ครุ่นคิดเรื่อง ‘ชีวิต’ และ ‘ความฝัน’

ครุ่นคิดเรื่อง ‘ชีวิต’ และ ‘ความฝัน’

“ครุ่นคิด” อาจเป็นกระบวนการยาวนานสำหรับการสร้างงานของศิลปิน การขุดค้นเข้าไปในโลกแห่งตัวตนเพื่อค้นหา “วัตถุดิบ” มาสร้างงานทั้งเพื่อเยียวยาตัวเอง และสื่อสารกับสังคมร่วมสมัย

มาดูงานที่ Subhashok The Arts Centre ซึ่งกำลังมีนิทรรศการจัดแสดงพร้อมกัน 2 งาน คือ Live a Life ของทรงวุฒิ แก้ววิศิษฐ์ ที่ชั้น 1 และ Dreamy Land ของสุภสิทธิ์ ธรรมประเสริฐ ในพื้นที่ขนาดใหญ่โตพอๆ กัน บรรจุงานของทั้ง 2 ไว้จำนวนมาก ล้วนแต่เป็นงานสร้างใหม่เพื่อนิทรรศการนี้ ปริมาณมหาศาลกับเนื้อหาที่อัดแน่นเหมือนจะปะทุออกมาเป็นชีวิตของศิลปิน 2 วัย

Live a Life ให้ชีวิตมีสิทธิ์อิสระ

ทรงวุฒิ ใช้เวลาครุ่นคิดหลายเดือนที่จะหยิบความทรงจำทั้งสุขและทุกข์ในวัยเด็กของเขา มาเป็น Live a Life ที่เขาเลือกใช้วิธีถ่ายทอดอย่างตรงไปตรงมา ถึงวัยเด็กที่บริสุทธิ์ ไร้เดียงสา หัวใจที่พร้อมจะโบยบินอย่างอิสระกลับถูกสภาพแวดล้อมหลายอย่างบีบคั้นกดดันจนบิดเบี้ยว ครอบงำประทับรอยนิ้วมือไว้ ดินน้ำมันถูกปั้นขึ้นจริงเป็นต้นแบบให้เขาเขียนเป็นภาพออกมา

“ดินน้ำมันหมายถึงสีสันในวัยเด็ก ความสุขที่ไม่ต้องมีกฎเกณฑ์ แต่ในขณะเดียวกันก็มีความหมายในทางตรงกันข้าม จากรูปร่างดินที่บิดเบี้ยว รอยนิ้วมือที่ปรากฏ ก็พูดถึงการประทับตราของผู้ใหญ่ ความกดดันจากคนอื่น”

แม้ว่าเกือบทุกภาพจะเป็นดินน้ำมันเหมือนกัน แต่ทุกภาพมีความหมายต่างกัน มีเหตุการณ์จริงซึ่งเป็นแรงบันดาลใจอยู่เบื้องหลัง ทรงวุฒิเกิดในครอบครัวเชื้อสายจีนในจังหวัดภาคอีสาน ความแตกต่างของรูปลักษณ์ รวมถึงธรรมเนียมปฏิบัติที่ไม่เหมือนใคร ทำให้เขากลายเป็นเป้าของการล้อเลียนเหยียดหยาม น้ำตาที่ไหลออกมาจากดินน้ำมันในภาพ “หยาดเหงื่อและหยดน้ำตา” หมายถึงความเจ็บปวดในวัยเด็ก

19621617_10210873545609344_285409633_n

หรือรูป “บอม” ที่เป็นความเจ็บปวดที่เขาจำได้ไม่ลืม วัยเด็กอันบริสุทธิ์ที่เปรียบได้กับดินน้ำมันสีขาว เบื้องหลังคือระเบิดตูมใหญ่ แทนคำพูดของครูที่ดุด่าเขาอย่างรุนแรงจนตรึ่งในความทรงจำ ทรงวุฒิยอมรับว่าเขามีวัยเด็กที่เจ็บปวด แต่ศิลปะที่เขาได้รู้จักช่วงมัธยมเยียวยาเขาจนละลายความทุกข์ไปได้ เมื่อผ่านอุปสรรคต่างๆ จนพรสวรรค์ด้านศิลปะเบ่งบาน ทรงวุฒิก็คิดว่าความทรงจำเหล่านั้นคือวัตถุดิบชั้นดีในการสร้างงาน

