ส่องอนาคต 'พรีบิลท์' หุ้นที่ไม่เคยไร้เงา “เซียน VI”

ส่องอนาคต 'พรีบิลท์' หุ้นที่ไม่เคยไร้เงา “เซียน VI”

ราคาหุ้นพรีบิลท์ พร้อมพุ่งต่อ สารเดลิเวอรี่ส่งตรงถึง “แฟนพันธุ์แท้” นับจากนี้ “ธุรกิจรับเหมา” จะแปลงกายเป็น“นางงาม ”อนาคตมีสิทธิ “สวยมาก”

หรือว่า!! หุ้น พรีบิลท์” (PREB) จะถูก “บัญญัติ” ให้เป็น “หุ้นเทิร์นอะราวด์” ของหมู่นักลงทุนหุ้นเน้นคุณค่า (Value Investor-VI) ไปซะแล้ว “วราณี เสรีวิวัฒนา” ภรรยาของ “รองศาสตราจารย์ ดร.ไพบูลย์ เสรีวิวัฒนา” เพื่อนรักของ “ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร” วีไอต้นตำรับของเมืองไทย ถือเป็นนักลงทุนวีไอรายแรกๆ ที่เข้าไปแสวงหาผลกำไรจากหุ้น PREB ด้วยการถือหุ้นจำนวน 1,002,700 หุ้น คิดเป็น 0.50% (ตัวเลข ณ วันที่ 3 มี.ค.50) หลังจากปิดสมุดทะเบียนวันที่ 1 เม.ย.51 ก็ไม่ปรากฎชื่อ “วราณี” อีก

จากนั้นหุ้น PREB ดูจะกลายเป็น “ศูนย์รวม” ของเหล่าวีไอ ที่ผลัดเปลี่ยนเวียนเข้ามาถือหุ้นไม่ขาดสาย อาทิเช่น เจ้าของนามแฝง “กาละมัง” ในเว็บบอร์ด Thaivi.com เพื่อนลงทุนแก็งค์เดียวกับ “พีรนาถ โชควัฒนา” เซียนหุ้นรายใหญ่วัย 49 ปี "หลานชายคนโต" จากจำนวนทั้งหมด 17 คน ของ “ดร.เทียม โชควัฒนา” ผู้ก่อตั้งเครือสหพัฒน์ เขาเข้ามาถือหุ้น PREB ตั้งแต่ปี 2553 ในสัดส่วน 4% กว่าๆ ก่อนจะทยอยลดสัดส่วนเหลือไม่ถึง 3%ในปัจจุบัน

นอกจากนั้นยังมี “ขาว” ณภัทร ปัญจคุณาธร กรรมการและนายทะเบียนของสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า (ประเทศไทย) “เซียนหุ้นวีไอ” ชาวนครศรีธรรมราช เจ้าของนามแฝง KAO ถือหุ้น 2,000,000 หุ้น คิดเป็น 0.91% (ณ วันที่ 11 พ.ค.55) ขณะเดียวกันยังมี “ผู้บริหารหญิงฝ่ายการตลาด” แห่งค่าย “ซาบีน่า” นามว่า “อารดี เปี่ยมพงศ์สานต์” ถือจำนวน 2,006,665 หุ้น คิดเป็น 0.91%

ในอดีตหุ้น PREB ยังเคยถูกจับจอง โดย “เซียนหุ้นหลักพันล้าน” “เคน” โสรัตน์ วณิชวรากิจ เจ้าของนามแฝง Ken Sorat ในเว็บบอร์ด Thaivi.com ในฐานะเจ้าของ “แพนเอเชีย อุตสาหกรรม” ผู้ผลิตแผ่นพลาสติก อะคริลิกรายใหญ่ โรงงานตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง ในสัดส่วน 10,256,800 หุ้น คิดเป็น 5.01% (ตัวเลข ณ วันที่ 11 พ.ค.55)

นอกจากนั้น “นพ.ประมุข วงศ์ธนะเกียรติ วัย 43 ปี นามแฝง Paul vi ในฐานะอุปนายกสมาคมฯ ยังเคยถือหุ้น PREB จำนวน 1,091,000 หุ้น คิดเป็น 0.51% (ณ วันที่ 15 มี.ค.55) รวมถึง “หลิน” อังสินี อภิวัชรกุล นามแฝง Kongkang ภรรยาวัย 42 ปี ของชายวัย 39 ปี “หนิง” “เสริฐสรรพ์ อภิวัชรกุล” นามแฝง Little Wing ปัจจุบัน “หลิน” นั่งเป็นกรรมการและเหรัญญิก ส่วน “หนิง” ทำหน้าที่เป็นกรรมการในสมาคมฯ

ในอดีตหุ้น พรีบิลท์ ยังเคยมี “เอเชี่ยน พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์” (AP) เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 48,038,898 หุ้น คิดเป็น 24.02% ก่อนจะทยอยลดสัดส่วนในปี 2553 ล่าสุดเหลือหุ้น PREB เพียง 26,693,852 หุ้น คิดเป็น 12.11% ปล่อยให้ “ซินบุนเอ๋ง แซ่ซิน” อดีตผู้ถือหุ้นดับ 2 แซงหน้าขึ้นมายืนแทนที่ ด้วยการถือหุ้น 38,263,533 หุ้น คิดเป็น 17.37%
ทำไม!! นักลงทุนวีไอถึง “ปลื้ม” หุ้น PREB และเหตุใดราคาถึง “วิ่ง” จาก “จุดต่ำสุด” 3.38 บาท (ณ วันที่ 6 ม.ค.55) สู่ “จุดสูงสุด” 15.20 บาท ( ณ วันที่ 21 ก.พ.55) “กรุงเทพธุรกิจ Biz Week” มีคำตอบมาฝาก....

“จำได้หรือไม่ ก่อนน้ำท่วมใหญ่ปลายปี 2554 ผมเคยบอกว่า อาชีพผู้รับเหมาก่อสร้างเปรียบเสมือน “นางทาส” แต่วันหนึ่งจะกลายเป็น “นางงาม” วันนี้สัญญาณ “ฟื้นคืนชีพ” มาแล้ว วันที่ “รอคอย” ใกล้เข้ามาทุกที “ชัยรัตน์ ธรรมพีร" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ถือหุ้น 1.92% “พรีบิลท์” ส่งสัญญาณกระตุ้นราคาหุ้น PREB ถึงเหล่า “แฟนคลับ”

ผ่านมาปีกว่า สิ่งที่ผมพูดเริ่มเป็นจริงแล้วนะ (ยิ้ม) หลังน้ำท่วมใหญ่ผ่านพ้นไป ผู้รับเหมา รายใหญ่ต่างพากันออกมาจับจองงานบิ๊กไซด์เพียบ โดยเฉพาะงานซ่อมแซมถนนและเขื่อน รวมถึงงานก่อสร้างคอนโดมิเนียม อาคาร โรงงงาน เรียกว่างานเข้ามาอย่าง “มหาศาล” งานล้นมือ อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ราคาหุ้น PREB โตวันโตคืน
ภาครัฐบาลออกมาประกาศขึ้นค่าแรง 300 บาทต่อวัน ทำให้บรรดาผู้รับเหมาขนาดเล็ก ต่างพากันแพ็คกระเป๋ากลับบ้าน ยกเลิกกิจการกันหมด ทำให้วอลุ่มของเราขยายตัวอย่างมาก คุณเริ่มมองเห็นภาพดีๆหรือยัง

ปีนี้รัฐบาลอนุมัติงบลงทุน 2 ล้านล้านบาท ในการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะโครงการรถไฟฟ้า คุณลองนึกภาพตามนะ จากนี้ไปอะไรจะเกิดขึ้น!! ผู้รับเหมาขนาดใหญ่ก็จะได้งานกันถ้วนหน้า PREB เอง ก็มีชื่อเสียงด้านงานก่อสร้างคอนโดมิเนียมอยู่แล้ว ฉะนั้นลูกค้าเลือกใช้เราแน่นอน ผมมั่นใจว่า PREB ดีพอ “ท่านประธานฯ คุยออก “อรรถรส” เต็มเหนี่ยว

