กิน "หญ้าหวาน" ไม่อ้วน! แถมรักษ์โลก เพราะปล่อยคาร์บอนน้อยกว่าน้ำตาลทราย 29%

กิน "หญ้าหวาน" ไม่อ้วน! แถมรักษ์โลก เพราะปล่อยคาร์บอนน้อยกว่าน้ำตาลทราย 29%

สายหวานรักษ์โลก ต้องกิน "หญ้าหวาน" แคลอรีต่ำ ไม่อ้วน! แถมเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะปล่อยคาร์บอนฟุตพรินต์น้อยกว่า "น้ำตาลทราย" 29%, น้อยกว่าน้ำตาลหัวบีท 55% และ น้อยกว่าน้ำเชื่อมข้าวโพด 79%

Key Points: 

  • สารสกัดจาก "หญ้าหวาน" ไม่เพียงเป็น "สารให้ความหวานแทนน้ำตาล" ที่แคลอรีต่ำ กินแล้วไม่อ้วนเท่านั้น แต่การบริโภคหญ้าหวานแทนน้ำตาลทรายหรือน้ำเชื่อมอื่นๆ พบว่าเป็นทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 
  • กระบวนการปลูกและผลิตสารสกัดจากหญ้าหวาน ปล่อยคาร์บอนฟุตพรินต์น้อยกว่าน้ำตาลทราย 29% น้อยกว่าน้ำตาลหัวบีท 55% และน้อยกว่าน้ำเชื่อมข้าวโพด 79%
  • เมื่อเทียบการผลิตหญ้าหวานกับกับอุตสาหกรรมการผลิตน้ำตาลทราย มีการประเมินพบว่า การใช้หญ้าหวานแทนน้ำตาลทราย อาจลดการใช้ที่ดินการเกษตรและการใช้น้ำในวงจรอุตสาหกรรมได้มากกว่า

ปฏิเสธไม่ได้ว่ายุคสมัยนี้ผู้คนใส่ใจกับสุขภาพมากขึ้น โดยเฉพาะการสรรหาอาหารที่ดีมีประโยชน์ต่อร่างกาย หรือหาตัวช่วยที่ดีกว่าเอามาทดแทนสิ่งเดิม อย่างการใช้ “หญ้าหวาน” แทนการใช้น้ำตาลทรายในการประกอบอาหารและเครื่องดื่ม เพื่อลดความเสี่ยงจากการบริโภคน้ำตาลสูงจนเสี่ยงต่อโรคภัยต่างๆ เช่น เบาหวาน เป็นต้น

ทั้งนี้ สารให้ความหวานแทนน้ำตาลในท้องตลาดมีหลายชนิด แต่หากต้องการสารให้ความหวานที่กินแล้วปลอดภัยที่สุด แถมแคลอรีต่ำ คงหนีไม่พ้น "หญ้าหวาน" นอกจากกินแล้วไม่อ้วน ยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย เพราะกระบวนการผลิตหญ้าหวานปล่อยคาร์บอนฟุตพรินต์น้อยกว่าน้ำตาลทรายถึง 29% 

 

  • กินหวานแบบรักษ์โลก เลือก "หญ้าหวาน" แทนน้ำตาลทราย

ไม่นานมานี้ มีงานวิจัยใหม่จาก University of Surrey เมืองกิลฟอร์ด ประเทศอังกฤษ ชี้ให้เห็นว่าสารสกัดจาก หญ้าหวาน เป็นที่รู้จักว่าสามารถให้รสชาติหวานในระดับเดียวกับน้ำตาล แต่มีแคลอรีเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย หญ้าหวานเป็นพืชที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมค่อนข้างต่ำ กล่าวคือ ใช้พื้นที่ในการปลูกน้อยกว่า ใช้น้ำน้อยกว่า และใช้วัตถุดิบในการผลิตน้อยกว่าอ้อยหรือข้าวโพด

