ไอดอลสายดาร์ค เรื่องกากโซเชียล?

ไอดอลสายดาร์ค เรื่องกากโซเชียล?

ได้เวลาของไอดอลสายดาร์ค หรือแค่ความกากไร้สาระของโลกโซเชียล?

ในขณะที่ผู้คนต่างสยองกับพฤติกรรมสุดโหด แต่ทำไมยังกลับมีคนอีกไม่น้อยที่คลั่งไคล้กับรูปร่างหน้าตาของฆาตกรสาว จนเรื่องของเธอถูกแชร์นับร้อยนับพันครั้งในโลกโซเชียล

หนังสือ Why We Love Serial Killers โดย Scott Bonn รองศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาและอาชญวิทยา Drew University ประเทศสหรัฐอเมริกา อ้างอิงผลวิจัยด้านจิตวิทยาซึ่งเชื่อมโยงคำตอบส่วนหนึ่งได้ว่า แม้จะเป็นฆาตกร แต่เพราะพฤติกรรมอันโหดเหี้ยมไม่เหมือนมนุษย์ปกตินี่แหละ ที่ทำให้ใครๆ ก็อยากรู้อยากเห็น และรู้สึกตื่นเต้นที่จะมีส่วนร่วมในการขุดคุ้ยเรื่องราวของพวกเขา 

มันจึงไม่แปลกที่พล็อตเรื่องแบบฆาตกรต่อเนื่องกลายเป็นพล็อตเรื่องหลักในอุตสาหกรรมสื่อภาพยนตร์ตั้งแต่ช่วงปี 1970 กลายเป็นหัวข้อที่ถูกพูดถึงบ่อยๆ ในทุกวงสนทนา ซึ่งสาเหตุหนึ่งก็เพราะว่าการฆ่าเช่นนี้เป็นการแสดงถึงสัญชาตญาณดิบของมนุษย์ ง่ายต่อการผสมเคล้ากันระหว่างเรื่องจริงและเรื่องที่ถูกแต่ง มันจึงเป็นพล็อตที่น่าสนใจไม่ว่าจะผ่านมากี่ปียุคสมัย

 

Bad Beauty สวยเลือกฆ่า

อย่าเพิ่งแปลกใจว่าทำไมฆาตกรสาว ถึงกลายเป็นคนดัง เพราะเรื่องนี้เคยเกิดขึ้นแล้วในต่างประเทศ ซึ่งสาเหตุก็อย่างที่เข้าใจกันว่าเพศกับความรุนแรง คือแรงปรารถนาและสัญชาตญาณดั้งเดิมของมนุษย์ตามธรรมชาติ เพียงแต่ในสถานการณ์ปกติระบบความคิดและการศึกษาสร้างสิ่งที่เรียกว่า "มนุษยธรรม" มาห่อหุ้มไว้ไม่ให้เราเปิดเผยมัน  ดังนั้นถึงเราไม่พอใจใครก็ไม่กล้าวิ่งเข้าไปทำร้าย หรือถ้าเจอเป้าหมายสวยหล่อขนาดไหน ก็ได้แค่ "ละ" เรื่องเพศไว้แค่จิตนาการ นั่นเพราะรู้ดีว่าหากทำอย่างที่คิดไปทั้งหมด ผลลัพธ์ที่ตามมาจะเป็นอย่างไร

"ฆาตกรที่โหดกว่านี้ก็มีนะ แต่เป็นฆาตกรหน้าตาธรรมดาๆ ดูน่ากลัวๆ ตามขนบ ซึ่งคนก็อาจจะเฉยชาไป ดูไม่ค่อยน่าสนใจแล้ว แต่ถ้ามีคนร้ายที่หน้าตาสวย หรือมีเรื่องราวที่ดึงดูดความสนใจ มันก็ทำให้การฆาตกรรมธรรมดาๆ กลายเป็นคนดังได้ ที่สหรัฐอเมริกา เมื่อปี ค.ศ.2008 ได้มีกรณีของเคซีย์ แอนโธนี ซิงเกิลมัม วัย 25 ปี ที่เคยตกเป็นผู้ต้องหาฆาตกรรมลูกน้อยวัย 2 ปี (ภายหลังพ้นโทษ) แต่หน้าตาและไลฟ์สไตล์ที่ดูน่ารัก สวนทางกับข้อกล่าวหา ทำให้ใครๆ ต่างก็สนใจเรื่องราวของเธอ จนลืม "เรื่องหลัก" ซึ่งว่าด้วยการฆาตกรรมไป” เสาวคนธ์ ศิรกิดากร นักจิตวิทยาวิเคราะห์แนวคาร์ล จุง ผู้ก่อตั้งสมาคม จิตวิเคราะห์แนวคาร์ล จุง แห่งประเทศไทย บอก

