"สถิติมีไว้ลบ" สูตรปั้น "อาร์เอส"

"สถิติมีไว้ลบ" สูตรปั้น "อาร์เอส"

จากนี้ “อาร์เอส” จะสร้าง “Best Records ทุกปี” นี่คือ คำสัญญาของลูกผู้ชายชื่อ “สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์” หากการเมืองยุติเร็ว สิ้นปีนี้ พบนิวไฮ

ก่อน บมจ.อาร์เอส หรือ RS จะสร้าง “New High” ในปี 2556 ทั้งในส่วนของกำไรสุทธิและรายได้ โดยมีกำไรสุทธิ 394.49 ล้านบาท และมีรายได้ 3,483.82 ล้านบาท เทียบกับปี 2555 ที่มีกำไรสุทธิ 281.18 ล้านบาท และมีรายได้จำนวน 2,872.59 ล้านบาท “เฮียฮ้อ -สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์” เจ้าของ “อาร์เอส” ได้ทยอยเก็บหุ้นตัวเองอย่างต่อเนื่อง เรียกว่า วิ่งตีคู่เก็บหุ้นมากับ “เคน- โสรัตน์ วณิชวรากิจ” นักลงทุนวีไอรายใหญ่ ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 2 “อาร์เอส”

ณ วันที่ 23 ส.ค.2556 “เฮียฮ้อ” มีสัดส่วนการถือหุ้น RS ประมาณ 32.18 เปอร์เซ็นต์ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากวันปิดสมุดทะเบียน ณ วันที่ 13 มี.ค.2556 ที่มีสัดส่วน 30.29 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ “เคน- โสรัตน์” มีสัดส่วนการถือหุ้น RS เพิ่มขึ้นจาก 15.55 เปอร์เซ็นต์ เป็น 16.49 เปอร์เซ็นต์

หุ้นใหญ่อันดับ 1 และ 2 พร้อมใจกันช้อนหุ้นเช่นนี้ เหมือนต้องการส่งสัญญาณว่า ราคาหุ้นยังต่ำกว่าพื้นฐาน สอดคล้องกับบทวิเคราะห์ของหลายๆสำนักที่ออกมาแสดง ความเห็นว่า แม้ในช่วงไตรมาส 1 ของปี 2557 เม็ดเงินโฆษณาจะชะลอตัวลง หลังการเมืองลากยาว อาร์เอสในฐานะผู้ประกอบการธุรกิจสื่อย่อมโดนผลกระทบตามไปด้วย

แต่ในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2557 อุตสาหกรรมอาจเริ่มฟื้นตัว เพราะเป็นช่วง Hing Season ของงบโฆษณา ขณะเดียวกันอาร์เอสจะมีรายได้จากฟุตบอลโลกปี 2014 ที่กำลังจะเกิดขึ้นในช่วงวันที่ 12 มิ.ย.-13 ก.ค.2557 เข้ามาอุด “จุดตำนิ” ราคาเหมาะสมสูงสุดที่เหล่านักวิเคราะห์เคยให้ไว้ คือ 10.30 บาทต่อหุ้น

ห้องประชุมเล็ก ที่มีสัญลักษณ์หน้าเสือติดอยู่ทางเข้าห้องทำงานของ “สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์” ณ อาคารเชษฐโชติศักดิ์ ย่านลาดพร้าว 15 คือ “จุดนัดพบ” ในการถ่ายทอดอนาคตของอาร์เอส “เฮียฮ้อ” เปิดฉากทักทายด้วยการตอบคำถามที่ว่า ถือเคล็ดอะไรถึงแปะรูปหน้าเสือไว้หน้าห้อง “ไม่มีอะไรเป็นนัยสำคัญ เฮียเกิดปีเสือ ปกติเป็นคนไม่เชื่อเรื่องศาสตร์ฮวงจุ้ยจะดูแค่ว่า ทิศไหนดีไม่ดีเท่านั้นเอง”

ปีก่อน (2556) เห็น “เฮียฮ้อ” เก็บหุ้น อาร์เอส บ่อยมาก ต้องการส่งสัญญาณข่าวดีอะไรหรือเปล่า? “ไม่มีอะไรเป็นนัยสำคัญ เฮียเห็นราคาหุ้นไม่สะท้อนพื้นฐาน ประกอบกับมีเงินเหลือ ก็เลยแบ่งมาช้อนหุ้นตัวเอง เฮียไม่ได้เก็บคนเดียวนะ “เคน-โสรัตน์” ก็ซื้อเช่นกัน ราคาหุ้นถูกไป นั่นคือ เหตุผลในการช้อน”

ราคาหุ้นถูกแพงขึ้นอยู่ที่ใครมอง คงตอบแทนกันไม่ได้ นักลงทุนแต่ละคนมองไม่เหมือนกัน ถ้าถามเฮียในฐานะผู้บริหาร คงต้องตอบว่า “ซื้อ” เพราะคิดว่า อนาคตอาร์เอสจะเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ฉะนั้นหากนำราคา ณ วันนี้ มาเทียบกับปัจจัยพื้นฐานแน่นอนปัจจุบันราคาย่อมถูกไป ฉะนั้นหากมีเงินเย็น ผสมกับความคิดที่ว่า นี่คือ การลงทุน เราก็สมควรเข้าไปเก็บไม่ใช่หรือ