สารสกัดจากหญ้าหวานผ่านกระบวนการน้อยที่สุด เมื่อเทียบกับการนำอ้อยไปผ่านกระบวนการการผลิตจนออกมาเป็นน้ำตาลทราย อีกทั้งมีข้อมูลจาก Pure Circle ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ผลิตหญ้าหวานรายใหญ่ที่สุด พบว่า กระบวนกการผลิตสารสกัดหญ้าหวานนั้น ปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์น้อยกว่าการผลิตน้ำเชื่อมข้าวโพดถึง 79%, น้อยกว่าการผลิตน้ำตาลหัวบีท 55% และน้อยกว่าการผลิตน้ำตาลทราย 29% ต่อหน่วยความหวาน

กิน \"หญ้าหวาน\" ไม่อ้วน! แถมรักษ์โลก เพราะปล่อยคาร์บอนน้อยกว่าน้ำตาลทราย 29%

นอกจากนี้ยังมีข้อมูลจากบริษัทคาร์กิลล์ ซึ่งเป็นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์จากหญ้าหวานหลายชนิด พบว่า การทำไร่หญ้าหวานมีคะแนนผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่ำที่สุด เมื่อเทียบกับการผลิตผลิตภัณฑ์น้ำตาลชนิดอื่นๆ ทั้งในแง่ของการใช้ที่ดินทำการเกษตร, ผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ, การสูญเสียโอโซน และความเป็นพิษต่อระบบนิเวศ

ทีมนักวิจัยยังระบุอีกว่า การผลิต “สตีวิออลไกลโคไซด์” ที่เป็นสารสกัดจากหญ้าหวานนั้น มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในด้านต่างๆ น้อยกว่า เมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมการผลิตน้ำตาลทราย โดยมีการประเมินด้วยว่าการใช้หญ้าหวานแทนน้ำตาลทรายในครัวเรือน อาจมีส่วนช่วยลดการใช้ที่ดินเกษตรกรรมและการใช้น้ำในวงจรของอุตสาหกรรมผลิตน้ำตาลได้ 

 

  • "หญ้าหวาน" และสารสกัดที่ชื่อว่า "สตีวิออลไกลโคไซด์" 

สารให้ความหวานแทนน้ำตาลที่ไม่มีแคลอรีอย่าง "สตีวิออลไกลโคไซด์" เป็นสารสกัดที่ได้มากจากใบหญ้าหวาน สามารถสร้างรสชาติหวานเทียบเคียงของน้ำตาลได้ โดยไม่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพ เช่น ฟันผุ โรคอ้วน หรือโรคเบาหวาน เนื่องจากมีความหวานมากกว่าน้ำตาลถึง 250 เท่า ตัวอย่างเช่น สตีวิออลไกลโคไซด์ 4 กรัมให้ความหวานเทียบเท่ากับน้ำตาล 1,000 กรัม เป็นต้น

ดร.เจมส์ ซัคลิง ผู้เขียนหลักของงานวิจัยนี้ซึ่งทำงานในศูนย์สิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนของมหาวิทยาลัย Surrey กล่าวว่า การใช้สารสกัดสตีวิออลไกลโคไซด์และผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติที่คล้ายคลึงกัน อาจเป็นข่าวดีสำหรับการดูแลสิ่งแวดล้อมของโลกใบนี้ อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องมีการศึกษาในมิติต่างๆ อีกมาก เพื่อทำความเข้าใจผลกระทบต่อสุขภาพของผู้บริโภคจากสตีวิออลไกลโคไซด์ 

ส่วนต้นกำเนิดของสารสกัดหญ้าหวานนั้น พบว่านักเคมีชาวปารากวัยเป็นคนแรกที่ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับสารชนิดนี้ จะมีลักษณะเป็นของแข็งสีขาวหรือเป็นผลึก ให้รสหวาน และสามารถดูดความชื้นได้ ต่อมาในยุคปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ได้ขึ้นทะเบียนให้ สารสกัดจากหญ้าหวาน สามารถใช้เพื่อการบริโภคแทนน้ำตาลได้ เพราะมีความปลอดภัยสูง มีพิษเฉียบพลันต่ำ ไม่เป็นอันตรายหรือมีผลข้างเคียงใดๆ อีกทั้งหญ้าหวานยังจัดเป็นพืชสมุนไพรชนิดหนึ่งอีกด้วย

