ภารกิจพิสูจน์ตัวเองของ ‘ท็อป-วสุพล’ ในการพลิกโฉมบริษัทร้อยปี ‘หยั่น หว่อ หยุ่น’

ภารกิจพิสูจน์ตัวเองของ ‘ท็อป-วสุพล’ ในการพลิกโฉมบริษัทร้อยปี ‘หยั่น หว่อ หยุ่น’

วันนี้ “คอลัมน์ The Thought Leaders ผู้นำทางความคิด” ชวนพูดคุยกับท็อป - วสุพล ตั้งสมบัติวิสิทธิ์ ทายาทรุ่นที่ 3 ของอาณาจักร "หยั่น หว่อ หยุ่น" ให้เข้าใจวิธีคิด การทำงาน และเป้าหมายของเขาให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

ในโลกของ ธุรกิจครอบครัว คำสาปที่ว่า "รุ่นที่หนึ่งสร้าง รุ่นที่สองรักษา รุ่นที่สามทำลาย" เป็นสมการที่หลายตระกูลพยายามหนีให้พ้น แต่สำหรับ ท็อป - วสุพล ตั้งสมบัติวิสิทธิ์ ทายาทรุ่นที่ 3 ของอาณาจักร "หยั่น หว่อ หยุ่น" ผู้อยู่เบื้องหลังซอสปรุงรสที่อยู่บนโต๊ะอาหารของคนไทยมานานกว่าหนึ่งศตวรรษ นี่ไม่ใช่คำทำนายที่เขายอมรับ

จากเด็กหนุ่มที่เคยเป็นเพียง "เด็กเช็กสต๊อก" วันนี้เขากลายเป็นผู้บริหารวัย 20 กลางๆ ที่ต้องแบกรับความรับผิดชอบมหาศาล ทั้งต่อมรดกทางธุรกิจของครอบครัว และชีวิตความเป็นอยู่ของพนักงานและครอบครัวของพวกเขา ในขณะที่เพื่อนร่วมวัยหลายต่อหลายคนยังคงเพลิดเพลินกับชีวิต “วัยรุ่น”

การก้าวเข้าสู่ตำแหน่งผู้บริหารในวัยเพียง 26 ปี ไม่ใช่เพียงโอกาสที่น้อยคนจะได้รับ แต่ยังเป็นความท้าทายที่ทำให้เขาต้องพิสูจน์ตัวเองว่าจะสามารถบริหารจัดการและพัฒนาธุรกิจครอบครัวให้ก้าวไปข้างหน้าได้อย่างไร ท่ามกลางคำถามที่ว่าเขาจะสามารถผลักดันธุรกิจนี้ไปสู่รุ่นที่ 4, 5, 6 และต่อๆ ไปได้หรือไม่

วันนี้ “คอลัมน์ The Thought Leaders ผู้นำทางความคิด” ชวนพูดคุยกับผู้บริหารรุ่น 3 ผู้นี้ให้เข้าใจวิธีคิด การทำงาน และเป้าหมายของเขาให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

ภารกิจพิสูจน์ตัวเองของ ‘ท็อป-วสุพล’ ในการพลิกโฉมบริษัทร้อยปี ‘หยั่น หว่อ หยุ่น’

กิจวัตรประจำวันเป็นยังไงบ้าง แล้วตั้งแต่เข้ามาในตำแหน่งบริหาร ชีวิตเปลี่ยนไปขนาดไหน

ตั้งแต่เข้ามาทำงาน เวลาของผมลดลง วงสังคมแคบลง ซึ่งเป็นเรื่องปกติ เพราะผมต้องให้ความสำคัญกับงานที่ทำ ถามว่าเปลี่ยนชีวิตขนาดไหน ในเรื่องของเพื่อน connection ต่างๆ ผมคิดว่าได้เพื่อนในรูปแบบใหม่มากขึ้น เช่นเพื่อนร่วมงาน

เสียดายเพื่อนๆ ที่หายไประหว่างที่เข้ามาทำงานไหม

ผมรู้สึกว่าเพื่อนไม่ได้หายไปไหน แต่อาจจะน้อยลง มันอาจจะเป็นความรู้สึกที่เราไม่ได้เจอเพื่อนเยอะเท่าเดิม แต่ผมว่าเพื่อนๆ เข้าใจนะว่าทำไมเราถึงไม่ได้ออกไปเจอกันบ่อยเท่าเดิม

