กินลดโลกร้อน สร้างความยั่งยืน สไตล์ ‘ยักษ์กะโจน’

กินลดโลกร้อน สร้างความยั่งยืน สไตล์ ‘ยักษ์กะโจน’

การพูดุคยบอกเล่าถึงความสำคัญในการกินอาหาร ที่มีผลต่อร่างกายและมีความสัมพันธ์กับทรัพยากรในโลก เราควรกินอย่างไรถึงจะดีที่สุด

คนเราต้องกิน อาหาร ทุกวัน วันละสามมื้อ ขณะที่ ทรัพยากร ในโลกมีจำนวนจำกัด และหมดไปทุกวัน เราไม่เคยรู้เลยว่า การกินอาหารของเราเป็นแบบสร้างสรรค์หรือทำลาย

ยังมีกลุ่มคนที่ร่วมกันผลักดัน การกินแบบสร้างสรรค์ เอื้อเฟื้อต่อสิ่งแวดล้อม และเพิ่มความหลากหลายให้กับอาหาร ที่มีความหลากหลายน้อยลงไปทุกที

นั่นก็คือกลุ่ม ‘ธรรมธุรกิจ’ ที่มี ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร หรือ อาจารย์ยักษ์ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และ โจน จันได ผู้ก่อตั้ง สวนพันพรรณ จ.เชียงใหม่

ในงาน Sustainability Expo 2022 ที่จัดขึ้นเป็นครั้งที่สามที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กับการเสวนาหัวข้อ ‘ลดโลกร้อนด้วยการกินแบบ ยักษ์กะโจน’

กินลดโลกร้อน สร้างความยั่งยืน สไตล์ ‘ยักษ์กะโจน’

อาจารย์ยักษ์ ประธานที่ปรึกษา บริษัท ธรรมธุรกิจ วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด กล่าวว่า การกินมีผลและสัมพันธ์กับโลกอย่างไร

"การบริโภค แบ่งได้เป็น 3 ส่วนใหญ่ ๆ คือ 1) กระบวนการผลิตอาหาร ยกตัวอย่าง การทำประมงขนาดใหญ่เพื่อให้ได้ กุ้ง หอย ปู ปลา สาหร่าย มา เผาผลาญพลังงานมาก เรือวิ่ง 1 ชั่วโมง ใช้น้ำมัน 100 ลิตร สร้างคาร์บอนมากมายในอุตสาหกรรมประมง

2) กระบวนการขนส่งและการปรุง อาหาร 1 จาน ต้องปรุง 7 หม้อ ตั้ง 7 เตา ปรุงแยกกันแล้วเอามารวมกันเป็นเมนูเดียว เป็นการเผาผลาญพลังงานมากเกินกว่าจะได้กินอาหารสักจาน

ส่วนเรื่อง การขนส่ง ผลิตในประเทศหนึ่งต้องขนส่งเป็นพันเป็นหมื่นกิโลเมตรเพื่อมากินอีกที่หนึ่ง การกินข้ามโลก เผาผลาญมหาศาลจนโลกร้อนได้รับผลกระทบไปหมด ถ้าไม่จำเป็นอย่ากินของที่ต้องผ่านการขนส่งมากจนเกินไป

 3) การแบ่งปันกันกินอย่างทั่วถึง เมื่อเกิดปัญหาขาดแคลนอาหาร ทำให้เกิดความขัดแย้ง นำมาสู่ สงคราม ขนอาวุธไปแย่งน้ำมัน แย่งพลังงาน แย่งอาหาร นำไปสู่ปัญหามากมายทำให้โลกร้อนระอุ"

กินลดโลกร้อน สร้างความยั่งยืน สไตล์ ‘ยักษ์กะโจน’

  • ทางออกของปัญหา

องค์กรว่าด้วยอาหารและเกษตรโลก จึงได้ออก นโยบาย สนับสนุนให้เกิดการกินอย่างทั่วถึง อาจารย์ยักษ์กล่าว

"โดยให้น้ำหนักกับ เกษตรกรและประมงรายเล็ก หรือ Small Scale Farm ถ้าเกษตรกรรายเล็กแข็งแรง เขาจะแจกกันกินทั้งหมู่บ้าน ทำให้ไม่มีใครอด

ความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ และการระบาดของโควิด ทำให้นักวิชาการทั้งโลกยอมรับว่า ระบบการผลิตอาหารที่ทำลายล้างทำให้โลกร้อนขึ้น

จึงต้องเอาจริงเอาจังกับ ผู้ผลิตรายเล็ก เพราะมันเป็นทางรอดของมนุษยชาติ และเป็นการแก้ปัญหาโลกร้อนไปด้วยพร้อมกัน

