พายุไต้ฝุ่น "โนรู" จะเข้าไทยหรือไม่ ที่นี่มีคำตอบ

พายุไต้ฝุ่น "โนรู" จะเข้าไทยหรือไม่ ที่นี่มีคำตอบ

สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) พายุไต้ฝุ่น "โนรู" จะเข้าไทย เช้าวันที่ 29 ก.ย. ทางตอนบนของจังหวัดอุบลราชธานี ส่งผลให้มีฝนตกเพิ่มในลุ่มน้ำชี-มูล เขาใหญ่ และภาคตะวันออก

ดร.สุทัศน์ วีสกุล ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือสสน. กล่าวว่า ขณะนี้พายุไต้ฝุ่น “โนรู” อยู่ในทะเลจีนใต้ มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 140 กิโลเมตร/ชั่วโมง เป็นไต้ฝุ่นกำลังแรง 2-3 ทิศทางเคลื่อนที่ตะวันตก โดยจะทวีกำลังแรงขึ้นแน่นอนก่อนเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามเนื่องจากทะเลจีนใต้มีสภาพอุ่น อุณหภูมิ 29-30 องศาเซลเซียส ระหว่างเคลื่อนที่ผ่านจึงดึงไอน้ำจากทะเลเข้าสู่พายุทำให้มีพลังงานมากขึ้น คาดว่า จะขึ้นฝั่งเวียดนามคืนวันที่ 28 ก.ย. ช้ากว่าการคาดการณ์เดิม 6-7 ชั่วโมง เมื่อขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามจะอ่อนกำลังลง แล้วเคลื่อนผ่านประเทศลาว จากนั้นเข้าสู่ไทยเช้าวันที่ 29 ก.ย. ทางตอนบนของจังหวัดอุบลราชธานี

พายุไต้ฝุ่น \"โนรู\" จะเข้าไทยหรือไม่ ที่นี่มีคำตอบ

พายุ “โนรู” จะมีอิทธิพลให้ฝนตกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตั้งแต่เข้าสู่เวียดนาม เมื่อเข้าสู่ประเทศไทยจะอ่อนกำลังลง แต่จะส่งผลให้มีฝนตกหนักในลุ่มน้ำชี-มูล ซึ่งโดยส่วนใหญ่เป็นบริเวณตอนล่างของภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งอยู่แนวด้านล่างของพายุ ส่วนด้านบนมีอากาศแห้งมาปะทะทำให้ฝนน้อยกว่า แต่จะมีลมแรง

จากการประมวลผลจากแบบจำลองคาดว่า พายุจะเคลื่อนที่ตามร่องมรสุมซึ่งพาดผ่านประเทศไทยอยู่ในขณะนี้ พายุมีกำลังแรงกว่าร่องมรสุม จะดึงร่องมรสุมขยับขึ้นเหนือตามพายุ ส่งผลให้ฝนตกเพิ่ม โดยเฉพาะที่จังหวัดเพชรบูรณ์ซึ่งเป็นต้นน้ำของลุ่มน้ำป่าสัก แนวเขาใหญ่ภาคตะวันออก

พายุไต้ฝุ่น \"โนรู\" จะเข้าไทยหรือไม่ ที่นี่มีคำตอบ

ดร. สุทัศน์ กล่าวว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ พื้นที่ที่จะมีฝนตกจากอิทธิพลของพายุ มีปริมาณน้ำต้นทุนในพื้นที่มากอยู่แล้ว เมื่อมีน้ำจากฝนที่ตกเพิ่มมาเติม อาจทำให้ระดับน้ำหลายพื้นที่อยู่ในเกณฑ์วิกฤติได้ โดยสสน. จะทำงานร่วมกันกับทุกหน่วยงานที่ศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนืออยู่ที่จังหวัดอุบลราชธานี ส่วนภาคกลางอยู่ที่ชัยนาท ก่อนหน้านี้ได้ร่วมกันวางมาตรการรับสถานการณ์ ทั้งการเร่งพร่องน้ำและเตรียมการระบายน้ำ แต่ยังต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดสำหรับกำหนดแนวทางบริหารจัดการเพิ่มเติมเพื่อบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นให้มากที่สุด