“เอฟวี” การคืนชีวิตให้ "สถาปัตยกรรม" ที่ไม่มีใครต้องการ

“เอฟวี” การคืนชีวิตให้ "สถาปัตยกรรม" ที่ไม่มีใครต้องการ

เปิดคอนเซปต์งานดีไซน์ “เอฟวี” ร้านเครื่องดื่มผลไม้-ผักพื้นบ้านตามฤดูกาล อาหารว่างตำรับ อ.ศรีสมร เรือนไม้ภาคอีสานมาทำอะไรอยู่ในโกดัง 100 ปีปล่อยร้างบนถนนทรงวาดของกรุงเทพฯ

ทรงวาด เคยเป็นย่านการค้าที่เจริญที่สุดในกรุงเทพฯ อาคารสองฝั่งถนนทรงวาดเป็นตึกแถวยุคแรกของพระนคร สร้างขึ้นในสมัย “รัชกาลที่ 5” ตึกฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นตึก 3 ชั้น หน้าบันโค้งประดับลายปูนปั้นสวยงาม ตึกฝั่งตรงข้ามกันเป็นตึก 2 ชั้น มีเสาแบบคอรินเทียนประยุกต์ ประดับปูนปั้นลายเถาดอกไม้และผลไม้ ตามรูปแบบสถาปัตยกรรมที่ได้ชื่อว่าล้ำสมัยในยุคนั้น

แต่ในอีก 100 ปีต่อมา เมื่อการทำธุรกิจเปลี่ยนรูปแบบ จุดศูนย์กลางพื้นที่เศรษฐกิจก็เปลี่ยนตาม เพื่อสร้างสาธารณูปโภคให้รองรับกับรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น “ทรงวาด” กลายเป็นอดีต กลายเป็นชุมชนเก่าที่เหมือนถูกวางทิ้งไว้ในกาลเวลา

แต่แล้ว “คนทำงานโฆษณากลุ่มหนึ่ง” กลับตกหลุมรักตึกเก่าบนถนนทรงวาด เขตสัมพันธวงศ์

แรกเริ่ม พวกเขาตั้งโจทย์อยากเปิด ร้านขายเครื่องดื่มและอาหารว่าง อยากเลือกทำเลที่เป็นจุดเริ่มต้นการค้าของกรุงเทพฯ จึงเดินเท้าจากเกาะรัตนโกสินทร์จนมาถึง “ถนนทรงวาด” และพบกับโกดังร้างที่แทรกตัวอยู่ในตึกแถวโบราณ

“เอฟวี” การคืนชีวิตให้ \"สถาปัตยกรรม\" ที่ไม่มีใครต้องการ  หน้าร้านเอฟวี เดิมเป็นโกดังปล่อยร้างบนถนนทรงวาด

จากนั้นไม่นาน โกดังร้างแห่งนั้นก็กลับมามีชีวิตอีกครั้งในชื่อ เอฟ วี (FV) ร้านขายเครื่องดื่มและอาหารว่างที่มีคอนเซปต์หนักแน่นและมุ่งมั่นทั้งของกินและดีไซน์ร้าน

“เอฟ วี” ย่อมาจาก Fruit (ผลไม้) และ Vegetable (ผัก) ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการทำเครื่องดื่มและอาหารว่างของร้าน เน้นใช้เฉพาะ ผัก-ผลไม้ตามฤดูกาล ปลูกโดยเกษตรกรขนาดกลาง ขนาดย่อม และวิสาหกิจชุมชน ที่ไม่ใช้สารเคมี

ใช้แม้กระทั่ง วัชพืช บางอย่างที่คนทั่วไปมักละเลยไม่เห็นค่า เช่น ไมยราบ แต่กลับมีสรรพคุณของสมุนไพรมากกว่าที่คิดตามตำราแพทย์แผนไทย เอฟวีนำใบไมยราบมาชงเป็น “ชาไมยราบ” ผสมน้ำผึ้ง ดื่มแล้วช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย หลับสบาย ดื่มแทนชาดอกคาโมมายล์ของฝรั่งได้สบายๆ

