หุ้นยานยนต์ "ยิ้มไม่ออก" งบไตรมาส 1 "แดงแป๊ด"

หุ้นยานยนต์ "ยิ้มไม่ออก" งบไตรมาส 1 "แดงแป๊ด"

เมื่อ “ส่งออก” ยังไม่ “สำแดงฤทธิ์” ตัวเลขการเงิน 3 เดือนแรก “กลุ่มยานยนต์” จึงออกมา “ติดลบ” หากเศรษฐกิจการเมืองยังไร้ทางออก

“ส่งออก” กลายเป็น “พระเอกจำเป็น” ของหลายๆอุตสาหกรรม ท่ามกลางเศรษฐกิจชะลอตัว กำลังซื้อลดลง และการเมืองวุ่นวาย กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนก็คิดเช่นนั้น..

ผู้ประกอบการหลายรายตั้งโต๊ะประชุมด่วน เพื่อปรับกลยุทธ์การทำธุรกิจใหม่ ด้วยการหันมาส่งออกมากขึ้น ทดแทนยอดขายรถยนต์ในประเทศที่ลดลง หลังปริมาณคำสั่งซื้อของผู้ผลิตรถยนต์และรถจักรยานยนต์หดตัว

ผ่านมา 3 เดือน “พระเอกจำเป็น” ยังแสดงฝีมือไม่สุดความสามารถ เป็นเหตุให้ภาคเอกชนต้องเพิ่มวิธีการแก้ปัญหาใหม่ ด้วยการ “ลดกะการทำงาน” (1กะ เท่ากับ 8 ชั่วโมงของการทำงาน) และ “ลดการทำงานล่วงเวลา” (Over Time) แทนการ “ปลดพนักงาน” เพราะแรงงานไทยฝีมือดีเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน ขณะที่หลายรายเชื่อว่า ค่ายรถยนต์ใหญ่ๆมีแผนจะเปิดโรงงานใหม่ในเมืองไทยอีกหลายแห่ง

สอดคล้องกับคำพูดของ “สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย” หรือ ส.อ.ท. ที่ระบุว่า ยอดการผลิตรถยนต์ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2557 มีจำนวน 517,492 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 28.28 เปอร์เซ็นต์ โดยในช่วงเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา ยอดผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศมีจำนวน 78,615 คัน คิดเป็น 43.35 เปอร์เซ็นต์ของยอดการผลิตทั้งหมด ซึ่งเป็นยอดที่ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 50.99 เปอร์เซ็นต์

เหตุผลสำคัญที่ทำให้ยอดผลิตลดลง นอกจากปีนี้จะไม่ต้องเร่งผลิตรถยนต์ในโครงการรถยนต์คันแรกแล้ว ปัญหาสำคัญ คือ เศรษฐกิจในประเทศชะลอตัว ทำให้ยอดใช้จ่ายในประเทศลดลง ขณะที่การเมืองไทยยืดเยื้อ ภาคส่งออกติดลบ ส่งผลให้ผู้ประกอบการไม่สามารถเดินเครื่องจักรได้เต็มกำลังการผลิต

บริษัทจดทะเบียนที่โชว์ “ตัวเลขการเงินไตรมาสแรก” ท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจการเมืองเป็นรายแรกๆ อาทิเช่น บมจ.ไทยสตีลเคเบิล หรือ TSC ผู้ผลิตสายควบคุม และชุดควบคุมรางกระจกหน้าต่างรถยนต์ ซึ่งถือหุ้นใหญ่ 83.11 ล้านหุ้น คิดเป็น 31.99 เปอร์เซ็นต์ โดย “สรรเสริญ จุฬางกูร” “กลุ่มจุฬางกูร” ผู้ก่อตั้งอาณาจักรหมื่นล้าน "ซัมมิทกรุ๊ป" ผู้ผลิตและจำหน่ายชิ้นส่วนประกอบชนิดต่างๆให้กับอุตสาหกรรมรถยนต์และรถจักรยานยนต์

บริษัทแจ้งผลประกอบการไตรมาส 2/2557 (งบการเงินสิ้นสุดวันที่ 3 ก.ย.ของทุกปี) ว่า กำไรสุทธิ 43.34 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 95.78 ล้านบาท และมีรายได้ 690.10 ล้านบาท ลดลง 29 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้ 966 .91 ล้านบาท

