“น้ำอบนางลอย” ความหอมของ "น้ำอบไทย" คู่ "สงกรานต์" ที่โควิด-19 ยังฆ่าไม่ตาย

“น้ำอบนางลอย” ความหอมของ "น้ำอบไทย" คู่ "สงกรานต์" ที่โควิด-19 ยังฆ่าไม่ตาย

"น้ำอบนางลอย" จากตลาดนางลอยสู่กิจการที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น ผลิตภัณฑ์ที่ทำตลาดทั้งปี แต่ขายดีเฉพาะช่วงสงกรานต์ พวกเขาดำเนินธุรกิจอย่างไร โดยเฉพาะในวันที่ประเทศไทยไม่ได้มีเทศกาลสงกรานต์ในช่วงโควิด-19

ถ้า “รำวงวันสงกรานต์” คือท่วงทำนองเพลง และ “เสื้อลายดอก” คือแฟชั่นที่ใครๆก็นึกถึงในเทศกาลสงกรานต์แล้ว กลิ่นของ “น้ำอบไทย” ที่ผสมกับไอแดดในช่วงเมษายนก็น่าจะเป็นความหอมประจำเทศกาลสงกรานต์ที่อยู่ในความทรงจำของใครหลายคน

น้ำอบ” อยู่คู่กับสงกรานต์และคนไทยมาทุกยุคทุกสมัย เช่นเดียวกับประเพณีต่างๆ ของไทยที่มีความรู้สึกกันว่า ความหอมคือความพิถีพิถัน และการให้ความเคารพต่อประเพณีสำคัญ

คนไทยจึงผูกพันกับน้ำอบในหลายโอกาส อาทิ ประเพณีการโกนผมไฟ, พิธีสรงน้ำพระ, การรดน้ำศพ แต่ที่ชัดเจนที่สุดก็น่าจะเป็นเทศกาลสงกรานต์ เพราะวันสำคัญที่เกี่ยวข้องกับน้ำและครอบครัว ซึ่งมีกิจกรรมอย่างการสรงน้ำพระ การรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ ล้วนขาดน้ำอบไม่ได้เลย

เมื่อพูดถึงน้ำอบ ผลิตภัณฑ์น้ำอบที่อยู่คู่กับคนไทยมานานและเชื่อว่าเราน่าจะเคยผ่านตากันมาบ้างสักครั้ง หนึ่งในนั้นต้องมีแบรนด์ “น้ำอบนางลอย” ซึ่งมีที่ทำการอยู่ที่ร้านน้ำอบนางลอย ถนนมหาไชย แขวงสำราญราษฎร์ เขตพระนคร กรุงเทพฯ

น้ำอบนางลอย ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 และจนถึงปัจจุบันนี้ กิจการดำเนินยาวนานกว่าร้อยปี โดยมีผู้สืบทอดรุ่น 4 เป็นผู้บริหาร และรุ่นที่ 3 คอยให้คำปรึกษา

“พอพูดถึงน้ำอบนางลอย หลายคนอาจคิดว่าเป็นกิจการที่ใหญ่โต เพราะตำนานของแบรนด์ก็เลยทำให้ดูเหมือนยิ่งใหญ่ แต่ความจริงแล้วเรายังทำกันแบบครอบครัว ใช้แรงงานคนทำมือเป็นหลัก ไม่ได้มีเครื่องจักรอะไร มีพนักงานฝ่ายผลิต 16 คน และพนักงานขนส่งที่หน้าร้านอีก 4 คน รวมทั้งหมดหลักๆก็จะมีประมาณ 20 คน” ดิษฐพงศ์ ธ.เชียงทอง ผู้ดูแลกิจการน้ำอบนางลอย ในรุ่นที่ 4 กล่าวกับ “กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

