รัฐมนตรีท่องเที่ยวใหม่ ผสานเอกชน-เพิ่มขีดแข่งขัน

รัฐมนตรีท่องเที่ยวใหม่ ผสานเอกชน-เพิ่มขีดแข่งขัน

เปิดตัวในการทำงานวันแรกไปเรียบร้อยแล้ววานนี้ (5 เม.ย.) สำหรับ สมศักย์ ภูรีศรีศักดิ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

โดยมีหน่วยงานในสังกัดและภาคเอกชนด้านท่องเที่ยวมารับฟัง "วิสัยทัศน์" และแนวนโยบายของรัฐมนตรีใหม่ ที่จะเข้ามาสานต่องานในช่วงเวลาสำคัญและกำลังต้องการ "ผู้นำ" ที่จะมาขับเคลื่อนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไปสู่ทิศทางที่ถูกต้อง ท่ามกลางคลื่นนักท่องเที่ยวที่กำลังโหมเข้ามาอย่างมหาศาล นับจากเริ่มไฮซีซั่นปลายปีที่ผ่านมา จนกระทั่งสิ้นสุดไตรมาสแรกปีนี้ ความร้อนแรงก็ไม่มีท่าทีว่าจะหยุดนิ่ง


สมศักย์ เปิดเผยว่าภายใต้นโยบายของรัฐบาลที่ต้องการรายได้จากท่องเที่ยว 2 ล้านล้านบาทภายในปี 2558 นั้น เป็นภาระที่แตกต่างจากอุตสาหกรรมอื่น เพราะไม่มี "รายได้" โดยตรงจากการขายสินค้า แต่เป็นเรื่องของบริการซึ่งเอกชนเป็นผู้รับตัวเลขนั้นไป และขณะนี้ยอมรับว่าภายใต้การสำรวจของ “เวิลด์อีโคโนมิค ฟอรั่ม” เรื่องขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวของไทยนั้น อันดับของไทย"ลดลง" จึงถึงเวลที่จะต้องช่วยกันขับเคลื่อน โดยในยุคการบริหารงานของตนจะเน้นการบูรณาการกับภาคเอกชนให้มากขึ้น โดยเฉพาะผู้มีส่วนร่วมโดยตรงด้วยการเปิดรับฟังปัญหาเร่งด่วนที่ต้องการให้แก้ไข ขณะที่ความร่วมมือระดับหน่วยงานรัฐด้วยกัน ทั้งมิติระหว่างกระทรวงต่อกระทรวง และส่วนกลางต่อภูมิภาค

นอกจากนั้นยังมีแนวคิดการปรับปรุงกฎหมายที่อยู่ภายใต้กระทรวงการท่องเที่ยวฯ 7 ฉบับ และร่างอีก 1 ฉบับให้ทันสมัยมากยิ่งขึ้น โดยในสัปดาห์หน้าจะหารือว่าที่ผ่านมามีการทำตามกฎหมายดังกล่าวครบแล้วหรือไม่ และยังมีกฎหมายลูกใดที่ต้องเร่งรัดออกข้อบังคับเพิ่มเติม หรือหากฏหมายใดเป็นปัญหาและอุปสรรค ก็ต้องดำเนินการแก้ไขเพื่อให้การขับเคลื่อนมีประสิทธิภาพ เช่น พ.ร.บ.ท่องเที่ยว และ พ.ร.บ.มัคคุเทศก์ เป็นต้น และที่สำคัญคือ ควรมีการปรับปรุงระบบกฎหมายเพิ่มอำนาจในกระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวข้องกับการดูแลนักท่องเที่ยว ที่ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่กระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศมากที่สุดในขณะนี้ เช่น มีบทลงโทษชัดเจน มีการดำเนินกระบวนการที่ฉับไว

"การทำงานแก้ไขปัญหารอไม่ได้ เพราะเวิลด์อีโคโนมิคฯ ชี้ชัดเจนว่าเรายังมีเรื่องที่ต้องปรับปรุงแก้ไข ถ้าหากอัตรานักท่องเที่ยวยังเพิ่มแบบก้าวกระโดด อาจจะเป็นการทำลายสิ่งแวดล้อมที่พึงอนุรักษ์ไว้ ดังนั้นด้วยกรอบแผนงานตามพระราชบัญญัตินโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติที่มีอยู่แล้ว ได้เกิดการปฎิบัติที่สอดรับกันทั้งหน่วยงานในส่วนกลาง ระดับกระทรวงกับกระทรวง และส่วนกลางกับส่วนภูมิภาค ซึ่งหมายรวมถึงทุกภาคส่วนในท้องถิ่นไม่ว่าจะรัฐหรือเอกชน ก็จะเข้าถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนของแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ด้วย" สมศักย์กล่าว

ในฐานะกระทรวงการท่องเที่ยวฯ เมื่อเป็นเจ้าภาพเเล้วต้องดำเนินการตั้งแต่นับหนึ่งจนจบ ไม่ใช่ปล่อยทิ้งไป ทั้งนี้เพื่อให้ "สยามเมืองยิ้ม" เป็นแหล่งท่องเที่ยวอันดับหนึ่งในอาเซียนและเอเชีย ซึ่งอยู่ที่ความร่วมมือของทุกฝ่าย

ด้าน อานุภาพ เกษรสุวรรณ์ อธิบดีกรมการท่องเที่ยว กล่าวว่าพร้อมขานรับนโยบายจากรัฐมนตรีฯ คนใหม่ทันที ด้วยการเตรียมมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหา 3 ด้าน คือ อาชญกรรม อุบัติเหตุ และสุขภาพ ของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ แต่ยอมรับว่าที่ผ่านมา หน่วยงานราชการไม่สามารถดูแลได้เองครอบคลุมทุกจุด จึงต้องอาศัยบูรณาการทำงานและขอความร่วมมือจากภาคเอกชนมากขึ้น

ในช่วงปลายเดือนนี้ซึ่งจะมีการประชุมสมาชิกสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) จะเข้าไปรับฟังความคิดเห็นเรื่องการจัดทำนโยบายด้านความปลอดภัย รวมถึงขอความร่วมมือให้ สทท.ซึ่งมีเครือข่ายทั่วประเทศเป็นผู้ช่วยสอดส่องเหตุการณ์ และนำเสนอแนวทางจัดการที่เหมาะสมแต่ละพื้นที่ รวมถึงการเข้าไปทำงานร่วมกับหน่วยงานด้านกฎหมายอย่าง กระทรวงมหาดไทย ในการแก้ไขกฎระเบียบที่จะเอื้อให้เกิดการอำนวยความสะดวกต่อนักท่องเที่ยวอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป