ความเป็นเลิศที่สร้างขึ้นได้ | ประกาย ธีระวัฒนากุล

ความเป็นเลิศที่สร้างขึ้นได้ | ประกาย ธีระวัฒนากุล

การออกกำลังกายจำเป็นต้องมีความแข็งแกร่ง ความอ่อนตัว และความทนทาน ต้องมุ่งมั่น ทำอย่างต่อเนื่อง แม้ในยามที่ไม่เห็นการเปลี่ยนแปลง ก็ยังต้องทำต่อไป เพราะการเปลี่ยนแปลงระยะแรกอาจน้อยมากจนกระทั่งไม่ทันสังเกตเห็น เราจึงต้องมีแรงใจทำต่อจนเห็นผลตามเป้าหมายที่วางไว้

การมีครู มีต้นแบบที่ดี มีความรู้ที่ถูกต้องนั้นเป็นสิ่งจำเป็นเพราะทำให้เราไปถูกทิศถูกทางอย่างรวดเร็ว ไม่ต้องมาค้นหาวิธีเอาเอง ซึ่งบางครั้งอาจจะผิดหรือบาดเจ็บได้

ยิ่งไปกว่านั้นการมีเพื่อนที่เป็นคู่หูทำไปด้วยกัน คอยแชร์ความรู้สึก เสริมส่งกันและกัน นี่ก็สำคัญไม่แพ้กัน เพราะเวลาที่เราเห็นเพื่อนมีความมุ่งมั่นเป็นเลิศ ก็จะทำให้เรามุ่งมั่น ปรับปรุงพัฒนาให้ดีขึ้นแบบไม่ย่อท้อด้วยเช่นกัน  

สุดท้ายเราก็จะได้ร่างกายที่แข็งแรง หัวจิตหัวใจที่แข็งแกร่ง และเคลือบไปด้วยรอยยิ้ม เรียกได้ว่าเป็นทั้งการออกกำลังกายและออกกำลังใจ ในการทำงานก็เช่นกัน เราต้องสร้างความแข็งแกร่งสร้างความเป็นเลิศ เราต้องใช้ Soft Skill/Soft Power ในการขับเคลื่อนงาน และเราก็ต้องมุ่งมั่นพัฒนาสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง 

ความเป็นเลิศที่สร้างขึ้นได้ | ประกาย ธีระวัฒนากุล

ผู้เขียนเองได้เห็นความมุ่งมั่นของหน่วยงานหลายแห่งที่พยายามแก้ไขปัญหาให้ประชาชน พยายามยกระดับการบริการภาครัฐให้ตอบโจทย์มากขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าไม่ง่าย ต้องอาศัยแรงกายและแรงใจอย่างมาก จนกระทั่งหลายหน่วยงานสามารถขับเคลื่อนงานได้สำเร็จ

ทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและได้รับรางวัลเป็นเครื่องยืนยันความสำเร็จ เช่น รางวัลเลิศรัฐจากสำนักงาน ก.พ.ร. เป็นต้น

ต้นแบบที่ดี เป็นเหมือนตัวช่วยในการย่นระยะเวลาในการขับเคลื่อนงานลงได้ เพราะเราได้เรียนรู้เคล็ดลับ เรียนรู้บทเรียนปัจจัยความสำเร็จ และพยายามหลบหลีกปัญหาอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้น การถอดบทเรียนต้นแบบแนวปฏิบัติที่ดีจากผู้ที่ประสบความสำเร็จมาก่อนจึงสำคัญ 

จากการถอดบทเรียนจากหน่วยงานที่สร้างการเปลี่ยนแปลงจนกระทั่งได้รับรางวัลเลิศรัฐจำนวน 10 แห่ง

(ได้แก่ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมประมง กรมป่าไม้ กรมสุขภาพจิต โรงพยาบาลมะเร็งจังหวัดอุดรธานี คณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)  สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค)

ทำให้เห็นต้นแบบที่โดดเด่น 6 ต้นแบบได้แก่ 

1) การส่งเสริมพัฒนาการเด็ก 2) การจัดการขยะ  3) การสร้างงานและอาชีพ  4) การพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์  5) 1 ตำแหน่งอาชีพ 1 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  และ  6) การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ  

