จดหมายเหตุธงชาติสยาม กับการค้นพบแรกมีธงช้างเผือกบนกำปั่นหลวง

จดหมายเหตุธงชาติสยาม กับการค้นพบแรกมีธงช้างเผือกบนกำปั่นหลวง

"พิพิธภัณฑ์ธงชาติไทย" ได้ค้นพบหลักฐานชิ้นสำคัญและเก่าแก่ที่สุดในโลกที่ชี้ว่า "ธงช้างเผือก" มีการใช้จริงมาตั้งแต่รัชกาลที่ 2

“ธงชาติไทยถือเป็นสัญลักษณ์ของชาติและแสดงความเป็นเอกราชของไทย” ทุกเช้าและเย็นคนไทยต่างไม่ลืมที่จะยืนตรงเคารพธงชาติ เพราะเมื่อเรามองผ่านผืนธงชาติเราจะเห็นความเสียสละของบรรพบุรุษ ที่ร่วมปกปักษ์และปกป้องผืนแผ่นดินสยามให้ดำรงความเป็นเอกราชจนมาถึงทุกวันนี้

เมื่อมองย้อนกลับไป 230 ปี เมื่อสยามสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี ธงชาติสยามจึงเริ่มมีบทบาทในฐานะสัญลักษณ์แทนความเป็นชาติมาตั้งแต่บัดนั้น เพียงแต่ธงชาติสยามในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์มีความสัมพันธ์กับระบอบการปกครองสมบูรณาญาสิทธิราชย์ กล่าวคือพระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจสูงสุด ด้วยเหตุนี้การประดับธงชาติจึงมีการประดับเฉพาะบนกำปั่นหลวงหรือเรือหลวงเท่านั้น ไม่อนุญาตให้สามัญชนคนทั่วไปประดับธงชาติสยาม เพราะสัญลักษณ์บนผืนธงมีความศักดิ์สิทธิ์ กล่าวคือ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ทรงมีพระราชประสงค์นำวงจักรสีขาววางกลางผืนผ้าแดง ถือเป็นรูปแบบธงชาติสยามลำดับแรก โดยวงจักรนี้มีที่มาจากของสำคัญสี่สิ่งที่อยู่ในพระหัตถ์ของพระนารายณ์ นั่นคือ จักร สังข์ คฑา และธรณี โดยมีความเชื่อกันว่า พระนารายณ์เป็นสมมุติเทพที่เสด็จอวตารลงมาเป็นพระมหากษัตริย์แห่งกรุงสยาม และจักรยังเป็นที่มาของพระนามแห่งราชวงศ์จักรี

ซึ่งเรื่องราวและความเป็นมาของธงชาติไทยนี้ ได้มีการบันทึกเป็นครั้งแรกอยู่ในพระราชบัญญัติว่าด้วยแบบอย่างธงสยาม พิมพ์ขึ้นในปี พ.ศ.2434 หรือตรงกับปีที่ 110 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชดำริให้สยามจำเป็นต้องจัดทำกฎหมาย เพื่อระบุรูปแบบธงชาติสยามให้ชัดเจนเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ซึ่งพระราชบัญญัติธงฉบับนี้ได้มีการระบุรูปแบบธงชาติสยามอยู่ในลำดับที่ 13 โดยระบุไว้ดังนี้ “ข้อ 13 ธงชาติสยาม เปนรูปช้างเผือกเปล่าพื้นแดง ใช้ในเรือกำปั่นและเรือทั้งหลายของพ่อค้าเรือกำปั่นและรือต่างๆ ของ ไปรเวตทั่วไปในชาวสยาม ประกาศมาแต่พระที่นั่งจักรกรีมหาปราสาท ลงวันที่ 15 มีนาคม รัตนโกสินทร์ 24 ศก 110 วันที่ 8536 ในรัชการปัตยุบันนี้”