ยกตัวอย่าง ชาวประมงรายย่อย จับปลาแบบไม่ทำลายล้าง จับแล้วก็อนุรักษ์ลูกกุ้ง ลูกปลา จึงอยู่กันมาได้ 5,000 ปี

แต่พอเราเข้าสู่การผลิตเชิงอุตสาหกรรม การทำประมง การทำเกษตรกรรมขนาดใหญ่ ก็แทบไม่เหลืออะไรเลย ป่าหายหมด เราจึงต้องมากินให้ป่ามันเกิด”

กินลดโลกร้อน สร้างความยั่งยืน สไตล์ ‘ยักษ์กะโจน’

  • สาเหตุมาจากการ ‘กิน’      

โจน จันได ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ธรรมธุรกิจ วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด กล่าวว่า ปัญหาความไม่ยั่งยืน ปัญหาโลกร้อน ปัญหาวิกฤตสิ่งแวดล้อมทุกวันนี้ สาเหตุมาจากการกิน

"ปัญหามาจากการเรียนโภชนาการที่บอกว่า ต้องกิน โปรตีน วิตามิน เกลือแร่ คนจำนวนมากจึงกินกันแต่ เนื้อ นม ไข่ นานเข้าเกิดเป็นวัฒนธรรม กินแต่โปรตีน ไม่กังวลว่ากินเกลือแร่และวิตามินพอมั้ย

นำไปสู่การกินน้อยชนิดลงไปเรื่อย ๆ คนไทยกินแต่ ไก่ ไข่ หมู เพราะรัฐบาลสนับสนุนอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ผลิตสิ่งเหล่านี้ ที่โตมาด้วย ข้าวโพด และ มันสำปะหลัง

ชาวบ้านก็โค่นป่าหาพื้นที่เลี้ยงสัตว์ ยิ่งคนกิน ไก่ ไข่ หมู มากขึ้นเท่าไร ป่าก็ยิ่งลดลง ๆ หน้าดิน หาย ธรรมชาติใช้เวลาเป็นร้อยปีเป็นพันปีกว่าจะสร้างได้ 1-2 นิ้ว แล้วเราก็โค่นป่า ไฟเผา หน้าดินหายไปเลย 1 นิ้ว”

กินลดโลกร้อน สร้างความยั่งยืน สไตล์ ‘ยักษ์กะโจน’

  • กินน้อยชนิดส่งผลกระทบต่อโลก  

พฤติกรรมการกินของคนที่น้อยชนิดลงไปเรื่อย ๆ ทำให้ ระบบนิเวศ พังทลายลง ความสมดุลสูญหายไป โจน จันได กล่าวต่อ

“การกินน้อยชนิดแต่ปริมาณมากขึ้น ทำให้ร่างกายมีแต่ ไก่ ไข่ หมู ได้รับสารอาหารพวกนี้มากเกินความจำเป็น แต่ขาดสารอาหารที่จำเป็น สุขภาพก็แย่ลง เป็นโรคที่ไม่ได้เกิดจากเชื้อโรคมากขึ้น เช่น มะเร็ง หัวใจ และอื่น ๆ

การกินส่งผลกระทบต่อโลก เราเริ่มเห็นสงครามบ่อยขึ้น รุนแรงขึ้น น้ำท่วม ฝนตก พายุถล่ม โลกร้อน ฯลฯ เพราะทุกอย่างในโลกเชื่อมโยงสัมพันธ์ถึงกันหมด

การกินน้อยชนิด ลงไปเรื่อย ๆ กลายเป็นปัญหาใหญ่ของโลกทุกวันนี้ ยกตัวอย่าง ป่าฝนในอาร์เจนติน่าที่มีขนาดใหญ่ที่สุด หดหายลงไปทุกปี เพราะเขาถางป่า เลี้ยงวัว ส่งเนื้อวัวไปขายที่อเมริกา คนอเมริกันกินเนื้อวัวเยอะมาก จนป่าอาร์เจนติน่าจะหายหมดแล้ว

สำหรับคนไทย 30 ปีย้อนหลัง กินปลา 200 ชนิดต่อปี กินผักมากกว่า 100 ชนิดต่อปี ปัจจุบันเหลือแค่ ปลาดุก ปลานิล ปลาทับทิม 3 อย่าง แล้วเลี้ยงด้วยข้าวโพดผสมปลาเล็กปลาน้อย