แต่ไม่ใช่แค่นั้น ในเมื่อกรอบของระบบการศึกษาและค่านิยมทางสังคมยังคงกดทับความคิดสร้างสรรค์และการเติบโตของเด็กๆ  อยู่ เขาก็ต้องพูดเรื่องนี้ให้ชัด

อย่างภาพ “โรงเรียนเป็นที่กักขัง ท้องฟ้าที่กว้างใหญ่คือความสุขและความฝันของฉัน” ที่จะได้เห็นทันทีที่เข้านิทรรศการ

“ผมเอาวิธีการวางภาพมาจากศิลปินโลก เรอเน่ มากริต (Rene Magritte) ที่เขาเขียนตึกแถวแล้วมีโคมไฟถนน คือโคมไฟถนน และตึกคือสภาวะตอนกลางคืน แต่ท้องฟ้าเป็นสภาวะตอนกลางวัน เขาเอากลางวันกับกลางคืนมาอยู่ด้วยกันได้ มองเผินๆ เราไม่รู้สึกว่ามันคนละส่วน ผมชอบมาก เลยเอาวิธีนั้นมาใช้ โดยรูปห้องเรียนผมตั้งใจให้ดูมืดๆ เหมือนกรงขัง ดูเงียบเหงา เด็กคนนั้นหันหลังให้เรา ยืนมองอยู่ด้วยความชั่งใจ ตั้งคำถามกับตัวเองและคนดูว่า เขาควรจะไปต่อหรือควรจะถอย ไปแล้วจะมีความสุขหรือทุกข์ แต่ท้องฟ้าที่เขาเห็นสดใสมากเลย ท้องฟ้ามันกว้างใหญ่กว่าตึกเรียนเยอะ ฟ้าคือความฝัน โรงเรียนคือความจริง เราจะไปต่อกับความฝันหรือความจริง มันอยู่ด้วยกันได้ แต่เราจะอยู่อย่างไร”

Songwut2

หรือขยับเข้ามาด้านในก็จะเจอกับงานอีกชุดในห้องเรียน ซึ่งเปลี่ยนต้นแบบในการเพนท์จากดินน้ำมันมาเป็นกระดาษสมุดจด สื่อตรงตัวถึงการศึกษา หน้ากระดาษสีขาวแทนค่าเด็กนักเรียน บ้างสะอาดเรียบกริบ บ้างยับยู่ยี่ บ้างทะลุกรอบออกไปถึงจินตนาการของตัวเองได้ แต่ต้องฝ่าฟันอย่างยากลำบาก เขาวิพากษ์การศึกษาที่กรีดเส้นแบ่งเด็กเรียนเก่งกับเด็กเรียนไม่เก่ง แต่ใช่ว่าจะไม่ฉลาด การขยำโยนทิ้ง เผาไหม้ด้วยมาตรวัดบางอย่างที่สังคมยัดเยียด เด็กทุกคนต่างมีจุดแข็งของตัวเองที่ไม่อาจเอาไม้บรรทัดอันเดียวมาวัดกันได้ ทรงวุฒิก็อยากให้งานศิลปะของเขาเป็นเหมือนกระบอกเสียงแทนเด็กๆ ที่ ณ ตอนนี้อาจอยู่ในวังวนของการเป็นดินน้ำมัน ที่กำลังถูกบีบคั้นให้บิดเบี้ยวผิดเพี้ยนไป

Dreamy Land ดินแดนแห่งกาลและความฝัน

สุภสิทธิ์ ธรรมประเสริฐ เพิ่งเรียนจบได้ 3 ปี เขาสร้างผลงานศิลปะอย่างต่อเนื่อง รวมถึงในเฟซบุ๊คแฟนเพจ Dreamy Dreams ซึ่งมีคนตามถึงหลักหมื่น เขาใช้เวลา 2 ปีในการสร้างผลงานทั้งหมด 3 ชุดจัดแสดงใน 3 ห้อง เล่าเรื่องกาลเวลา และการตามหาความหมายของโลกอุดมคติในสมัยและบริบทที่ต่างกัน

