สถานการณ์น้ำท่วม ภาคอีสาน กรมชลประทาน เดินหน้าช่วยเหลือประชาชน

สถานการณ์น้ำท่วม ภาคอีสาน กรมชลประทาน เดินหน้าช่วยเหลือประชาชน

จากสถานการณ์ฝนที่ตกชุกกระจายบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่งผลให้มีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำหลายแห่ง กรมชลประทาน สั่งการสำนักเครื่องจักรกล และโครงการชลประทานในพื้นที่ เข้าไปช่วยเหลือประชาชนให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด จนกว่าจะสิ้นสุดฤดูฝน

เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 65 นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ฝนตกชุกต่อเนื่องในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ส่งผลให้ประสบกับปัญหาน้ำท่วมขังและน้ำล้นตลิ่ง รวมถึงในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงได้สั่งการให้สำนักเครื่องจักรกลและโครงการชลประทานในพื้นที่ จัดส่งเครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ และเครื่องผลักดันน้ำ เร่งเข้าไปช่วยเหลือพื้นประสบภัยน้ำท่วม  ดังนี้ 

จังหวัดขอนแก่น ฝนที่ตกชุกหนาแน่น ประกอบกับปริมาณน้ำที่ไหลจากจังหวัดชัยภูมิ ทำให้พื้นที่ลุ่มต่ำและพื้นที่ริมตลิ่งแม่น้ำชี แม่น้ำเชิญ ได้รับผลกระทบน้ำท่วม 2 อำเภอ ได้แก่ อ.ชุมแพ และอ.ภูผาม่าน โครงการชลประทานขอนแก่น ได้บริหารจัดการน้ำในแม่น้ำชี โดยการยกบานระบายน้ำที่เขื่อนชนบทและเขื่อนมหาสารคามขึ้นทุกบาน พร้อมกับเพิ่มการระบายน้ำที่บึงกุดเค้า ให้ไหลไปลงลำน้ำชี ช่วยให้น้ำระบายได้เร็วขึ้น นอกจากนี้ ยังได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติมบริเวณจุดเสี่ยงอีก 6 จุด พร้อมเดินเครื่องสูบน้ำด้วยไฟฟ้าที่ประตูระบายน้ำ D8 (ห้วยพระคือ) อีก 3 เครื่อง เพื่อเร่งระบายน้ำในเขตเทศบาลนครขอนแก่น ลงสู่ลำน้ำพอง ก่อนจะไหลลงสู่แม่น้ำชีตามลำดับ หากไม่มีฝนตกหนักลงมาเพิ่ม สถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติในเร็ววันนี้
 

จังหวัดยโสธร หลังจากมีฝนตกหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่ เป็นเหตุให้ระดับน้ำในแม่น้ำชี ลำน้ำยัง ลำน้ำลำเซบาย และลำน้ำสาขา เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีพื้นที่น้ำท่วมใน 6 อำเภอ ประกอบด้วย อ.เมืองยโสธร อ.มหาชนะชัย อ.ค้อวัง อ.ทรายมูล อ.คำเขื่อนแก้ว และ อ.ป่าติ้ว ปัจจุบันแม่น้ำชีที่สถานีวัดน้ำ E.2A (เหนือเขื่อนยโสธร) อ.เมืองยโสธร ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 0.17 เมตร มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สถานีวัดน้ำ E.97 อ.คำเขื่อนแก้ว ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 0.85 เมตร มีแนวโน้มทรงตัว  และ สถานีวัดน้ำ E.20A (เหนือเขื่อนธาตุน้อย) อ.มหาชนะชัย ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 0.16 เมตร มีแนวโน้มทรงตัว โครงการชลประทานยโสธร ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 2 เครื่อง บริเวณบุ่งน้อย-บุ่งใหญ่ ในเขตเทศบาลเมืองยโสธร และยังจัดเตรียมเครื่องสูบน้ำสำรองไว้อีก 13 เครื่อง รถบรรทุกน้ำ 1 คัน และเครื่องผลักดันน้ำ 12 เครื่อง ที่พร้อมจะเข้าไปช่วยเหลือประชาชนได้อย่างเต็มศักยภาพ 
 

จังหวัดอุบลราชธานี ได้รับผลกระทบจากแม่น้ำมูลเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมบริเวณที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำ และยังมีน้ำจากลำห้วยพับ ลำโดมใหญ่ ลำเซบก เอ่อเข้าท่วมพื้นที่ชุมชนและการเกษตรใน 8 อำเภอ ประกอบด้วย  อ.วารินชำราบ  อ.เดชอุดม อ.นาจะหลวย อ.นาเยีย อ.น้ำยืน อ.ดอนมดแดง อ.ตระการพืชผล และอ.ม่วงสามสิบ ปัจจุบันแม่น้ำชีที่สถานีวัดน้ำ E.98 (ก่อนลงแม่น้ำมูล) บ้านเขื่องใน อ.เขื่องใน ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 0.09 เมตร มีแนวโน้มทรงตัว ส่วนแม่น้ำมูล ที่สถานีวัดน้ำ M.7 สะพานเสรีประชาธิปไตย อ.เมืองอุบลราชธานี ระดับน้ำสูงกว่าตลิ่ง 0.71 เมตร (ระดับตลิ่ง 7.00 เมตร) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โครงการชลประทานอุบลราชธานี ร่วมกับสำนักเครื่องจักรกล ได้ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำในลำน้ำมูล จำนวน 140 เครื่อง บริเวณสะพานพิบูลมังสาหาร เร่งระบายน้ำลงสู่แม่น้ำโขงให้เร็วขึ้น นอกจากนี้ ยังได้เพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนลำโดมใหญ่ ระบายลงสู่แม่น้ำมูลอย่างเต็มศักยภาพ เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำหลากในระยะต่อไป

ทั้งนี้ กรมชลประทาน จะเดินหน้าช่วยเหลือพื้นที่ประสบอุทกภัยทั่วประเทศอย่างเต็มกำลัง จนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ หรือจนกว่าจะสิ้นสุดฤดูฝน จึงขอให้ประชาชนติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำจากหน่วยงานราชการอย่างต่อเนื่อง หากต้องการความช่วยสามารถแจ้งไปยังโครงการชลประทานในพื้นที่ หรือโทร 1460 สายด่วนกรมชลประทานได้ตลอดเวลา