เมื่อสภาวะอากาศส่งผลกระทบต่อรูปปั้นยักษ์โมอาย บนเกาะอีสเตอร์ มรดกโลกชิลี

เมื่อสภาวะอากาศส่งผลกระทบต่อรูปปั้นยักษ์โมอาย บนเกาะอีสเตอร์ มรดกโลกชิลี

รูปปั้นยักษ์โมอาย บนเกาะอีสเตอร์ "มรดกโลกชิลี" แหล่งท่องเที่ยวระดับโลก กำลังตกอยู่ในความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ จนพวกเขาคิดว่า ควรคลุมรูปปั้นด้วยโดมแก้ว และยังไม่มีบทสรุปที่ดีพอ

เกาะอีสเตอร์ ปิดให้บริการเพื่อการท่องเที่ยวระหว่างการระบาดใหญ่ของโรคโควิด 19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้ชาวบ้านที่อาศัยอยู่บนเกาะต้องหันไปดำเนินชีวิตแบบยั่งยืนมากขึ้น และกลับมาเรียนรู้ทักษะเก่าที่ถูกลืมไปแล้วอีกครั้ง 

มาตอนนี้ เมื่อเกาะอันโดดเดี่ยวกลางมหาสมุทรแปซิฟิกใต้แห่งนี้เปิดรับนักท่องเที่ยวอีกครั้ง คนท้องถิ่นซึ่งรวมถึงชาวพื้นเมืองราปา นุย ก็มีการต่อต้านการกลับไปมีวิถีชีวิตแบบยุคก่อนเกิดโรคระบาด 

“มันถึงเวลาตามที่คนโบราณได้เคยทำนายไว้แล้ว” ฮูลิโอ โฮตุส สมาชิกสภาผู้อาวุโสแห่งเกาะอีสเตอร์ กล่าวกับเอเอฟพี 

 

โฮตุสกล่าวว่า บรรพบุรุษของชาวราปา นุย ได้เคยเตือนลูกหลานว่าต้องให้ความสำคัญกับการไม่พึ่งพาทางอาหารจากที่อื่นมากเกินไปเพราะความเสี่ยงอย่างหนึ่งที่เกาะต้องเผชิญคือการถูกโดดเดี่ยว แต่คนรุ่นหลังๆ กลับไม่สนใจคำเตือนนั้น 

ก่อนเกิดการระบาดใหญ่ของโรคโควิด 19แหล่งอาหารหลักของเกาะเกือบทั้งหมดถูกจัดหาให้โดยประเทศชิลี 

เมื่อสภาวะอากาศส่งผลกระทบต่อรูปปั้นยักษ์โมอาย บนเกาะอีสเตอร์ มรดกโลกชิลี

รูปปั้นโมอายแกะสลักขึ้นจากหินภูเขาไฟโดยชาวโพลินีเซียน ราปา นุย ในช่วงระหว่างปีค.ศ. 1200-1500 (ภาพเอเอฟพี) 

 

 

 

รูปปั้นยักษ์ มรดกโลกบนเกาะอีสเตอร์

เกาะอีสเตอร์อยู่ในการปกครองของชิลี โดยตั้งอยู่ห่างจากชายฝั่งตะวันตกของชิลีราว 3,500 กิโลเมตร จึงได้ชื่อว่าเป็นสถานที่อันโดดเดี่ยวแห่งหนึ่งของโลก ลักษณะของเกาะมีขนาดเล็ก มีพื้นที่เพียง 160 ตารางกิโลเมตร มีความยาว 25 กิโลเมตร 

เกาะอีสเตอร์มีชื่อเสียงระดับโลกเพราะรูปปั้นยักษ์แกะสลักเป็นหน้าคนหรือที่มีชื่อเรียกว่าโมอายที่เรียกได้ว่าเป็นพระเอกตัวจริงของเกาะ เพราะเป็นตัวดึงดูดนักท่องเที่ยวปีละแสนกว่าคน

แม้จะมีจำนวนประชากรเพียง 8,000 คน แต่เกาะอีสเตอร์เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีนักท่องเที่ยวมาเยือนถึง 160,000 คนต่อปี ซึ่งโฮตุสเรียกว่าเป็นภาวะ“บ่าล้น”แต่ตั้งแต่เดือนมีนาคม ค.ศ. 2020 เกาะอีสเตอร์ก็ต้องปิดพรมแดนเพราะการระบาดของโควิด-19 

