"เพื่อนคู่คิดซีอีโอ" "โสรัตน์ วณิชวรากิจ"

"เพื่อนคู่คิดซีอีโอ" "โสรัตน์ วณิชวรากิจ"

เมื่อโมเดลลงทุน Value Business Synergy ทำให้เงินในกระเป๋างอกเงย “เคน-โสรัตน์ วณิชวรากิจ” นักลงทุน VI ไซด์บิ๊ก จึงออกตามหาหุ้นในสเปกไม่หยุด

“ฟอร์มเยอะจัดหนัก”

นักลงทุนคนสนิทขนานนามให้ “นักลงทุนวีไอรายใหญ่” “เคน-โสรัตน์ วณิชวรากิจ” เจ้าของ “แพนเอเชีย อุตสาหกรรม” ผู้ผลิตแผ่นอะครีลิคชั้นนำของประเทศไทย ซึ่งมีโรงงานอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง

เจ้าของนามแฝง “Ken Sorat” ในเวปไซด์ Thaivi เริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้าง หลังไล่ซื้อหุ้น อาร์เอส หรือ RS จนขึ้นแท่นผู้ถือหุ้นอันดับ 2 ครองสัดส่วนการถือหุ้น 13.70 เปอร์เซ็นต์ รองจาก “เฮ้อฮ้อ-สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์” ที่ขณะนั้นถือหุ้น RS เพียง 17.14 เปอร์เซ็นต์ (ตัวเลข ณ วันที่ 19 มี.ค.2553)

ปัจจุบัน “เคน” ถือหุ้น RS ประมาณ 18.09 เปอร์เซ็นต์ และได้นั่งเป็นกรรมการบริษัทตามคำเชื้อเชิญของ “เฮียฮ้อ” ขณะที่ “สุรชัย” ถือหุ้น RS เพิ่มขึ้นเป็น 32.26 เปอร์เซ็นต์ (ตัวเลข ณ วันที่ 13 มี.ค. 2557)

“โสรัตน์” เป็นบุตรชายคนสุดท้อง จากจำนวน 3 คน พี่ชายคนโตชื่อ “โยธิน วณิชวรากิจ” ปัจจุบันถือหุ้น RS จำนวน 4.32 เปอร์เซ็นต์ พี่ชายคนกลาง “ชัยทัต วณิชวรากิจ” อาชีพประจำของน้องคนสุดท้อง คือ นั่งบริหารธุรกิจ “แพนเอเชีย อุตสาหกรรม”

“ชายวัย 42 ปี” ก้าวขาเข้าตลาดหุ้นครั้งแรกตอนอายุ 16 ปี หลังสะสมคลังความรู้และเงินมาพักใหญ่ ด้วยความหวังที่ว่า เงินตั้งต้น 100,000 บาท ซึ่งเป็น “เงินแต๊ะเอีย” ต้องเพิ่มพูนขึ้นเป็น “หลายล้านบาท”

เขาประสบความสำเร็จในช่วงแรกของการลงทุน เงินในพอร์ตเพิ่มขึ้นจากแสนบาทเป็น 300,000 บาท แต่สุดท้ายเงินลงทุนหดหายเหลือแค่ 30,000 บาท ทำให้ความหวังจะมีเงินล้านสลายไปในพริบตา “ไม่มีความรู้เรื่องหุ้น” คือ เหตุผลของการขาดทุนในครั้งนั้น

“โสรัตน์” กลับเข้าสู่ตลาดหุ้นอีกครั้งเมื่ออายุ 30 ปี คราวนี้มาพร้อมเงิน 10 ล้านบาท เล่นหุ้นได้ 5-6 ปี เงินในพอร์ตเพิ่มขึ้นเป็น 100-150 ล้านบาท แต่ดีใจได้ไม่นานอาการ “หัวใจสลาย” กลับมาเยือนอีกครั้ง เมื่อโดนวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ปี 2551 เล่นงาน ส่งผลให้พอร์ตลงทุนหดตัว 70 เปอร์เซ็นต์

เหตุการณ์ครานั้นทำให้เขาหายหน้าไปจากวงการนานถึง 1 ปี ก่อนจะกลับมาพร้อมเงินก้อนใหม่ 100 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินที่ไประดมทุนมาจากบรรดาญาติๆ ปัจจุบัน “เคน” คือ “เจ้าของพอร์ตหุ้นหลักพันล้านบาท”

“หลักการลงทุนที่ดี คือ จงหากิจการที่ดีและเข้าไปซื้อรับรองไม่ขาดทุนแน่นอน” “เคน-โสรัตน์” เล่าถึง “ทฤษฎีการลงทุนครั้งใหม่” ให้ “กรุงเทพธุรกิจ Biz Week” ฟัง