วันนี้ผมมีเป้าหมายในชีวิตที่ชัดเจน และรู้เส้นทางที่จะเดินไปให้ถึงจุดนั้น อาจจะมีบางครั้งที่เราไม่ได้ไปเจอเพื่อนกลุ่มเดิมสมัยก่อน เรามีแฮงเอาต์กันวันจันทร์ พุธ ศุกร์ เสาร์อาทิตย์ ตอนนี้อาจจะต้องเริ่มเซฟตัวเอง เซฟสุขภาพด้วย เราอาจจะไปแฮงเอาต์กับเพื่อนได้ไม่มากเท่าเมื่อก่อน

 

รู้สึกว่าการที่เข้ามาทำงานตำแหน่งบริหารทำให้เราสูญเสียช่วงชีวิตวัยรุ่นไปไหม

ผมรู้สึกว่ามันก็มีบางส่วน ด้วยขอบเขตงานของผมด้วย มันเป็นพาร์ททั้งการขาย การตลาด ในความเป็นมืออาชีพของสายงาน บางครั้งเรานัดเพื่อนวันเสาร์ แต่ต้องเบี้ยวนัดบ้าง เพราะมีลูกค้านัดด่วน ขอแก้ปัญหาหรืออะไรต่างๆ เราต้องยอมทิ้งนัดนั้นไป

แน่นอนว่ามีผลกระทบ แต่ผมเชื่อมั่นว่าสิ่งที่ทำอยู่เกิดจากเป้าหมายที่ชัดเจนของผมเอง อะไรคือสิ่งที่เราควรทำก่อนในช่วงที่เรากำลังจะเติบโตขึ้นมา

อีกอย่างในช่วงนี้ที่ผมยังต้องรับความท้าทายใหม่ๆ ผมต้องพิสูจน์ตัวเองว่าเราสามารถบริหารงานได้ ผมรู้สึกว่าถ้าผมผ่านช่วงเวลานี้ไปได้คงจะกลับมามีชีวิตที่โอเคขึ้นได้มีเวลามากขึ้น (ยิ้ม)

ถ้าให้รีวิว 2 ปีที่เข้ามาทำตำแหน่งบริหาร รีวิวได้ไหม เป็นไงบ้าง

ผมมีความสุขที่ได้รับโอกาส เพราะผมมองว่าโอกาสที่เราได้ขึ้นมาบริหารภายใต้อายุตอนนั้น 24-25 โอกาสแบบนี้มีน้อยมากๆ ถ้าเกิดว่าเราไปสมัครงานอื่นๆ คงยังไม่ได้เข้ามาอยู่ในระดับบริหาร

เครียดกว่าที่คิดไว้ตอนแรกก่อนจะเข้ามาไหม

เครียดกว่านะครับ (หัวเราะ) ด้วยความเป็นธุรกิจของที่บ้านเราเอง มันเลยทำให้รู้สึกว่าเรามีความเป็นเจ้าของมากกว่า สมมติเราไปเรียน เราจะรู้สึกว่า เกรดเฉลี่ยไม่ส่งผลต่อชีวิตเราเท่าไหร่ ต่อให้สอบตกก็ไม่ได้กระทบมากขนาดนั้น แต่ตอนนี้เรารู้สึกว่าพอเราทำงาน มันส่งผลกระทบไม่ใช่แค่ชีวิตเรา แต่มีชีวิตของทีมงานเราด้วย พวกเขามีครอบครัวที่ต้องดูแล เพราะฉะนั้นมันซีเรียสมากขึ้น

มีเหตุการณ์ไหนเกี่ยวกับการทำงานที่ทำให้เราเครียด แล้วเราผ่านมันมาได้ยังไง

งานแต่ละชิ้นมีความเครียดอยู่แล้ว ผมคิดกับตัวเองเสมอว่า ถ้าวันนี้ผมเปรียบความเครียดจากงานเหมือนกองขยะ มันเป็นเหมือนเรื่องหลายๆ เรื่องที่มากองรวมกันจนกลายเป็นขยะที่กองใหญ่มาก ทำให้ผมรู้สึกว่าทำไมมันเยอะจัง สุดท้ายก็นำไปสู่ความเครียดจนบางทีอาจทำให้ยอมแพ้ ถอดใจ

