ฟุตบอลโลกครั้งหน้า ขอรัฐเป็นเจ้าภาพถ่ายทอดสด | เรือรบ เมืองมั่น

ฟุตบอลโลกครั้งหน้า ขอรัฐเป็นเจ้าภาพถ่ายทอดสด | เรือรบ เมืองมั่น

การแข่งขันฟุตบอลโลกดำเนินมาจนใกล้จบรอบแรก  เป็นไปตามคาดที่ความสนใจของคนไทยเพิ่มขึ้น แม้ว่าจะไม่ฟีเวอร์ถึงขั้นครั้งก่อน แต่นับเป็นความสุขเล็ก ๆ ที่คนไทยจำนวนมากกำลังได้รับ

เบื้องหลังความสำเร็จของการถ่ายทอด ยังมีดราม่าเรื่องลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดที่มีหลายฝ่ายติงถึงความไม่เป็นธรรมที่ยักษ์ใหญ่เจ้าเดียวที่จ่ายเงินแค่ 1 ใน 5 แต่ได้ลิขสิทธิ์ไปเกือบทุกอย่าง เหลือให้ช่องน้อยใหญ่อื่นๆ ถ่ายทอดช่องละไม่กี่คู่ 

ขอบเขตของลิขสิทธิ์ยังก้าวไกลครอบคลุมผลประโยชน์ที่กว้างขวางกว่าจอทีวีและนำไปสู่การต่อรอง หรืออาจจะถึงขั้นต้องใช้กฎหมายเล่นงานกันด้วย  หากเป็นอย่างนี้ก็น่าห่วงว่าอีก 4 ปีข้างหน้าก็ต้องฟาดฟันกันอีก

คนดูก็ต้องลุ้นกันจนถึงนาทีสุดท้ายว่าไทยจะได้ดูบอลโลกแบบถูกกฎหมายกันอีกไหม  ทางออกน่าจะต้องพึ่งรัฐอย่างเดียว

กฎ Must Have และ Must Carry ที่ออกโดย กสทช.เป็นกติกาที่ขัดแย้งในตัวเองจึงไม่ค่อยเป็นจริงในทางปฏิบัติ  เจตนาของ กสทช.อาจดีในแง่ของความต้องการให้คนไทยได้ดูฟรีกีฬาดีๆ โดยให้เอกชนเป็นคนรัน

นอกจากจะส่งเสริมธุรกิจภาคเอกชนแล้ว ยังทำให้คนยากคนจนได้ดูกีฬาระดับโลก ระดับเอเชีย หรือที่นักกีฬาไทยแข่งอย่างทั่วถึง   หลักการนี้ดีงามสำหรับประเทศกำลังพัฒนาอย่างเรา ขณะที่คนในประเทศพัฒนาแล้วอยากดูกีฬาก็ต้องเป็นสมาชิกเคเบิลหรือจ่าย Pay per view กันไป

อย่างไรก็ตาม เอกชนก็รับไม่ค่อยได้กับกฎกติกานี้ เพราะธรรมชาติพ่อค้า หากเสียเงินค่าลิขสิทธิ์ไปแล้วก็ไม่อยากให้ใครมาแจมลิขสิทธิ์โดยไม่จ่ายเงินให้ตน 

กติกาที่บังคับไม่ให้จอดำเป็นการเปิดช่องให้คนดูชมผ่านช่องทางอื่นได้ ไม่จำเป็นต้องดูผ่านช่องทางของเจ้าลิขสิทธิ์  รายได้ที่รั่วไหลแบบนี้เจ้าลิขสิทธิ์ไม่ชอบใจแน่

ลำพังการให้ชาวบ้านดูผ่านทีวีเสาก้างปลานั้นเจ้าลิขสิทธิ์ไม่มีปัญหาอะไรเพราะเจ้าลิขสิทธิ์ถ้าไม่มีช่องของตัวเอง ก็ขายสิทธิ์ให้ทีวีธรรมดาถ่ายทอดต่อไป 

แต่ยุคปัจจุบันนี้ทีวีเสาก้างปลาและกล่องทีวีดูฟรีของรัฐมีคนดูน้อยลงมาก เพราะมันไม่ตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลายขึ้นของประชาชน  มีแต่ช่องมาตรฐานซึ่งขาดความน่าสนใจเพียงพอสำหรับคนชั้นกลางที่พอจะเจียดเงินเดือนละไม่กี่ร้อย  ติดตั้งกล่องรับสัญญาณของเครือข่ายต่าง ๆ ที่มีเนื้อหาตรงใจตนมาดูสบายใจกว่า  

การเป็นสมาชิกเครือข่ายรับสัญญาณไม่เจ้าใดก็เจ้าหนึ่งเป็นวิถีปกติของคนไทยไปแล้ว   และเมื่อทีวีของตนต้องจอดำเพราะกล่องของตนเป็นคนละเครือกับของเจ้าของลิขสิทธิ์ก็ต้องมีการโวยกันขึ้น 