แต่ทว่าพระราชบัญญัติธงฉบับนี้มิได้เกริ่นนำหรือกล่าวถึงความเป็นมาของธงชาติสยามในอดีต จึงทำให้ต้องมีการออกพระราชบัญญัติธงฉบับร.ศ.118 โดยได้เพิ่มเติมเกี่ยวกับความเป็นมาของธงชาติสยามในอดีตไว้อย่างชัดเจน นับตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ซึ่งมีการระบุไว้ดังนี้ “ธงอันเปนสำคัญเครื่องหมายแห่งสยามประเทศนี้แต่ก่อนมาใช้ผ้าสีแดงเกลี้ยง ครั้นถึงในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ ทรงพระราชดำริห์ว่า เรือหลวงกับเรือราษฎร ควรมีเครื่องหมายสำคัญให้เห็นต่างกัน จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯ สั่งให้บรรดาเรือหลวงทั้งปวง ทำรูปจักรอันเปนนามสัญญาพระบรมราชวงษ์แห่งพระองค์ลงไว้ในกลางธง พื้นแดงนั้นเปนเครื่องหมายใช้ในเรือหลวง” หมายความว่า ธงสีแดงใช้กับเรือของราษฎรชาวสยามโดยทั่วไป ส่วนเรือของพระมหากษัตริย์หรือที่เรียกว่ากำปั่นหลวงใช้ธงสีแดงและมีรูปวงจักรสีขาวอยู่ตรงกลาง

นอกจากนี้ในพระราชบัญญัติธงฉบับร.ศ.118 ยังระบุต่อไปว่า “ต่อมาถึงในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลย ครั้งนั้นมีสารเสวตรอันอุดมด้วยลักษณ มาสู่พระราชสมภารถึงสามช้าง เปนการพิเศษไม่มีได้ในประเทศอื่นเสมอเหมือน ควรจะอัศจรรย์อาไศรย์คุณพิเศษอันนั้น จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯ ให้ทำรูปช้างเผือกลงไว้กลางวงจักรในธงเรือหลวงนั้นด้วย” หมายความว่าพอขึ้นสมัยรัชกาลที่ 2 สยามได้ช้างเผือกมากถึงสามช้างในรัชกาลเดียว คือ พระยาเศวตกุญชร พระยาเศวตไอยรา และพระยาเศวตคชลักษณ์ พระองค์ท่านจึงมีพระราชดำรินำรูปช้างเผือกสีขาววางไว้กลางวงจักรสีขาว เป็นที่มาของธงชาติสยามในสมัยรัชกาลที่ 2 และใช้จวบจนกระทั่งถึงรัชกาลที่ 3

ถัดจากความข้างต้นที่กล่าวมาแล้วนั้นในพระราชบัญญัติธง ร.ศ.118 ก็ได้ระบุถึงการเริ่มใช้ธงช้างเผือกเป็นธงชาติสยามดังนี้ “ครั้นถึงในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระรำพึงถึงเรือค้าขายของชนชาวสยาม ที่ใช้ธงสีแดงเกลี้ยงอยู่นั้นไม่เปนการสมควร เหตุว่าซ้ำกับประเทศอื่นยากที่จะสังเกต เห็นเปนการควรจะใช้ธงอันมีเครื่องหมายเหมือนอย่างเรือหลวงทั่วไป แต่ว่ารูปจักรเปนของสูงไม่สมควรที่ราษฎรจะใช้จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯ ให้ยกรูปจักรออกเสีย คงแต่รูปช้างเผือกบนพื้นแดง ให้ใช้ทั่วไปทั้งเรือหลวงแลเรือราษฎร” ขยายความได้ว่าเมื่อขึ้นสมัยรัชกาลที่ 4 พระองค์ท่านได้ตัดสินพระทัยให้ราษฎรชาวสยามเริ่มใช้สัญลักษณ์รูปช้างเผือกแทนธงสีแดงเกลี้ยงเป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นที่มาของคำเรียกขานธงชาติแบบนี้ว่า "ธงช้าง" จนกระทั่งถึงปัจจุบัน