ดังนั้นผมบอกเสมอว่าเวลาเราเจอปัญหาใหญ่ ให้เราแยกมันออกมาเหมือนขยะ แยกมันใส่ถังเหลือง เขียว หรือแดง ที่ต้องกำจัดก่อน แล้วค่อยๆ เรียง ลำดับความสำคัญในการจัดการปัญหาไปทีละขั้น 1-2-3-4 แล้วมันก็จะไม่เยอะ ถ้าเรามีระบบการจัดการในการบริหารงานที่ดี เราจะไม่เครียด

เห็นเคยให้สัมภาษณ์หลายที่บอกว่าก่อนเข้ามาตำแหน่งบริหาร ตอนเด็กๆเป็น ‘เด็กเช็กสต๊อก’ มาก่อน การเข้ามาทำตรงนี้ตั้งแต่เด็กๆ มันส่งผลดียังไง

ส่วนแรกเลย ผมรู้สึกว่าผมได้รู้จักสินค้า ถ้าเกิดว่ามาเริ่มงานตอนนี้แล้วยังไม่รู้ว่าขายอะไร มาบริหารเลยคงแย่ ดังนั้นผมรู้ว่า ณ ตอนนั้นที่เป็นเด็กที่เราได้เข้ามาเช็กสต๊อก เรารู้ว่าที่บ้านเราขายอะไรบ้าง มีซอสหอยกี่ขนาดกี่ไซส์ แต่ละอันราคาเท่าไหร่ นอกเหนือจากรู้จักสินค้า รู้จักราคาแล้ว เรายังรู้จักระบบในการบริหารงาน

รวมทั้ง การได้มีโอกาสนั่งรถออกไปส่งของตั้งแต่เด็กๆ ทำให้ผมเข้าใจในระบบซัพพลายเชนระดับหนึ่ง ตอนนั้นเรายังไม่รู้นะว่ามันคือซัพพลายเชนแต่พอเราโตขึ้นมาเรารู้สึกว่าเราได้เรียนรู้ระบบไประดับหนึ่งแล้ว

ภารกิจพิสูจน์ตัวเองของ ‘ท็อป-วสุพล’ ในการพลิกโฉมบริษัทร้อยปี ‘หยั่น หว่อ หยุ่น’

พอเข้ามาตำแหน่งบริหารมีวิธีหาความรู้พัฒนาตัวเองยังไงบ้าง

ผมชอบไปพูดคุยกับพี่ๆ ที่อยู่ในวงการธุรกิจเหมือนกัน บางทีเราไปขอไอเดียไปฟังความเห็น คือผมเป็นคนชอบพบปะวงการที่ทำธุรกิจด้วยกันเพื่อแชร์ไอเดีย นี่คือเรื่องที่หนึ่ง

เรื่องที่สอง ผมชอบอ่านหนังสือเกี่ยวกับวิธีการที่ทำยังไงให้เราเติบโตขึ้นทุกวัน ทำยังไงให้เราบริหารสุขภาพของเราให้ได้ บริหารจิตใจสุขภาพจิตในการให้เราไม่เบิร์นเอาท์ มีพลังใจในการทำงาน และอันดับที่สามฟังพอดแคสต์บ้าง

แชร์ให้ฟังได้ไหมว่าพี่ๆ ในวงการธุรกิจที่ไปคุยมา รู้สึกว่าคำแนะนำไหนที่ได้มาแล้วรู้สึกว่ามีคุณค่ามากที่สุดแล้วอยากบอกต่อ

คำแนะนำที่ผมรู้สึกว่าดีคือทำงานให้มีความสุข มีพี่ท่านหนึ่งเคยบอกผมว่า Happiness Advantage เนี่ยสำคัญมาก วันแรกๆ เราเข้ามาเรารู้สึกว่าทุกอย่างมันชาเลนจ์ๆ อยู่ เรายังรู้สึกว่าเอ็นจอยไปกับมัน แต่พอระยะเวลาผ่านไปหนึ่งปี ปีที่สอง ปีที่สาม