ทำสินค้าทั้งปี ขายดีช่วง 3 เดือน

เป็นธรรมดาที่แต่ละธุรกิจจะมี High Season หรือ Low Season ในแบบของตัวเอง และแม้จะมีหลากหลายโอกาสสำคัญที่น้ำอบจะถูกใช้ แต่ถึงเช่นนั้นช่วงสงกรานต์ก็ยังเป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดของธุรกิจน้ำอบ เพราะเป็นช่วงเวลาที่ขายดีที่สุด มีจำนวนออเดอร์มากที่สุด โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่ช่วงเดือนเมษายนหน้าร้านของน้ำอบนางลอยจะเปิดทำการทุกวันจนสิ้นเทศกาล

วงจรในแต่ละปี คือการผลิตสินค้าเก็บไว้ให้ได้มากที่สุด เราจะผลิตสินค้าสต็อคไว้ และทยอยส่งจำหน่าย โดยมีร้านค้าสังฆภัณฑ์เป็นกลุ่มลูกค้าใหญ่ แต่ละช่วงก็จะมีรถบรรทุกขนสินค้าเพื่อรับน้ำอบจากเราไป และไปกระจายสินค้าต่ออีกทีหนึ่ง ทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด และด้วยความที่เป็นน้ำอบ ก็คงไม่เหมือนสินค้าอื่น ไม่ได้ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า แต่ก็ถือว่าทยอยขายได้เรื่อยๆ ไม่โดดเด่นมากนัก แต่จะขายดีในช่วง 3 เดือน คือช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน ซึ่งแต่ละร้านก็จะสต็อคสินค้าเพื่อให้เพียงพอต่อการจำหน่าย

“น้ำอบนางลอย” ความหอมของ "น้ำอบไทย" คู่ "สงกรานต์" ที่โควิด-19 ยังฆ่าไม่ตาย

ดิษฐพงศ์ บอกว่า ช่วงก่อนเทศกาลสงกรานต์ 1-2 เดือน คือช่วงที่ธุรกิจค่อนข้างยุ่งมากเพราะจะมีออเดอร์ของร้านสังฆภัณฑ์ที่อาจจะขายดีต้องการสินค้าเพิ่ม ขณะที่กำลังการผลิตน้ำอบยังอยู่ที่หลักร้อยถึงพันขวดต่อวันเท่าเดิม แต่ถึงเช่นนั้นก็ยังโชคดีอายุสินค้าค่อนข้างยาว คือเก็บได้นาน 2-3 ปี จึงยังมีสต๊อกเก่าที่นำมาขายข้ามปีได้ ทั้งนี้ในแต่ละปี จะขายได้ประมาณ 70-80%  นับรวมมูลค่าประมาณ 6-8 ล้านบาทต่อปี

“น้ำอบนางลอย” ความหอมของ "น้ำอบไทย" คู่ "สงกรานต์" ที่โควิด-19 ยังฆ่าไม่ตาย ดิษฐพงศ์ ธ.เชียงทอง ผู้ดูแลกิจการน้ำอบนางลอย ในรุ่นที่ 4

“เมื่อเรายังใช้กรรมวิธีผลิตแบบดั้งเดิม นั่นเท่ากับว่าส่วนที่เป็นกำไรจึงไม่มาก และเฉพาะในส่วนของน้ำอบเรายังยึดราคาเดิมไว้ คืออัตราขายปลีกขวดใหญ่อยู่ที่ 62 บาท ขวดกลาง 28 บาท และขวดเล็ก 20 บาท และถ้าขายได้ที่ 60% ของการผลิตทั้งหมด เราถือว่ายังมีกำไร ผลิตภัณฑ์น้ำอบนี้เราตั้งใจจะรักษาไว้ ขณะที่สินค้าอื่นในแบรนด์นางลอยที่พยายามเพิ่มเติมจากน้ำอบก็ยังทำต่อไป เช่น เทียนหอมอโรม่า แป้งหินร่ำ ดินสอพอง” 

“น้ำอบนางลอย” ความหอมของ "น้ำอบไทย" คู่ "สงกรานต์" ที่โควิด-19 ยังฆ่าไม่ตาย “น้ำอบนางลอย” ความหอมของ "น้ำอบไทย" คู่ "สงกรานต์" ที่โควิด-19 ยังฆ่าไม่ตาย

โควิด 3 ครั้ง น้ำอบนางลอยยังอยู่ได้?

