รู้จักเทรนด์ “กล่องสุ่ม” ไม่รู้ว่าของข้างในคืออะไร แต่อยากได้ซะเหลือเกิน

รู้จักเทรนด์ “กล่องสุ่ม” ไม่รู้ว่าของข้างในคืออะไร แต่อยากได้ซะเหลือเกิน

เจาะลึกเทรนด์การตลาดที่เรียกว่า “กล่องสุ่ม” ที่เพิ่งเข้ามาในฮิตในประเทศไทยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เทรนด์นี้คืออะไร? ทำไมถึงขายดีจนเป็นกระแสแรงในกลุ่มผู้บริโภคคนไทย ทั้งกล่องสุ่มอาหารทะเล กล่องสุ่มหมูกระทะ ฯลฯ

เหล่าทาสการตลาดทั้งหลาย นอกจากจะโดนโปร 9.9 / โปร 10.10 ตัวเลขมหัศจรรย์ที่แบรนด์ต่างๆ ขนทัพสินค้าโปรโมชั่นลดราคา หรือแจกส่วนลดเชิญชวนให้เสียเงินทุกรอบแล้ว อีกหนึ่งการตลาดที่กำลังฮิตในไทยอย่าง "กล่องสุ่ม" ก็ดึงดูดขาช้อปได้ไม่น้อยเช่นกัน

โดยเฉพาะกล่องสุ่มอาหารทะเล กล่องสุ่มหมูกระทะ ที่เคยกลายเป็นไวรัลในโลกออนไลน์ในอยู่ช่วงหนึ่งก่อนหน้านี้

ปิยะ จงพิริยะไพบูลย์ เจ้าของร้าน ทะเลมือถือ-ปลาทะเลออนไลน์ ออกมายอมรับว่า หลังขายกล่องสุ่มอาหารทะเลผ่านออนไลน์เพียง 1 สัปดาห์ ทางร้านก็มียอดขายเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวโดยมีออร์เดอร์สูงสุดถึง 500 กล่องต่อวัน ทั้งในกรุงเทพฯ เเละต่างจังหวัด ปัจจุบันรายได้ต่อวันอยู่ที่ 2-3 แสนบาท

รู้จักเทรนด์ “กล่องสุ่ม” ไม่รู้ว่าของข้างในคืออะไร แต่อยากได้ซะเหลือเกิน

ด้วยกระแสที่มาแรงขนาดนี้ เชื่อว่าหลายคนคงสงสัยว่าต้นกำเนิดของกล่องสุ่มว่ามีต้นกำเนิดมาจากไหน? ทำไมถึงฮอตฮิตในไทย? ซื้อกล่องสุ่มแบบไหนให้คุ้มสุดๆ  กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ รวบรวมคำตอบมาไว้ให้แล้ว

 

  • “กล่องสุ่ม” มาจากไหน? ใครเป็นคนคิด?

กล่องสุ่มกลายเป็นสินค้าที่คนไทยเริ่มรู้จักมากขึ้นในช่วงนี้ แต่รู้หรือไม่? ต้นกำเนิดกล่องสุ่มไม่ได้เพิ่งมีมาเมื่อ 2-5 ปีนี้ แต่มีมานานตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เสียอีก โดยผู้เริ่มเทรนด์การตลาดนี้เกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่น

ที่มาของกล่องสุ่มใช้หลักการเดียวกับ ถุงโชคดี หรือ Lucky bag หรือ ภาษาญี่ปุ่นใช้คำว่า ฟุกุบุคุโระ คือ สินค้าที่วางขายโดยการคละสินค้าไว้ในถุง และผู้ซื้อนั้นไม่รู้ว่าข้างในนั้นมีอะไรบ้าง

ถ้าใครไปเที่ยวญี่ปุ่นบ่อยๆ จะรู้ว่า สินค้าฟุกุบุคุโระ ได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม และติดท็อปลิสต์ของน่าซื้อสำหรับนักท่องเที่ยวที่ไปญี่ปุ่น (หมวดเดียวการหยอดกาชาปองที่ต้องลองสักครั้ง) แม้ว่าจะไม่ได้มีประวัติชัดเจนของถุงโชคดีนี้ แต่เมื่อค้นแล้วพบความน่าจะเป็นอยู่หลักๆ คือ

รู้จักเทรนด์ “กล่องสุ่ม” ไม่รู้ว่าของข้างในคืออะไร แต่อยากได้ซะเหลือเกิน

ยุคเอโดะ (ค.ศ. 1603-1868) ร้านกิโมโนคละสินค้าภายในร้านใส่ถุงทึบวางขาย ตั้งชื่อว่า ถุงเอบิสึ มาจากชื่อเทพเจ้าการค้า และโชคลาภของญี่ปุ่น

ยุคเมจิ (ค.ศ. 1868 - ค.ศ. 1912) เปลี่ยนคำว่า ถุงเอบิสึ เป็นคำว่า ฟุกุบุคุโระ (แปลว่าโชคดี) และเริ่มวางขายช่วงปีใหม่  และขยายไปทั่วประเทศช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

 

