อยากรู้อยากเห็น หรือ สนใจใคร่รู้ | พสุ เดชะรินทร์

อยากรู้อยากเห็น หรือ สนใจใคร่รู้ | พสุ เดชะรินทร์

การสำรวจในต่างประเทศเริ่มพบว่า คุณสมบัติสำคัญประการหนึ่งของผู้บริหารในยุคการเปลี่ยนแปลง คือการมี Curiosity อย่างไรก็ดีพอแปลเป็นภาษาไทย คำว่า Curiosity สามารถให้ความหมายได้ทั้งในเชิงบวกและลบ    

บางตำราคำว่า Curiosity จะหมายถึงความอยากรู้อยากเห็น หรือ บางแห่งก็ถึงขั้นแปลว่า ความสอดรู้สอดเห็น ซึ่งในความหมายข้างต้นก็ไม่ใช่ความหมายในเชิงคุณสมบัติที่สำคัญที่ผู้นำควรจะมี เลยขอลองใช้คำว่า สนใจใคร่รู้ แทน

    นอกเหนือจากความสนใจใคร่รู้ (Curiosity) แล้ว คุณสมบัติที่สำคัญอื่นของผู้นำในยุคของการเปลี่ยนแปลง ยังประกอบด้วย ความสามารถในการปรับตัว (Adaptability) ความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) และการทำงานภายใต้ความไม่แน่นอน

 มีงานศึกษาที่พบว่าผู้นำที่มีความสนใจใคร่รู้ มักจะมีโอกาสเป็นผู้นำที่ประสบความสำเร็จ มีการพบว่าความสนใจใคร่รู้ (ทั้งของผู้นำและบุคลากรในองค์กร) ส่งผลต่อผลการดำเนินงานขององค์กร

ซึ่งเชื่อว่าสำหรับหลายๆ ท่านแล้ว อาจจะไม่เคยคิดมาก่อนว่าความสนใจใคร่รู้จะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ทั้งผู้นำและองค์กรประสบความสำเร็จ อย่างไรก็ดีเมื่อพิจารณาจากความเร็วและรุนแรงของการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในปัจจุบัน ความสนใจใคร่รู้ จะช่วยให้ทั้งผู้นำและพนักงานสามารถปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วขึ้น


    ถ้าย้อนกลับไปในอดีต จะพบว่าสิ่งประดิษฐ์หรือนวัตกรรมที่สำคัญของโลกก็ล้วนแล้วแต่เกิดจากความสนใจใคร่รู้ของมนุษย์ทั้งสิ้น มีงานศึกษาที่พบว่าเมื่อคนเกิดความสนใจใคร่รู้ จะทำให้บุคคลผู้นั้นคิดได้ลึกขึ้นและมีเหตุผลมากขึ้น

พร้อมทั้งสามารถมีคำตอบที่สร้างสรรค์สำหรับปัญหาหรือการตัดสินใจที่เกิดขึ้น ส่วนตัวผู้นำที่สนใจใคร่รู้ ยังทำให้พนักงานเกิดความเชื่อถือ ความไว้วางใจ และมีความสัมพันธ์ในการทำงานร่วมกันที่ดี
    

อย่างไรก็ดีต้องแยกความแตกต่างระหว่างผู้นำที่อยากรู้อยากเห็น กับผู้นำที่สนใจใคร่รู้ให้ออก คำว่า Curiosity นั้นพอจะแปลได้ว่าความปราถนาที่จะรู้

แต่ถ้าเป็นผู้นำที่ปราถนาอยากรู้เรื่องของลูกน้องหรือบุคคลอื่นตลอดเวลา เป็นผู้นำที่นอกจากสอดรู้สอดเห็นเรื่องของลูกน้องแล้ว ยังมักจะเป็นผู้นำที่มีสไตล์การบริหารที่ชอบลงรายละเอียด ต้องการที่จะรู้ในทุกสิ่งทุกอย่างที่ลูกน้องทำ หรือ ที่เรียกว่า Micromana
  

 แต่ผู้นำที่มีความสนใจใคร่รู้ จะเป็นผู้นำที่มีความปราถนาอยากจะเรียนรู้ในสิ่งต่างๆ เป็นบุคคลที่มองไปข้างหน้า มองหาไอเดีย ประสบการณ์ โอกาสและวิธีการใหม่ๆ ในการทำงานให้ดีขึ้น

ผู้นำที่สนใจใคร่รู้ จะเป็นผู้ที่ชอบเสาะแสวงหาคำตอบต่อคำถามหรือข้อสงสัยที่เกิดขึ้น จะเป็นผู้ที่รู้จักตั้งคำถามที่เหมาะสม เพื่อกระตุ้นให้เกิดการแสวงหาคำตอบใหม่ๆ

ขณะเดียวกันก็เป็นผู้ที่มีจิตใจเปิดกว้าง ยอมรับในสิ่งที่ตนเองไม่ทราบ พร้อมและยอมรับต่อความคิดและประสบการณ์ใหม่ๆ เปรียบเสมือนกับโทรศัพท์มือถือที่จะต้องมีการอัพเดตซอฟแวร์ตัวเองอยู่ตลอดเวลา
  

 ความสนใจใคร่รู้ ไม่ใช่ทักษะหรือความสามารถที่จะเกิดขึ้นจากการอบรมหรือการพัฒนาได้ แต่จะเป็นทัศนคติ มุมมอง หรือ อุปนิสัยที่มีต่อโลกภายนอก และผู้นำที่มีความสนใจใคร่รู้สูง จะสามารถปลูกฝังทัศนคติและมุมมองในเรื่องดังกล่าวให้กับพนักงานในระดับต่างๆ ได้ และนำไปสู่การสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่มีการเรียนรู้ และการแสวงหาในสิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา
    

สำหรับพนักงานหรือบุคคลทั่วไป ความสนใจใคร่รู้นั้นจะช่วยให้พนักงานมีความสนุกและผูกพันกับการทำงานมากขึ้น มีงานวิจัยที่พบว่าความสนใจใคร่รู้ของคน สามารถพยากรณ์ความสำเร็จในการเรียนได้ เมื่อมีความสนใจใคร่รู้ในเรื่องราวใด ก็จะทำให้สามารถจดจำข้อมูลที่เกี่ยวข้องในเรื่องดังกล่าวได้ดีกว่าการเรียนรู้โดยขาดความสนใจใคร่รู้ 
    

ยังพบอีกว่าผู้ที่มีความสนใจใคร่รู้ จะเป็นผู้ที่เปิดใจยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นที่แตกต่างจากของตน ไม่ตกเป็นเหยื่อของการรับรู้ที่ผิดพลาดต่างๆ และทำให้สามารถหาทางเลือกที่หลากหลายขึ้นสำหรับปัญหาที่เผชิญอยู่ และยังพบว่าความสนใจใคร่รู้มีความสัมพันธ์กับผลการทำงานที่ดีขึ้นของพนักงานด้วย
    

ความสนใจใคร่รู้ของทั้งผู้นำและพนักงานเป็นสิ่งที่ดีและควรสนับสนุนให้เกิดขึ้น จนสามารถกลายเป็นวัฒนธรรมหรือทัศนคติที่สำคัญภายในองค์กร คำถามสำคัญคือตัวท่านเองเป็นผู้ที่มีความสนใจใคร่รู้หรือไม่? และส่งเสริมสนับสนุนให้พนักงานของท่านมีความสนใจใคร่รู้ด้วยหรือยัง? 
คอลัมน์ มองมุมใหม่ 
รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์
คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
[email protected]