รู้จัก ‘บุญข้าวสาก’ ประเพณีสำคัญหนึ่งใน ‘วันสารทไทย’ ของชาวอีสาน

รู้จัก ‘บุญข้าวสาก’ ประเพณีสำคัญหนึ่งใน ‘วันสารทไทย’ ของชาวอีสาน

ทำความรู้จักประเพณี "บุญข้าวสาก" ที่จัดขึ้นเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว (วันสารทไทย) และเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับสัตว์นรกหรือเปรต โดยจะทำพิธีกรรมกันในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 ของทุกปี

เดือนกันยายน นับเป็นเดือนสำคัญสำหรับการไหว้และเคารพบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ส่วนใหญ่เรามักจะคุ้นหูแค่วัน สารทจีน ของชาวไทยเชื้อสายจีนเท่านั้น แต่ในขณะเดียวกันชาวไทยตามภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศก็มีประเพณี "สารทไทย"  เพื่อทำบุญและไหว้บรรพบุรุษไม่ต่างกัน โดยในแต่ละภูมิภาคของไทยก็จะเรียกการทำบุญวันสารทไทยแตกต่างกันไป ได้แก่ 

บุญข้าวสาก ของชาวภาคอีสาน 

บุญชิงเปรต ของชาวภาคใต้ 

บุญสลากภัตร ของชาวภาคเหนือ

บุญข้าวสารท ของชาวภาคกลาง 

แม้จะมีชื่อเรียกต่างกันออกไป แต่จุดประสงค์หลักก็คือการทำบุญที่จัดขึ้นเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว และเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับสัตว์นรกหรือเปรต โดยตามประเพณีจะทำพิธีกรรมกันในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10

บุญข้าวสาก นับเป็นประเพณีที่ไม่ค่อยถูกพูดถึงมากนักเมื่อเทียบกับภาคอื่นๆ อย่าง ประเพณีชิงเปตรของภาคใต้ หรืองานบุญสลากภัตรของชาวภาคเหนือ กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ จึงพาไปทำความรู้จักกับวันบุญข้าวสาก ว่ามีตำนานและความน่าสนใจอย่างไรบ้าง 

159911855981

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

 
 
 

 

 

  • ตำนานบุญข้าวสาก

บุญข้าวสาก มีเรื่องเล่าไว้ในธรรมบทว่า มีบุตรชายกฎุมพี(คนมั่งมี)ผู้หนึ่ง เมื่อพ่อสิ้นชีวิตแล้วแม่ได้หาหญิงผู้มีอายุและตระกูลเสมอกันมาเป็นภรรยา แต่อยู่ด้วยกันหลายปีไม่มีบุตร แม่จึงหาหญิงอื่นมาให้เป็นภรรยาอีก ต่อมาเมียน้อยมีลูก เมียหลวงอิจฉา จึงคิดฆ่าทั้งลูกและเมียน้อยเสีย   

ฝ่ายเมียน้อยเมื่อก่อนจะตายก็คิดอาฆาตเมียหลวงไว้ ชาติต่อมาฝ่ายหนึ่งไปเกิดเป็นแมว อีกฝ่ายหนึ่งไปเกิดเป็นไก่ แมวจึงกินไก่และไข่ ชาติต่อมาฝ่ายหนึ่งไปเกิดเป็นเสือ อีกฝ่ายหนึ่งไปเกิดเป็นกวาง เสือจึงกินกวางและลูก ชาติสุดท้าย ฝ่ายหนึ่งไปเกิดเป็นคนอีกฝ่ายหนึ่งไปเกิดเป็นยักษิณี    

พอฝ่ายคนแต่งงานคลอดลูก นางยักษิณีจองเวร ได้ตามไปกินลูกถึงสองครั้งต่อมามีครรภ์ที่สาม นางได้หนีไปอยู่กับพ่อแม่ของตนพร้อมกับสามี เมื่อคลอดลูกเห็นว่าปลอดภัยแล้วจึงพร้อมด้วยสามีและลูกกลับบ้าน พอดีนางยักษิณีมาพบเข้า นางยักษิณีจึงไล่นาง สามีและลูก นางจึงพาลูกหนีพร้อมกับสามีเข้าไปยังเชตวันมหาวิหาร ซึ่งพอดีพระพุทธเจ้ากำลังทรงแสดงพระธรรมเทศนาอยู่   นางและสามีจึงนำลูกน้อยไปถวายขอชีวิตไว้ นางยักษ์จะตามเข้าไปในเชตวันมหาวิหารไม่ได้ เพราะถูกเทวดากางกั้นไว้ พระพุทธเจ้าจึงโปรดให้พระอานนท์ไปเรียกนางยักษ์เข้ามาฟังพระธรรมเทศนา พระองค์ทรงสั่งสอนไม่ให้พยาบาทจองเวรกัน แล้วจึงโปรดให้นางยักษ์ไปอยู่ตามหัวไร่ปลายนา  