นอกจากนี้ยังมีเครื่องดื่มที่ทำจาก ขมิ้น มะขามป้อม ใบบัวบก กระชาย ตรีผลา มะม่วงหาวมะนาวโห่ มะตูม มะขามแดง ฝรั่ง ลางสาด มังคุด ส่วนอาหารว่างก็มีเช่น ชุดข้าวเกรียบถั่วดำน้ำพริกผัด ชุดข้าวแต๋นแยมผลไม้ ยำส้มโอกระทงทอง เมี่ยงคำ ยำมะม่วงโบราณ ช่อม่วง ส้มฉุนมะยงชิด ชุดมะม่วงกะปิหวาน ขนมดอกลำดวน ขนมผิง สำปันนี โดยได้รับความกรุณาจากปรมาจารย์อาหารไทย ศรีสมร คงพันธุ์ เป็นที่ปรึกษาทั้งตำรับและการปรุง

“เอฟวี” การคืนชีวิตให้ \"สถาปัตยกรรม\" ที่ไม่มีใครต้องการ "ช่อมะลิ" อาหารว่างพิเศษวันแม่ 2565

สำหรับ วันแม่ 12 สิงหาคม ปีนี้ “เอฟวี” ปรุงอาหารว่างตำรับพิเศษ ช่อมะลิ เป็นขนมที่แปลงมาจาก “ช่อม่วง” เครื่องว่างที่ถือกำเนิดช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ปั้นด้วยแป้งเนื้อเนียนเป็นลูกกลมพอดีคำ จีบกลีบละเอียดเป็นรูปดอกมะลิซ้อนกลีบบาง

ตัวไส้ของ "ช่อมะลิ" กวนจากถั่ว 5 สี ได้ถั่วกวนเนื้อเนียน รสละมุน หวานน้อย ถั่ว 5 สีให้โปรตีนและไขมันที่ดีต่อผนังหลอดเลือดและหัวใจ มีไฟเบอร์สูง อุดมไปด้วยสารอาหารแร่ธาตุหลากหลาย ช่วยบำรุงอวัยวะภายใน บำรุงพลัง และปรับสมดุลธาตุในร่างกาย

“เอฟวี” การคืนชีวิตให้ \"สถาปัตยกรรม\" ที่ไม่มีใครต้องการ น้ำมังคุด ผลไม้ตามฤดูกาลจากภาคใต้

“เอฟวี” เชื่อว่า ธรรมชาติมอบสิ่งที่ดีที่สุดตามฤดูกาล การใช้ฮอร์โมนหรือสารเคมีฝืนให้พืชผักผลไม้ออกผลนอกฤดูกาล สุดท้ายก็จะเป็นผลเสียสะสมกลับมาที่สุขภาพตัวเราเอง

ที่สำคัญประเทศเราอุดมสมบูณ์ มีผลผลิตแตกต่างกันไปตลอดทั้งปี อยากให้คนมองเห็นคุณค่าของประเทศที่มีของดีมากมาย รวมทั้ง วัชพืช ก็เป็นสมุนไพรได้ด้วย

“เอฟวี” การคืนชีวิตให้ \"สถาปัตยกรรม\" ที่ไม่มีใครต้องการ  มุมหนึ่งของเรือนไม้อีสานที่เถ้าแก่ทรงวาดไปสู่ขอ

คอนเซปต์ของกินว่าเด่นชัด คอนเซปต์ดีไซน์ร้าน ก็ชัดเจนไม่น้อยไปกว่ากัน เมื่อผลักประตูร้านเข้าไป สิ่งไม่คาดคิดคือ มี เรือนไม้ไทย ตั้งอยู่เต็มความกว้างของโกดังโบราณทรงวาด

เรือนไม้หลังนี้เดิมทีใกล้ผุพัง ไม่มีคนอยู่ ปลูกอยู่ในเขตตำบลโนนยาง อำเภอหนองสูง จังหวัดมุกดาหาร มีความเหมือนกับโกดังบนถนนทรงวาดในกรุงเทพฯ ตรงที่ ต่างก็ถูกทิ้งร้าง ไม่ถูกใช้ให้เกิดประโยชน์อันใด

“กลุ่มผู้ก่อตั้งเอฟวี” มีความเห็นว่า เมื่อพูดถึง สถาปัตยกรรมไทย คนทั่วไปมักนึกถึงบ้านทรงไทยยอดแหลม วัด พระราชวัง แต่ในความเป็นจริง “สถาปัตยกรรมไทย” ยังมีอีกหลายรูปแบบ แต่อาจเพราะไม่ได้มีความสำคัญมากพอ จึงถูกละเลย ไม่เป็นที่จดจำ