น้ำอบ ขายดีในช่วงสงกรานต์ แล้ววันที่เหลือธุรกิจอยู่ได้อย่างไร? คือคำถามที่ใครต่อใครก็มักถามทายาทรุ่นที่ 4 และสิ่งที่น่าชวนสงสัยมากกว่านั้น คือเมื่อประเทศไทยต้องเจอกับโควิด-19 มา 2 รอบ (ปี 2563,2564) และในปี 2565 ผู้ประกอบการที่สินค้าผูกกับเทศกาลเช่นนี้อยู่ได้อย่างไร?

“สงกรานต์คือช่วงเวลาที่เราขายดีที่สุด แต่ก็ต้องยอมรับว่า 2 ปีที่มีโควิด-19 ก็ถือว่าเราได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก โดยเฉพาะเมื่อปี 63 พอมีข่าวออกมาในเดือนกุมภาพันธ์ว่า จัดงานสงกรานต์ไม่ได้ ออร์เดอร์ก็หายไป จึงสั่งให้หยุดการผลิตตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ ช่วงนั้นแย่มาก เพราะคนไทยยังใหม่กับโควิด-19 พอมาถึงปี 64 แม้จะไม่ได้มีงานเทศกาลใหญ่ แต่ก็ยังพอไปได้ แต่ละครอบครัว แต่ละชุมชนยังมีจัดงานเล็กๆ ยังมีออเดอร์บ้าง แต่มาถึงปีนี้ซึ่งเป็นโควิด-19 ก็ถือว่าคนไทยมีบทเรียน รู้ว่าต้องมีกิจกรรมได้แค่ไหน อย่างไร ยอดออเดอร์ยังพอไปได้และธุรกิจตอนนี้ก็ไปได้ดีเมื่อเทียบกับ 2 ปีก่อนที่เจอโควิด-19 ถือว่าอยู่ในระดับ 60% เมื่อเทียบกับปี 62 ที่ยังไม่มีโควิด” ดิษฐพงศ์สะท้อนถึงสิ่งที่เจอตลอดช่วงเวลา 3 ปีที่ผ่านมา

ส่วนถ้าถามว่าอยู่ได้อย่างไร ทายาทรุ่นที่ 4 นางอบนางลอย ตอบสั้นๆ ว่า หลักการในเรื่องนี้คือต้องค่อยๆ พิจารณาการผลิตเป็นรายเดือนไป ไม่เร่งการขยายกิจการ ไม่เร่งสร้างหนี้หรือสร้างต้นทุนเพิ่ม แม้กระทั่งการขยายตลาดตอนนี้ก็ยังคิดว่าไม่จำเป็น

“น้ำอบนางลอย” ความหอมของ "น้ำอบไทย" คู่ "สงกรานต์" ที่โควิด-19 ยังฆ่าไม่ตาย

อีกปัจจัยบวกคือ ผลิตภัณฑ์น้ำอบยังโชคดีที่สินค้ามีอายุการเก็บที่ค่อนข้างนาน ในช่วงที่แย่สินค้าก็ยังเก็บได้ และเมื่อเริ่มมีมาตรการผ่อนปรนสินค้าก็กลับมาจำหน่ายได้ ก็ถือว่าระบายสต็อคได้ระดับหนึ่ง

“อยู่ได้อย่างไร ก็คืออยู่มาแล้ว (หัวเราะ) ผมถือว่าเรายังมีบุญเก่าอยู่ ยังมีคนรู้จักแบรนด์ที่นึกถึงเมื่อต้องการน้ำอบ อุปกรณ์ต่างๆก็ยังเป็นของเราเอง และต้นทุนค่าแรงของพนักงานซึ่งเรายังคงไว้ ไม่มีการให้ใครต้องออกจากงานก็ยังเป็นตัวเลขที่เรายังรับได้ พร้อมๆกันนี้ก็ต้องทำสินค้าเพิ่มเพื่อให้ได้มากกว่าน้ำอบ”