นอกจากนั้นบริษัทยังมีอัตราส่วนกำไรสุทธิต่อยอดขาย 6.28 เปอร์เซ็นต์ ลดลง 3.63 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันที่อยู่ 9.91 เปอร์เซ็นต์ อัตรากำไรขั้นต้น 18.64 เปอร์เซ็นต์ เทียบกับช่วงเดียวกันที่อยู่ 18.98 เปอร์เซ็นต์ อัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น 4.54 เปอร์เซ็นต์ เทียบกับช่วงเดียวกันที่อยู่ระดับ 11.32 เปอร์เซ็นต์ และอัตราหนี้สินต่อทุน 0.64 เท่า เทียบกับช่วงเดียวกันที่อยู่ 0.61 เท่า

ขณะเดียวกันบริษัทยังมีต้นทุนขายระดับ 561.49 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่อยู่ระดับ 783.38 ล้านบาท และมีค่าใช้จ่ายในการขายและบริการ 81.52 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันที่อยู่ระดับ 88.70 ฃ้านบาท

แม้จะมีเหตุการณ์ต่างๆรุมเร้า แต่บริษัทยังคงเดินหน้าปรับปรุงการผลิตและพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันบริษัทยังพยายามขยายกำลังการผลิต ขยายฐานผลิตภัณฑ์ และกลุ่มลูกค้าให้มากขึ้น เพื่อรักษากำไรสุทธิให้คงที่

นอกจากนั้นยังมี บมจ.สมบูรณ์ แอ๊ดวานซ์ เทคโนโลยี หรือ SAT ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ อาทิเช่น เพลาข้าง เป็นต้น แจ้งผลประกอบการในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2557 ว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมรถยนต์มีปริมาณการขายลดลง หลังเศรษฐกิจชะลอตัว การเมืองไม่แน่นอน ส่งผลให้บริษัทมี “กำไรสุทธิ” 168 ล้านบาท ลดลง 29 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 236 ล้านบาท

นอกจากนั้นยังมีรายได้จากการขายสุทธิและบริการ 2,106 ล้านบาท ลดลง 17 เปอร์เซ็นต์ เทียบกับช่วงเดียวกันที่อยู่ 2,535 ล้านบาท ขณะเดียวกันบริษัทยังมีต้นทุนขายและบริการ 1,730 ล้านบาท ลดลง 18 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2556 ที่อยู่ระดับ 2,102 ล้านบาท และมีค่าใช้จ่ายบริหารและอื่นๆ 187 ล้านบาท ลดลง 1 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่อยู่ระดับ 189 ล้านบาท

“บิสวีค” สำรวจรายชื่อผู้ถือหุ้น SAT พบว่า “บริษัท สมบูรณ์ โฮลดิ้ง จำกัด” ในฐานะหุ้นใหญ่ยังคงสัดส่วนการถือหุ้น 25.48 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ผู้ถือหุ้นอันดับ 2 “เสี่ยปู่-สมพงษ์ ชลคดีดำรงกุล” เซียนหุ้นรายใหญ่ แม้จะลดส่วนการถือหุ้นจาก 21.37 ล้านหุ้น คิดเป็น 6.29 เปอร์เซ็นต์ วันปิดสุมดทะเบียน ณ วันที่ 14 มี.ค.2556 เหลือ 4.94 เปอร์เซ็นต์

แต่เขากับเพิ่มการถือหุ้นในนาม “สมพงษ์ ชลคดีดำรงกุล โดยบลจ.แอสเซทพลัส จำกัด จาก 1.94 เปอร์เซ็นต์ เป็น 2.06 เปอร์เซ็นต์

ขณะที่ DBS BANK A/C SG0900110824 สัญชาติสิงคโปร์ เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นSAT จาก 1.32 เปอร์เซ็นต์ เป็น 2.94 เปอร์เซ็นต์ และบริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด ครองหุ้นเพิ่มขึ้นจาก 3.31 เปอร์เซ็นต์ เป็น 4.36 เปอร์เซ็นต์

เมื่อวันที่ 20 เม.ย.2556 “ยงเกียรติ์ กิตะพาณิชย์” ในฐานะรองประธานกรรมการ ขายหุ้น SAT จำนวน 100,000 หุ้น ราคา 40 บาท ขณะเดียวกันเมื่อวันที่ 24 เม.ย.2556 “วิชัย ศรีมาวรรณ์” ซื้อหุ้น 15,000 หุ้น ราคา 28.37 บาท