“เอฟวี” การคืนชีวิตให้ \"สถาปัตยกรรม\" ที่ไม่มีใครต้องการ

 ผนังไม้ไผ่สานลาย “คุบ” แปลว่ามีความสุข ฝีมือช่างปักธงชัย สานขึ้นใหม่ใช้แทนฝาเรือนเดิมที่ผุพังไปหมดแล้ว เหลือแต่ไม้กระดานพื้นเรือนที่ถอดแล้วนำมาประกอบใหม่ได้

แท้จริงแล้วทั้ง บ้านไม้ในชนบท และ โกดังเก่าทรงวาด ต่างก็มีความหมายทาง “ประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมไทย”

เรือนไม้อีสาน สะท้อนถึงวิถีชีวิตอย่างคนชนบท คนธรรมดาจริงๆ คนที่เป็นส่วนใหญ่ของประเทศ แต่ค่านิยมที่เปลี่ยนไป ทำให้คนไม่อยากอยู่บ้านไม้ที่รั่วและรักษายาก ยอมอยู่ในบ้านปูนที่สร้างง่าย แม้จะมืด ร้อน และอยู่ไม่สบายเท่าบ้านไม้ก็ตาม

บ้านไม้อีสานแห่งบ้านหนองสูงเรือนนี้ สร้างขึ้นด้วยความรู้พื้นถิ่นที่ไม่ใช้ตะปู จึงสามารถถอดและประกอบใหม่ได้ โดยเอฟวีเชิญช่างไม้เก่าแก่ในพื้นที่ช่วยถอดบ้านและนำมาประกอบขึ้นใหม่ที่กรุงเทพฯ

ขณะที่ โกดังเก่าทรงวาด คือตัวแทนสถาปัตยกรรมที่ยุคหนึ่งคนไทยเคยใช้ชีวิตอยู่จริงในอาคารลักษณะนี้ เพื่อสร้างเศรษฐกิจให้กับประเทศ แต่เมื่อรูปแบบธุรกิจเปลี่ยน โกดังก็ถูกลดบทบาทลง

“เอฟวี” การคืนชีวิตให้ \"สถาปัตยกรรม\" ที่ไม่มีใครต้องการ  ฝ้าเพดานวัสดุ acrylic mirror สะท้อนภาพได้ ดีไซน์ขึ้นมาเพื่อโชว์สิ่งมีคุณค่าและความสวยงาม นั่นก็คือ “หลังคาแป้นไม้” ของบ้านอีสาน ภาพสะท้อนหลังคาไม้ยังเป็นตัวแทนหลังคาไม้เก่าของโกดังก่อนโดนรื้อออกไปเพราะผุพัง

ตัวแทนกลุ่มผู้ก่อตั้งเอฟวี ให้สัมภาษณ์กับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า แรงบันดาลใจในดีไซน์คอนเซปต์ของเอฟวี คือ Unwanted หรือ “สถานะที่ไม่มีใครเอา” และคลี่คลายออกมาเป็น งานแต่งงานของ เถ้าแก่ทรงวาด (โกดัง) ที่ไปสู่ขอ สาวอีสานบ้านหนองสูง (เรือนไม้) มาอยู่ร่วมชายคาเดียวกัน

แต่การนำ "เรือนไม้อีสาน" เข้ามาวางใน "โกดังทรงวาด" ไม่ใช่งาน installation art หรือแค่การเอาของชิ้นใหญ่เข้ามา แต่คือการนำ “ของมีค่า” มาเก็บรักษาไว้ในกล่อง หรือ precious gift in the box

“เอฟวี” การคืนชีวิตให้ \"สถาปัตยกรรม\" ที่ไม่มีใครต้องการ ภาพวาดวิถีชีวิตชาวอีสาน มองจากเรือนไม้ที่นำมาจากบ้านหนองสูง

“เอฟวี” การคืนชีวิตให้ \"สถาปัตยกรรม\" ที่ไม่มีใครต้องการ พื้นที่ใต้ถุนเรือนที่เกิดขึ้นในโกดังเพดานสูง