หลังเทศกาลสงกรานต์ พอยอดสั่งสินค้าเข้าที่ ไม่ได้มีอะไรที่หวือหวา เราก็จะให้พนักงานหยุดงานไปเลย 1 เดือนเต็มๆ ชดเชยในช่วงเมษายน ที่เขาต้องทำงานทุกวัน และร้านก็ไม่ได้ปิด พอถึงช่วงเดือนมิถุนายนเป็นต้นไปเราจะเปิดไลน์ผลิตยาว เพื่อสต๊อกไว้สำหรับขายวันสงกรานต์ปีหน้า ก็ถือว่าเริ่มซีซั่นใหม่”

“น้ำอบนางลอย” ความหอมของ "น้ำอบไทย" คู่ "สงกรานต์" ที่โควิด-19 ยังฆ่าไม่ตาย

ตำนานน้ำอบนางลอยและการปรับตัวทางธุรกิจ

ในอดีตการทำน้ำอบจะใช้ดอกไม้สดที่มีกลิ่นหอม เช่น ดอกมะลิ ดอกแก้ว ดอกชมนาด ฯลฯ เนื้อไม้ ยางไม้ เช่น ผิวมะกรูด แก่นไม้จันทร์ เปลือกชลูด มาอบร่ำในน้ำให้มีกลิ่นหอมเย็นเป็นธรรมชาติ หากเมื่อเวลาผ่านไปก็จะปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย เช่น มีการนำเอาหัวน้ำหอมจากต่างประเทศเข้ามาประยุกต์ใช้กับเครื่องหอมโบราณของไทย

“น้ำอบนางลอย” ความหอมของ "น้ำอบไทย" คู่ "สงกรานต์" ที่โควิด-19 ยังฆ่าไม่ตาย

น้ำอบนางลอย ก่อตั้งมานานกว่า 100 ปี โดย คุณย่าเฮียง หรือ แม่เฮียง ซึ่งได้รับการถ่ายทอดวิธีการปรุงน้ำอบไทยมาจากเพื่อนของท่านจากในวัง และแม่เฮียงก็ได้นำสูตรดังกล่าวมาศึกษาดัดแปลงเพิ่มเติม มีการนำกลิ่นหอมของดอกไม้และสมุนไพรไทยชนิดต่างๆ มาผสมผสานกับน้ำหอมของฝรั่งที่เริ่มมีความนิยมในสมัยนั้น จนกลายมาเป็นเอกลักษณ์ของน้ำอบนางลอย คือ มีกลิ่นหอมเย็นสดชื่น และมีสีเหลืองอำพัน

แม่เฮียง เริ่มทดลองตลาดด้วยการ​นำน้ำอบใส่โอ่งมาแบ่งขายเป็นกระบวยที่ ตลาดนางลอย ข้างวัดบพิตรพิมุข และในสมัยนั้นผู้คนในตลาดก็จะรู้จักน้ำอบที่แม่เฮียงในนาม “น้ำอบไทย ของแม่เฮียง ที่ตลาดนางลอย”จนสุดท้ายพูดเพี้ยนไปมา จนเหลือแค่ น้ำอบนางลอย

จากนั้นเพื่อให้เข้ากับชื่อ “นางลอย” เลยออกแบบเป็นรูปนางฟ้า ลอยอยู่บนก้อนเมฆถือขวดน้ำอบไทยไว้ในมือซ้าย ประดับด้วยลวดลายไทยโดยรอบ ที่น่าสนใจคือ จะเห็นว่าสีหลักที่เลือกใช้ คือ สีแดง ขาว และน้ำเงิน ซึ่งเป็นสีของธงชาติไทย เพราะต้องการสื่อถึงความเป็นไทยนั่นเอง

ถึงตรงนี้ ไม่มีใครสงสัยถึงความเป็นตำนาน แต่คำถามถึงการสานต่อธุรกิจอายุกว่า 100 ปีในปัจจุบันนี้จะเป็นอย่างไร โดยเฉพาะกับแนวคิดคนรุ่นใหม่ที่อาจไม่แน่ใจว่า น้ำอบไทยคืออะไรแล้ว