ปี 2556 ใช้เงินซื้อหุ้น อาร์เอส เท่าไรจำไม่ได้จริงๆ (ยิ้ม) รู้เพียงว่า ก่อนจะซื้อหุ้นมักรอดูจังหวะและราคาหุ้นเป็นหลัก ปกติจะสั่งซื้อผ่านมาร์เก็ตติ้ง โบรกเกอร์ไหน ขอไม่บอกแล้วกัน (หัวเราะ) ส่วนตัวไม่เคยกำหนดการเข้าออกของหุ้น อาร์เอส ไว้ล่วงหน้า อยากซื้อตอนไหนจะโทรไปสั่ง ช่วงนี้ซื้อแต่หุ้นตัวเอง หุ้นตัวอื่นไม่ค่อยสนใจ เพราะที่ผ่านมาตลาดหุ้นไม่ค่อยดี ใครที่เป็นนักลงทุนระยะยาวต่อให้ตลาดหุ้นไม่ดี คุณก็ไม่ขาดทุนหรอก แต่ต้องถือยาวจริงๆนะ เขามีความเชื่อแบบนี้

เฮียเชื่ออย่างหนึ่งว่า หากเราใช้เงินเย็นซื้อลงทุนในบริษัทที่ถูกต้อง มีพื้นฐานที่ดี แล้วถือลงทุนระยะยาวรับรองไม่มีขาดทุน เขาย้ำ ส่วนตัวมักจะถือหุ้นหนึ่งตัวยาว 6 เดือน -1 ปี ไม่มีประเภทซื้อเดือนสองเดือนแล้วขายทิ้ง ที่ผ่านมาถือตัวไหนบ้างบอกไม่ได้เดี๋ยวมีผลกับคนอื่น (หัวเราะ)

ถามถึงกลยุทธ์การลงทุน? “เฮียฮ้อ” บอกว่า “ผมไม่เคยซื้อตลาดหุ้น ฉะนั้นจะไม่สนใจดัชนี และผมไม่เคยซื้อกลุ่ม แต่จะมองข้ามไปถึงหุ้นตัวนั้นๆเลยว่า เรารู้จักหุ้นตัวนั้นดีแค่ไหน เขามี “กำไรดีหรือไม่” เพราะกำไรจะสะท้อนทุกอย่าง

คุณสมบัติของหุ้นที่ดี ในมุมของ “สุรชัย” คือ 1.บริษัทสามารถอยู่ในธุรกิจที่เติบโตได้ 2.ธุรกิจนั้นมีกำไรขั้นต้นที่ดี 3.บริษัทนั้นต้องมีศักยภาพในการแข่งขัน ทั้งในปัจจุบันและอนาคต 4.บริษัทนั้นต้องมีประวัติการดำเนินการ ประวัติของการผ่านอุปสรรค และประวัติของผู้บริหาร นี่คือ “แม่พิมพ์ของการดูหุ้นของเฮีย”

“อย่าถามเยอะ ผมไม่ใช่นักเล่นหุ้น” เขาสถบ พักหลังๆเฮียมักนำเงินไปซื้อแต่หุ้น อาร์เอส และซื้อที่ดินย่านเขาใหญ่ วันนี้เฮียมีที่ดินแถวเขาใหญ่แล้ว “หลายแสนไร่” วันนี้ยังไม่มีแผนซื้อที่ดินเพิ่มเติม เพราะราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นมาก เมื่อ 2-3 ปีก่อน ราคาที่ดินบนเขาใหญ่ขึ้นมาแล้ว “ร้อยเปอร์เซ็นต์” เขาไม่ยอมบอกว่า เคยได้ต้นทุนที่ดินเขาใหญ่ถูกสุดเท่าไร

“วันนี้ “เคน-โสรัตน์” เลยจุดของการเป็นนักลงทุนไปแล้ว เคนมองว่า อาร์เอสเป็นธุรกิจของเขา ธุรกิจของเคนกับอาร์เอสไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกันเลย แต่เรามักพูดคุยเรื่องธุรกิจของแต่ละคนให้ฟังกันเป็นประจำ” เฮียฮ้อ ปิดท้ายบทสนทนาเรื่องหุ้น อาร์เอส

เจ้าของ “อาร์เอส” ฉายความสวยในอนาคตให้ “บิสวีค” ฟังว่า หากให้มองอาร์เอสในมุมของผู้บริหาร เฮียเชื่อว่า ในช่วง 3 ปีข้างหน้า (2557-2559) บริษัทจะเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ที่ผ่านมาเราได้ปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ และอุตสาหกรรมที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

โครงสร้างของอาร์เอสวันนี้ “กระทัดรัด กระชับ ไม่ลึก” เขาอธิบายคำว่า “ไม่ลึก” ว่า ปกติโครงสร้างองค์กรทั่วไปจะออก “แนวลึก” กว่าคำสั่งจะส่งไปถึงผู้ปฏิบัติงานต้องผ่านหลายขั้นตอน แต่วันนี้สายบังคับบัญชาของอาร์เอสมีขนาดสั้น ทำให้ขั้นตอนต่างๆลดน้อยลง ส่งผลให้การขับเคลื่อนองค์กรเกิดขึ้นได้เร็ว และพนักงานสามารถทำงานได้อย่างมีอิสระมากขึ้น

“เฮียฮ้อ” บอกว่า อาร์เอสก้าวเข้าสู่การเป็น “บริษัทมีเดียเต็มตัว” มาตั้งแต่ปี 2553 หลายคนจะเห็นว่า อาร์เอสมีความแข็งแกร่งมากขึ้น โดยเฉพาะในแง่ของสัดส่วนรายได้ที่มาจากธุรกิจสื่อที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในปี 2557 ตั้งใจจะมีรายได้จากธุรกิจสื่อ 70 เปอร์เซ็นต์ ไม่เกินปี 2559 สัดส่วนรายได้จะต้องมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ และอนาคตต้องขึ้นมายืนระดับ 90 เปอร์เซ็นต์

