สวิฟตี้กันทั้งเมือง! “เกลนเดล” เปลี่ยนชื่อเมือง ต้อนรับคอนเสิร์ต “เทย์เลอร์ สวิฟต์” 

สวิฟตี้กันทั้งเมือง! “เกลนเดล” เปลี่ยนชื่อเมือง ต้อนรับคอนเสิร์ต “เทย์เลอร์ สวิฟต์” 

เมืองในสหรัฐทำเก๋ เปลี่ยนชื่อเป็น “สวิฟต์ ซิตี้” (Swift City) ชั่วคราว เพื่อเป็นเกียรติแก่ “เทย์เลอร์ สวิฟต์” ที่มาทัวร์คอนเสิร์ต “The Eras Tour” ที่เมืองนี้เป็นที่แรก

กลายเป็นไวรัลชั่วข้ามคืน หลังจากชาวเน็ตตาดีเห็นชื่อเมือง “สวิฟต์ ซิตี้” (Swift City) ปรากฏใน Google Map แอปพลิเคชันแผนที่ชื่อดัง ทำให้ผู้คนต่างค้นหาว่าเมืองนี้อยู่ตั้งอยู่ที่ใด สืบไปสืบมาก็พบว่า ตอนแรกเมืองนี้ชื่อว่า เกลนเดล (Glendale) รัฐแอริโซนา ของสหรัฐ แต่ตัดสินใจเปลี่ยนชื่อเป็น สวิฟต์ ซิตี้เพราะว่า เป็นการโปรโมตเมืองในฐานะ “เมืองแรก” ที่เทเลอร์ สวิฟต์ นักร้องชื่อดังของยุค ใช้เป็นสถานที่เปิดทัวร์คอนเสิร์ตครั้งใหม่ “The Eras Tour” 

 

  • เมืองเทย์เลอร์ สวิฟต์

คนจริง ไม่พูดเล่น! หลังจากเมื่อวันที่ 14 มี.ค. 66 เจอร์รี ไวเออร์ (Jerry Weiers) นายกเทศมนตรีเมืองเกลนเดล ประกาศผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัวว่า เมืองเกลนเดลจะเปลี่ยนเชื่อเมืองเป็น “สวิฟต์ ซิตี้” (Swift City) ชั่วคราวเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ เพื่อต้อนรับการมาทัวร์คอนเสิร์ตของ “เทย์เลอร์ สวิฟต์” ศิลปินขวัญใจคนทัวร์โลก ที่เริ่มต้นทัวร์ที่เมืองเกลนเดลเป็นที่แรก ในวันที่ 17-18 มี.ค. นี้ ณ สนามกีฬาสเตรท ฟาร์ม (State Farm Stadium)

พร้อมกันนี้ ในทวีตของนายกเทศมนตรียังมีรูปแถลงการณ์ของเมืองที่นำชื่อเพลงของเทย์เลอร์ สวิฟต์ มาร้อยเรียงเป็นแถลงการณ์ อีกทั้งตัวเขาและเจ้าหน้าที่ของเมืองยังใส่เสื้อสีพาสเทลที่มีข้อความ “ยินดีต้อนรับสู่สวิฟต์ ซิตี้” (Welcome to Swift City)

สวิฟตี้กันทั้งเมือง! “เกลนเดล” เปลี่ยนชื่อเมือง ต้อนรับคอนเสิร์ต “เทย์เลอร์ สวิฟต์” 

แถลงการของเมืองสวิฟต์ ซิตี้

 

อีกทั้งในเว็บไซต์ของเมืองเกลนเดลยังระบุว่า ในวันคอนเสิร์ตบรรดาร้านอาหารและบาร์ภายในเมืองจะมีเมนูอาหารและเครื่องดื่มที่ได้รับแรงบันดาลใจจากเพลงของสวิฟต์ อีกทั้งยังมอบส่วนลดพิเศษให้แก่เหล่าสวิฟตี้ แฟนคลับที่มาชมคอนเสิร์ตอีกด้วย

