คณะเทคนิคการแพทย์ ม.มหิดล นำร่องใช้แอปฯ CANDEE สร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวก

คณะเทคนิคการแพทย์ ม.มหิดล นำร่องใช้แอปฯ CANDEE สร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวก

คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล นำร่องเปิดตัวใช้งานแอปพลิเคชัน CANDEE แพลตฟอร์มบันทึกความดีและสุขภาพ มุ่งสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้สังคม

21 ตุลาคม 2565 แอปพลิเคชัน CANDEE แพลตฟอร์มบันทึกความดีและสุขภาพ ภายใต้การร่วมมือระหว่าง บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท บิทคับ บล็อคเชน เทคโนโลยี จำกัด และคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล นำร่องเปิดตัวใช้งานแอปพลิเคชัน CANDEE กับบุคลากรคณะเทคนิคการแพทย์

เทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) เป็นเทคโนโลยีที่เข้ามาขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมโลก ตอบโจทย์การใช้ชีวิตในยุคดิจิทัล ซึ่งได้รับความสนใจและทําการศึกษากันอย่างกว้างขวางทั้งในประเทศและต่างประเทศ นอกจากนี้ ยังมีส่วนในการสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้กับสังคมและคอมมูนิตี้ในปัจจุบัน

คณะเทคนิคการแพทย์ ม.มหิดล นำร่องใช้แอปฯ CANDEE สร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวก

CANDEE คือ แอปพลิเคชันบันทึกและสะสมกิจกรรมการทำความดีและกิจกรรมเพื่อสุขภาพของบุคลากร ภายใต้แนวคิด ธนาคารเวลา (Time Banking) โดยจะทำหน้าที่เหมือนกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อสะสม Token ซึ่งเกิดขึ้นจากชั่วโมงเวลาของผู้ใช้งานในการช่วยเหลือสังคมและดูแลสุขภาพตนเอง ผ่านโทเคนทั้งหมด 4 แบบ ได้แก่ โซเชียลโทเคน (Social Token) คอมปะนีโทเคน (Company Token) ฟิตโทเคน (Fit Token) และฮาร์ทโทเคน (Heart Token) ที่ริเริ่มโดย บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากพนักงานฮอนด้าและผู้บริหาร ส่งผลให้พนักงานหันมาใส่ใจกิจกรรมเพื่อสังคมและการดูแลสุขภาพมากขึ้น 

สำหรับการเปิดตัวใช้งานแอปพลิเคชัน CANDEE ในครั้งนี้ จะเริ่มจากฟีเจอร์นับก้าวและดูแลสุขภาพ รวมถึงฟีเจอร์อื่นๆ กับบุคลากรของ คณะเทคนิคการแพทย์ จำนวน 300 ราย ซึ่งได้รับความสนใจจากพนักงานเป็นจำนวนมาก รวมถึงมีแผนสร้างและขยายคอมมูนิตี้ของ CANDEE ให้ใหญ่ขึ้นอีกด้วย

คณะเทคนิคการแพทย์ ม.มหิดล นำร่องใช้แอปฯ CANDEE สร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวก

กิจกรรมในครั้งนี้ เป็นกิจกรรมที่อยู่ภายใต้โครงการ "สุขภาพดี มีความสุขแบบองค์รวม (MUMT Happy Organization) ปีที่ 4" ของคณะฯ ซึ่งเป็นโครงการที่เสริมสร้างการมีสุขภาวะที่ดีแบบองค์รวม ทั้งด้านร่างกายและจิตใจให้กับบุคลากร อีกทั้งยังสร้างแรงจูงใจและความสัมพันธ์อันดีระหว่างบุคลากรภายในคณะฯ รวมถึงสร้างบรรยากาศและวัฒนธรรมการมีส่วนร่วมให้กับบุคลากรอันจะนำไปสู่การเป็นองค์กรแห่งความสุข สามารถปฏิบัติงานภายในคณะฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

ทั้งนี้ การริเริ่มประยุกต์ใช้ฟีเจอร์ในครั้งนี้ ถือเป็นการย้ำเจตนารมณ์ในการยกระดับสุขภาพที่ดีให้กับประชาชน ด้วยนวัตกรรมการสร้างเสริมสุขภาพ เพื่อเป้าหมายในการขยายสังคมแห่งการทำความดี และการสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้กับสังคม