ผศ.มรรยาท อัครจันทโชติ อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปรียบในเวทีสัมมนา "ฆ่าหรือค่า" สื่อกับดราม่าความรุนแรงในสังคมไทยว่า ตัวละครร้ายมัก มีหลายมุมให้ชวนติดตาม เพราะมีทั้งความโหด ความเซ็กซี่ซึ่งคือเรื่องเพศ เรื่องการหักเหลี่ยมเพื่อน เรื่องยาเสพติด มันจึงเป็นตัวละครที่มีมิติ มากกว่าฆาตกรในคดีอื่นหรือข่าวอื่นๆ ซึ่งมีลักษณะแบนราบ ไม่น่าค้นหาต่อ

 

ไซเบอร์ ที่ลับฉบับสายดาร์ค

ตอนหนึ่งของบทความชื่อ "Net Idol" ในเว็บไซต์ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ อธิบายว่า ยุคหลังอินเทอร์เน็ต มีการเกิดขึ้นของคำใหม่หลายคำที่ได้กลายเป็นคำเรียกสามัญซึ่งเข้าใจตรงกัน

หนึ่งในนั้นคือคำว่า "เน็ต ไอดอล (NET IDOL)" ซึ่งใช้เรียกคน หรือกลุ่มคนผู้มีชื่อเสียงโด่งดังผ่านอินเทอร์เน็ต ที่มีจำนวนคนฟอลโลว์ (Followers) และยอดไลค์ (Like) วิว (View) หรือ ลูป (Loop) สูงมากผิดปกติ มีการแชร์ (Share) และพูดถึงกันอย่างต่อเนื่องภายในระยะเวลาอันสั้น เน็ตไอดอลส่วนใหญ่สร้างชื่อเสียงด้วยตนเอง (Self-Made Celebrity) และเป็นแรงงานกลุ่มใหม่ในอุตสาหกรรมสื่อบันเทิง

โลกเสมือนจริงแห่งนี้ไม่ได้เปิดพื้นที่สำหรับคนสวยหล่อมากความสามารถ ซึ่งใช้สื่อใหม่ทำให้เป็นที่รู้จักเท่านั้น แต่ในที่นี้ยังหมายถึง "สมาชิกสายดาร์ค"ที่หมายถึงคนมีพฤติกรรมแรงๆ ผิดขนบเน็ตไอดอลปกติที่ขายความสวย น่ารักเข้ามาแจ้งเกิดกันอย่างคับคั่ง นับตั้งแต่ความดังของนักเลงดังย่านวัดดาวฯ ท้าต่อยกับแก๊งโอรสได้ถูกจุดขึ้น ผู้สันทัดกรณีในโลกออนไลน์ บอกว่า กรณีการเปิดศึกของนักเลงในโลกโซเชียลคือจุดเริ่มต้นของการพาเหรดเข้ามาของสมาชิกสายดาร์ครายอื่นๆ อาทิ เก่ง ลายพราง, เอมี่ รักผัว, เสี่ยโป้ อานนท์ ฯลฯ ซึ่งการอัพโหลดคลิปแต่ละครั้งมีผู้ชมเป็นจำนวนมาก มียอดติดตาม และยอดแชร์ไม่ต่างจากคนดังพฤติกรรมน่ายกย่อง