สวิฟต์เริ่มทัวร์ครั้งใหม่ในชื่อว่า “The Eras Tour” ตั้งแต่เดือนนี้เป็นต้นไป ยาวไปจนถึงเดือนส.ค. โดยจะเริ่มทัวร์ที่เมืองเกลนเดล หรือ สวิฟต์ ซิตี้ ในสัปดาห์นี้ ก่อนที่จะย้ายไปเล่นคอนเสิร์ตเมืองต่าง ๆ ทั่วสหรัฐและแคนาดา ซึ่งทัวร์คอนเสิร์ตในครั้งนี้เป็นคอนเสิร์ตใหญ่ในรอบ 5 ปีของสวิตฟ์ ทำให้บัตรคอนเสิร์ตขายหมดทุกที่ในเวลาอันรวดเร็ว และมีผู้คนจำนวนมากเอาบัตรมาขายต่อในราคาที่สูงลิ่ว ส่งผลให้สวิตฟ์กลายเป็นศิลปินที่ทำยอดขายบัตรคอนเสิร์ตภายในเวลาหนึ่งวันมากที่สุดในโลก ด้วยจำนวน 2 ล้านใบ

เพื่อเฉลิมฉลองการเริ่มต้นทัวร์ครั้งใหม่ของสวิตฟ์ เธอจึงได้ปล่อย 4 เพลงใหม่ ไม่ว่าจะเป็น ​​”Eyes Open (Taylor's Version)” “Safe & Sound (Taylor's Version)” “If This Was A Movie (Taylor's Version)” และ “All Of The Girls You Loved Before” ออกมาให้ได้ฟังพร้อมกันในวันที่ 17 มี.ค. 2566 เวลา 11.00 น. ตามเวลาประเทศไทย

 

  • ที่ญี่ปุ่นก็ “SEVENTEEN” กันทั่วเมือง

ข้ามฝั่งมาที่ญี่ปุ่น ก็มีกรณีศึกษาที่ท้องถิ่นในฐานะเจ้าบ้านจัดคอนเสิร์ตได้โหมโปรโมท สร้างบรรยากาศเมืองเพื่อต้อนรับศิลปิน อย่างตอนที่ “Seventeen” ศิลปินบอยแบนด์จากเกาหลีใต้ที่สุดฮ็อตในญี่ปุ่น มาจัดโดมทัวร์ที่ญี่ปุ่นในชื่อ "SEVENTEEN WORLD TOUR [BE THE SUN] JAPAN" เมื่อเดือน พ.ย. 2565 ต้นสังกัดของทั้ง 13 หนุ่มอย่าง HYBE Corporation ได้ร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐและเอกชนในแต่ละเมือง จัดทำโปรเจกต์โฆษณาคอนเสิร์ตที่เรียกว่า “SEVENTEEN BE THE SUN THE CITY” โดยทำให้ทั้งเมืองที่วงบอยแบนด์ไปจัดคอนเสิร์ต ทั้งโอซาก้า กรุงโตเกียว นาโกย่า เต็มไปด้วยภาพของพวกเขา

เริ่มจากโอซาก้าที่มีรถไฟฟ้าด่วนพิเศษระหว่างโอซาก้านัมบะกับสนามบินนานาชาติคันไซห่อหุ้มทั้งขบวนด้วยภาพโฆษณาของวง Seventeen และมีการจำหน่ายตั๋วรถไฟลิมิเตด เอดิชันรูปวง Seventeen พร้อมด้วยไฮไลต์เด็ดกิจกรรมแรลลีที่ให้เหล่า “กะรัต” แฟนคลับของหนุ่ม ๆ ได้เก็บแสตมป์ดิจิทัลตามสถานที่สำคัญของโอซาก้าทั้ง 18 แห่ง ที่ตกแต่งด้วยภาพของ Seventeen เช่น ชิงช้าสวรรค์ HEP FIVE 

ขณะที่ ตึก Tokyo Skytree แลนด์มาร์กสำคัญของกรุงโตเกียว ก็จัดแสดงโชว์แสงสีสุดพิเศษตระการตา โดยใช้สีส้ม ซึ่งเป็นสีอัลบั้ม BE THE SUN และ สีโรสควอตซ์ (Rose Quartz) และ สีฟ้าเซเรนิตี้ (Serenity) และหลังจากที่คอนเสิร์ตจบจะมีปาร์ตี้ต่อที่จุดชมวิวของ Tokyo Skytree อีกด้วย

ไม่เพียงแค่นั้นที่ BOX cafe&space ทั้ง 3 สาขาถูกเนรมิตเป็นแกลเลอรีจัดแสดงรูปภาพของสมาชิกวงทั้ง 13 คน พร้อมด้วยการเปิดเพลงฮิตของวงและข้อความพิเศษจากสมาชิกของวง และมีการขายอาหารที่เป็นสูตรของสมาชิกวงอีกด้วย และหากไปพักที่ Royal Park Canvas ในกินซ่า ที่ตกแต่งโรงแรมและห้องพักด้วยภาพของวง Seventeen และยังมีดีวีดีคอนเสิร์ตให้ได้ชมแบบจุใจอีกด้วย ส่วนในนาโกยานั้นมีการแสดงไฟในเมืองซากาเอะ อีกทั้งในทุกเมืองจะมีร้านขายสินค้า คาเฟ่ นิทรรศการ และพิพิธภัณฑ์ที่เกี่ยวกับ Seventeen อีกด้วย