เราจะทำให้การทำงานของเรามีประสิทธิภาพแบบเหมือนปีแรก และมีจิตใจที่อยากจะตั้งใจทำงานเหมือนปีแรกได้ยังไง และอย่างสม่ำเสมอในปีที่สี่ ปีที่ห้า ปีที่หก ด้วย เพราะฉะนั้นสิ่งที่เป็นคีย์คือความสุข ถ้าเราทำอะไรแล้วมีความสุข เวลามันจะผ่านไปเร็วและทำได้ดี

ผมรู้สึกว่ามีความสุขเป็นคีย์ที่สำคัญมาก เพราะหลายๆ คนมองมุมตรงข้ามกัน อย่างที่ผมเล่าให้ฟังว่าบางคนมองว่าฉันต้องขายได้ตรงเป้าแล้วจะมีความสุข บางคนมองว่าฉันต้องเติบโตต้องเป็นผู้จัดการต้องอัพตำแหน่งแล้วฉันจะมีความสุข ซึ่งจริงๆ แล้วความสุข อย่าไปตั้งเงื่อนไขกับมัน ทำยังไงให้ทุกวันเรามาทำงานแบบมีความสุข ความสำเร็จมันก็จะตามมา

เป้าหมายตอนนี้คืออะไร

เป้าหมายตอนนี้ของผมคือการเซตระบบที่สามารถขับเคลื่อนได้เอง ถ้าวันนี้ตัวเรายังต้องเป็นคนที่คอยตัดสินใจหรือขับเคลื่อนทุกอย่างเป็นแกนหลักอยู่ เราคงจะต้องใช้เวลาเยอะกับส่วนนี้

แสดงว่าช่วงนี้เวิร์คไลฟ์บาลานซ์ไม่ดี

ถามว่าไลฟ์บาลานซ์ดีไหม ผมคิดว่าแล้วแต่บุคคล สำหรับผมถามว่าชีวิตอื่นๆ นอกจากการทำงานเพียงพอไหม ผมรู้สึกว่ายังเพียงพอ ผมยังมีเวลาวันเสาร์บ้าง อาทิตย์บ้างที่ยังสามารถได้ไปใช้ชีวิตได้ แต่ผมรู้สึกว่าโอเค ช่วงนี้ด้วยเป้าที่เราต้องพัฒนา พิสูจน์ตัวเอง มันยังเป็นเป้าที่สำคัญต่อชีวิตเลยต้องทุ่มกับตรงนี้ก่อน

แล้วส่วนตัวเชื่อเรื่องเวิร์คไลฟ์บาลานซ์ไหม

ส่วนตัวผมเชื่อว่ามันควรต้องมี เวิร์คไลฟ์บาลานซ์มันควรต้องมีอยู่แล้ว แต่ว่ามันจะมีเฟสที่เราสามารถบริหาร บางช่วงอาจจะมากบางช่วงอาจจะน้อย แตกต่างกันไป ผมรู้สึกว่ามันแล้วแต่คน บางคนบอกว่าได้พักแค่วันเสาร์วันเดียวก็แฮปปี้แล้ว แต่บางคนบอกจะต้องพัก 2 วัน 3 วัน ส่วนตัวผมยังแฮปปี้ครับ ผมยังคิดว่าเรายังแฮปปี้อยู่ (ยิ้ม)

ภารกิจพิสูจน์ตัวเองของ ‘ท็อป-วสุพล’ ในการพลิกโฉมบริษัทร้อยปี ‘หยั่น หว่อ หยุ่น’

เคยรู้สึกว่าตัวเองโดนบังคับให้เป็นผู้ใหญ่บ้างไหม

ผมไม่เคยโดนบังคับให้เป็นผู้ใหญ่ ไม่เคยรู้สึก แต่ด้วยสถานการณ์ ด้วยบรรยากาศ ด้วยสิ่งที่เราอยู่ environment ต่างๆ มันบังคับให้เราโตขึ้นอยู่แล้ว ด้วยตัวงานเอง ด้วยหลายๆ อย่างเอง มันทำให้เราเติบโตขึ้น ผมว่า ทุกคนแหละเมื่อได้เริ่มทำงาน สั่งสมประสบการณ์ เราจะโตขึ้นในทุกวันอยู่แล้ว (ยิ้ม)