Supasit2 อดีต

อดีต –The Jouney ขบวนคาราวานซึ่งออกเดินทางตามหาพื้นที่สักแห่งที่จะเต็มไปด้วยความอุดมสมบูรณ์และความสุข ตามตำนาน เรื่องเล่าปรัมปราจากหลากวัฒนธรรมทั้งยุโรปและเอเชีย สุภสิทธิ์ไม่เพียงเล่าเรื่องของจุดร่วมของต่างวัฒนธรรมแล้ว เขายังสะท้อนภาพตัวตนของคนร่วมสมัย คนรุ่นที่เติบโตมากับอินเตอร์เน็ท เข้าถึงและเสพข้อมูลได้มหาศาล จนเหมือนทุกอย่างจะผสมปนเปกัน ตัวละครที่เขาเลือกมาในคาราวานจึงเป็นดังภาพคอลลาจ ตัดแปะกันระว่างวัฒนธรรม ตั้งแต่ม้าหมุนสไตล์ยุโรป และตุงจากดินแดนทางเหนือ (ของประเทศที่อาจยังไม่ได้ชื่อว่าไทย)

เทคนิคที่เขานำเสนอคืออีกหนึ่งความน่าสนใจ เมื่อใช้ตะแกรงไนลอน - วัสดุที่ไม่มีในอดีตแทนผืนผ้าใบ การใช้วัสดุของปัจจุบันมาเล่าเรื่องในตำนานสร้างความรู้สึกขัดแย้ง แต่ไม่ใช่แค่นั้น เขาวาดเรื่องราวทับซ้อนกัน 3 ชั้น ทำให้เกิดมิติ และซ่อนรายละเอียดบางอย่างที่ต้องเข้ามามองต่างมุม

โลกในอุดนคตินั้นตีความได้หลายความหมาย ทางศาสนาอาจหมายถึงสวรรค์ หากเป็นทางการเมืองอาจหมายถึงการปกครองที่ทุกคนเท่าเทียม แล้วถ้าพูดถึงการใช้ชีวิตของคนในปัจจุบัน อาจหมายถึงพื้นที่ที่พวกเขาไว้ใช้แสดงตัวตนออกมา

19668331_10210873578090156_1626092168_n

ปัจจุบัน - The Chair ไทม์ไลน์จากอดีตเชื่อมหาปัจจุบัน เมื่อผู้คนตอนนี้ถูกดึงดูดเข้าหาโซเชียลเน็ทเวิร์ค ซึ่งกลายเป็นพื้นที่กึ่งสาธารณะที่ทุกคนมีอยู่เท่ากัน การแชร์สเตตัส – สถานะของตัวเองคือการบอกให้โลกรู้ว่าตนคือใคร โลกในมือของสุภสิทธิ์เขาออกแบบให้เป็นห้องสี่เหลี่ยมสีเขียว เก้าอี้สีแดงตัวหนึ่ง ที่ทุกคนมีอยู่เหมือนกัน ต่างกันเพียงภาพแขวนบนผนังเท่านั้นที่เป็นงานศิลปะชื่อดัง

19622386_10210873530248960_29402350_n

“ผมพูดถึงคนในโลกโซเชียล ภาพแขวนในแต่ละห้องนั้นต่างกัน แสดงให้เห็นความเป็นปัจเจกของแต่ละคน ผ่านภาพเขียนชื่อดังมาสะท้อนความหลากหลายในโซเชียล เพราะผมทำเรื่องคน ก็อยากให้งานสามารถเชื่อมโยงกับผู้คนได้ เลยเลือกรูปที้ค่อนข้างเป็นที่รู้จัก จะได้สื่อถึงกันง่าย” แต่ขณะเดียวกันเขาก็ไม่ได้ติดชื่อหรือคำอธิบายภาพไว้ “ผมมองว่าศิลปะคือการสื่อสาร โดยที่ไม่ต้องเข้าใจเหมือนกันทั้งหมด เขามองภาพนี้แล้วจะเห็นต่างออกไป ผมโอเค แบบนั้นงานผมก็ประสบความสำเร็จแล้ว แต่พอมีรูป ก็มีกรอบระดับหนึ่งอยู่แล้วล่ะครับ”