เมื่อสภาวะอากาศส่งผลกระทบต่อรูปปั้นยักษ์โมอาย บนเกาะอีสเตอร์ มรดกโลกชิลี ชาวเกาะอีสเตอร์ทำพิธีบูชาเทพีแห่งพื้นแผ่นดินที่สนามบินบนเกาะเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวกลุ่มแรกในรอบ 28 เดือน(ภาพเอเอฟพี) 

นักท่องเที่ยวหาย รายได้หด 

โอลก้า อิคคาปาคาราติ ชาวบ้านบนเกาะคนหนึ่งเคยมีรายได้จากการขายรูปปั้นโมอายขนาดเล็กที่เป็นสินค้าที่ระลึกให้นักท่องเที่ยว

แต่เมื่อมีการปิดเกาะ เธอจึงหันไปทำการเกษตรและจับปลาเพื่อเลี้ยงชีวิต เช่นเดียวกับที่บรรพบุรุษของเธอเคยหาเลี้ยงชีพมาก่อนที่จะมีการติดต่อกับโลกภายนอก 

“พวกเราทุกคนไม่เหลืออะไรเลย พวกเราถูกทิ้งไว้กับสายลม .... แต่เราเริ่มหันมาทำการเพาะปลูก” อิคคาปาคาราติ บอกกับเอเอฟพี 

เธอใช้ประโยชน์จากเมล็ดพันธุ์พืชที่ถูกส่งมาที่เกาะก่อนที่เกาะจะถูกปิดจากโลกภายนอก เธอปลูกผักโขม หัวบีท ผักชี ผักชาร์ดคึ่นช่าย โหระพา สับปะรด ออริกาโน่ และมะเขือเทศ 

ผักหรือพืชที่เธอไม่กิน เธอจะนำไปแบ่งปันให้กับเพื่อนบ้าน เช่นเดียวกับที่หลายๆ ครอบครัวกำลังทำเพื่อสร้างเครือข่ายการสนับสนุนทั่วทั้งเกาะ 

“ชาวเกาะทุกคนเป็นแบบนี้ พวกเขามีจิตใจดี ถ้าฉันมีของอะไรมากเกินไป ฉันก็จะเอาไปให้อีกครอบครัวหนึ่ง” อิคคาปาคาราติ ซึ่งอาศัยอยู่กับลูกๆ และหลานๆ ของเธอกล่าว 

แต่การหันมาเน้นไปที่การดำรงชีวิตอย่างยั่งยืนของชาวเกาะราปา นุยก็ไม่ได้หมายถึงการอวสานของการท่องเที่ยวบนเกาะอีสเตอร์ 

เมื่อสภาวะอากาศส่งผลกระทบต่อรูปปั้นยักษ์โมอาย บนเกาะอีสเตอร์ มรดกโลกชิลี

โอลก้าอิคคาปาคาราติหันมาปลูกพืชผักในช่วงปิดเกาะเพราะโควิด 19(ภาพเอเอฟพี) 

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เครื่องบินลำแรกของนักท่องเที่ยวในรอบ 28 เดือนได้บินลงจอดบนเกาะ สร้างความตื่นเต้นให้กับคนท้องถิ่นที่อยากเห็นคนเปลกหน้าหรือคนหน้าใหม่ๆ บ้างหลังจากตัดขาดจากโลกภายนอกมานาน 

แต่การจะกลับไปให้บริการเที่ยวบินวันละ 2 เที่ยวทันทีแบบปีก่อนหน้าคงยังเป็นไปไม่ได้ตอนนี้มีไฟล์ทมาลงบนเกาะ สัปดาห์ละ 2 เที่ยว ถึงแม้ว่าจะค่อยๆ เพิ่มจำนวนขึ้นก็ตาม 

ในขณะที่กลุ่มโรงแรมขนาดใหญ่ยังคงตัดสินใจที่จะปิดให้บริการต่อไป 

“พวกเรายังคงจะพึ่งพารายได้หลักจากนักท่องเที่ยวต่อไป แต่ผมหวังว่าโรคระบาดใหญ่ครั้งนี้ได้ให้บทเรียนที่เราสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับอนาคตได้” โฮตุสกล่าว 