ต้นตอของปัญหา คือ กระบวนการผลิตที่ทำลายสิ่งแวดล้อม การถางป่าเพื่อปลูกข้าวโพด ฉีดยาฆ่าหญ้าใส่ปุ๋ย ทุกวันนี้พื้นที่ป่าหายไปเหลือไม่ถึง 15 เปอร์เซ็นต์แล้ว การกินที่ผิดปกติของเราเป็นสาเหตุปัญหาความไม่ยั่งยืนบนโลกใบนี้"

กินลดโลกร้อน สร้างความยั่งยืน สไตล์ ‘ยักษ์กะโจน’

  • ยักษ์กะโจน ร้านอาหารเกษตรอินทรีย์

ผู้ก่อตั้งทั้งสอง ยืนยันว่า การกินอาหารภายใต้แนวคิดและการผลิตแบบ ยักษ์กะโจน สามารถช่วยสร้างป่าและลดโลกร้อนได้จริง

อาจารย์ยักษ์ กล่าวว่า ข้าวของเรามาจากเกษตรกรรายเล็กที่ผ่านการอบรมของเรา

"เงื่อนไขที่หนึ่ง ไม่ฆ่าหญ้า ไม่ละเมิดศีลข้อ 1 เพราะยาฆ่าหญ้าและปุ๋ยกว่าจะได้มาก็ต้องเจาะพื้นโลกเอาน้ำมันมาสกัด สมาชิกของเราไม่มีการผลิตที่ทำลายโลก

ปุ๋ยของเราได้มาจากการหมักใบไม้ ทำให้ดินสมบูรณ์ ดินฟู มีความหลากหลาย มีจุลินทรีย์ ต้นไม้ช่วยเก็บคาร์บอนไว้ในต้นไม้ เก็บในดิน สวนเราเย็นกว่า ไร่อ้อย ไร่ข้าวโพด 5-10 องศาเซลเซียส ช่วยทำให้โลกเย็นลง”

โจน จันได กล่าวว่า ขอแค่กิน อาหารเกษตรอินทรีย์ ก็ได้มีส่วนช่วยสนับสนุนสิ่งแวดล้อมแล้ว

"ทันทีที่คุณกินอาหารเกษตรอินทรีย์เข้าไป คุณได้ช่วยสร้างป่าแล้ว การให้ชีวิตสำคัญกว่าการให้ทุกอย่างบนโลกนี้

การกินจึงมีความสำคัญมาก ทุกครั้งที่กินข้าไป เราควรรู้ว่าอาหารมาจากไหน ปลูกยังไง ขนส่งยังไง ทุกวันนี้คนจำนวนมากไม่รู้ที่มา ทำให้กินแล้วเจ็บป่วย และทำลายทุกอย่าง

กินลดโลกร้อน สร้างความยั่งยืน สไตล์ ‘ยักษ์กะโจน’

เราไม่ได้หวังกำไร แต่ต้องการสร้างโลกที่น่าอยู่ สร้างอาชีพที่ยั่งยืนให้เกษตรกร ผู้บริโภคได้กินอาหารคุณภาพดี อาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี ให้ดินกลับมามีชีวิต ให้น้ำกลับมาใส พืชพรรณกลับมาหลากหลาย

ถ้าเราสนับสนุนการกินแบบนี้ เกษตรกรก็จะหันมาทำ เกษตรอินทรีย์ มากขึ้น อาหารก็หลากหลายมากขึ้น ส่งผลมาที่ต้วเรา เป้าหมายเราต้องการแก้ปัญหาที่คนปลูกอยู่ไม่ได้ เกษตรกรลดจำนวนลงทั่วโลก คนกินก็กินขยะเป็นอาหาร

เราอยากทำตรงนี้ เราหวังว่าลูกหลานจะมีอาหารดี ๆ มีแผ่นดินสบาย ๆ อยู่อาศัย มีร่มเงาเย็น ๆ ให้ได้พัก เราอยากทำให้โลกน่าอยู่ คนมีความสุขมากกว่าทุกวันนี้

อาจารย์ยักษ์ กล่าวเสริมว่า มุ่งหวังให้อาชีพเกษตรกรไทยยั่งยืนอยู่ได้ด้วยตนเอง

"ระบบเกษตรกรรมจะต้องยั่งยืนชั่วลูกชั่วหลาน เกษตรกรต้องไม่ทิ้งพ่อทิ้งแม่แล้วมาทำงานในเมือง เกษตรกรต้องโตที่นั่น พัฒนาที่นั่น เราอยากเห็นความยั่งยืนแบบนี้ เพราะความยั่งยืนอยู่ที่คน ไม่ได้อยู่ที่ที่ดิน"