กรมชลฯ เฝ้าระวังทุกพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก-น้ำท่วมขัง 23-29 ก.ย.นี้

กรมชลฯ เฝ้าระวังทุกพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก-น้ำท่วมขัง 23-29 ก.ย.นี้

กรมชลประทาน สั่งทุกพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก-น้ำท่วมขัง ให้เฝ้าระวังและพร้อมรับสถานการณ์ เนื่องจากกรมอุตุฯ คาดระหว่างวันที่ 23-29 ก.ย.65 จะมีฝนตกต่อเนื่องและตกหนักบางแห่ง

เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 65 นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า คณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากหลายหน่วยงานได้แก่ กรมชลประทาน กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักการระบายน้ำกรุงเทพมหานคร การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ประชุมเพื่อติดตามและวิเคราะห์สภาพอากาศ สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ และแม่น้ำสายหลักต่างๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องและเหมาะสมในแต่ละพื้นที่

ทั้งนี้กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ระหว่างวันที่ 20 – 22 ก.ย. แนวร่องมรสุมเลื่อนขึ้นไปพาดผ่านตอนบนของภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ทำให้ประเทศไทยตอนบนยังคงมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกทม.และปริมณฑล และภาคตะวันออก ยังต้องเฝ้าระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม จากนั้นระหว่างวันที่ 23 – 29 ก.ย. ร่องมรสุมจะเลื่อนกลับลงมาพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง และภาคตะวันออก ส่งผลให้ฝนกลับมาเพิ่มขึ้น โดยตกหนักบางแห่ง

นายทวีศักดิ์ กล่าวว่า เป็นห่วงสถานการณ์น้ำใน จ. สุโขทัย ซึ่งลำน้ำยมที่ไหลผ่านตัวเมืองแคบ รับน้ำได้ประมาณ 400 ลบ.ม./วินาที ดังนั้นจึงบริหารจัดการโดยตัดยอดปริมาณน้ำก่อนถึงประตูระบายน้ำ (ปตร.) บ้านหาดสะพานจันทร์ อ. สวรรคโลก จ. สุโขทัย ด้วยการผันน้ำเข้าคลองยมน่านผ่านระบายน้ำผ่านปตร. คลองหกบาท ผันเข้าสู่แม่น้ำยมสายเก่า และระบายลงสู่แม่น้ำยมสายหลัก เพื่อให้น้ำที่ไหลผ่านปตร. บ้านหาดสะพานจันทร์ไม่เกิน 550 ลบ. ม./วินาที พร้อมทั้งควบคุมอัตราการไหลของน้ำที่สถานีวัดน้ำ Y.4 (หน้าจวนผู้ว่าฯ) ไม่ให้เกิน 380 ลบ.ม./วินาที  รวมทั้งพร่องน้ำในแก้มลิงทะเลหลวงผ่านประตูระบายน้ำ DR และผันน้ำเข้าสู่พื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งปากพระและทุ่งยางซ้ายเพื่อไม่ให้ปริมาณน้ำเกิดผลกระทบต่อพื้นที่เศรษฐกิจเมืองสุโขทัย

ส่วนลุ่มน้ำท่าจีนมีฝนตกต่อเนื่องทำให้มีน้ำท่วมขังพื้นที่ลุ่มต่ำบางแห่ง จึงต้องเร่งเดินเครื่องผลักดันน้ำระบายน้ำออกทะเล เพื่อพร่องน้ำและลดผลกระทบต่อชาวนาที่กำลังจะเก็บเกี่ยวข้าว

สำหรับลุ่มเจ้าพระยาได้ระบายผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในเกณฑ์ที่สอดคล้องกับปริมาณน้ำฝน-น้ำท่า ใช้เขื่อนเจ้าพระยาเป็นเครื่องมือในการระบายผ่านลำน้ำหลัก โดยนำน้ำเข้าฝั่งตะวันตกและตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เพื่อไม่ให้น้ำเหนือมีผลกระทบต่อกรุงเทพฯ และปริมณฑล พร้อมกับเร่งระบายออกสู่อ่าวไทยให้เร็วที่สุด

ปัจจุบันอ่างเก็บน้ำของ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยาได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มีปริมาณน้ำรวมกัน 15,136 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 61 ของความจุอ่างฯ สามารถรับน้ำได้อีก 9,735 ล้าน ลบ.ม. 

สำหรับการช่วยเร่งระบายน้ำที่ท่วมขังพื้นที่กรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออก กรมชลประทานได้เสริมศักยภาพการระบายน้ำเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนให้มากที่สุด ตามนโยบายของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ล่าสุดสำนักเครื่องจักรกลและสำนักงานชลประทานที่ 11 ติดตั้งเครื่องสูบน้ำระบบ Hydroflow ขนาด 42 นิ้ว (3.5 ลบ.ม./ วินาที ) เพิ่มเติมอีก 2 จุด ได้แก่ บริเวณประตูน้ำคลอง 19 จำนวน 3 เครื่อง และบริเวณประตูน้ำคลอง 20 อีก 3 เครื่อง คาดว่าจะสามารถเดินเครื่องสูบน้ำได้ในวันนี้(20 ก.ย. 65) พร้อมกันนี้ ยังได้เร่งกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำและขุดลอกคลองเพิ่มเติม ได้แก่ คลองหกวา คลอง 19 คลอง 20 และคลอง 21 เพื่อช่วยเสริมประสิทธิภาพการระบายน้ำให้ระบายลงสู่แม่น้ำบางปะกงและอ่าวไทยได้เร็วยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ยังได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ขนาด 12 นิ้ว (0.3 ลบ.ม./วินาที) จำนวน 2 เครื่อง บริเวณหมู่บ้านฟลอร่าวิวล์ แขวงลำผักชี เขตหนอกจอก กรุงเทพมหานคร เพื่อสูบน้ำระบายน้ำท่วมขังในหมู่บ้านฟลอร่าวิวล์ และติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ขนาด 12 นิ้ว (0.3 ลบ.ม./วินาที) เพิ่มอีก 2 เครื่อง บริเวณ หมู่2 ตำบลบ้านใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ชุมชนให้กลับสู่สภาวะปกติโดยเร็ว ส่วนในพื้นที่จังหวัดนนทบุรี ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 1 เครื่อง ที่บริเวณคลองบ้านกล้วย เทศบาลเมืองบางบัวทอง อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี เพื่อเพิ่มประะสิทธิภาพการระบายน้ำในช่วงฤดูฝนให้ดียิ่งขึ้น

ทั้งนี้ได้กำชับให้โครงการชลประทานทุกพื้นที่ เฝ้าระวังและเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ นำการคาดการณ์สภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา มาวางแผนบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์  พิจารณาปรับการระบายเพื่อรองรับปริมาณฝนที่เพิ่มขึ้น จัดเจ้าหน้าที่ พร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ และเครื่องผลักดัน ประจำจุดพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมขัง ให้สามารถพร้อมใช้งานได้อย่างเต็มกำลัง ที่สำคัญได้เน้นย้ำให้มีการตรวจสอบความพร้อมของอาคารชลประทานและพนังกันน้ำให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ หมั่นกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำอย่างต่อเนื่อง  รวมทั้งขอความร่วมมือหน่วยงานท้องถิ่นในการช่วยกันจำกัดผักตบชวา สิ่งกีดขวางทางน้ำ ในลำคลองสาขาต่างๆ ไม่ให้ไหลลงมาทางน้ำสายหลัก  ตลอดจนบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนสถานการณ์น้ำให้ประชาชนรับทราบอย่างต่อเนื่อง.