นางยักษ์ตนนี้มีความรู้เกณฑ์เกี่ยวกับฝนและน้ำโดยจะแจ้งให้ชาวเมืองได้ทราบ ชาวเมืองให้ความนับถือมาก   จึงได้นำอาหารไปส่งนางยักษ์อย่างบริบูรณ์สม่ำเสมอ นางยักษ์จึงได้นำเอาอาหารเหล่านั้นไปถวายเป็นสลากภัต แด่พระภิกษุสงฆ์วันละแปดที่เป็นประจำ

ชาวอิสานจึงถือเอาการถวายสลากภัต หรือบุญข้าวสากนี้เป็นประเพณีสืบต่อกันมา และเมื่อถึงวันทำบุญข้าวสาก นอกจากนำข้าวสากไปถวายพระภิกษุ และวางไว้บริเวณวัดเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติผู้ล่วงลับไปแล้ว ชาวนาจะเอาอาหารไปเลี้ยงนางยักษ์ หรือผีเสื้อนาในบริเวณนาของตนเปลี่ยนเรียกนางยักษ์ว่า "ตาแฮก"

159911857872

 

  • พิธีทำบุญข้าวสาก

ก่อนจะถึงวันที่จะต้องทำบุญข้าวสาก ชาวบ้านจะเตรียมอาหารชนิดต่างๆ ห่อด้วยใบตองไว้แต่เช้ามืด ข้าวสากจะห่อด้วยใบตองกล้วยกลัดหัว  กลัดท้าย  มีรูปคล้ายกลีบข้าวต้มแต่ไม่พับสั้น  ต้องเย็บติดกันเป็นคู่ 

ห่อที่ 1 คือ  หมาก พลู  และ บุหรี่   

ห่อที่ 2 คือ อาหารคาวหวาน อย่างละเล็กอย่างละน้อย  ประกอบด้วย

          1. ข้าวเหนียว เนื้อปลา เนื้อไก่ หมู และใส่ลงไปอย่างละเล็กอย่างละน้อยถือเป็นอาหารคาว

          2. กล้วย น้อยหน่า ฝรั่ง แตงโม สับปะรด ฟักทอง (แล้วแต่จะเลือกใส่เป็นอาหารหวาน

วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 ตอนเช้าจะนำภัตตาหารไปถวายพระภิกษุสามเณรครั้งหนึ่งก่อน พอถึงเวลาประมาณ 9 - 10 โมงเช้า พระสงฆ์จะตีกลองโฮม(รวม)  ญาติโยมจะนำอาหารที่เตรียมไว้มาถวายพระสงฆ์  โดยการถวายจะใช้วิธีจับสลาก   เมื่อทุกคนมาพร้อมกันแล้ว ผู้ที่เป็นหัวหน้าจะกล่าวนำคำถวายสลากภัต  ญาติโยมว่าตามจบแล้วนำไปให้พระเณรจับสลาก   พระเณรจับได้สลากของใคร ผู้เป็นเจ้าของพาข้าว(สำรับกับข้าว)และเครื่องปัจจัยไทยทานก็นำไปประเคนให้พระรูปนั้นๆ จากนั้นพระเณรจะฉันเพล ให้พรญาติโยมจะพากันรับพรแล้วกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลไปให้ญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว        

เสร็จจากนี้แล้ว ชาวบ้านยังนำเอาห่อข้าวสากไปวางไว้ตามบริเวณวัด  พร้อมจุดเทียนและบอกกล่าวให้ญาติมิตรผู้ล่วงลับไปแล้วมารับเอาอาหารและผลบุญที่อุทิศให้  นอกจากนี้  ชาวบ้านจะนำอาหารไปเลี้ยง ตาแฮก ที่นาของตนด้วย เป็นเสร็จพิธีทำบุญข้าวสาก

159911859554

บุญข้าวสากจะเป็นประเพณีที่เรียบง่าย ไม่หวือหวา   และไม่มีการละเล่นแสงสีเสียงดึงดูดนักท่องเที่ยวมากนัก แต่ถึงอย่างนั้นประเพณีนี้ก็เต็มไปด้วยสายสัมพันธ์ในครอบครัวอย่างเต็มเปี่ยม