ส่วน “วีระยุทธ กิตะพาณิชย์” ในฐานะกรรมการบริษัท ขายหุ้นSAT จำนวน 2 ล้านหุ้น ราคา 17.32 บาท เมื่อวันที่ 6 พ.ค.2557 ปัจจุบัน “ยงเกียรติ์” ถือหุ้น SAT 1.96 เปอร์เซ็นต์ และ “วีระยุทธ” ถือหุ้น 2.32 เปอร์เซ็นต์

ส่วนโครงการผู้ถือหุ้น TSC ณ วันปิดสมุดทะเบียนเมื่อวันที่ 5 ก.พ.2557 “สรรเสริญ จุฬางกูร”ยังคงสัดส่วนการถือหุ้นเท่าเดิม เปลี่ยนแปลงเพียงตัวเลขของ “ทวีฉัตร จุฬางกูร” นายน้อยแห่งซัมมิทกรุ๊ปที่เพิ่มขึ้นจาก 7.36 เปอร์เซ็นต์ (ณ วันที่ 8 ก.พ.2556) เป็น 7.60 เปอร์เซ็นต์ หลังไล่เก็บหุ้น TSC มาตั้งแต่เดือน 10 ปี 2556 ราคาต่ำสุด 13.42 บาท สูงสุด 15.90 บาท

ขณะเดียวกันยังพบรายชื่อผู้ถือหุ้นหน้าใหม่เข้ามาถือหุ้น TSC อาทิเช่น “ไชยทัศน์ ไชยพิภัทรสุข” 2.50 เปอร์เซ็นต์ “บริษัทหลักทรัพย์ ไอร่า จำกัด (มหาชน)” 1.74 เปอร์เซ็นต์ “เทวารักษ์-พิทักษ์-ดวงพร-พรเพ็ญ วีระวัฒกานนท์” ในสัดส่วน 0.74 -0.67-0.63- 0.58 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ และ “สมิตรา ดำรงกิจชัยพร” 0.58 เปอร์เซ็นต์

“ยงเกียรติ์ กิตะพานิชย์” กรรมการผู้อำนวยการ บมจ.สมบูรณ์ แอ็ดวานซ์ เทคโนโลยี วิเคราะห์ภาพรวมอุตสาหกรรมรถยนต์ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2557 ให้ “กรุงเทพธุรกิจ Biz Week” ฟังว่า แม้ผู้ประกอบการหลายรายจะหันไปส่งออกมากขึ้น เพื่อทดแทนยอดขายในประเทศที่ลดลง แต่ตัวเลขยอดผลิตรถยนต์ 3 เดือนแรกของปีนี้ยังคงลดลงประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ นั่นเป็นเพราะยอดส่งออกยังแสดงผลไม่ดีเท่าที่ควร

ส่วนตัวเลขยอดผลิตรถยนต์ของปี 2557 มีความเป็นไปได้ที่จะลดลงประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ เหลือเพียง 2-2.2 ล้านคัน จากปีก่อนที่มียอดผลิตประมาณ 2.4 ล้านคัน เนื่องจากภาพรวมอุตสาหกรรมไม่ดี หลังการเมืองยืดเยื้อ

ผลประกอบการของ SAT ในปี 2557 ยอดขายคงลดลงประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ หากปัญหาภายในประเทศยังเป็นเช่นนี้ หลังไตรมาสแรกที่ผ่านมายอดขายหดไปแล้ว 10 เปอร์เซ็นต์ แต่ลึกๆในใจมีความเชื่อว่า หากสถานการณ์การเมืองคลี่คลายกำลังซื้อในประเทศจะกลับมาอย่างรวดเร็ว

ปัจจุบันบริษัทมีแผนรองรับสถานการณ์ดังกล่าวแล้ว ด้วยการปรับกำลังการผลิตให้สอดคล้องกับตลาดที่ชะลอตัว เช่น ปรับลดชั่วโมงการทำงาน เป็นต้น ปัจจุบันเรามีพนักงานลาออกไปตามปกติแล้วประมาณ 3 เปอร์เซ็นต์ ส่วนใหญ่เป็นพนักงานระดับล่าง หลังบริษัทไม่มีการจ้างทำโอที ซึ่งเราไม่ได้รับผลกระทบจากพนักงานที่ลาออก

ถามถึงเรื่องการเสียคำสั่งซื้อจากลูกค้ารายใหญ่มิตซูบิชิมูลค่า 700 ล้านบาทให้กับคู่แข่ง เขาตอบว่า เราได้รับคำสั่งซื้อทดแทนจากกลุ่มคูโบต้า ล่าสุดได้เซ็นสัญญารับงาน เพื่อผลิตชิ้นส่วนรถบรรทุกขนาดใหญ่ในปี 2558 โดยอายุสัญญายาวถึง 10 ปี คาดว่าจะสามารถรับรู้รายได้ปีละ 600-700 ล้านบาท

