ระบบนิเวศเพื่อวิสาหกิจเพื่อสังคม (SE) | อภิวรรณ ดวงภุมเมศ 

ระบบนิเวศเพื่อวิสาหกิจเพื่อสังคม (SE) | อภิวรรณ ดวงภุมเมศ 

ทศวรรษที่ผ่านมา วิสาหกิจเพื่อสังคม หรือ Social Enterprises (SE) ทั่วโลกเติบโตขึ้นอย่างมาก โดยเป็นรูปแบบกิจการที่โดดเด่นในความมุ่งมั่นต่อการแก้ไขปัญหาด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ผนวกกับแนวคิดผู้ประกอบการจากภาคธุรกิจซึ่งช่วยตอบโจทย์ความยั่งยืนของกิจการ

ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่พยายามผลักดันวิสาหกิจเพื่อสังคม ให้มีบทบาทในการพัฒนาสังคมและสร้างความยั่งยืนสู่ท้องถิ่น แม้จะมีบางวิสาหกิจเพื่อสังคมที่ประสบความสำเร็จ แต่วิสาหกิจเพื่อสังคมที่สามารถสร้างกำไรและขยายธุรกิจได้อย่างยั่งยืนยังมีจำนวนน้อย

ทั้งยังประสบความท้าทายในการสร้างผลลัพธ์ทางสังคมและสิ่งแวดล้อมในวงกว้าง เนื่องจากวิสาหกิจเพื่อสังคมส่วนใหญ่มีขนาดเล็กหรืออยู่ในระยะเริ่มต้น ต้องการการสนับสนุนและกลไกการส่งเสริมให้มีความเข้มแข็งในการดำเนินกิจการ

จากการศึกษาบทเรียนความสำเร็จในสหราชอาณาจักรและประเทศอื่นๆ ในทวีปยุโรปที่เป็นผู้นำด้านการพัฒนาวิสาหกิจเพื่อสังคม องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ได้ค้นพบ 5 ประเด็นสำคัญสำหรับเสริมสร้างระบบนิเวศเชิงนโยบายที่เอื้อต่อการเติบโตของวิสาหกิจเพื่อสังคม 

ประการแรก กรอบกฎหมาย (Legal Frameworks) ที่สามารถช่วยให้สังคมเกิดความชัดเจนถึงนิยามความเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม พันธกิจ และกิจกรรมหลักของหน่วยงาน

กรอบกฎหมายยังช่วยให้ผู้ออกนโยบายสามารถสนับสนุนวิสาหกิจเพื่อสังคมได้ในหลากหลายระดับ ช่วยให้หน่วยงานผู้ให้ทุนหรือนักลงทุนเข้าใจประโยชน์จากการสนับสนุนวิสาหกิจเพื่อสังคม 

ประการที่ 2 การเข้าถึงทุนและบริการทางการเงิน (Access to Finance) เป็นปัจจัยสำคัญตลอดทั้งวงจรของการทำวิสาหกิจเพื่อสังคม การสนับสนุนทางการเงินแก่วิสาหกิจเพื่อสังคมสามารถทำได้หลากหลายรูปแบบ

ระบบนิเวศเพื่อวิสาหกิจเพื่อสังคม (SE) | อภิวรรณ ดวงภุมเมศ 

ตั้งแต่การบริจาคเงิน (private donation) การสนับสนุนเงินจากภาครัฐหรือหน่วยงานอื่น ๆ เพื่อลดต้นทุนของการประกอบกิจการ (subsidies) การออกตราสารหนี้ (debt instruments) ไปจนถึงการออกตราสารทุน (equity) และการลงทุนที่หวังผลตอบแทนระยะยาว (patient capital)

นอกจากนี้ ผู้ที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางทางการเงินต่างๆ สามารถเข้ามาช่วยเตรียมความพร้อมรับการลงทุนและช่วยเชื่อมโยงวิสาหกิจเพื่อสังคมเข้ากับนักลงทุน 

ประการที่ 3 การเข้าถึงตลาด (Access to Market) ทั้งตลาดการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ (public market) และตลาดเอกชน (private market) ภาครัฐสามารถสนับสนุนการเข้าถึงตลาดได้หลายวิธีการ

เช่น ส่งเสริมผ่านการจัดซื้อจัดจ้างโดยภาครัฐ (public procurement) ทั้งระดับรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นโดยการให้แต้มต่อหรือเปิดช่องทางให้กับวิสาหกิจเพื่อสังคม รวมถึงสนับสนุนผ่านการจัดซื้อจัดจ้างโดยภาคเอกชน การสร้างแต้มต่อเชิงนโยบายให้วิสาหกิจเพื่อสังคมมีขีดความสามารถในการแข่งขัน เช่นเดียวกับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

รวมถึงการสนับสนุนอย่างเข้าใจความต้องการและบริบทของวิสาหกิจเพื่อสังคมนั้นๆ และส่งเสริมการอบรมความรู้และทักษะด้านการบริหารจัดการให้กับผู้ประกอบการเพื่อสังคม 