 เมื่อพื้นที่ไซเบอร์คือโลกเสมือนที่ปลดปล่อยตัวเองได้มากกว่าโลกจริงที่มีบทบาทหน้าที่การงานมากำกับไว้ ในชีวิตจริงคนธรรมดาไม่มีโอกาสปฏิสัมพันธ์กับคนกลุ่มนี้ ทว่าพื้นที่ไซเบอร์กลับอนุญาต  ขณะเดียวกันคนกลุ่มสายดาร์คมีความ "จริงแท้" มากกว่าดารา หรือเน็ตไอดอลสวยๆ ตั้งแต่การใช้ภาษาบ้านๆ การแสดงความรู้สึกจริงๆ แบบตรงไปตรงมา การแสดงออกเรื่องเพศ ความต้องการ ความรุนแรง ซึ่งชัดเจนต่างจากวิถีสื่อสารในชีวิตปกติ

ไอดอลที่เป็นสายดาร์ค จึงเป็นการตอบสนองของคน "โลกไม่สวย" พอๆ กับที่ความดราม่าคือสิ่งที่ยังขายได้อยู่ร่ำไปในนิสัยอยากรู้อยากเห็นของคน โดยเฉพาะเมื่อถูกจัดวางในสังคมที่ชอบทำอะไรตามกระแส ต้องการสร้างตัวตนให้ผู้อื่นสนใจ ดังนั้นการแชร์อะไรแปลกๆ ห่ามๆ ตามๆ กัน นั่นก็เพื่อป้องกันการตกเทรนด์ เล่นกับกระแสไวรัล ที่ใครๆ พูดถึงกัน แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะเห็นด้วยกับพฤติกรรมเหล่านั้นไปเสียทั้งหมดแต่อย่างใด

 

อิทธิพลความกาก

ถ้านิยามกันแค่ความกาก แล้วจบแค่ความบันเทิง เล่นกับกระแสก็แล้วไป แต่ถ้ามันออกไปไกลมากกว่านั้น ก็คงต้องส่งเสียงเตือนกันดังๆ แล้วว่า สังคมนี้อาการน่าเป็นห่วง

รศ.ดร.สมโภชน์ เอี่ยมสุภาษิต นักวิชาการด้านจิตวิทยา คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งข้อสังเกตว่าการดึงความสนใจจากฆาตกรดังมาทำการค้า เช่น ขายหมอนที่ผู้ต้องหาถือ ทำพวงกุญแจ กระทั่งสื่อที่นำเสนอความดราม่า การช่วยให้คนร้ายกลายเป็นคนดัง คือการอธิบายส่วนหนึ่งแล้วว่า มีกลุ่มที่คิดถึงผลประโยชน์ คิดถึงกำไร โดยไม่สนใจที่มาที่ไปอะไรเลย "มันเป็นจุดที่ต่ำที่สุดในสังคมวัตถุนิยม แล้วเราก็หาประโยชน์จากสิ่งเหล่านั้น สนใจแค่ความรวย ความดัง โดยไม่เลยว่ามันมีที่มาอย่างไร"

ไม่แปลกหรอกที่ความดราม่า และเรื่องราวคาวๆ มันขายได้อยู่วันยังค่ำ เพราะแง่หนึ่งมันทำให้คนเกิดความรู้สึกมีอำนาจเมื่อได้รู้เรื่องลับๆ มีอำนาจที่ได้ตัดสินคน และก็แน่นอนว่าอีกไม่นานหรอก เรื่องนี้จะหายไปจากหน้าข่าว เช่นเดียวกับปรากฏการณ์ talk of the town ที่เกิดขึ้นนับร้อยนับพันก่อนหน้า "แต่สิ่งที่น่ากลัวคือผลระยะยาวของมัน เพราะระหว่างที่เรื่องนี้ดำเนินไป ยังมีกลุ่มเด็กที่อยู่ระหว่างค้นหาตัวตน เขาก็อาจจดจำมัน และถ้าเขาได้ยินเรื่องเหล่านี้บ่อยๆ ก็จะเกิดเป็นความชาชิน เกิดความเสี่ยงที่จะลอกเลียนพฤติกรรม อยากจะก้าวร้าว อยากจะรุนแรงบ้างเพราะคิดว่าทำแล้วดัง" นักจิตวิทยาวิเคราะห์ถึงผลกระทบของสังคมหลังเกิดปรากฏการณ์ฆาตกรคดีดังกลายเป็นคนมีชื่อเสียงแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน

ส่วนคนดังสายดาร์คในโลกโซเชียล เราเห็นกันจนชินตา รอดูเถอะว่าจะมีอะไรกากๆ ให้เราได้แชร์กันอีก