วันนี้เราไม่ได้ทำเพียงธุรกิจสื่ออย่างเดียว บริษัทยังมีธุรกิจเพลง ธุรกิจโชว์บิส และงานการตลาดออื่นๆ แต่ต้องยอมรับว่า เมื่อ 10 ปีก่อน ธุรกิจเหล่านี้เป็น “งานหลัก” แต่ ณ วันนี้กลายเป็นธุรกิจต้นน้ำที่ทำรายได้เป็นอันดับรอง อธิบายง่ายๆ เขายังคงทำเงินเหมือนเดิม เพียงแต่ไม่เติบโตอย่างมีนัยสำคัญแล้ว ฉะนั้นรายได้อันดับหนึ่งของเราจะมาจากธุรกิจสื่อแทน

ปัจจุบันธุรกิจสื่อของอาร์เอสไม่จำเป็นต้องเติบโตในแนวนอนแล้ว ในระยะสั้นๆเราไม่ต้องสร้างอะไรใหม่ๆ โดยบริษัทจะเปลี่ยนการเติบโตไปในแนวตั้ง ปัจจุบันช่องทีวีของอาร์เอส ไม่ว่าจะเป็นช่อง 8 ที่กำลังอัพตัวเองเป็นทีวีดิจิตอล หลังบริษัทประมูลช่องวาไรตี้มาได้มูลค่า 2,200 ล้านบาท รวมถึงช่องแซทเทิลไลท์ทีวีอีก 4 ช่อง คือ ช่อง 2 สตาร์แม็กซ์ ,ช่องสบายดีทีวี ,ช่อง You Channel และช่อง SUN CHANNEL LA LIGA

ทุกช่องของอาร์เอส ถือว่า ประสบความสำเร็จอย่างมาก เพียงแต่ในแง่ของการใช้สปอร์ตโฆษณายังมีไม่มากเท่าไร ขณะที่ราคาขายสปอร์ตโฆษณายังอยู่ในระดับไม่สูง นั่นแปลว่า โอกาสในการเติบโตของเรายังมีอีกมาก ทั้งในเรื่องของการขึ้นราคาโฆษณา และการใช้พื้นที่สปอร์ต ดังนั้นเราไม่จำเป็นต้องขยายตัวในแนวนอนอีกต่อไป

ถามว่า ในช่วง 3 ปีข้างหน้า (2557-2559) บริษัทต้องเติบโตปีละเท่าไร “เฮียฮ้อ” ตอบว่า คาดการณ์ยากมาก ที่ผ่านมาเรามักวางการเติบโตแบบปีต่อปี แต่พอจะฉายภาพให้ดูได้ว่า ตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นไป กราฟผลประกอบการของบริษัทจะมีลักษณะสร้าง “Best Records ทุกปี” “ภายใน 3 ปีข้างหน้า กราฟฐานะการเงินก็จะออกมาลักษณะนี้”

เฮียมั่นใจว่า ในปี 2557 ผลประกอบการของอาร์เอสจะสร้าง “NEW HIGH” ลบสถิติจากปี 2556 เมื่อต้นปี 2557 เราวางเป้าหมายรายได้รวมไว้ระดับ 5,000 ล้านบาท ส่วนเป้าหมายอัตรากำไรสุทธิ (Net Profit Margin) น่าจะยืนระดับ 10-12 เปอร์เซ็นต์ ฉะนั้นในปี 2557 บริษัทจะมี “กำไรสุทธิ” เท่าไรลองไปคูณกันเอาเอง

แต่ตอนนี้เฮียเป็นห่วงสถานการณ์ทางการเมือง วันนี้เรามองภาพไม่ออกว่า จะจบเมื่อไร ฉะนั้นเมื่อมองไม่ออก ย่อมคาดการณ์อนาคตไม่ได้ เราทำได้เพียงแก้ปัญหาตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น การเมืองยาวนานรอบนี้ได้ส่งผลกระทบต่อเม็ดเงินโฆษณาในช่วงที่ผ่านมา ลูกค้าชะลอการใช้เงิน ขณะที่ประชาชนเริ่มขาดความเชื่อมั่น ฉะนั้นเมื่อเงินในตลาดน้อยลง เราในฐานะผู้ประกอบการทำได้เพียงบริหารจัดการให้สอดคล้องกับสิ่งที่เกิดขึ้น

ทุกครั้งที่อาร์เอสเจอวิกฤติ เรามักปรับตัวเองตลอด ชีวิตการทำธุรกิจมักมีเรื่องที่ควบคุมไม่ได้เสมอ หากเป็นเรื่องที่กระทบแวดวงธุรกิจเฮียยังพออ่านง่าย เพราะเราจะรู้ว่า “จุดตั้งต้น” เกิดจากอะไรแล้วแรงกระเพื่อมจะมาถึงเรามากน้อยแค่ไหน อย่างในช่วงปี 2540 วิกฤติต้มยำกุ้งในครั้งนั้นไม่กระทบเราเลย เพราะเรารู้ต้นเหตุ

แต่หากปัญหาเกิดจากการเมือง ถ้าเกิดเพียงสั้นๆเหมือนที่เคยเป็นมายังพอปรับตัวได้ แต่ถ้าลากยาวแบบรอบนี้ ยอมรับว่า “น่ากลัว” ความไม่สงบทางการเมืองเกิดมาตั้งแต่เดือนพ.ย.2556 ชนิดไม่มีปี่มีขลุ่ย ก่อนหน้านี้เฮียคิดว่า คนไทยมีบทเรียนมาแล้ว คงไม่เกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้อีก สุดท้ายก็เกิดจนได้ เมื่อเกิดแล้วเราคิดต่อว่า คงไม่ยาว แต่นี่ล่วงเลยมา 5 เดือนแล้ว ทุกคนลำบากกันหมด