ปี 2557 รายได้จากการผลิตชิ้นส่วนเครื่องจักรกลการเกษตรจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 20 เปอร์เซ็นต์ จากปีก่อนที่อยู่ระดับ 12-15 เปอร์เซ็นต์ของรายได้รวม เนื่องจากกลุ่มลูกค้าคูโบต้าจะมีการผลิตรถ เพื่อใช้ในการเกษตรเพิ่มขึ้นกว่า 70,000 คัน จากปีก่อนที่อยู่ 60,000 คัน โดยการผลิตที่เพิ่มขึ้นจะเน้นส่งออกไปในประเทศสหรัฐอเมริกา และเวียดนาม

บริษัทตั้งงบลงทุนในปีนี้ประมาณ 400-500 ล้านบาท เพื่อใช้ในการปรับปรุงเครื่องจักรและเทคโนโลยีใหม่เป็นหลัก ด้วยความที่ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้บริษัทยังไม่มีแผนลงทุนโครงการขนาดใหญ่ แต่คงจะได้เห็นการลงทุนใหม่ๆในช่วง 2 ปีข้างหน้า ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างศึกษาแผนร่วมทุนกับพันธมิตรในแถบอาเซียน เพื่อผลิตชิ้นส่วนอะไหล่ยนต์ อาทิ เพลาข้าง เป็นต้น คงสรุปได้ในปลายปีนี้

“อภิชาต ลี้อิสสระนุกูล” ประธานกรรมการ บมจ.ไทยสแตนเลย์การไฟฟ้า หรือ STANLY บอกว่า วันนี้ผู้ประกอบการทุกราย “เหนื่อยมาก” จากการพูดคุยทุกคนบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ปีนี้ลำพังประคองตัวไม่ให้ผลประกอบการติดลบก็เก่งมากแล้ว ไม่หวังให้เติบโตมากมาย เพราะปัจจุบันผู้ประกอบการค่ายรถยนต์ต้องแบกสต็อกไว้ค่อนข้างมาก เรียกว่า ยาวต่อเนื่องมาจากโครงการรถคันแรก ดังนั้นเมื่อบ้านเมืองเป็นเช่นนี้ แบงก์ย่อมปล่อยเงินกู้ยากเป็นธรรมดา

ปกติอุตสาหกรรมยานยนต์ไม่ค่อยน่าเป็นห่วง เพราะทุกครั้งที่ในประเทศมีปัญหาผู้ประกอบการจะโยกไปขายสินค้าในต่างประเทศแทน แต่ในปีนี้ยอดส่งออกไม่ค่อยดี ขณะที่ในประเทศยอดขายก็ “เลวร้ายกว่าทุกปี” หากสถานการณ์การเมืองยังเป็นแบบนี้ต่อไปอีก 3-4 เดือนข้างหน้า ผู้ประกอบการหลายราย โดยเฉพาะ SME คงจะมีธุรกิจเข้าขั้น “ระเนระนาด” โอกาสเห็นบริษัทหลายแห่งเลิกจ้างพนักงานคงมีบ้าง

ส่วนตัวเชื่อว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมปี 2557 ยังไม่ดี เห็นได้จากในช่วงครึ่งปีแรกที่ออกแนว “สะบักสะบอม” โดยยอดขายในช่วงไตรมาส 2/2557 คงออกมาไม่แตกต่างจาก 3 เดือนแรกที่มียอดขายลดลงประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ นั่นเป็นเพราะการเมืองยืดเยื้อ เศรษฐกิจชะลอตัว ส่งออกไม่ดีอย่างที่คิด แต่หวังลึกๆว่า ไตรมาสสุดท้ายของปีนี้สถานการณ์น่าจะดีขึ้น

“ประธานกรรมการ” บอกว่า ปัจจุบันบริษัทมีการใช้ “มาตรการรัดเข็มขัด” ในทุกกระบวนการ เราพยายามลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ปรับกำลังการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ปรับลดชั่วโมงการทำงาน และไม่มีโอที ฉะนั้นในปีนี้เราคงไม่มีการลงทุนใหม่ๆ โดยโครงการไหนที่ยังไม่เร่งรีบบริษัทจะชะลอการลงทุนออกไปก่อน แต่โครงการไหนจำเป็นก็คงต้องลงทุน

