมือนเดิม

การปรับกลยุทธ์ธุรกิจเพลงครั้งนี้จะทำให้เกิดความคล่องตัวมากขึ้น และต้นทุนต่างๆจะลดลง ขณะเดียวกันทีมงานยังสามารถแชร์กลยุทธ์ความสำเร็จจากฝ่ายหนึ่งไปอีกฝ่ายหนึ่งได้ และยังสามารถเชื่อมคอนเทนต์ที่ดีไปสู่ช่องสบายดีทีวี และช่องยูแชนแนลได้ เนื่องจากคุณเณรเป็นผู้บริหารของ 2 ช่องนี้ด้วย

“หากมองธุรกิจเพลงไม่ควรมองเรื่องรายได้เป็นหลัก แต่ควรมองในแง่ของกำไรเพราะธุรกิจเพลงมีอัตรากำไรขั้นต้นมากถึง 40-50 เปอร์เซ็นต์ ถือว่าสูงเมื่อเทียบกับธุรกิจอีเวนท์ที่มีอัตรากำไรขั้น 30 เปอร์เซ็นต์ ฉะนั้นหลายปีที่ผ่านมา ที่เราพยายามปรับตัวให้เข้ากับอุตสาหกรรมเพลงทั่วโลกที่กำลังอยู่ในภาวะตกต่ำ ถือว่าเดินมาถูกทางแล้ว อาร์เอส ถือ เป็นบริษัทเพลงแห่งแรกในเมืองไทยที่ปรับตัวก่อนใคร”

“สุรชัย” ทิ้งท้ายว่า เมื่อสัปดาห์ก่อนมีนักวิเคราะห์จากหลายสำนักเข้ามารับฟังข้อมูลต่างๆของอาร์เอส ซึ่งก่อนหน้านี้นักวิเคราะห์เคยให้ราคาเป้าหมายหุ้น อาร์เอสบวกลบ 15 บาท แต่เมื่อเดือนธ.ค.ที่ผ่านมา บล.ธนชาติ ได้ขยับราคาเป้าหมายเป็น 25 บาท แต่หลังจากนักวิเคราะห์เข้าฟังข้อมูลรอบนี้แล้วจะให้ราคาเป้าหมายเท่าไหร่ก็คงต้องรอดูต่อไป

ความสวยของอาร์เอส ทำให้ที่ผ่านมาเหล่ากองทุนต่างประเทศหลายแห่งแสดงความสนใจขอซื้อหุ้น อาร์เอส แต่บริษัทไม่มีแผนขายหุ้นเพิ่มทุน ขณะที่ส่วนตัวไม่เคยคิดขายหุ้นออก ตรงข้ามมีแต่จะซื้อเพิ่มเติม ฉะนั้นหากใครอยากได้คงต้องไปเก็บในกระดานหรือไปขอซื้อจากผู้ถือหุ้นคนอื่น

ปัจจุบันเฮียถือหุ้น อาร์เอส มากถึง 40 เปอร์เซ็นต์ หลัง “เคน-โสรัตน์ วณิชวรากิจ” ผู้ถือหุ้น อาร์เอส อันดับ 2 ได้ขายหุ้นบิ๊กล็อตให้จำนวน 30 ล้านหุ้น ราคา 13 บาท มูลค่า 400 ล้านบาท นอกจากนั้นยังได้ทยอยเก็บเพิ่มในกระดาน

สาเหตุที่ซื้อหุ้น อาร์เอส ทุกครั้งที่มีจังหวะ นั่นคงเป็นเพราะทีวีดิจิทัล ธุรกิจที่ใครหลายคนบอกว่า เป็นธุรกิจเผาเงิน ธุรกิจดูดเงิน มันกำลังจะสร้างความแข็งแกร่งให้อาร์เอส ฉะนั้นหากใครสนใจหุ้นมีเดีย มองหุ้น อาร์เอสไว้บ้างก็ได้นะ