ในส่วนของอาร์เอสเอง เรื่องของกิจกรรมกระทบน้อยมาก ครึ่งปีหลังของปี 2557 เราวางแผนจะจัดกิจกรรมไว้แค่ 6-7 งานเท่านั้น โชคดีตรงที่ว่า เราไม่ได้วางกิจกรรมไว้ในไตรมาสแรกเลย แต่ที่กระทบมากที่สุดคือ เม็ดเงินโฆษณา ตอนนี้หายไปเยอะมาก เขาย้ำ หายไปกี่เปอร์เซ็นต์ไม่แน่ใจตัวเลข แต่ทั้งหมดเกิดจากความไม่เชื่อมั่น เมื่อเงินเริ่มใช้น้อยลงเจ้าของสินค้าเห็นภาพไม่ชัด เขาย่อมไม่กล้าโฆษณา ทุกอย่างเป็น “โดมิโน่”

ตอนตั้งเป้าหมายรายได้ของปี 2557 เฮียคิดว่า การเมืองคงไม่เดินมาไกลขนาดนี้ เขายืดอกยอมรับว่า ในช่วงไตรมาส 1/2557 งบการเงินคงออกมาไม่สวย ทุกธุรกิจทั้งประเทศไทยโดนเหมือนกันหมด ฉะนั้นหากการเมืองยังเป็นแบบนี้ต่อไป อาร์เอสคงต้องกลับมาทบทวนแผนธุรกิจอีกครั้ง

ที่ผ่านมาเราพยายามปรับตัวเองให้โดนผลกระทบจากปัญหานอกบ้านให้น้อยที่สุด เราทำแบบนี้มาหลายปีแล้ว “ผมต้องการให้อาร์เอสเป็นองค์กรที่มีความยืดหยุ่น และมีความคล่องตัวสูง เพราะเมื่อมีวิกฤติเราจะลุกได้เร็วกว่าคนอื่น เวลาเจอวิกฤติความคล่องตัวนี่หละจะเป็นสิ่งสำคัญที่องค์กรต้องนำมาใช้

ถามว่า หากการเมืองยืดเยื้อ ผลประกอบการในปี 2557 จะมีโอกาสเกิด “NEW HIGH” ตามแผนหรือไม่ เขาตอบว่า อาร์เอสผ่านการจัดกลุ่มธุรกิจใหม่มาแล้ว วันนี้รูปแบบการทำธุรกิจของบริษัทมี “ความชัดเจน ดูง่าย เข้าใจง่าย”

ปัจจุบันอาร์เอสมีธุรกิจ 2 กลุ่ม นั่นคือ กลุ่มการเป็นผู้ให้บริการทางด้านคอนเทนต์บันเทิงและกีฬา (Entertainment and Sport Content Provider) และการเป็นผู้ให้บริการสื่อครบวงจร (Media Service)

ขอพูดถึงกลุ่มการเป็นผู้ให้บริการทางด้านคอนเทนต์บันเทิงและกีฬาก่อน รายได้หลักจะมาจากธุรกิจเพลง ธุรกิจโชว์บิซ และธุรกิจกีฬา วันนี้รายได้และกำไรจากธุรกิจเพลงยังดีอยู่ แต่อัตราการเติบโตจะออกแนวทรงๆ ซึ่งเป็นไปตามสภาพอุตสาหกรรมเพลงทั่วโลก ส่วนธุรกิจโชว์บิซ และกิจกรรมการตลาดต่างๆ ค่อนข้างทรงตัวเช่นกัน

ส่วนกลุ่มการเป็นผู้ให้บริการสื่อครบวงจร รายได้หลักมาจากธุรกิจสื่อวิทยุ สื่อโทรทัศน์ และสื่อในโมเดิร์นเทรด วันนี้เรามีสถานีวิทยุทั้งหมด 3 คลื่น นั่นคือ คลื่น COOL93 FAHRENHEIT เขาเป็น “คลื่นพระเอก” ของเรา เพราะเป็นคลื่นอันดับหนึ่งในตลาดยาวนานตลอดกาล ทำรายได้เติบโตแข็งแกร่งทุกปี

นอกจากนั้นยังมีคลื่น 91.5 Cool Celsius ซึ่งเป็นคลื่นเพลงสากลที่มีแนวโน้มแข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ มีคู่แข่งในตลาดน้อย สุดท้าย คือ คลื่น 88.5 ภายใต้แบรนด์ สบายดี เรดิโอ คลื่นนี้เรทติ้งดีมาก ในอุตสาหกรรมเพลงลูกทุ่งเขาอยู่ในอันดับ 3 หากนับเฉพาะในกรุงเทพ

จากสิ่งที่เล่าให้ฟัง คุณจะเห็นว่า สื่อวิทยุของอาร์เอสแข็งแรงมาก เมื่อเขาดูแลตัวเองได้แล้ว เราจึงต้องหันมาโฟกัส “สื่อทีวี” แบ่งเป็นกลุ่มช่องทีวีดิจตอล ที่มีช่อง 8 เป็นพระเอก ที่เหลือเป็นกลุ่มช่องแซทเทิลไลท์ทีวี