ที่ผ่านมามีนักลงทุนโทรศัพท์มาสอบถามเรื่องราคาหุ้นพุ่งเพียบ ส่วนใหญ่อยากรู้ “ทำไมราคาขึ้นเยอะจัง” ผมเองคงหาสาเหตุแท้ๆไม่ได้ แต่เมื่อก่อนเราเคยพูดว่าปี 2555 จะมีรายได้ 4,000 ล้านบาท สุดท้าย ก็ทำได้จริงๆ ตัวเลขมันฟ้อง (หัวเราะ) อย่างปี 2556 บอกเลย ทิศทางธุรกิจก่อสร้างกำลังมุ่งหน้าสู่ขาขึ้น ฉะนั้นคำเดียวสั้นๆ “ราคาหุ้น PREB มีโอกาสไปต่อ” แต่จะขึ้นไปยืนระดับใด ประเด็นนี้ตอบไม่ได้ ถ้ารู้คงซื้อดักนานแล้ว

เท่าที่จำได้ปีก่อน ช่วงที่เราชวนสื่อมวลชนไปแถลงข่าวจังหวัดตรัง ราคาหุ้นยืนระดับ 3 บาท ผมบอกราคาหุ้นมีโอกาสขึ้น หลายคนไม่เชื่อ พอจัดงานแถลงข่าวครั้งที่ 2 ในวันที่ 5 พ.ค.55 ราคาดีดขึ้นมาอยู่ 9.20 บาท พอแถลงข่าวครั้งที่ 3 (27 ก.พ.56) ราคาอยู่ที่ 13.70 บาท จากการวิเคราะห์เล่นๆ ทุกอย่างเกิดจากขาขึ้นของธุรกิจจริงๆ (เขาย้ำ) นักลงทุนคงมองว่า เราอยู่ในวัยทำงานอายุแค่ 30 ปี ร่างกายยัง “แข็งแรง มั่นคง” ผ่านอะไรมาเยอะแยะ ล้มลุกมาหลายครั้ง แต่เราก็ยังสามารถเติบโตได้อีก หากเปรียบเทียบกับผู้ประกอบการในธุรกิจเดียวกันที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) บริษัทเหล่านั้นเขาเติบโตไป 600-700 เท่า ส่วนเราพึ่งเริ่มเป็นสาวโต P/E แค่ 13 เท่าเอง

ท่านประธานฯ ฉายภาพธุรกิจในปี 2556 ว่า เรายังคงนโยบายสร้างพันธมิตรเพิ่มเติม ถามว่าเพื่อนใหม่มาจากไหน ก็มาจากการเข้าไปรับงานใหม่ๆนั่นละ เผื่อวันใดตลาดไม่ดี เราก็ยังมีเพื่อนที่ดีอยู่เคียงข้าง หากเข้าไปดูในพอร์ตรับเหมาก่อสร้างของเราจะเห็นเลยว่า บริษัทมีบริษัทใหม่ๆเข้ามาเยอะแยะ อาทิ บมจ.ไรมอนแลนด์ (RML) บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ (ANAN) เป็นต้น เมื่อก่อนเราไม่เคยรับงานเขาเลย อย่างงานของบมจ. แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ (LH) ก็พึ่งรับงานของเขามาทำ

แถมเรายังกระจายงานให้เพื่อนคนอื่นทำด้วย (ใจกว้างมากๆ) ทุกครั้งที่รับงานเราคิดเพียงว่าขอแค่ได้ “กำไรขั้นต้น” พอสมควร เท่านี้ก็พอใจแล้ว ถือคติ “เราอยู่ได้ เขาอยู่ได้” ถ้าวันหนึ่งเราเกิด “ปิ๊ง” ใครขึ้นมา อาจไปทำงานกับเขามากขึ้นก็ได้ ตอนนี้อยู่ในช่วงศึกษานิสัยใจคอลูกค้ารายใหม่ๆ ส่วนลูกค้ารายเก่าไม่ต้องดูใจกันแล้ว ทำงานกันมานาน ลึกซึ้งกันดีอยู่