อนาคต – Polka Dot อนุสาวรีย์แห่งความอหังการ์ของเจน Y คนร่วมเจนเนอเรชั่นกับสุภสิทธิ์ ที่เขายอมรับว่าอนาคตที่เหมือนจะสดใสเหมือนพื้นหลังที่เป็นภาพพิมพ์โพลกาดอทสีจัดนั้น มีความสิ้นหวังล่องลอยอยู่ อนุสาวรีย์ในโลกเลื่อนลอย แทนที่จะขี่ม้าศึกเหมือนอนุสาวรีย์วีรบุรุษในอดีต สาวน้อยเหล่านั้นก็ขี่ม้าหมุนซึ่งเป็นตัวแทนแห่งความสุข ขณะเดียวกันก็ให้ความรู้สึกฉาบฉวย

Supasit4 อนาคต

“ผมเป็นคนเจน Y  ซึ่งถูกมองว่าทะนงตัว งานนี้จึงออกแนวจิกกัดนิดหน่อย โดยเจนวายสร้างอนุเสาวรีย์ของรุ่นตน พื้นหลังผมอยากให้สะท้อนความเป็นเจนเรา จะดูว่าน่ารักสดใสก็ได้ แต่ถ้าอีกทางหนึ่งกลับสะท้อนภาวะของผู้ป่วยจิตเภท ซึ่งเขามองอะไรเป็นจุดสี มีความคลุ้มคลั่งอยู่ในที ฉะนั้น โพลกาดอทจะตีความมุมไหนก็ได้”

เมื่อดูอดีต ปัจจุบัน และอนาคตผ่านมุมมองของสุภสิทธิ์ สัมผัสได้ว่างานของเขามีความเป็นปัจจุบันสมัยมาก ทั้งสไตล์ เนื้อหา และเทคนิคการสื่อ จะว่าอ่อนหวานอ่านง่ายก็กลับมีความหลอนลึกน่าค้นหา และชวนคิดอยู่ในที

อย่างการที่เขาเขียนภาพคนทุกภาพแต่ทุกคนล้วนใส่หน้ากากรูปสัตว์มีเขาเสมอ

“มีคนบอกว่าเป็นการใส่หน้ากากเข้ากัน? ไม่แง่ร้ายขนาดนั้นครับ แต่ในหลายวัฒนธรรม ความเชื่อ และศาสนาจะมีการใส่หน้ากากเพื่อร่วมพิธีกรรมอยู่ เหมือนยูนิฟอร์ม เพื่อความสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน”

สุภสิทธิ์ใช้เป็นสัญลักษณ์ของการซ่อนตัวตนที่แตกต่าง ละลายให้ทุกคนเหมือนกันไปหมดในสังคมเดียวกัน แน่นอนหน้ากากก็ปิดบังความรู้สึกของคนๆ นั้นด้วย “ผมมองว่าบางครั้งถ้าเขาแสดงสีหน้า อารมณ์ของภาพก็จะเป็นตามสีหน้าไป ส่วนการที่เป็นรูปสัตว์มีเขา จริงๆ คือสัตว์ในพุทธกาลซึ่งเชื่อมโยงกับสัตว์ในความเชื่อของภาคเหนือ ที่มักวาดออกมาเป็นรูปของกวาง แต่จริงๆ แล้วกวางตัวนี้สามารถแปลงร่างเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นได้ตามสถานการณ์”

ตัวตนในโลกสดสวยทว่ากรุ่นกลิ่นฉาบฉวย คือแก่นของความไร้แก่นสารของสังคมที่กำลังดำเนินไป

ชมนิทรรศการ Live a Life และ Dreamy Land ได้ที่ Subhachok The Art Centre ถึงวันที่ 30 กรกฎาคม 2560