เราตั้งใจจะผลักดันให้ช่อง 2 สตาร์แม็กซ์ ขึ้นแท่นอันดับ 1 ในกลุ่มแซทเทิลไลท์ทีวีแทนที่ช่อง 8 เพื่อที่ช่อง 8 จะขึ้นไปเล่นในเกมที่ใหญ่ขึ้นในกลุ่มดิจิตอลทีวี ล่าสุดเราเพิ่งรีแบรนด์ดิ้งช่องสตาร์แม็กซ์เป็นช่อง 2 สตาร์แม็กซ์ ทีวีแต่ละช่องของเรามี “จุดเด่น” และมีตำแหน่งการตลาดที่แตกต่างกัน

ถามว่า จำเป็นต้องเพิ่มช่องใหม่ทุกปีหรือไม่ เขาตอบว่า ช่องใหม่จะขึ้นหรือไม่คงไม่ได้อยู่ที่ว่า เพิ่มช่องเพื่อเพิ่มการเติบโต เราไม่เคยมีเป้าหมายว่า ต้องมีกี่ช่องภายใน 1 ปี แต่การจะกำหนดว่า ควรมีช่องใหม่หรือไม่ มักขึ้นอยู่กับตลาดและโอกาส ที่สำคัญต้องขึ้นอยู่กับความพร้อมของอาร์เอส ฉะนั้นหากไม่มีโอกาสที่น่าสนใจ เราไม่จำเป็นต้องเพิ่มช่อง เขายืนยัน

วางเป้าหมายให้ช่อง 8 อย่างไร หลังปรับเป็นทีวีดิจิตอล “เฮียฮ้อ” บอกว่า ภายใน 3 ปีข้างหน้า ช่อง 8 จะต้องขึ้นแท่นอันดับ 3 ในกลุ่มทีวีดิจิตอล ถามถึงวิธีแผนปั้นดาว? เขาตอบว่า แผนใหญ่มีอยู่แล้ว แต่คงบอกรายละเอียดไม่ได้ พูดได้เพียงว่า หากต้องการปั้นช่อง 8 ต้องอาศัยทั้งความพร้อมของทีมงาน และความเข้าใจ วันนี้ตลาดเปิดกว้าง ประชาชนเป็นใหญ่ รีโมทคอนโทรลถือเป็นตัวตัดสินใจชีวิตของผู้ประกอบการ

“องค์ประกอบในการทำสื่อที่เฮียพูดมาทั้งหมด คุณจะเห็นว่า เฮียไม่ได้พูดเรื่องเงินเลย เพราะเงินเป็นเพียงตัวผ่านให้ทุกคนเข้ามาเล่นดิจิตอลทีวี แต่หลังจากนั้นไปแล้วทั้ง 24 ช่อง จะดีหรือไม่ดี เงินไม่ได้เป็นตัวสำคัญอีกต่อไป”

“สุรชัย” บอกว่า ความคล่องตัวของอาร์เอส ทำให้สามารถปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ และรูปแบบรายการได้ง่ายกว่าคนอื่นๆ วันนี้เราเตรียมรายการให้ช่อง 8 เรียบร้อยแล้ว แต่ยังพูดไม่ได้ บอกได้เพียงว่า ช่อง8 จะเป็นช่องที่ครบเครื่องสามารถเสริฟคนทุกกลุ่มได้ เราต้องการให้ช่อง 8 เป็นช่องบันเทิงสำหรับทุกคนในครอบครัว ส่วนรายการสำหรับแต่ละกลุ่มเป็นอะไรที่สามารถคิดนอกกรอบได้

การอัพช่อง 8 มาเป็นทีวีดิจิตอล ต้นทุนไม่ได้ลดลง แต่กลับเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ ต้นทุน เพิ่มขึ้น 2 ส่วน นั่นคือ ต้นทุนจากค่าโครงข่ายทีวีดิจิตอล และค่าใบอนุญาตประกอบกิจการ หรือ License รวมถึงต้นทุนในการทำคอนเทนต์ แต่ความง่ายของเรา คือ ช่อง 8 ไม่ต้องนับหนึ่งใหม่ สามารถเริ่มต้นได้จากสิ่งที่ทำอยู่ แล้วออกอากาศคู่ขนานใน License ทีวีดิจิตอลได้เลย

อาร์เอสมีวิธีจัดการกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างไร? เขาตอบคำถามนี้ว่า เราสามารถขึ้นราคาค่าโฆษณาช่อง 8 ได้อย่างต่อเนื่อง หลังโดดขึ้นมาเล่นในภาพใหญ่จนสามารถเข้าถึงคนดูทุกกลุ่มเป้าหมายได้แล้ว

เมื่อเราเจาะกลุ่มลูกค้าได้ทุกประเภท เท่ากับว่า คนดูช่อง 8 เริ่มมากขึ้น วันนี้ราคาค่าโฆษณาของช่อง 8 เฉลี่ย 15,000 -20,000 บาทต่อนาที ถามว่าสามารถขึ้นราคาค่าโฆษณาได้เต็มเพดานเท่าไร “เฮียฮ้อ” ตอบว่า การทำธุรกิจทีวีดิจิตอลไม่มีเพดานราคาค่าโฆษณา ตราบใดที่คุณยังสามารถสร้างเรทติ้งที่ดีในช่วงเวลานั้นๆ ข้อดีของธุรกิจนี้อยู่ตรงนี้หละ