วันนี้ยังคงยึดสไตล์การลงทุนแบบ "นักลงทุนผสมนักธุรกิจ" ภายใต้โมเดลการลงทุน Value Business Synergy อธิบายง่ายๆ คือ จงสวมบทบาทนักลงทุน ด้วยการเข้าไปถือหุ้นในบริษัทที่กำลังเติบโตในจำนวนเยอะๆ จากนั้นจงงัดบทบาทนักธุรกิจออกมา ด้วยการเข้าไปร่วมระดมสมองกับทีมผู้บริหาร ในฐานะพันธมิตรทางธุรกิจ วิธีนี้จะทำให้เกิด "Win-Win Game" ทั้งสองฝ่าย

ถามถึงเป้าหมายการลงทุน เขาบอกว่า ถ้าตัดสินใจเข้าไปถือหุ้นตัวไหนต้องมีสัดส่วนการถือหุ้นเป็นอันดับ 2 เท่านั้น เพราะเราอยากเข้าไปร่วมกับเจ้าของ เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจคุณสมบัติหุ้นที่ดี คือ เจ้าของต้องเป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 1 และต้องมีลูกหลานคอยสืบทอดธุรกิจอย่างน้อยจะทำให้เรามั่นใจได้ว่า วันหนึ่งธุรกิจต้องถูกยกให้ทายาท ฉะนั้นปัญหาการคอรัปชั่นจะไม่เกิดขึ้น

“ความฝันอยากถือหุ้นอันดับ 2 ในบริษัทดีๆ ค่อยๆเป็นจริงแล้ว วันนี้ความคิดตกผนึกแล้ว ที่ผ่านมาผมได้อะไรจากตลาดหุ้นมากมาย ฉะนั้นหากร่วมมือกันทำงานกับเจ้าของไม่เกิน 10 ปี จากบริษัทเล็กๆคงจะกลายเป็นบริษัทใหญ่”

“เคน” ย้ำว่า อยากเป็นนักลงทุนที่เป็น “เพื่อนคู่คิดซีอีโอ” เหมือนที่ทำกับ RS เราเริ่มเข้าไปลงทุนในหุ้น RS เมื่อกลางปี 2553 ตอนนั้นบริษัทกำลังจะขยับตัวเองไปสู่ธุรกิจทีวีดาวเทียม ซึ่งเป็นเทรนด์ที่กำลังมาแรง ตอนนั้นค่อนข้างเชื่อมือ “เฮียฮ้อ” เขาเป็น "คนเก่ง" มีอะไรเหนือคู่แข่งหลายอย่าง

คิดดูสิ “เฮียฮ้อ” สามารถผ่านจุด “เกือบเจ๊ง” มาได้ แถมวันนี้เขาขยายธุรกิจจนแข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ ตอนนั้นเรามองว่าอีก 3 ปีข้างหน้า (2554-2556) “กำไรสุทธิ” ของ RS ต้องสวยงามมาก สุดท้ายเราคิดถูก..

ตอนนี้กำลังเล็งจะเข้าไปลงทุนในบริษัทขนาดเล็กที่มี “มาร์เก็ตแคป” ต่ำกว่า “พันล้านบาท” ประมาณ 2-3 แห่ง เน้นธุรกิจที่ไม่เคยเข้าไปลงทุน แต่มีความชื่นชอบและเข้าใจเนื้อธุรกิจเป็นอย่างดี

โดยเราจะเข้าไปพัฒนาบริษัท เพื่อให้มาร์เก็ตแคปเติบโตขึ้นเรื่อยๆ จากประสบการณ์การลงทุนตลอด 5 ปีที่ผ่านมา น่าจะมีส่วนช่วยให้บริษัทขนาดเล็กที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่ดี มีศักยภาพที่ดี และราคาไม่แพงมาก กลายเป็นบริษัทขนาดใหญ่ได้ในอนาคต เขาย้ำ อย่างน้อยบริษัทที่เราเข้าไปลงทุนน่าจะได้อะไรดีๆจากเราไม่มากก็น้อย

“หากวันหนึ่งตลาดหุ้นไม่มีเสน่ห์ดึงดูดใจ ในเรื่องของราคาและส่วนต่างของกำไร เราอาจต้องเปลี่ยนความคิดใหม่ ฉะนั้นรีบปรับตั้งแต่วันนี้น่าจะดีกว่า ผมเชื่อว่า การเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจการที่ดีและร่วมด้วยช่วยกันสร้างกำไรคงดีกว่าลงทุน เพื่อรับส่วนต่างของราคาหุ้นเพียงอย่างเดียว”

