ความเสี่ยงสินบนในภาคธุรกิจไทยมีมากหรือน้อย | บัณฑิต นิจถาวร

ความเสี่ยงสินบนในภาคธุรกิจไทยมีมากหรือน้อย | บัณฑิต นิจถาวร

คอร์รัปชันเป็นปัญหาใหญ่บ้านเรา ล่าสุด Trace International ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาสังคมในสหรัฐที่ทํางานด้านการป้องกันการทุจริต การปฏิบัติตามระเบียบ และธรรมาภิบาล ได้จัดประเทศไทยอยู่ระดับกลางในแง่ความเสี่ยงต่อการรับจ่ายสินบนในการทำธุรกิจ คือมีความเสี่ยง

และประเทศไทยตอนนี้สู้หลายประเทศในภูมิภาคไม่ได้ในเรื่อง การต่อต้านการทุจริต นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้

คอร์รัปชัน เป็นปัญหาใหญ่ของประเทศเรา เป็นปัญหาที่แต่ละปีมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นๆ ดัชนี CPI หรือ Corruption Perception Index โดย องค์กรความโปร่งใสระหว่างประเทศ ชี้ว่า ปีก่อนหน้าคอร์รัปชันในบ้านเราวัดจากคอร์รัปชันในภาครัฐยิ่งแย่ลงอีก

ไทยอยู่อันดับ 110 เพิ่มขึ้นห้าอันดับจากอันดับ 105  ปีที่แล้วจากทั้งหมด 180 ประเทศ คืออันดับยิ่งมากยิ่งแย่ ขณะที่คะแนนคอร์รัปชันที่ประเทศได้ลดลงหนึ่งคะเเนนจากปีก่อนหน้าเหลือ 35 จากคะแนนเต็มร้อย 

นี่คือสถานการณ์คอรัปชันประเทศเราในสายตาต่างประเทศ ซึ่งไม่ดีเลยและนับวันจะเสียหายมากขึ้น

ข้อมูล CPI ให้ภาพการรับรู้ปัญหาคอรัปชันของประเทศพิจารณาจากคอร์รัปชันในภาครัฐ คือการทุจริตที่เกิดจากการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐในการทําหน้าที่

ซึ่งก็คือ นักการเมือง นายหน้านักการเมือง ข้าราชการและลูกจ้างภาครัฐ ประเมินโดยนักวิเคราะห์และนักลงทุนต่างประเทศ

แต่ดัชนี Trace Bribery Risk Matrix (TBRM) ที่จะพูดถึงวันนี้ วัดความเสี่ยงที่จะเกิดจากการจ่ายหรือถูกเรียกให้จ่ายสินบนหรือเงินใต้โต๊ะ หรืออามิสสินจ้างในการทําธุรกิจในประเทศไทย

พิจารณาจากข้อมูลสาธารณะและความเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องคือนักธุรกิจที่ทำธุรกิจในประเทศไทย ทั้งการทําธุรกิจกับภาครัฐ คือ บีทูจี และการทําธุรกิจระหว่างบริษัทเอกชนด้วยกัน คือ บีทูบี เป็นข้อมูลที่จะช่วยเสริมและสนับสนุนความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์คอร์รัปชันของประเทศได้ดีขึ้น

ความเสี่ยงสินบนในภาคธุรกิจไทยมีมากหรือน้อย | บัณฑิต นิจถาวร

Trace Bribery Risk Matrix เป็นงานของ Trace International ซึ่งเป็นมูลนิธิภาคประชาสังคมในสหรัฐ ทำงานเกี่ยวกับระบบงานต่อต้านการทุจริต การปฏิบัติตามระเบียบ (Compliance) และธรรมาภิบาลสําหรับบริษัทเอกชน