“การเมืองจบตอนไหน อุตสาหกรรมยานยนต์จะดีขึ้นเมื่อนั้น เพราะความต้องการยังมีอยู่ เพียงแต่ทุกคนไม่มีความมั่นใจต่อสถานการณ์ ทำให้ชะลอการซื้อรถยนต์ออกไปก่อน ฉะนั้นเมื่อทุกอย่างจบ เราพร้อม Take off”

เขา ยอมรับว่า วันนี้บริษัทยังไม่สามารถบอกได้ว่า ผลประกอบการงวดปี 2557/2558 (1เมษายน 57-31มีนาคม 58) จะออกมาหน้าตาอย่างไร เพราะเพิ่งผ่านมาแค่ 2 เดือนเท่านั้น รู้เพียงว่า ต้องติดตามสถานการณ์แบบวันต่อวัน แผนธุรกิจที่เคยวางไว้ต้องทบทวนใหม่ตลอด แต่ภายในเดือนมิ.ย.นี้ คงจะเห็นความชัดเจนว่า บริษัทจะได้รับผลกระทบมากน้อยเท่าใด ส่วนผลประกอบการปี 2556/2557 (เม.ย.56-31มี.ค.57) คงออกมาไม่น่าเกลียด

19.10 บ. พื้นฐานหุ้น SAT

บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ผลประกอบการในช่วงไตรมาส 2/2557 ของ บมจ.สมบูรณ์ แอ๊ดวานซ์ เทคโนโลยี ยังคงปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นช่วงโลว์ซีซั่นของอุตสาหกรรม ขณะที่ยอดขายทั้งปี 2557 อาจปรับตัวลดลง 8 เปอร์เซ็นต์ เหลือ 8,300 ล้านบาท

หลังออเดอร์ลูกค้าลดลง 10 เปอร์เซ็นต์ ถือเป็นตัวเลขที่แย่กว่าอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ที่คาดว่าจะปรับตัวลดลง 6 เปอร์เซ็นต์ เหลือ 2.3 ล้านคัน เนื่องจากบริษัทเสียออร์เดอร์ลูกค้ารายใหญ่อย่างค่ายมิตซูบิชิให้กับคู่แข่ง มูลค่าประมาณ 700 ล้านบาท แต่บริษัทได้รับการชดเชยออร์เดอร์บางส่วนจากกลุ่มลูกค้าคูโบต้า คาดว่าสิ้นปีนี้สัดส่วนรายได้จากคูโบต้าจะเพิ่มขึ้นจาก 15 เปอร์เซ็นต์ เป็น 18 เปอร์เซ็นต์

ภายในปี 2557 บริษัทมีแผนจะเพิ่มกำลังการผลิต เพื่อส่งออกมากขึ้นประมาณ 13-25 เปอร์เซ็นต์ จาก 64,000 คัน เป็น 72,000-80,000 คัน โดยสิ้นปีนี้อัตราการใช้กำลังการผลิตของบริษัทจะปรับตัวลดลงมาอยู่ระดับ 80 เปอร์เซ็นต์ เป็น 90 เปอร์เซ็นต์

นักวิเคราะห์ ระบุว่า ผลประกอบการไตรมาส 2/2557 ของ SAT คงจะเป็น “จุดต่ำสุดของปี” ฉะนั้นแนวโน้มจะเริ่มดีขึ้นในช่วง 6 เดือนหลังของปี 2557 และอาจฟื้นตัวในปี 2558 ตามอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ของประเทศที่จะเริ่มกลับมาเติบโตจากฐานการผลิตที่เป็นปกติ

รวมถึงเติบโตตามการเติบโตจากยอดออร์เดอร์คูโบต้าที่มีแผนจะเพิ่มกำลังการผลิตประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์ โดยคาดว่า คูโบต้าจะมีคำสั่งซื้อใหม่ประมาณ 500 ล้านบาท เข้ามาทดแทนออร์เดอร์มิตซูบิชิที่หายไป รวมถึงได้รับออร์เดอร์ในการผลิตชิ้นส่วนรถบรรทุก ใน ส่วนของเพลาข้าง

“ในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า บริษัทจะได้รับประโยชน์จากโครงการอีโคคาร์เฟส 2 ตามแผนส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ฉะนั้นราคาพื้นฐานหุ้น SAT จะอยู่ระดับ 19.10 บาท”