  • วัฒนธรรมฟุกุบุคุโระ

ทุกช่วงปีใหม่ของทุกปี เริ่ม 1 ม.ค. จะมีช่วงวันฟุกุบุคุโระ คือวันที่ร้านค้า และแบรนด์ต่างเปิดขายฟุกุบุคุโระเป็นจำนวนมาก และผู้คนต่อแถวซื้อกันตั้งแต่ไม่เปิดร้าน แถวต่อคิวยาวเป็นกิโลในแต่ละครั้ง โดยที่ร้านมีการให้รายละเอียดของถุงสินค้าคร่าวๆ และเครมว่าสินค้าที่ได้คุ้มกว่าราคาที่จ่ายไปแน่นอน

แต่ถ้าพูดถึงหลักการทางการตลาดจริงๆ ของ ฟุกุบุคุโระ หรือถุงโชคดีแล้วนั้น คือการระบายสินค้าค้างสต็อคของปีนั่นเอง

สำหรับประเทศไทยเทรนด์กล่องสุ่มเริ่มประมาณปี 2562 มาจากยูทูบเบอร์ และอินฟลูเอนเซอร์ เปิดกล่องสุ่มจากต่างประเทศ และในปีนี้ 2564 กล่องสุ่มก็บูมมากขึ้น มีสินค้าหลากหลายประเภทขึ้น เช่น เสื้อผ้า เครื่องสำอาง อาหารทะเล หมูกระทะ ขนม เป็นต้น

รู้จักเทรนด์ “กล่องสุ่ม” ไม่รู้ว่าของข้างในคืออะไร แต่อยากได้ซะเหลือเกิน

วิวัฒนาการของถุงโชคดีในปัจจุบัน อาจจะมีการปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ไม่ได้อยู่ในถุง แต่อาจจะเป็นกล่อง หรืออะไรก็ตามที่แบรนด์ต่างๆ ทำออกมาขาย

รวมถึงอาจจะไม่ได้ขายเฉพาะช่วงปีใหม่ แต่มีการใช้เทศกาลอื่นๆ ที่ผู้คนมักจะออกมาจับจ่ายใช้สอยจัดโปรโมชั่นไปในตัว ร้านค้าบางแห่งที่มักจะมีถุงโชคดีตลอดทั้งปี ได้แก่ APPLE, Muji, Uniqlo, Lotteria (เครือข่ายอาหารจานด่วน), Starbucks, Sanrio และแม้แต่ UFO Catchers!

นอกจากนี้ยังมีการเปิดให้จองออนไลน์โดยเฉพาะในยุคโควิดแบบนี้ ที่ต้องใช้มาตรการลดการแออัดในพื้นที่สาธารณะ

 

  • ท้าทายขาช้อป ยิ่งไม่เห็นยิ่งอยากได้

นอกจากความคุ้มค่าของสินค้าที่อยู่ภายในถุงโชคดี หรือกล่องสุ่มแล้ว เราต้องยอมรับว่าส่วนหนึ่งที่ผู้คนชื่นชอบสินค้าประเภทนี้ คือ การได้รับความท้าทาย  ความหวัง และความไม่คาดคิดมาก่อนของผู้ซื้อ

พฤติกรรมเหล่านี้ถูกศึกษาและเผยแพร่บน Harvard Business Review สรุปผลการศึกษาได้ว่า ความตื่นตาตื่นใจหรือความเซอร์ไพรส์ คือเครื่องมือทางการตลาดที่ทรงพลัง

โดยสรุปได้ว่า “การไม่รู้ และอยากรู้”  คือแรงกระตุ้นอย่างร้ายกาจในตัวมนุษย์ จึงไม่แปลกว่าทำไมคนเราจึงชอบหมุนกาชาปอง เซอไพรส์วันเกิด และซื้อกล่องสุ่ม ที่ไม่รู้ว่าอะไรคือสิ่งของข้างใน

นอกจากนี้ สินค้าเหล่านี้ยังเต็มไปด้วยอารมณ์ความสนุก แต่ทริคอย่างหนึ่งที่ถ้าใครจะซื้อกล่องสุ่มจะต้องพึงระลึกไว้เสมอว่า กล่องสุ่มบางประเภทเราก็ต้องตัดสินใจเลือกซื้อให้คุ้มค่าสูงสุดกับเงินที่เสียไป โดยการดูที่ประเภทของสินค้า หรือราคาที่สมเหตุสมผล ไม่ว่าอย่างไรก็อย่าให้ตัวเองขาดทุนกว่าราคาซื้อ

หรือการคิดถึงปลายทางของการซื้อกล่องสุ่ม เช่น ถ้ามีสินค้าที่เราไม่ชอบ ไม่มีไซส์ที่ต้องการ จะต้องทำอย่างไร เพราะไม่งั้นแล้วจะทำให้กล่องสุ่มไร้ประโยชน์ เก็บไว้รกบ้าน

สำหรับทริคกล่องสุ่มที่เป็นประเภทอาหาร ก็ควรเลือกที่ระยะเวลาของสินค้า วันหมดอายุ ถ้าเป็นอาหารสดต้องเลือกการขนส่งที่รวดเร็ว

ส่วนเทคนิคสำคัญที่พลาดไม่ได้เลยสำหรับการซื้อกล่องสุ่ม ก็คือ การดูความน่าเชื่อถือของร้านค้าก่อนจ่ายเงิน และดูรีวิวของผู้ที่เคยซื้อไว้ประกอบการตัดสินใจ

---------------------------------

ที่มา : 

tokyotimes.org

newsonjapan.com

daimaru-matsuzakaya.jp

timeout.com