ได้จัดทำ ดัชนี TBRM ตั้งแต่ปี 2014 เพื่อให้ข้อมูลบริษัทสหรัฐที่จะไปทำธุรกิจในต่างประเทศเกี่ยวกับความเสี่ยงที่จะเกิดการเรียกร้องให้จ่ายสินบนในการทําธุรกิจในประเทศต่างๆ ทั้งหมด 194 ประเทศ

ซึ่งสำคัญมากเพราะสหรัฐมีกฎหมายต่อต้านคอร์รัปชันที่เข้มมาก ที่ถือว่าการให้สินบนในการทำธุรกิจเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายและมีบทลงโทษรุนแรง

ดัชนีความเสี่ยงในการรับจ่ายสินบน ประกอบด้วย 4 องค์ประกอบ

1.การติดต่อกับภาครัฐในการทําธุรกิจ เพื่อประเมินโอกาสที่จะเกิดการให้หรือเรียกให้จ่ายสินบน พิจารณาจากความบ่อยครั้งที่ต้องติดต่อเจ้าหน้าที่รัฐ การคาดหวังให้จ่ายสินบนหรือมีค่านํ้าร้อนน้ำชา และภาระที่เกิดจากกฎเกณฑ์และระเบียบของราชการและการปฏิบัติใช้กฎเกณฑ์เหล่านี้ที่อาจนำไปสู่การให้สินบน

2.ระบบการป้องปรามการทุจริตคอร์รัปชันที่ประเทศมีและการนำไปใช้จริง โดยให้ความสำคัญกับ ความจริงจังในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันของหน่วยงานรัฐ และจิตสำนึกของสังคมในเรื่องการทุจริตคอร์รัปชัน ว่าจริงจังที่จะต่อต้านหรือมักปล่อยวาง

3.ความโปร่งใส คือ ความโปร่งใสในการทําหน้าที่ของหน่วยงานรัฐ รวมถึงความสนใจและความพร้อมของเจ้าหน้าที่รัฐที่จะทำหน้าที่อย่างโปร่งใสและพร้อมให้ตรวจสอบ

4.สมรรถภาพของภาคประชาชนที่จะตรวจสอบการทําหน้าที่ของภาครัฐ (Oversight) ซึ่งประกอบด้วย บทบาทสื่อมวลชนของประเทศที่จะทำหน้าที่อย่างอิสระ มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และคุณภาพขององค์กรภาคประชาสังคมในประเทศที่จะติดตามตรวจสอบภาครัฐ พิจารณาทั้งจากคุณภาพของบุคลากร การมีส่วนร่วมของประชาชน และการจัดตั้ง

นี่คือสี่องค์ประกอบของดัชนี TBRM ซึ่งน่าสนใจและครอบคลุมประเด็นสําคัญได้ดี ส่วนข้อมูลที่นํามาใช้จัดทําดัชนีก็มาจากข้อมูลสาธารณะและการสัมภาษณ์ผู้ที่เกี่ยวข้องคือนักธุรกิจที่ทําธุรกิจอยู่

ความเสี่ยงสินบนในภาคธุรกิจไทยมีมากหรือน้อย | บัณฑิต นิจถาวร

ข้อมูล TBRM ปี 2022 ประเทศที่มีความเสี่ยงการรับจ่ายสินบนตํ่ามากสุดในการทําธุรกิจสิบประเทศแรกคือ

  • นอร์เวย์
  • นิวซีแลนด์
  • สวีเดน
  • สวิตเซอร์แลนด์
  • เดนมาร์ก
  • สหราชอาณาจักร
  • ออสเตรเลีย
  • ฟินแลนด์
  • ญี่ปุ่น
  • แคนาดา

สังเกตได้ว่ารายชื่อประเทศส่วนใหญ่จะคล้ายกับรายชื่อประเทศในดัชนี CPI ที่ได้คะแนนสูงสุด คือมีภาพลักษณ์คอร์รัปชันต่ำสุด เช่น เดนมาร์ก นิวซีแลนด์ ฟินแลนด์ สวีเดน นอร์เวย์ สวิตเซอร์แลนด์