มองว่าตัวเองเป็นผู้บริหารแบบไหน

ผมรู้สึกว่าผมเข้าใจทุกคน วันนี้ผมต้องเข้าใจทุกคนว่าคนนี้เก่งด้านไหน เข้าใจว่าคนนี้ถนัดด้านอะไร เพื่อวางหน้าที่ให้ถูกต้องกับงาน หากเรามอบหมายงานให้เหมาะสม ไม่เพียงแต่จะได้ผลงานที่ดี แต่ยังช่วยให้พนักงานและทีมงานประสบความสำเร็จไปพร้อมกัน

ผมชอบเปรียบเทียบกับตัวผมเสมอว่าผมเหมือนโค้ชฟุตบอล ผมมีทีมงาน 11 คน คนนี้เล่นปีกขวาไม่ได้ลองมาเล่นปีกซ้ายไหม ลองมาเล่นกองกลางไหม ลองมาเล่นกองหน้าเล่นกองหลังไหม ไม่ใช่ว่าคนที่เล่นปีกขวาไม่ได้ ไม่เป็นไรบ๊ายบายตัดออกหาใหม่ หาคนเล่นปีกขวาได้ ผมรู้สึกว่าไม่ใช่เวย์ของผม สิ่งที่ผมอยากจะทำคือให้ทีมงานที่เข้ามาแล้วประสบความสำเร็จไปพร้อมกันที่นี่

คิดว่าอะไรในอดีตหล่อหลอมให้เรากลายมาเป็นเราในวันนี้ กลายเป็นผู้บริหารที่เข้าใจในวันนี้

ครอบครัวครับ ตั้งแต่คำสอนของคุณพ่อคุณแม่ รวมทั้งตัวของน้องๆ ในทีมเองด้วย บางครั้งผมได้กำลังใจจากน้องๆ ซึ่งทำให้รู้สึกว่าเรามีเพื่อนที่เข้าใจซึ่งกันและกัน

นั่งกินข้าวกันอยู่ที่บ้านกับคุณพ่อคุณแม่ คุยกันเรื่องอะไรบ้าง

คุยตลอดเรื่องงาน จนบางครั้งต้องบอกเลยว่าพอแล้ว วันนี้ไม่ไหวแล้ว ถ้าได้ฟังอีกสักเรื่อง 2-3 เรื่องจะอ้วกแล้ว ไม่ไหวแล้ว (หัวเราะ)

แต่ละคนทำงานกันคนละแผนก ถึงเวลามาเม้าท์กัน มานั่งคุยกัน ทุกคนจะแชร์เรื่องงานของตัวเอง แต่บางครั้งบางวันเรารู้สึกว่าเราเจอเรื่องอะไรมาทั้งวัน เราอยากจะคุยเรื่องอื่นบ้าง

เช่นเสาร์นี้ไปกินอะไร มีซีรีส์อะไรน่าดู แต่ก็เป็นไปได้ยากมาก ต้องพูดตรงๆ ว่าเป็นไปไม่ได้ยากมาก เพราะบทสนทนาส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องงาน เนื่องจากเราใช้ชีวิตส่วนมากอยู่ที่ออฟฟิศกันอยู่แล้ว

สุดท้าย เคยมีคำพูดที่ว่าปกติธุรกิจจะเจ๊งในรุ่นที่ 3 มองคำพูดนี้ยังไงบ้าง

มันต้องไม่ใช่แบบนั้นครับ สำหรับเด็กสมบูรณ์ มันจะต้องไปสู่รุ่นที่ 4 5 6 7 8 ครับ (ยิ้ม)

ภารกิจพิสูจน์ตัวเองของ ‘ท็อป-วสุพล’ ในการพลิกโฉมบริษัทร้อยปี ‘หยั่น หว่อ หยุ่น’