เขายกตัวอย่างให้เห็นภาพว่า เมื่อต้นเดือนม.ค.2557 ช่อง 8 มีอายุครบ 3 ปี โดยปีแรกของการทำธุรกิจช่อง 8 มีรายได้ 70 ล้านบาท ปีที่ 2 มีรายได้ 200 ล้านบาท และปีที่ 3 มีรายได้มากถึง 500 ล้านบาท ช่อง 8 ถือเป็นตัวอย่างที่ดีในการทำธุรกิจ เขาสถบ เราจะเห็นว่า การเติบโตของช่อง 8 ในแต่ละปีมีสูงถึง “ร้อยกว่าเปอร์เซ็นต์” นั่นเป็นเพราะว่า มีการเติบโตของคนดู และสามารถขึ้นราคาค่าโฆษณาได้ปีละหลายๆครั้ง และขึ้นในอัตราที่สูงมาก

“เฮียฮ้อ”ดื่มน้ำอุ่นบรรเทาเสียงที่เริ่มแหบ ก่อนพูดต่อว่า ในปี 2557 “พระเอก” ในกลุ่มผู้ให้บริการสื่อครบวงจร คือ “ช่อง 8 ทีวีดิจิตอล” และ “ช่อง 2 สตาร์แม็กซ์” นี่คือโฟกัสหลักของอาร์เอส เราต้องทำให้ช่อง 2 เป็นอันดับหนึ่งในช่องแซทเทิลไลท์ทีวีให้ได้ เขาย้ำด้วยสีหน้าจริงจัง “พระเอกอีกคน” คือ ฟุตบอลโลก ฉะนั้นในปี 2557 อาร์เอสมี 3 งานที่ต้อง “ทุ่มทั้งน้ำหนัก ความสนใจ และพละกำลัง” ทั้งหมดที่มี เพื่อทำงานใกล้ชิดให้มากที่สุด

เรื่องเงินลงทุนทุกคนไม่ต้องเป็นห่วง เราเตรียมพร้อมตลอดเวลา วันนี้บริษัทมีสภาพคล่องเพียงพอ ทั้งในส่วนของกระแสเงินสด และวงเงินกู้ ฉะนั้นเราไม่มีแผนเพิ่มทุนแน่นอนถามว่า วันนี้อัตราหนี้สินต่อทุน หรือ D/E และกระแสเงินสดอยู่ในอัตราเท่าไร เรื่องตัวเลขจำไม่ได้จริงๆ รู้แต่ว่า จากนี้ไปโปรโจคใหญ่ๆของบริษัทคงไม่มีแล้ว เพราะการลงทุนทำทีวีดิจิตอลถือเป็นโครงการที่ใช้เงินลงทุนใหญ่และต่อเนื่อง ก่อนเข้าไปลงทุนเราวางแผนทุกอย่างมาดีแล้ว

ส่วนธุรกิจอื่นๆ เฮียฮ้อ บอกว่า เขาไม่ใช่ “พระรอง” ธุรกิจเหล่านั้นอยู่ตัวแล้วสามารถเดินได้ด้วยตัวเอง ยกตัวอย่าง ธุรกิจเพลง แม้จากนี้จะไม่ค่อยเติบโต แต่ยังสามารถสร้างกำไรได้ดี หรือแม้กระทั่งธุรกิจวิทยุ แต่ละคลื่นสามารถดูแลตัวเองได้ดีแล้ว อย่างคลื่น 91.5 Cool Celsius ปีแรกยังคงขาดทุนอยู่ แต่ในปี 2557 คง “คุ้มทุน” จากสปอร์ตโฆษณาที่เข้ามาอย่างต่อเนื่อง

สำหรับธุรกิจภาพยนตร์เราเลิกทำ 4 ปีแล้ว มันไม่ใช่เกมของเรา แปลกใจทำไมพักหลังๆมีคนมาถามเรื่องนี้กับเฮียเยอะ เขาสถบ จริงๆอาร์เอสมีความพร้อมในการธุรกิจภาพยนตร์ แต่เมื่อ 3-5 ปีก่อน เราได้ใช้คนทั้งหมดที่มีมาช่วยกันสร้างคอนเทนต์ เพื่อป้อนช่องของเราเอง วันนี้อาร์เอสหยุดทำธุรกิจภาพยนตร์ หยุดรับจ้างผลิตรายการให้กับสถานีโทรทัศน์ และหยุดเช่าเวลากับฟรีทีวี ทั้งหมดเพื่อต้องการทุ่มเวลาให้กับสื่อทีวีของตัวเอง

“ปีก่อน กล่องทีวีดาวเทียม Sun box มียอดขายประมาณ 200,000 กล่อง แต่นับตั้งแต่เปิดขายกล่อง Sun box เมื่อปลายปี 2555 จนถึงปัจจุบัน เรามียอดขายแล้ว 500,000 กว่ากล่อง ในปี 2557 วางแผนว่า จะมียอดขายมากกว่า 500,000 กล่อง หลังได้ฟุตบอลโลกเป็นตัวขับเคลื่อน” เฮียฮ้อ พูดปิดท้ายบทสนทนา

กระชับ ยืดหยุ่น” วิถีคิด “เฮียฮ้อ”

“องค์กรเดินไม่ได้หรอก ถ้าคุณจะใช้หัวเดียวทำงาน” นั่นคือ หลักคิดในการทำงานของ “สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์” วันนี้เฮีย “พอใจมาก” ในภาพรวมขององค์กร หลังใช้เวลาในช่วง 4-5 ปีก่อน ปรับโครงสร้าง ปัจจุบันอาร์เอสมี “ความกระชับ ทันสมัย และยืดหยุ่นสูง”

ที่สำคัญวันนี้พนักงานของอาร์เอสกำลัง “สนุก” กับการเปลี่ยนแปลง เพราะทุกคนถูกหล่อหลอมใหม่หมดแล้ว เรียกว่า เป็นวัฒนธรรมใหม่ก็ว่าได้ ที่ผ่านมาเราได้เปลี่ยนถ่ายพนักงานค่อนข้างเยอะ ใครที่ไม่ยอมรับ หรือต่อต้านรูปแบบการทำงานใหม่ๆ ได้ลาออกไปหมดแล้ว