มรดกโลกตกอยู่ในความเสี่ยง 

ผลกระทบอีกอย่างหนึ่งของโรคระบาดครั้งใหญ่นี้คือ การสร้างความตระหนักรู้ถึงความจำเป็นในการดูแลทรัพยากรธรรมชาติที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น น้ำและพลังงานรวมถึงรูปปั้นโมอายที่เป็นสัญลักษณ์ประจำเกาะ 

บนเกาะมีรูปปั้นแกะสลักจากหินภูเขาไฟโดยชาวโพลินีเซียน ราปา นุยระหว่างปีค.ศ. 1200-1500มากกว่า 900 ตัว มีทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ รูปปั้นโดยทั่วไปมีความสูง 3.50 เมตร หนัก 20 ตัน บางตัวก็ยังแกะสลักไม่เสร็จ และเกิดความเสียหายระหว่างการขนย้ายด้วย บางตัวมีแค่ส่วนหัว บางตัวก็มีแค่ลำตัวและถูกฝังอยู่ใต้ดิน 

รูปปั้นส่วนใหญ่ยังคงถูกวางไว้ในหลุมตรงจุดที่มีการแกะสลัก แต่มีหลายตัวถูกลากไปไว้ตรงชายฝั่งโดยสันนิษฐานว่าเพื่อการทำพิธีอย่างใดอย่างหนึ่ง 

เมื่อสภาวะอากาศส่งผลกระทบต่อรูปปั้นยักษ์โมอาย บนเกาะอีสเตอร์ มรดกโลกชิลี มรดกโลกเหล่านี้กำลังตกอยู่ในความเสี่ยงจากสภาวะอากาศเปลี่ยนแปลง(ภาพเอเอฟพี) 

รูปปั้นโมอายแห่งเกาะอีสเตอร์ ได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในมรดกโลกโดยยูเนสโกในปีค.ศ. 1990 และมีการจัดตั้งองค์กรขึ้นมาเพื่อศึกษาเรื่องราวของมันอย่างจริงจัง 

ตลอดเวลาที่ผ่านมา มรดกโลกเหล่านี้ได้รับความเสียหายจากฝนตกหนัก ลมแรง และคลื่นทะเลที่ซัดมากระทบกับรูปปั้นและฐานของรูปปั้น ทำให้มีความกังวลเกี่ยวกับอนาคตของมรดกทางโบราณคดีเหล่านี้ 

“การเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศซึ่งกำลังทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ กำลังทำให้มรดกทางโบราณคดีของเราตกอยู่ในความเสี่ยง” ไวโร แอลก้า ผู้อำนวยการด้านสิ่งแวดล้อมของเกาะอีสเตอร์กล่าว 

เจ้าหน้าที่บนเกาะกำลังเกิดความกังวลเพราะสภาพของหินกำลังเสื่อมโทรมและระบุว่ามันจำเป็นต้องได้รับการปกป้อง 

“ปัญหาของโมอายคือรูปปั้นเหล่านั้นมีความเปราะบางมาก” เปโดร เอ็ดมันดส์ ปาโอ นายกเทศมนตรีของเกาะอีสเตอร์กล่าวเสริม เขายังบอกว่ารูปปั้นเหล่านั้นไม่สามารถประเมินมูลค่าได้ 

เขาเรียกร้องให้ทางการหามาตรการมาปกป้องมรดกโลกแห่งนี้ โดยต้องไม่คำนึงถึงนักท่องเที่ยวมากเกินไป แม้ว่ามาตรการนั้นจะหมายถึงการคลุมรูปปั้นด้วยโดมแก้วซึ่งไม่เพียงแต่จะทำลายทัศนียภาพที่แท้จริง แต่ยังทำลายความสวยงามของภาพถ่ายของนักท่องเที่ยวด้วย 

นอกจากนี้ เขายังต้องการให้ผู้อยู่อาศัยบนเกาะใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุด และให้ความสำคัญกับการจ้างงานคนในท้องถิ่นก่อน ในขณะเดียวกันก็รื้อฟื้นแนวปฏิบัติของบรรพบุรุษในการส่งเสริมความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของชุมชน 

“ก่อนหน้านี้นักท่องเที่ยวเป็นแค่ชาวต่างชาติที่มาเยือน แต่จากนี้ไปพวกเขาจะต้องกลายเป็นมิตรกับเกาะอีสเตอร์” นายกเทศมนตรีเกาะอีสเตอร์กล่าว 

.............

ที่มา สำนักข่าวเอเอฟพี