ความเป็นเลิศที่สร้างขึ้นได้ | ประกาย ธีระวัฒนากุล

ผู้เขียนขอสรุปบทเรียนที่ได้มา ว่าด้วย 2 เรื่องใหญ่ๆ ดังนี้

  • เรื่องแรก: ว่าด้วยเรื่อง “จับใจ เข้าใจ วางใจกันและกัน

1. ปรับเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมของคนในชุมชน ปลูกฝังจิตสำนึกตั้งแต่เยาวชน ทั้งยังสามารถเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการเปลี่ยนแปลง เช่น การจัดการขยะ หรือการปรับทัศนติ ของผู้ปกครองให้เข้าใจร่วมกันในการดูแลเด็กให้มีพัฒนาการที่เหมาะสม เช่น โครงการพะงันสร้างใจปฐมวัยสร้างชาติ เป็นต้น

2. ทำความเข้าใจปัญหาและมีเป้าหมายร่วมกัน เน้นกลไกที่คนในชุมชนรวมตัวกันและตกลงกันเองเกี่ยวกับการใช้ทรัพยากรในชุมชนซึ่งจัดได้ว่าเป็น bottom-up policies แก้ปัญหาการใช้ทรัพยากรที่ขาดประสิทธิภาพและขาดความยั่งยืนได้ 

3. เสริมสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกันของทุกฝ่าย ให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในทุกขั้นตอนของการตัดสินใจที่ผลกระทบต่อชุมชนและสังคม

  • เรื่องที่สอง: ว่าด้วยเรื่อง “จับมือ รวมพลัง ร่วมเดินหน้าไปด้วยกัน

4. เน้นการทำงานแบบภาคีเครือข่าย เช่น ร่วมเป็นคณะทำงาน/คณะกรรมการ ร่วมเป็นเครือข่ายทำงานร่วมกัน เช่น การจัดเป็น The Star Team ประกอบด้วยแกนนำผู้ปกครอง เจ้าหน้าที่สาธารณสุข อสม. ครูพี่เลี้ยงและผู้นำชุมชน

5. บูรณาการความร่วมมือของหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาชน และวิชาการ ความหลายหลายของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียก่อให้เกิดนวัตกรรมที่ดีขึ้น

6. มีหน่วยงานหลักในการขยายผล เพื่อกำหนดแนวทางความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทั้งภายในและภายนอกพื้นที่ จัดหาทรัพยากร/งบประมาณ ฯลฯ เช่น โครงการตาลเดี่ยวโมเดล ที่มีเจ้าภาพหลักคือ องค์การบริหารส่วนตำบลตาลเดี่ยว เป็นต้น

7.การจัดสรรงบประมาณอย่างเพียงพอส่งผลต่อความสำเร็จ จึงต้องมีการวางแผน บริหารจัดการ

8. เน้นบทบาทของภาครัฐที่เหมาะสมในการผลักดันและสนับสนุนโครงการ

9. ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมให้สอดคล้องกับประเด็นปัญหาที่ต้องการแก้ไข

10. ขยายผลโครงการต้นแบบโดยอาศัยระบบฐานข้อมูลที่ครบถ้วนและทันสมัยเป็นตัวช่วย
(ผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลด E-Book ได้ที่นี่)

หลายหน่วยงานดำเนินการจนสำเร็จ ซึ่งเป็นบทพิสูจน์ได้ว่า แม้ปัญหาจะยาก แต่ก็สามารถแก้ไขได้ ดังนั้น หากพื้นที่อื่นที่ประสบปัญหาความท้าทายคล้ายคลึงกันได้นำบทเรียนต่างๆ มา ประยุกต์ใช้เข้ากับบริบทพื้นที่ของตนเอง นั่นย่อมหมายถึง มีโอกาสแห่งความสำเร็จ ประชาชนก็จะได้รับประโยชน์อย่างแน่นอน  

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการออกกำลังกายออกกำลังใจ หรือการทำงาน การใช้ชีวิตของพวกเราก็แล้วแต่เราจะจับใจ ก่อนจับมือ หรือเราจะจับมือ ก่อนจับใจ ก็ได้ คงไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว รู้แต่ว่า ความเป็นเลิศสร้างขึ้นได้

ขอเพียงมุ่งมั่น ตั้งใจ ในวันที่สำเร็จ ต้องขอบคุณตัวเองและผู้ที่ร่วมเดินไปด้วยกันนะคะ เพราะความเป็นเลิศนั้นไม่ง่ายกว่าจะได้มา แล้วก็อย่าลืมบอกต่อความสำเร็จว่าความเป็นเลิศนั้นท่านได้แต่ใดมานะคะ รอฟังค่ะ