คนอยู่มานานย่อมยึดติดเป็นเรื่องปกติ เฮียเข้าใจ คนยึดติดไม่จำเป็นต้องเป็นคนอายุมากเสมอ สำหรับเฮียอายุไม่ใช่เรื่องสำคัญในการทำงาน ทุกอย่างอยู่ที่วิธีคิด คนแก่บางคนทันสมัยเยอะแยะไป

ยกตัวอย่างง่ายๆ “วันนี้เฮียอายุ 51 ปี แต่หัวใจของเฮียหยุดอยู่แค่ 35 ปี” (หัวเราะ) วันนี้เฮียยังสนุกกับการทำงาน พร้อมลุกขึ้นมาแข่งขันตลอดเวลา เฮียสามารถคุยกับลูกชาย “ป๊อบ-เชษฐ เชษฐโชติศักดิ์” และ “ร็อค-โชติ เชษฐโชติศักดิ์” ได้เป็นวันๆ เราคุยกันทุกเรื่อง การที่ผู้ใหญ่นั่งคุยกับเด็กๆได้เป็นวันๆมันบ่งบอกถึงอะไรบางอย่าง ที่ผ่านมาเฮียได้ไอเดียและวิธีคิดมากมายจากลูกชาย

เด็กรุ่นใหม่เขากว้าง และรู้อะไรมากกว่าเรา วันนี้ต้องยอมรับว่า เราใช้ชีวิตในโลกของอินเตอร์เน็ตน้อยกว่าเด็กรุ่นใหม่เยอะ แต่สิ่งหนึ่งที่เขาสู้เราไม่ได้ นั่นคือ การวิเคราะห์ และประสบการณ์ เขามองเกมไม่ขาดเหมือนเรา ที่ผ่านมาเคยนำวิธีคิดของลูกชายมาปรับใช้ในองค์กรบ้าง

ไม่ใช่แค่แนวคิดของลูกชาย เฮียยังเคยนำวิธีคิดของลูกน้องมาปรับใช้ในการทำงานเป็นประจำ ทุกครั้งที่นั่งประชุมทุกคนต้องร่วมกันแชร์ความคิด ถูกหรือผิดไม่สำคัญ ดีกว่ามานั่งมองหน้าเฮีย แล้วถามว่า เฮียจะเอาอย่างไร ผมไม่ชอบทำงานกับคนแบบนี้

เมื่อจบการประชุมแล้วเฮียในฐานะประธานจะเป็นคนเลือกเองว่า ธุรกิจควรเดินไปทางไหน และจะเป็นคนรับผิดชอบเองทั้งหมด สุดท้ายเมื่อเลือกและลงมือปฏิบัติแล้วพบว่า ผลลัพธ์ในการตัดสินใจเร็วของเฮียออกมาไม่ดี เราก็แค่หยุด แล้วนำความเร็วนั้นกลับมาใช้ใหม่ ด้วยการเริ่มประชุม และแก้ไขเรื่องดังกล่าวใหม่

“วิธีการทำงานลักษณะนี้เฮียใช้มาตลอดชีวิตของการทำงาน”

คนชอบบอกว่า “เฮียฮ้อ” ทำไมชอบตัดสินใจเร็ว ถามว่า เร็วแล้วเสี่ยงมั้ย เฮียมักบอกเสมอว่า เร็วแล้วไม่เสี่ยง หากคุณใช้ความเร็วแบบนั้นมาตลอดชีวิต เมื่อทำแล้วมันไม่ใช่จงนำความเร็วนั้นกลับมาใช้ใหม่ เขาย้ำ

“ที่ผ่านมาผมไม่มีระยะเวลาในการทำงานแต่ละชิ้น แต่ผมจะติดตามงานทุกโปรเจค หากทำแล้วยังรู้สึกว่า “ใช่” เราจะทำต่อไป ถ้าผลลัพธ์มันไม่ได้อย่างทิ่คิด แต่ยังใช่อยู่ เราจะมาร่วมมือกันแก้เกม ถ้าผลลัพธ์ไม่ได้ เพราะมันไม่ใช่ เราจะเปลี่ยนทันที

องค์ประกอบจะเป็นตัวบ่งบอกทั้งหมดเองว่า ใช่หรือไม่ใช่ สมมุติตอนประชุมทุกอย่างราบรื่น แต่เวลาออกไปทำงานจริงๆ ตลาดหรือปัจจัยอื่นๆมันเปลี่ยนแปลง ทำให้แผนงานไม่เป็นไปอย่างที่คิด เราก็แค่จะหยิบเรื่องนั้นมานั่งคุยกันใหม่

“ทำงานจงอย่ามีอีโก้ และจงอย่าอาย”

ถ้าแก้แล้วไม่ใช่ ก็คือ ไม่ใช่ เราก็แค่เลิกทำ ไม่เห็นมีอะไรต้องคิดมาก ตลอดชีวิตการทำงานของเฮีย ไม่มีคำว่า “อีโก้” วันนี้ทุกอย่างในอาร์เอส คือ “ใช่” สิ่งที่ “ไม่ใช่” เลิกหมดแล้ว เหมือนที่เลิกทำภาพยนตรนั่นหละ เมื่อเลิกแล้วไม่เคยรู้สึกอยากกลับไปถวิลหา หรือไปมีเยื่อใยกับมัน เพราะนี่คือ การทำธุรกิจ หากคุณชอบหนัง ก็แค่ไปดูหนังเท่านั้นเราต้องแยกให้ออกระหว่างธุรกิจกับความชอบส่วนตัว