“รายได้เติบโตสม่ำเสมอ คือ งานใหญ่ที่เราต้องเร่งดำเนินการ เราไม่ต้องการให้ปีนี้โตก้าว กระโดด พอปีหน้ารายได้ลดลง”

“ชัยรัตน์” อธิบายต่อว่า ธุรกิจหลักของ “พรีบิลท์” ยังคงเป็น “ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง” แม้ว่าปีนี้จะหันมาเน้นทำงานในธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของ “บิลท์ แลนด์” เมื่อก่อนผมเคยพูดว่า งานของ “บิลท์ แลนด์” เป็นแค่ “น้ำจิ้ม” แต่ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว “น้ำจิ้ม” ถ้วยนี้ กำลังจะเริ่มเป็น “ถ้วยใหญ่”
เห็นได้จากผลประกอบการในปี 2555 ของ “บิลท์ แลนด์” เขามีกำไรสุทธิ 78 ล้านบาท ในขณะที่ “พรีบิลท์” มีกำไรสุทธิ 99 ล้านบาท ฉะนั้นจะเห็นว่ากำไรสุทธิของบริษัทในเครือขยับเข้ามาเกือบเท่าบริษัทแม่แล้ว

“ข้อดี” ของงานก่อสร้าง คือ เราใช้เงินของผู้ว่าจ้าง เพื่อใช้ในการทำงานก่อน แม้ “กำไรน้อย” แต่ฐานใหญ่ ขณะที่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เราต้องควักเงินลงทุนก่อน เพื่อนำไปซื้อที่ดิน และเมื่อต้องพัฒนา เราก็อาจต้องกู้แบงก์ ส่งผลให้ฐานเล็ก แต่มีกำไรใหญ่ สังเกตได้จากการที่บริษัทมีโครงการเพียง 2-3 แห่ง แต่ “บิลท์ แลนด์” มีกำไรเฉียดปลายจมูก “พรีบิลท์” แล้ว

เขา เล่าต่อว่า ที่ผ่านมา มีคนส่งข้อความผ่านโทรศัพท์มือถือมาถามผมถึงธุรกิจของ “บิลท์ แลนด์” “ไม่กลัวเกิดปัญหาฟองสบู่อสังหาฯเหรอ!!” โครงการออกมาล้นตลาดแล้วนะ ผมพูดตรงนี้เลยว่า ตอนเปิดโครงการแรก เดอะเทมโป ร่วมฤดี มูลค่า 380 ล้านบาท คนอื่นมองว่าโครงการนี้จะไปไม่รอด แต่ผมก็ “พิสูจน์” ให้คนเหล่านั้นเห็นแล้วว่า โครงการนี้สามารถขายได้หมดภายในวันเดียว แต่ผมไม่ทำ เพราะเสียดายมาร์จิ้นที่อนาคตจะทำได้มากกว่านี้ เพราะต้นทุนของเราค่อนข้างต่ำ แต่ตอนนี้ขายเกลี้ยงล่ะ

ที่ผ่านมาเราเพิ่งเปิดโครงการ เดอะ เทมโป พหลโยธิน มูลค่า 387 ล้านบาท แต่โชคไม่ค่อยดี เปิดในจังหวะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (แบงก์ชาติ) ออกมาบอกว่า โครงการคอนโดมิเนียมล้นตลาด ส่งผลให้ยอดขายไม่โอเคเท่าไหร่ แต่ผมเชื่อว่าความต้องการที่อยู่อาศัยแนวรถไฟฟ้ายังมีอยู่

สังเกตจากตอนนี้รถติดมาก แถมน้ำมันก็แพง ฉะนั้นความไม่สะดวกจะทำให้คนเหล่านั้นย้ายมาอยู่คอนโดฯ มากขึ้น ยิ่งในช่วง 2 ปีข้างหน้า จะเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) อาจมีคนย้ายเข้ามาทำงานในเมืองไทยมากขึ้น ซึ่งเขาต้องหาที่อยู่อาศัยใกล้รถไฟฟ้าแน่นอน ผมเชื่อว่าแบบนั้น และจะเชื่อตลอดไป