ถามมุมมองที่มีต่อตลาดหุ้นในช่วงที่เหลือของปี 2557 “เคน” วิเคราะห์ว่า คงไม่มีอะไร “น่ากลัว” เพราะเหตุการณ์ที่น่ากังวลผ่านไปแล้ว ต่อจากนี้น่าจะเป็นโอกาสที่ดีของนักลงทุนที่จะได้จับจองหุ้นดีๆ หากค้นพบแล้วจับจังหวะลงทุนให้ถูก ส่วนตัวก็จะทำเช่นนั้นเหมือนกัน

ที่ผ่านมาได้ทยอยซื้อหุ้นเพิ่มเติมบ้างแล้ว ในช่วงที่ตลาดหุ้นปรับตัวลดลง หลังจากนั่งทำการบ้านมาพักใหญ่ ฉะนั้นเมื่อโอกาสมาถึงเราไม่รีรอที่จะลงทุน ส่วนใหญ่จะซื้อหุ้นที่อุตสาหกรรมมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง

“ทุกครั้งที่เกิดเปลี่ยนแปลงจะทำให้เกิดผู้แพ้ผู้ชนะ”

เขาบอกว่า ปัจจุบันมีหุ้นในพอร์ตประมาณ 5 ตัว ส่วนใหญ่จะอยู่ใน “กลุ่มสื่อสาร-ดิจิตอลทีวี-รับเหมาก่อสร้าง-ยานยนต์” “เคน” วิเคราะห์ “จุดน่าสนใจ” ของกลุ่มสื่อสารว่า ช่วงที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสัมปทาน หลังโครงข่าย 3G และ 4G เกิดขึ้น

ก่อนซื้อหุ้นสื่อสาร นอกจากจะนั่งวิเคราะห์ธุรกิจของ “โอเปอเรเตอร์” 3 ค่ายใหญ่แล้วยังเคยเข้าไปเยี่ยมชมกิจการด้วย ช่วงที่ตัดสินใจซื้อหุ้นกลุ่มนี้อุตสาหกรรมกำลังเกิดการลดต้นทุนอย่างรุนแรง แต่ด้วยความที่ทุกคนต้องใช้โทรศัพท์มือถือ เมื่อราคาหุ้นกลุ่มนี้ลดลงจึงตัดสินใจเข้าไปซื้อ

ส่วนหุ้นที่เกี่ยวข้องกับดิจิตอลทีวี สเต็ปลงทุนจะคล้ายคลึงกันตรงที่มีคนลงมาประมูลดิจิตอลทีวีเยอะมาก ฉะนั้นอุตสาหกรรมย่อมเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง สำหรับกลุ่มรับเหมาก่อสร้างเข้าไปซื้อในช่วงที่ราคาหุ้นไม่แพง ตอนนั้นมองว่า ไม่ว่าใครจะเข้ามาเป็นรัฐบาลโครงการเมกะโปรเจคต้องเกิด

สำหรับกลุ่มยานยนต์ แม้ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมจะชะลอตัว แต่เชื่อว่าคงคลี่คลายเร็วๆนี้ และคงกลับมาโดดเด่นอีกครั้ง ฉะนั้นจึงตัดสินใจทยอยซื้อเข้าพอร์ตเรื่อยๆเมื่อมีโอกาส ปัจจุบันพอร์ตลงทุนยังคงอยู่หลักเดิม “พันล้านบาท”

ถามถึงผลตอบแทนในปี 2556 เขาพูดว่า “สุดแสนแฮปปี้” ทั้งในรูปของผลตอบแทนที่มาจากตลาดหุ้นโดยตรง และจากการเข้าไปลงทุนในรูปแบบของการเป็นเจ้าของ ปีก่อนการลงทุนในรูปแบบตลาดหุ้นโดยตรงมีตัวเลขที่สุดยอดมาก

“ผมสามารถรอคอยกิจการที่ดี ราคาถูก และสามารถถือยาวจนกว่าราคาจะเต็มหรือล้นมูลค่า พื้นฐานผมเป็นนักธุรกิจมาก่อน ฉะนั้นจะใช้สไตล์การเป็นนักธุรกิจมาผสมผสานการลงทุน”

กฎเหล็กพิชิตหุ้น

หลักการประสบความสำเร็จในการลงทุนของ “โสรัตน์” คือ ประการแรก เริ่มค้นหาข้อมูลจากภายนอก เช่น บทวิเคราะห์ และขอความรู้จากผู้เชี่ยวชาญ ประการที่สอง เมื่อได้ข้อมูลแล้วจะเริ่มเข้าสู่กระบวนการค้นหาข้อมูลจากภายใน ด้วยการทำ Company Visit หรือเยี่ยมชมกิจการ ด้วยตนเอง