กิน \"หญ้าหวาน\" ไม่อ้วน! แถมรักษ์โลก เพราะปล่อยคาร์บอนน้อยกว่าน้ำตาลทราย 29%

 

  • ทางเลือกความหวาน ที่ดีต่อใจคนรักสุขภาพ

นอกจากนี้ มีข้อมูลงานวิจัยในประเทศไทย ของทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุว่า สารสกัดจากหญ้าหวานมีความปลอดภัยในทุกๆ กรณี โดยค่าสูงสุดที่สามารถบริโภคได้อย่างปลอดภัย คือ 7,938 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ซึ่งสูงมากเมื่อเทียบกับการผสมในเครื่องดื่ม หรือกาแฟถึง 73 ถ้วยต่อวัน ซึ่งแน่นอนว่าคงไม่มีใครสามารถดื่มได้มากขนาดนั้น เพราะคนส่วนใหญ่บริโภคประมาณ 2-3 ถ้วย ก็ถือว่ามากเพียงพอแล้ว ซึ่งการบริโภคหญ้าหวานอย่างปลอดภัย คือ 1-2 ใบต่อเครื่องดื่ม 1 ถ้วย

ในปัจจุบันมีการนำหญ้าหวาน ไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปต่างๆ ด้วยกันถึง 5 รูปแบบ ได้แก่ ใบอบแห้ง, ใบแห้งบด, ใบสด, และแบบสารสกัดจากใบหญ้าหวานในรูปแบบน้ำเชื่อม นอกจากนี้มีการนำสารสตีวิโอไซด์ มาใช้แทนน้ำตาลบางส่วนในอาหารหลายชนิด เช่น น้ำอัดลม, น้ำชาเขียว, ขนมเบเกอรี, แยม, เยลลี, ไอศกรีม, ลูกอม, หมากฝรั่ง และซอสปรุงรส

 

  • จากข้อด้อยของ "หญ้าหวาน" สู่การเป็นพืชให้สรรพคุณสุดเลิศ

เนื่องจากสารสกัดจากหญ้าหวานเป็นสิ่งให้ความหวานที่ไม่มีคุณค่าทางอาหารเลย เพราะมีแคลอรีต่ำมากหรือแทบไม่มีเลย อีกทั้งยังไม่สร้างพลังงานให้กับร่างกาย แต่ถึงอย่างนั้น สารชนิดนี้ก็เหมาะสำหรับผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิต โรคอ้วน และโรคหัวใจ และมีประโยชน์ต่อร่างกายอีกมากมาย 

ไม่ว่าจะเป็น ช่วยเพิ่มกำลังวังชา, ช่วยให้เลือดไปเลี้ยงสมองมากขึ้น, ช่วยในการรักษาผู้ป่วยโรคเบาหวาน ลดระดับน้ำตาลในเส้นเลือด, ช่วยลดไขมันในเลือดสูง, ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง และโรคอ้วน, ช่วยบำรุงตับ, ช่วยสมานแผลทั้งภายในและภายนอก เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าสารให้ความหวานจาก "หญ้าหวาน" จะมีประโยชน์มากมายแค่ไหน แต่เราก็ควรเลือกบริโภคอย่างพอดี เพื่อให้ได้ประโยชน์ในเรื่องการลดระดับน้ำตาลในเลือด และไม่ก่อให้เกิดผลเสียอื่นๆ ตามมา

--------------------------------------

อ้างอิง : earth911scitechdailycsdlabserviceschulalongkorn Hospital, Pharmacy.mahidolmedthai