ประเด็นนี้ ดิษฐพงศ์ ยอมรับว่า เป็นความกังวล และ น้ำอบนางลอย ไม่ใช่แค่กิจการ แต่เป็นวัฒนธรรมที่ควบคู่สังคมไทยมานาน จึงอยากรัษาความภาคภูมิใจนี้ไว้  ไม่อยากให้ต้องเลื่อนหายไป

นอกจากนี้ยังต้องทำควบคู่กันไประหว่างการรักษาของเก่ากับการเอาของใหม่เข้ามาพัฒนา อะไรที่จำเป็นต้องเปลี่ยน ก็ต้องเปลี่ยน อย่างการใช้ช่องทางออนไลน์และโซเชียลมีเดียเป็นสื่อกลาง เพื่อเข้าถึงและขยายการรับรู้ไปยังคนรุ่นใหม่ เป็นสิ่งใหม่ที่นำมาปรับใช้ในธุรกิจ ขณะเดียวกัน อะไรที่สามารถรักษาไว้ได้ ต้องพยายามรักษาไว้ให้ถึงที่สุด โดยเฉพาะกระบวนการผลิตน้ำอบแบบดั้งเดิม ที่ถือว่าเป็นเสน่ห์ทำให้น้ำอบนางลอยเข้าถึงคนไทย

“น้ำอบนางลอย” ความหอมของ "น้ำอบไทย" คู่ "สงกรานต์" ที่โควิด-19 ยังฆ่าไม่ตาย ชุดเครื่องสังฑทาน จำหน่ายในราคา 145 บาท ภาพจากเฟสบุ๊ค น้ำอบนางลอย

ปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์ภายใต้ตราสินค้านางลอย มี 4 ชนิด 1. น้ำอบไทย ที่ผลิตเป็นสินค้าหลัก 2. แป้งหินร่ำ 3. ดินสอพอง 4. เทียนอบ ใช้อบขนม อบผ้า ใช้วัตถุดิบจากสมุนไพร และปัจจุบันยังมีผลิตภัณฑ์ใหม่ เทียนหอมอโรม่า 

“เราพยายามคงคุณภาพไว้ให้เหมือนเดิมมากที่สุด เพราะเรารู้แล้วว่าความยืนยาวคือตัวผลิตภัณฑ์และคุณภาพ เราจะไม่เปลี่ยนรูปลักษณ์ที่เป็นภาพจำของผู้บริโภค ผมภูมิใจที่มีคนมองเราไม่ใช่แค่สินค้า แต่มองเราไปถึงตำนาน ประวัติ ทุกคนสนใจเรื่องราว ”

ส่วนเรื่องวัตถุดิบจากธรรมชาติที่เป็นส่วนผสมหลักของน้ำอบ ผู้บริหารรุ่นที่ 4 บอกว่า จะถูกสต็อคเก็บไว้อย่างเป็นระบบ ควบคู่กับการหาสิ่งอื่นทดแทนเพื่อลดความเสี่ยงด้านราคา และการไม่ที่ผลผลิตจากธรรมชาติลดน้อยลง

“อย่างที่บอกว่าคุณภาพสำคัญที่สุด  เราจะใช้คุณภาพของสินค้าและตำนาน ทบทวนความทรงจำของทุกคน ว่าผลิตภัณฑ์ของเราเคยอยู่ในความทรงจำ ในพิธีกรรมใดในชีวิตของเขาบ้าง เช่น เมื่อถึงช่วงสงกรานต์เขาก็จะคิดถึงกลิ่นของน้ำอบ และเป็นกลิ่นของน้ำอบนางลอย”

ถึงจะมีโควิด-19 ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ทว่าไอแดดของเดือนเมษา กลิ่นน้ำ และความหอมของน้ำอบ ก็ยังลอยคลุ้งชวนให้เปิดลิ้นชักแห่งความทรงจำ ดึงความสุขในช่วงวันสงกรานต์ออกมา