เพราะประชาชนจำนวนมากไม่ได้ต้องการจ่ายเงินเพื่อเปลี่ยนแพลตฟอร์มอีกเพื่อที่จะดูบอลโลกได้  นี่คือผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชนอย่างเห็นได้ชัด

ในเมื่อได้ประโยชน์ลิขสิทธิ์ไม่เต็มที่  เอกชนก็ชักไม่อยากลงทุนกับกีฬาระดับโลกบางรายการ ยิ่งถ้ามีค่าลิขสิทธิ์สูงก็อาจไม่คุ้มรายจ่าย นี่ยังไม่รวมถึงค่าความหมั่นไส้ที่จะมีคู่แข่งได้ถ่ายทอดไปโดยไม่เสียเงินให้ตน  

กรณีโอลิมปิกหรือซีเกมส์ไม่ได้เป็นประเด็นใหญ่โตเหมือนเช่นฟุตบอลโลก ถ้าทีวีมาตรฐานไม่จับมือกันเป็นทีวีพูลแบ่งสรรถ่ายทอด เอกชนเจ้าใหญ่ก็เข้าร่วมถ่ายทอดในแพลตฟอร์มของตัวควบคู่ไปด้วย  เพราะค่าลิขสิทธิ์ไม่สูง ชนิดกีฬามีเยอะหลากหลาย   

ส่วนกีฬาดัง ๆที่ไทยแข่งหลายอีเวนต์ก็พร้อมที่จะมีฟรีทีวีซื้อลิขสิทธิ์กันอยู่แล้ว   แต่กรณีเหล่านี้ไม่ใช่ฟุตบอลโลกที่ราคาลิขสิทธิ์สูงจนต้องให้รัฐเข้ามาเกี่ยวข้อง 

แต่การมาถึงของ กสทช.ก็มาในเวลาที่กระชั้นชิดเต็มที่หาเงินที่เพียงพอมาจ่ายฟีฟ่าไม่ได้  ผลจึงออกมาในรูปที่เราเห็นกันอยู่ ท่ามกลางเสียงประท้วงของสื่อกระหึ่ม ทฤษฎีสมคบคิดหลายรูปแบบก็ลือกัน

ทางแก้สำหรับฟุตบอลโลก 2026 ที่ควรเป็น ไม่ใช่ทั้งต้องยกเลิกกฎ Must Have Must Carry   หรือทั้งไม่ใช่ให้เอกชนติดต่อซื้อลิขสิทธ์จากฟีฟ่าเอง  แต่ควรเป็นรัฐนั่นเองที่ชิงดำเนินการก่อนตั้งแต่เปิดขายลิขสิทธิ์แต่เนิ่น  

จัดสรรงบประมาณไว้เลย โดยไม่ต้องอายเหนียมเรื่องเอาเงินหลายร้อยล้านไปจ่ายต่างชาติเพื่อให้คนได้ดูบอลโดยไม่ได้อะไรกลับมา  เพราะมันไม่จริง

ถ้าจะมองในมุมที่ว่ารัฐเสียเงินมากกว่านี้มหาศาล ในหลายโครงการเพื่อช่วยเหลือเศรษฐกิจสังคมในรูปแบบ Subsidize ประสบความสำเร็จบ้างไม่ประสบบ้าง  การลงทุนกับฟุตบอลโลกน่าจะทำกำไรให้รัฐได้จากช่องทางหลากหลายอย่างคาดไม่ถึง 

ฟุตบอลโลกเป็นกีฬาที่แปลกกว่ารายการอื่น มีคนสนใจชมและเชียร์อย่างถล่มทลายเมื่อถึงเวลาของมัน ทั้งที่ก่อนหน้านั้นคนเหล่านี้ไม่สนใจกีฬาเสียด้วยซ้ำ  ไม่จำเป็นต้องรู้เรื่องบอลลีกหรือตัวนักเตะเมื่อถึงเวลาก็คลั่งไคล้ได้     

เหตุผลอีกข้อที่ชัดเจนกว่าผลประโยชน์เป็นตัวเงิน ก็คือการมอบความสุขให้ประชาชน 

เหตุผลที่ทุกรัฐบาลในรอบ 30 ปีมานี้อ้างเพื่อถ่ายทอดสดทุกนัดให้จงได้  ไม่ใช่เป็นแค่การหาเสียงที่เป็นประโยชน์แก่รัฐบาลแต่เพียงอย่างเดียว  แต่เกิดประโยชน์จริงแก่ประชาชนยิ่งสภาพเศรษฐกิจสังคมเป็นแบบนี้

การลืมความทุกข์ไปชั่วคราวสักเดือนหนึ่งก็เป็นสิ่งที่ประชาชนของประเทศต้องการ.