เมื่อมีบ้านมาอยู่ในบ้าน ก็ทำให้เกิด space ขึ้นมาทันที ทั้งที่ว่างหน้าบ้าน ที่ว่างใต้ถุน ที่ว่างบนเรือน จึงเกิดพื้นที่ใช้สอยมากมายสำหรับการเป็นร้านขาย เครื่องดื่มและอาหารว่าง อย่างที่ทุกคนซึ่งไปเยือนแล้วประทับใจกับการได้ชิมเครื่องดื่มและอาหารว่างที่ทำจาก พืชผักผลไม้พื้นบ้านแบบไทยๆ ด้วยสูตรต้นตำรับที่ไม่ได้หาชิมง่ายทั่วไป

พร้อมกับได้เห็น สถาปัตยกรรมจากภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งคนในประเทศไทยเคยอยู่อาศัยแบบนี้ ให้ได้สัมผัสจับต้อง เดินขึ้นเดินลงได้ด้วยตัวเอง เป็นความหมายที่ “กลุ่มผู้ก่อตั้งเอฟวี” ตั้งใจทำร้านแห่งนี้

เป็นรูปแบบการคืนลมหายใจให้กับตึกเก่าที่ถูกทิ้งร้างให้กลับมามีชีวิตได้อย่างงดงามและมีความหมาย

  • หมายเหตุ : เอฟวี เลขที่ 827 ถนนทรงวาด เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ โทร.08 1866 0533 เฟซบุ๊ก FV

“เอฟวี” การคืนชีวิตให้ \"สถาปัตยกรรม\" ที่ไม่มีใครต้องการ ไอเดีย : บันไดเหล็กพับ มีโครงสร้างซ่อนในผนัง แข็งแรง สามารถเดินขึ้นไปบนสุดได้จริง ซึ่งด้านบนทำเป็นห้องเก็บของและซ่อนงานระบบ กลายเป็นมุมซิกเนเจอร์เช็คอินประจำร้าน

“เอฟวี” การคืนชีวิตให้ \"สถาปัตยกรรม\" ที่ไม่มีใครต้องการ เสา คาน ไม้กระดาน จากเรือนที่คนไทยใช้ชีวิตอยู่จริง

“เอฟวี” การคืนชีวิตให้ \"สถาปัตยกรรม\" ที่ไม่มีใครต้องการ  เคาน์เตอร์เป็นแผ่นสเตนเลส สตีล หนา 6 มิลลิเมตร พับขึ้นรูปโดยใช้หลักการเหลือของเสียให้น้อยที่สุด (แทบจะใช้เต็มแผ่น) ถอดประกอบและย้ายได้
“เอฟวี” การคืนชีวิตให้ \"สถาปัตยกรรม\" ที่ไม่มีใครต้องการ งานศิลปะ ของสะสมเจ้าของร้าน

“เอฟวี” การคืนชีวิตให้ \"สถาปัตยกรรม\" ที่ไม่มีใครต้องการ ไอเดีย : เส้นไฟสีขาวที่วิ่งตัดแนวนอนไปทั่วทั้งกรอบอาคาร เป็นระยะกึ่งกลางในแนวตั้งและเป็นแสงสว่างเดียวที่มาจากตัวโกดัง

“เอฟวี” การคืนชีวิตให้ \"สถาปัตยกรรม\" ที่ไม่มีใครต้องการ  นั่งให้มีเงาสะท้อนในกระจก อีกหนึ่งมุมเช็คอินซิกเนเจอร์

“เอฟวี” การคืนชีวิตให้ \"สถาปัตยกรรม\" ที่ไม่มีใครต้องการ กลิ่นไอพื้นบ้านอีสานในโกดังทรงวาดเมืองกรุงร่วมสมัย

“เอฟวี” การคืนชีวิตให้ \"สถาปัตยกรรม\" ที่ไม่มีใครต้องการ

ไอเดีย : ต้นแจง มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย ราก ลำต้น ใบ มีสรรพคุณเชิงสมุนไพร ไม่ได้มีอยู่เดิม แต่ย้ายเข้ามาเพื่อสร้างบรรยากาศอบอุ่นอยู่สบายเหมือนอยู่บ้าน เหมือนปลูกต้นไม้ไว้หน้าเรือน

“เอฟวี” การคืนชีวิตให้ \"สถาปัตยกรรม\" ที่ไม่มีใครต้องการ ขนมไทยตำรับดั้งเดิม

“เอฟวี” การคืนชีวิตให้ \"สถาปัตยกรรม\" ที่ไม่มีใครต้องการ ยำมะม่วงโบราณ 

: credit photo :
ศุกร์ภมร เฮงประภากร
เฟซบุ๊ก FV