ประการที่สาม เมื่อได้ข้อมูลครบถ้วนจะเริ่มเข้าไปคุยกับฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์ หรือผู้บริหารของบริษัท โดยจะนำนักวิเคราะห์ส่วนตัวไปด้วย ประการที่สี่ หลังกลับมาจากการเยี่ยมชมกิจการหรือพูดคุยกับผู้บริหารแล้วจะคุยกับนักวิเคราะห์ต่ออีก 1 ชั่วโมง เพื่อหาข้อสรุปว่า “หุ้นตัวนี้โอเคหรือไม่”

ประการที่ห้า ถ้าชอบจะถามนักวิเคราะห์ต่อว่า พอมีลูกค้ารายใหญ่ที่ซื้อหุ้นตัวนี้อยู่แล้วหรือไม่ ถ้ามีจะนัดเข้าไปคุย เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล ประการที่หก หากมั่นใจในข้อมูลทั้งหมดแล้วจะทยอยเก็บหุ้น ประการสุดท้าย เมื่อซื้อหุ้นจนกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่แล้วจะเข้าไปเยี่ยมชมกิจการและคุยกับผู้บริหารของบริษัททุกไตรมาส

“บัญญัติ 10 ประการ” ในการทำธุรกิจให้เป็นสุดยอด SME ประการแรก ต้องชนะด้วย 5 พลังของผู้นำ เพราะผู้นำสำคัญมาก เราต้องมี “แรงกาย ใจ ความคิด ความรัก และศรัทธา”

ประการที่สอง ต้องชนะด้วยการมีลูกน้องที่ดีกว่า เก่งกว่า กล้ากว่า และมีความสุขกว่า ประการที่สาม ต้องสร้าง Speed ownership คือ เติบโตแล้วต้องแตกเป็นยูนิต ประการที่สี่ ต้องใช้ “ทฤษฎีปลาน้ำตื้น “สินค้าไม่ต้องฮิต แต่ต้องกำไรงาม ไม่เหมือนคนอื่น

ประการที่ห้า ต้องทำกิจกรรมต่างๆ ด้วยตนเอง ประการที่หก แท็กทีม 360 องศา คือ สินค้าตัวไหนดี เราจะไปรวมพลังกับคนอื่น สินค้าบางอย่างไม่จำเป็นต้องทำคนเดียว ไม่เช่นนั้นจะมีต้นทุนที่สูงเกินไป ประการที่เจ็ด สร้างแผนประชาสัมพันธ์เชิงรุก ด้วยการมีโปรโมชั่นใหม่ๆอย่างต่อเนื่อง ออกแนวลั่นกลองรบไม่หยุด

ประการที่แปด ทำงานด้วยต้นทุนต่ำอย่าติดหรู ประการที่เก้า ต้องมีโครงการดีๆ ประการสุดท้าย คือ ต้องการกระจายกำไร เช่น มีกำไรร้อยเปอร์เซ็นต์ต้องแบ่งให้พนักงาน 10 เปอร์เซ็นต์ ปรับปรุงงาน 10 เปอร์เซ็นต์ วิจัยและพัฒนา (R&D ) 5 เปอร์เซ็นต์ บริหารลูกค้าสัมพันธ์ (CRM) 5 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือต้องเก็บเป็นเงินสด เพื่อนำไปลงทุน หรือใช้ยามฉุกเฉินสำหรับ “กฎเหล็กการใช้ชีวิต” ไล่มาตั้งแต่ ประการแรก ต้องรู้จักตัวเอง จงใช้เวลาคิดทุกเรื่องวันละ 1 ชั่วโมง ถือเป็นงานอย่างหนึ่งที่ต้องทำทุกวัน ประการที่สอง ต้องวางเป้าหมาย เช่น ทำอะไรแล้วต้องรู้ผลทันที และ ประการที่สาม ใฝ่รู้ ใฝ่เรียน โดยเฉพาะอาหารจานหลัก พวกขนมเรียนรู้นิดหน่อยพอ

“คนเราต้องกล้าเปลี่ยน ทำอะไรให้โลกรู้ แม้ตอนพูดอาจมีคนหัวเราะ แต่ตราบใดที่คิดว่า เดินมาถูกทางก็อย่าได้แคร์ ที่สำคัญ ต้องซื่อสัตย์ รู้คุณคน และต้องทำความดีทุกวัน นิดหน่อยก็ต้องทำ แล้ววันหนึ่งคุณจะประสบความสำเร็จเหมือนผม”