4. การสนับสนุนเชิงโครงสร้าง (Support Structures) ตั้งแต่พื้นที่เชื่อมโยง บ่มเพาะหรือขยายธุรกิจ (hubs, accelerators or incubators) การอบรม การโค้ช และการให้คำปรึกษาซึ่งช่วยเสริมสร้างความรู้และทักษะที่จำเป็น ไปจนถึงการสนับสนุนความพร้อมทางการลงทุน ที่ช่วยให้วิสาหกิจเพื่อสังคมเริ่มต้นหรือขยายกิจการได้

 เนื่องจากวิสาหกิจเพื่อสังคมต้องบริหารจัดการทั้งความยั่งยืนทางการเงิน ไปพร้อมกับการสร้างประโยชน์เพื่อสังคม ผู้ออกนโยบายสามารถส่งเสริมได้ทั้งทักษะด้านธุรกิจควบคู่ไปกับสนับสนุนความต้องการอื่นๆ ที่เฉพาะเจาะจงสำหรับวิสาหกิจเพื่อสังคมนั้น ๆ

5. การพัฒนาด้านศึกษาและการเสริมสร้างทักษะ (Education and Skills) ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวผ่านโปรแกรมการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการประกอบการทางสังคม

เปิดโอกาสให้ผู้เรียนพัฒนาไอเดียแก้ไขปัญหาสังคม เรียนรู้กระบวนการสร้างธุรกิจเพื่อสังคม และวางแผนสำหรับการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น

นอกจากนี้ ความร่วมมือระหว่างกลุ่มผู้ประกอบการเพื่อสังคมและสถาบันวิจัย จะช่วยส่งเสริมให้เกิดกระบวนการพัฒนาวิสาหกิจเพื่อสังคมอย่างอ้างอิงบนข้อมูลหลักฐาน สร้างความเข้าใจ และช่วยให้การประกอบวิสาหกิจเพื่อสังคมเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายมากยิ่งขึ้น
 

ประเทศไทยเริ่มมีวิสาหกิจเพื่อสังคมเพิ่มมากขึ้น ทั้งกิจการที่จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมโดยตรง และกิจการในรูปแบบธุรกิจนิติบุคคลแบบอื่นที่สนใจการดำเนินการเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

รวมถึงมูลนิธิหรือองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร (NGO) ก็เริ่มมีความสนใจในรูปแบบวิสาหกิจเพื่อสังคม เพื่อให้การดำเนินงานของตนไม่ต้องพึ่งพาเงินบริจาคอย่างเดียวและมีความยั่งยืนขององค์กรมากขึ้น

อีกทั้งแม้แต่ธุรกิจขนาดใหญ่บางแห่งก็ได้เริ่มเคลื่อนย้ายจากแนวคิดการรับผิดชอบต่อสังคมผ่านโครงการ CSR มาใช้โมเดลวิสาหกิจเพื่อสังคมเพิ่มมากขึ้น 

วิสาหกิจเพื่อสังคมสามารถเป็นเครื่องมือที่มีศักยภาพโดยการเป็นพาร์ทเนอร์สำคัญของภาครัฐเพื่อช่วยบรรลุวัตถุประสงค์เชิงนโยบายทางสังคมและสิ่งแวดล้อม

เช่น วิสาหกิจเพื่อสังคม Buddy HomeCare ที่เชียงใหม่สามารถช่วยแก้ไขปัญหาผู้สูงอายุที่ขาดคนดูแลพร้อมกับการสร้างรายได้และเพิ่มการจ้างงานเด็กที่ขาดโอกาศทางการศึกษา

วิสาหกิจเพื่อสังคม Pla Organic (ปลาออร์แกนิค) ที่ช่วยให้ผู้บริโภคได้อาหารทะเลที่ปลอดสารเคมี ชาวประมงได้ส่วนแบ่งรายได้อย่างเป็นธรรม และส่งเสริมประมงพื้นบ้านแบบอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กัน เป็นต้น 

กลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการประกอบการทางสังคมของคณะกรรมาธิการยุโรป เน้นย้ำถึงความสำคัญของการเสริมสร้างระบบนิเวศเชิงนโยบายที่เหมาะสม จะช่วยให้วิสาหกิจเพื่อสังคมสามารถข้ามผ่านอุปสรรค ดำเนินกิจการเพื่อบรรลุเป้าหมายด้านเศรษฐกิจ และขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม

ประเทศไทยควรเร่งสร้างระบบนิเวศเพื่อรองรับกิจการรูปแบบใหม่ ซึ่งเป็นความหวังในการช่วยแก้ไขปัญหาทางสังคมและสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน.

ระบบนิเวศเพื่อวิสาหกิจเพื่อสังคม (SE) | อภิวรรณ ดวงภุมเมศ 

คอลัมน์ คิดอนาคต

อภิวรรณ ดวงภุมเมศ
สถาบันอนาคตไทยศึกษา (Thailand Future Foundation)