ที่หลุดไปคือได้คะแนนสูงในดัชนี CPI แต่ไม่ติดท็อปเทนในดัชนี TBRM ก็เช่น สิงคโปร์ เนเธอร์แลนด์ และเยอรมนี ชี้ว่ายังอาจมีช่องว่างระหว่างภาพลักษณ์คอร์รัปชันในความเห็นของนักวิเคราะห์นักลงทุนกับสิ่งที่นักธุรกิจพบจริงในการทําธุรกิจ

ส่วนประเทศไทยอยู่อันดับ 85 อันดับกลางๆ ของตาราง TBRM ถือเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงการรับจ่ายสินบนระดับปานกลาง คือ มีความเสี่ยงอย่างมีนัยสําคัญ

อย่างไรก็ตาม ถึงจะอยู่ระดับปานกลางแต่ความเสี่ยงการรับจ่ายสินบนที่การทำธุรกิจที่ประเทศไทยมีก็ยังสูงกว่าอีกหลายประเทศในเอเชียและอาเซียน คือ ตามหลัง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ไต้หวัน ฮ่องกง ภูฐาน อินโดนีเซีย และ มาเลเซีย

ชี้ถึงช่องว่างที่ประเทศอื่นขณะนี้ทำได้ดีกว่าเรามากในการลดความเสี่ยงการทุจริตคอร์รัปชัน แม้ความเสี่ยงของเราในประเด็นนี้จะต่ำกว่า บรูไน ฟิลิปปินส์ เวียดนาม เมียนมา ลาว และ เขมร

ความเสี่ยงสินบนในภาคธุรกิจไทยมีมากหรือน้อย | บัณฑิต นิจถาวร

ต่อคําถามว่า ที่เกาหลีใต้ ไต้หวัน และอีกสามประเทศในอาเซียนคือ สิงคโปร์ อินโดนีเซียและมาเลเซีย มีคะแนนความเสี่ยงการรับจ่ายสินบนในการทําธุรกิจตํ่ากว่าประเทศไทยนั้น ประเทศเหล่านี้ดีกว่าเราในประเด็นไหน

ซึ่งชัดเจนจากข้อมูลว่า ประเด็นที่ประเทศไทยอ่อนแอที่สุดคืออ่อนแอกว่าทั้งห้าประเทศนี้ คือเรื่องความโปร่งใสและความพร้อมให้ตรวจสอบ

อีกประเด็นที่เราอ่อนสุดเมื่อเปรียบเทียบกับอีกห้าประเทศคือ บทบาทของภาคประชาสังคม ที่จะทำหน้าที่ตรวจสอบการทำหน้าที่ของภาครัฐ

ส่วนที่อ่อนแอมากและบางประเทศก็มีปัญหาเหมือนกันคือ ระบบการป้องปรามการทุจริตและการนําไปปฏิบัติใช้

ผมคิดว่าข้อมูล TBRM มีประโยชน์และยํ้าชัดเจนว่าคอร์รัปชันเป็นประเด็นที่ประเทศเราอ่อนแอมากในสายตานักธุรกิจต่างประเทศ ปัญหาหลักอยู่ที่คอร์รัปชันในภาครัฐที่นับวันจะเลวร้ายมากขึ้น

ขณะเดียวกันข้อมูลก็ชี้ว่าการแก้ปัญหาอย่างจริงจังสามารถทำให้ความรุนแรงของปัญหาคอร์รัปชันลดทอนได้ ตัวอย่างเช่น อินโดนีเซีย ซึ่งจะมีผลอย่างมากต่อเศรษฐกิจและภาพลักษณ์ของประเทศ.

ความเสี่ยงสินบนในภาคธุรกิจไทยมีมากหรือน้อย | บัณฑิต นิจถาวร

คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์บัณฑิต

ดร.บัณฑิต นิจถาวร

ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

[email protected]