“เฮียฮ้อ” ตอบคำถามที่ว่า ลูกชายเข้ามาช่วยงานในอาร์เอสบ้างหรือยัง? วันนี้น้อง

ป๊อบลูกชายคนโตยังไม่ได้เข้ามาทำงานในอาร์เอส เขายังเรียนปริญญาโท ด้านการออกแบบธุรกิจอยู่ที่ นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา

ส่วนคนเล็กยังเรียนปริญญาตรี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (นานาชาติ) แต่ลูกชายคนโตชอบมาแชร์เรื่องธุรกิจกับเฮียเป็นประจำ บางครั้งยังนำเรื่องที่เกิดในต่างประเทศมาพูดคุยกันนานครึ่งวัน (เล่าด้วยความภูมิใจ) คนเล็กเมื่อเรียนจบปริญญาตรีคงบินไปเรียนต่อปริญญาโทเมืองนอก แต่คงไม่ไปเรียนที่เดียวกับพี่ชาย เขาคนละแนวกัน

ที่ผ่านมาเฮียไม่เคยยุ่งเรื่องเรียนของลูก เขาอยากเรียนอะไรปล่อยอิสระ เกรดได้เท่าไรยังไม่เคยไปยุ่งเลย แต่เขาได้ดั่งใจทั้งสองคน ลูกชายคนโตเรียนจบเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง ตอนเรียนปริญญาตรี คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (นานาชาติ) เชื่อมั้ย! เฮียไม่เคยให้ลูกเรียนพิเศษสักชั่วโมง หลักการเรียนของเฮีย คือ “เรียนให้สนุก เป็นเด็กดี ใฝ่รู้” ไม่ต้องสนใจเกรด ลูกไม่ต้องเอาสมุดพกมาให้เฮียดู ตั้งแต่เด็กเฮียไม่เคยเห็นสมุดพกลูกเลย

ทำไมเฮียถึงส่งลูกชายคนโตไปเรียนประเทศออสเตรียตอนอายุ 11 ขวบ และส่งคนเล็กไปตอนอายุ 9 ขวบ เพราะเราทนเห็นเด็กไทยถือกระเป๋าหนักๆไปเรียน และทำกิจกรรมด้วยการนำต้นถั่วมาปลูกที่บ้านไม่ไหว ทำไมวิถีชีวิตของลูกถึงเหมือนเราตอนเด็กๆ ผมไม่ได้แอนตี้นะ แต่ถ้าเรามีโอกาสที่ดีกว่าให้ลูกก็ควรทำ

เมื่อเขาเรียนจบไฮสคูล ก็กลับมาเรียนปริญญาตรีในเมืองไทย เพื่อให้เขามีเพื่อนและสังคม จริงๆ ลูกชายเฮียเขาไม่ได้เป็นเด็กตั้งใจเรียนนะ แปลกใจเรื่องนี้เหมือนกัน เขาไม่ใช่หนอนหนังสือ แต่ชอบหาความรู้ ชอบอ่านหนังสือที่ไม่ใช่หนังสือเรียน

ลูกชายคนโตไม่เคยบอกว่า ถ้าเรียนจบแล้วจะกลับมาช่วยพ่อทำงานหรือไม่ แต่เฮียคิดไว้แล้วว่า ถ้าถึงวัยเกษียณอายุ 60 ปี เฮียจะยังไม่เกษียณ แต่จะถอยออกมาดูอาร์เอสอยู่ห่างๆ แต่เมื่อถึงวันนั้นอาร์เอสคงแข็งแรงมากแล้ว หากลูกชายจะเข้ามาช่วยกงานก็เข้ามาได้ แต่ถ้าไม่ชอบแล้วมีทางเดินของตัวเองอยากไปสร้างธุรกิจใหม่เฮียก็พร้อมสนุบสนุน

ที่ผ่านมาเฮียไม่เคยวางแผนว่า อาร์เอสต้องเดินต่อด้วยลูกชายเฮีย วันนี้อาร์เอสเดินได้ด้วยตัวเอง หลังเฮียวางกลยุทธ์ และกำหนดวิชั่น เพื่อให้ทีมงานระดับบนที่มีความแข็งแรงเป็นผู้ดำเนินการต่อ

“ถ้าวันนี้อาร์เอสไม่มีคนทำงานเก่งๆ เฮียคิดงานออกมา ก็เหมือนเป็นอากาศ”

อาร์เอสมีมือทำงานหลายคน ไม่ใช่แค่มือซ้ายและมือขวาอีกต่อไป ใกล้มือสุดต้องยกให้ “กุ้ง-พรพรรณ เตชรุ่งชัยกุล” และ “ดามพ์ นานา” นอกจากนั้นยังมี “โด่ง-องอาจ สิงห์ลำพอง" ผอ.สถานีช่อง 8 และช่อง La Liga “โจ้-ภัทธิรา ปาลวัฒน์วิไชย" ผู้บริหาร ช่อง 2 สตาร์ แม็กซ์ และช่อง You Channel

“เฌร-ศุภชัย นิลวรรณ” ดูแลกลุ่มธุรกิจ อาร์ สยาม ดูช่องสบายดีทีวี ช่องสบายดีเรดิโอ “กวง-คมสันต์ เชษฐโชติศักดิ์” หลายชายของเฮีย เขาจะดูงานขายทั้งกลุ่มของอาร์เอส และ “สุธี ฉัตรรัตนกุล” ดูแลกลุ่มวิทยุ