จากหลักฐานข้างต้นที่พิมพ์อยู่ในพระราชบัญญัติว่าด้วยแบบอย่างธงสยาม ร.ศ.118 ที่กล่าวถึงนี้ ถือเป็นข้อมูลทางวิชาการที่ประเทศไทยใช้อ้างอิงรวมไปถึงใช้สำหรับการเรียนการสอนประวัติและพัฒนาการของธงชาติไทยมาร่วมร้อยกว่าปีจนถึงปัจจุบัน แต่เมื่อไม่นานมานี้ "พิพิธภัณฑ์ธงชาติไทย" ซึ่งก่อตั้งโดยพฤฒิพล ประชุมผล และจันทกาญจน์ คล้อยสาย ได้ค้นพบหลักฐานชิ้นสำคัญและเก่าแก่ที่สุดในโลกที่ชี้ว่า "ธงช้างเผือก ธงชาติสยาม" มีการใช้จริงมาตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 โดยเป็นการค้นพบผังธงโลกของ "MUSGRAVES ROYAL NAVAL AND MERCHANT FLAGS OF ALL NATIONS AND CODES OF SIGNALS" เป็นผังธงที่ใช้สำหรับการเดินเรือสมัยโบราณของราชนาวีอังกฤษ ผังธงดังกล่าวนี้มิได้ระบุวันเวลาที่พิมพ์ออกมา แต่ก็มิใช่เป็นปัญหาสำคัญที่จะคำนวณว่าผังธงนี้อยู่ยุคใดสมัยใด เพราะเราสามารถใช้วิธีการพิจารณาร่วมกับจำนวนดาวบนผืนธงชาติของประเทศสหรัฐอเมริกาได้ ซึ่งบนผังธงโลกของ MUSGRAVES ROYAL NAVAL AND MERCHANT FLAGS OF ALL NATIONS AND CODES OF SIGNALS นี้มีการพิมพ์จำนวนดาวบนธงประเทศสหรัฐอเมริกาเพียง 20 ดวงเท่านั้น หมายถึงประเทศสหรัฐอเมริกาในขณะนั้นมีจำนวนรัฐเพียง 20 รัฐ และเมื่อศึกษาประวัติศาสตร์ความเป็นมาของธงชาติประเทศอเมริกาก็พบว่าธงชาติที่มีดาวเพียง 20 ดวงนั้นเริ่มใช้ในปีพ.ศ.2361 ซึ่งตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ทรงขึ้นครองราชย์ระหว่างวันที่ 7 กันยายน พ.ศ.2352 ถึงวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ.2367

หลักฐานการค้นพบนี้ มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการศึกษาประวัติศาสตร์ชาติสยาม ในสาขาวิชาธัชวิทยาหรือการศึกษาว่าด้วยเรื่องธงสำคัญของแผ่นดิน จึงนับได้ว่าเป็นการเปิดองค์ความรู้ใหม่ในเรื่องประวัติศาสตร์ธงของชาติในรอบร้อยกว่าปีเลยทีเดียว จากที่แต่เดิมเชื่อกันว่าการเริ่มใช้ธงช้างเผือกเป็นธงชาติสยามเริ่มใช้กันในสมัยรัชกาลที่ 4 ตามการอ้างอิงเพียงหลักฐานเดียวคือพระราชบัญญัติว่าด้วยแบบอย่างธงสยาม ร.ศ.118

จึงนับได้ว่าเป็นข่าวดีอีกข่าวหนึ่งที่จะทำให้นักประวัติศาสตร์ของไทยตื่นตัวและนำประโยชน์จากการค้นพบหลักฐานใหม่นี้เพื่อไปชำระประวัติศาสตร์แขนงอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องราวของธงช้างเผือก ธงชาติสยามให้มีความถูกต้องแม่นยำในเชิงวิชาการมากยิ่งขึ้นในอนาคต