“นายใหญ่” เล่าถึงเป้าหมายรายได้ในปี 2556 ว่า อาจจะมีรายได้ประมาณ 5,000 ล้านบาท เติบโตประมาณ 25% สูงกว่าเป้าหมายในช่วง 3 ปีข้างหน้า (2556-2558) ที่ตั้งไว้ว่า รายได้ต้องเติบโตเฉลี่ยปีละ 18% เนื่องจากงานรับเหมาก่อสร้างมีอัตราการขยายตัวมากขึ้น ไม่ต้องห่วงปีนี้ “พรีบิลท์” จะมีงานเข้ามา “มหาศาล” (ย้ำรอบสอง)

งานบางอย่างเราไม่ต้องเข้าไปประมูลด้วยซ้ำ แต่บริษัทก็ได้งาน ตอนนี้เริ่มมีอำนาจต่อรองละ ผมเชื่อว่า ธุรกิจรับเหมาจะเริ่มดีขึ้นแล้ว และไม่กลับไปเป็นเหมือนในอดีต ตอนนี้ผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้างทำงานค่อนข้างมีศักยภาพ ฉะนั้นผู้ประกอบการต้องดึงผู้รับเหมามาเป็นพันธมิตรมากกกว่ามากดราคากัน

ช่วงครึ่งปีหลังของปี 2556 “บิลท์ แลนด์” จะเปิดตัวโครงการ เดอะ เทมโป แกรนด์ Hi Rise มูลค่า 2,000 ล้านบาท แถมอนาคตยังมีแผนแปรสภาพ “บิลท์ แลนด์” เป็นบริษัทมหาชน เพื่อสร้างความมั่นใจให้ลูกค้า คาดว่ากระบวนการจะแล้วเสร็จภายในเดือนพ.ค.นี้ อนาคตอาจขยายธุรกิจไปในแนวราบ

“ชัยรัตน์” ทิ้งท้ายว่า ปี 2556 บริษัทจะรับรายได้จากธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง 3,900 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20% จาก 3,393 ล้านบาทในปีก่อน เน้นรับงานเอกชนเป็นหลัก แบ่งเป็นงานก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรม 50% และงานก่อสร้างอสังหาริมทัรพย์ 50% ปัจจุบันเรามียอดขายที่ยังไม่รับรู้รายได้ราวๆ 5,134 ล้านบาท โดยจะรับรู้ในปีนี้ 4,300 ล้านบาท ที่เหลือ 834 ล้านบาท ไปรับรู้รายได้ในปี 2557 ตอนนี้เราวางแผนรับงานใหม่เพิ่มอีก 3,900 ล้านบาท และอยู่ระหว่างรอผลการประมูล 3,000 ล้านบาท

ส่วนรายได้จากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ “บิลท์ แลนด์” คาดว่าจะมีรายได้ 650 ล้านบาท เติบโต 10% จาก 590 ล้านบาทในปีก่อน โดยจะมีการรับรู้จากรายได้จากโครงการคอนโดมิเนียม เดอะ เทมโป 3 แห่ง และแนวราบ 1 แห่ง เขายังมีแผนจะเปิดตัวโครงการใหม่อีก 2-4 แห่ง มูลค่ารวม 2,500-3,000 ล้านบาท

ขณะที่บริษัท ซีพีเอ็ม คอนสตรัคชั่น แมททีเรียล (พีซีเอ็ม) ผู้ดำเนินธุรกิจแผ่นพื้น และผนังสำเร็จรูป คาดว่าจะมีรายได้ 528 ล้านบาท โต 10% จาก 480 ล้านบาท และ “บิลท์ฮาร์ท” ธุรกิจรับจ้างบริหารนิติบุคคลที่อยู่อาศัย คาดว่าจะมีรายได้ 4 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 168% จากรายได้ 1.47 ล้านบาท