ผู้ตรวจฯ 3 ประเทศลงนาม “ปฏิญญากรุงเทพฯ” สร้างความเป็นธรรมแก่อาเซียน

ผู้ตรวจฯ 3 ประเทศลงนาม “ปฏิญญากรุงเทพฯ” สร้างความเป็นธรรมแก่อาเซียน

ผู้ตรวจการแผ่นดิน 3 ประเทศ ไทย-อินโดฯ-ฟิลิปปินส์ ลงนามรับรอง “ปฏิญญากรุงเทพฯ” ขยายความร่วมมือ สร้างความเป็นธรรมทั้งภายใน-นอกภูมิภาคอาเซียน พร้อมทำข้อตกลงทวิภาคีติมอร์ฯ ยกระดับคุ้มครองสิทธิ ส่งต่อตำแหน่งประธาน SEAOF ให้อินโดนีเซียต่อ

เมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2565 ที่โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ เซ็นทรัล พลาซา กทม. ผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งราชอาณาจักรไทย ร่วมกับผู้ตรวจการแผ่นดินอีก 2 ประเทศ คือ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ร่วมลงนามรับรองในปฏิญญากรุงเทพฯ (SEAOF BANGKOK DECLARATION) พร้อมย้ำเจตนารมณ์มุ่งมั่นสร้างความเป็นธรรมทั้งในและนอกอาเซียนอย่างเท่าเทียม 

นอกจากนี้ ผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งราชอาณาจักรไทย ยังลงนามข้อตกลงความร่วมมือแบบทวิภาคีกับผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อสิทธิมนุษยชนและความยุติธรรมแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเต ยกระดับการคุ้มครองสิทธิและแก้ไขความความร่วมมือพัฒนากลไกในการคุ้มครองสิทธิ มุ่งแก้ไขความทุกข์ร้อนของประชาชนนอกภูมิภาคอาเซียน พร้อมส่งมอบตำแหน่งประธาน SEAOF ให้แก่ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ดำรงตำแหน่งประธาน SEAOF คนต่อไป

นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งราชอาณาจักรไทย และในฐานะประธาน SEAOF กล่าวว่า การลงนามข้อตกลงความร่วมมือแบบทวิภาคีกับผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อสิทธิมนุษยชนและความยุติธรรมแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเต สืบเนื่องมาจากความเห็นชอบของประเทศสมาชิกที่เล็งเห็นความสำคัญของการขยายขอบเขตความร่วมมือและการเพิ่มจำนวนสมาชิกในการมุ่งความร่วมมือที่เปิดกว้าง ไม่ปิดกั้น แม้ว่าสถาบันหรือองค์กรต่างๆ นั้น จะไม่ได้มีที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือไม่มีชื่อเรียกว่าเป็นองค์กรผู้ตรวจการแผ่นดินก็ตามเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งและความมั่นคงให้แก่ SEAOF โดยวันนี้ได้ลงนามกับ นางเจซุยนา มาริอา เฟอร์เรรา โกเมซ ( Jesuina Maria Ferreira Gomes, PDHJ) ผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อสิทธิมนุษยชนและความยุติธรรมแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเต โดยเน้นกรอบความร่วมมือเพื่อพัฒนาและบูรณาการกลไกการจัดการเรื่องร้องเรียนระหว่างทั้งสององค์กร เพิ่มขีดความสามารถของทั้งสององค์กรในกระบวนการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนที่มีความซับซ้อนด้วยการบูรณาการเชิงนโยบายของภาครัฐ ตลอดจนแลกเปลี่ยนด้านวิชาการระหว่างกันเพื่อนำไปสู่การยกระดับแก้ไขเยียวยาความเดือดร้อนของประชาชนของทั้งสองประเทศได้อย่างเป็นธรรมและทั่วถึงยิ่งขึ้น

หลังจากนั้น เป็นพิธีส่งมอบตำแหน่งประธาน SEAOF โดยประธานผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งราชอาณาจักรไทย ได้ส่งมอบตำแหน่งให้แก่นายโมฮัมหมัด นาจิห์ (Mr. Mokhammad Najih) ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ดำรงตำแหน่งในวาระต่อไปโดยมีระยะเวลาดำรงตำแหน่ง 2 ปี จากนั้น ผู้ตรวจการแผ่นดินทั้ง 3 ประเทศ ประกอบด้วย ผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งราชอาณาจักรไทย ผู้ตรวจการแผ่นดินสาธารณรัฐอินโดนีเซีย และผู้แทนผู้ตรวจการแผ่นดินสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ร่วมกันลงนามในประกาศปฏิญญากรุงเทพ 2022 (SEAOF Bangkok Declaration 2022) พร้อมแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนย้ำเจตนารมณ์ มุ่งมั่นเพิ่มศักยภาพในการจัดการเรื่องร้องเรียน ปกป้องคุ้มครองพลเมืองของประเทศสมาชิก และร่วมกันพัฒนากลไกสร้างความเป็นธรรมและภายในและนอกภูมิภาคอาเซียนอย่างเข้มแข็งต่อไป

โดยเวทีผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (South East Asian Ombudsman Forum: (SEAOF)) นั้น หวังขยายขอบเขตการดำเนินงานให้ครอบคลุมองค์กรผู้ตรวจการแผ่นดินหรือองค์กรจัดการเรื่องร้องเรียนในภูมิภาคที่อาจสนใจเข้าร่วมเป็นสมาชิกในอนาคต แต่ไม่ได้เป็นประเทศสมาชิกอาเซียน เช่น ผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งสาธารณรัฐติมอร์-เลสเต อีกทั้งยังเป็นการแสดงถึงจุดยืนขององค์กรผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งมิได้มุ่งให้ความเป็นธรรมหรือดูแลเฉพาะประชาชนทุกคนที่พำนักในประเทศตนเองเท่านั้น แต่ยังรวมถึงประชาชนของตนที่พำนักในประเทศสมาชิกอื่นด้วย เป็นการดูแลซึ่งกันและกัน 

โดยปัจจุบันองค์กรที่มีหน้าที่ดูแลตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐนั้นอาจจะมีรายละเอียดอำนาจตามกฎหมายแตกต่างกันไปตามบริบทของแต่ละประเทศ ดังนั้น จึงต้องให้ความสำคัญกับการบูรณาการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ถึงการพัฒนาขีดความสามารถในการปฏิบัติภารกิจตามกฎหมายของสมาชิก การจัดกิจกรรมเชิงวิชาการควบคู่กับการแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพ การประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการใช้อำนาจรัฐ การศึกษาเชิงระบบในประเด็นที่มีผลกระทบต่อส่วนรวมในระดับภูมิภาคแล้วนำผลการศึกษาเชิงระบบไปพิจารณาจัดทำข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานรัฐในภาพรวม เพื่อยกระดับกระบวนการให้บริการภาครัฐของประเทศสมาชิกให้มีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนหรือประโยชน์สาธารณะอย่างแท้จริง