 

  • กลยุทธ์โปรโมทเมืองแบบสุดเนียน

สำหรับไอเดียการแปลงโฉมเมืองไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนชื่อ ไปจนถึงสร้างบรรยากาศต่างๆ เพื่อต้อนรับคอนเสิร์ตของศิลปินชื่อดัง อย่างที่เล่ามานั้น นอกจากจะทำให้ทั้งตัวศิลปินและแฟนคลับที่เดินทางมาจากทั่วสารทิศได้รู้สึกดีแล้ว เมืองเองก็ได้ประโยชน์แบบชัดเจนจากกระแสที่เป็นไวรัลไปทั่วโลก 

อย่างเช่น เมืองเกลนเดล (Glendale) รัฐแอริโซนา สหรัฐ สถานที่จัดคอนเสิร์ต “เทย์เลอร์ สวิฟต์” นั้น ก็ถือว่า ประสบความสำเร็จอย่างมาก เพราะเมื่อข่าวการเปลี่ยนชื่อเมืองถูกบอกต่อๆ กันในโลกออนไลน์แล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ ชาวเน็ตจากทั่วโลก รวมถึงไทย ต่างก็อยากรู้ว่า จริงไหม และอดไม่ได้ที่จะลองเสิร์ชดูในกูเกิลแม็ป

และส่งผลให้เมืองที่ไม่ได้เด่นดังระดับโลกอย่าง “เกลนเดล” ที่เชื่อว่า หลายคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่า ตั้งอยู่ที่ตรงไหน ก็เป็นที่รู้จักมากขึ้น

สวิฟตี้กันทั้งเมือง! “เกลนเดล” เปลี่ยนชื่อเมือง ต้อนรับคอนเสิร์ต “เทย์เลอร์ สวิฟต์” 

ป้ายเข้าเกตของสนามบินสำหรับไฟล์ทที่จะเดินทางไปยังเมืองเกลนเดล

 

ส่วนถ้าจะวัดกันในมุมเศรษฐกิจ ก็สามารถดูได้จากเคสโดมทัวร์ทั้ง 6 รอบของ Seventeen ที่มีเหล่า “กะรัต” (ชื่อกลุ่มแฟนคลับ) เข้าชมคอนเสิร์ตในครั้งนี้ถึง 270,000 คน สามารถช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจของเมืองได้อย่างดี หลังจากซบเซาไปในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพราะแฟน ๆ ต้องเข้าร่วมทำกิจกรรมต่าง ๆ และต้องจับจ่ายใช้สอยในร้านค้า คาเฟ่ โรงแรมทั้งที่อยู่ในกิจกรรมและไม่ได้อยู่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

สวิฟตี้กันทั้งเมือง! “เกลนเดล” เปลี่ยนชื่อเมือง ต้อนรับคอนเสิร์ต “เทย์เลอร์ สวิฟต์” 

บรรยากาศในญี่ปุ่นที่ตกแต่งไปทั่วทั้งเมืองด้วยภาพของ SEVENTEEN

 

แม้ว่าจะยังไม่มีตัวเลขรายได้ออกมาอย่างเป็นทางการ แต่กลยุทธ์ The City ที่ HYBE เคยใช้กับวง BTS บอยแบนด์อันดับ 1 ของโลก ที่นครลาสเวกัสสามารถทำรายได้ไปได้กว่า 162 ล้านดอลลาร์ ตามการรายงานของ Arirang TV สำนักข่าวของเกาหลีใต้

กิจกรรมเหล่านี้ล้วนสร้าง “ประสบการณ์” แปลกใหม่ให้แก่เหล่าผู้ชมและแฟนคลับของศิลปิน แม้หลายคนจะมองว่ารายได้ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนชื่อเมืองเป็นชื่อศิลปินจะเป็น “ผลพลอยได้” เพราะเป้าหมายหลักของนักท่องเที่ยวคือการมาชมคอนเสิร์ตและตามรอยศิลปินที่พวกเขารัก แต่รายได้เหล่านี้เข้าสู่ผู้ประกอบการท้องถิ่นอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย

 

ที่มา: American SongwriterGlendale,  Korea JoongangNMERolling Stone