"น้ำผึ้งตามสั่ง" โมเดลการเลี้ยงผึ้ง-ชันโรงของนักวิจัย เลือกรส กลิ่น สีได้

"น้ำผึ้งตามสั่ง" โมเดลการเลี้ยงผึ้ง-ชันโรงของนักวิจัย เลือกรส กลิ่น สีได้

โมเดลการเลี้ยงผึ้ง เพื่อให้ได้"น้ำผึ้ง"ที่มีคุณสมบัติตามที่ต้องการ หรือจะเรียกว่าน้ำผึ้งตามสั่ง โดยการเลี้ยงผึ้งให้ได้รส กลิ่น สี ตามที่ตลาดต้องการจากการประยุกต์องค์ความรู้ของนักวิจัยมจธ.ราชบุรี

หลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 พบว่าน้ำผึ้งกลายเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างแพร่หลาย เนื่องจากน้ำผึ้งถือเป็นยาอายุวัฒนะ ช่วยเพิ่มความสดชื่นให้แก่ร่างกาย ช่วยต้านทานโรคต่างๆ ได้ดี 

การเลี้ยงผึ้งจึงเป็นทางเลือกในการสร้างรายได้ นักวิจัยศูนย์วิจัยผึ้งพื้นเมืองและแมลงผสมเกสร(Native Honeybee and Pollinator Center) หรือ Bee Park มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (ราชบุรี) (มจธ.ราชบุรี) จึงนำองค์ความรู้จากการวิจัยมาประยุกต์ใช้ในการออกแบบคุณลักษณะน้ำผึ้งที่ตลาดต้องการ เช่น รส กลิ่น สี ปริมาณน้ำผึ้ง หรือชนิดน้ำหวานจากดอกไม้ที่ผึ้งเก็บมา โดยมีคุณสมบัติทางยาบางชนิด

ศ.ดร.อรวรรณ ดวงภักดี หัวหน้าศูนย์วิจัยผึ้งพื้นเมืองและแมลงผสมเกสร(Native Honeybee and Pollinator Center) หรือBee Park มจธ.ราชบุรี กล่าวว่า ศูนย์วิจัยผึ้งพื้นเมืองและแมลงผสมเกสร ว่า เป็นการนำองค์ความรู้จากงานวิจัยไปต่อยอดขยายผลในเรื่องการสร้างงานสร้างอาชีพให้ชุมชนด้วยการเลี้ยงผึ้งและชันโรง กระจายสู่ชาวบ้านในพื้นที่

พวกเขาวางแนวคิดบีแซงโมเดล (Beesanc Model) ไว้ในเรื่องธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) โดยมีเป้าหมายหลักในการแก้ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม บริหารจัดการแบบธุรกิจบวกกับความรู้จากงานวิจัยและนวัตกรรมสังคม เพื่อเป็นกลไกในการผลิต พัฒนา สร้างน้ำผึ้งพื้นเมืองให้มีมูลค่า

“บีแซง (Beesanc)นอกจากเป็นโมเดลการเลี้ยงผึ้งพื้นแล้ว ยังเป็นแบรนด์ด้วย โดยน้ำผึ้งที่เกษตรกรเครือข่ายนำมาขายกับศูนย์ฯ จะได้รับการขึ้นทะเบียนสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือGI ผู้ซื้อจะทราบว่าใครเป็นผู้ผลิต ผลิตจากที่ไหน

ผู้บริโภคสามารถซื้อกับเกษตรกรผู้ผลิตเองได้ โดยไม่ต้องอยู่ภายใต้แบรนด์ Beesanc หรือถ้าเกษตรกรต้องการทำแบรนด์ของตัวเอง มจธ. ก็มีอาจารย์และนักวิจัยเข้าไปช่วยพัฒนาแบรนด์ให้” ศ.ดร.อรวรรณ  กล่าว

 

"น้ำผึ้งตามสั่ง" โมเดลการเลี้ยงผึ้ง-ชันโรงของนักวิจัย เลือกรส กลิ่น สีได้ ความหลากหลายของแหล่งเลี้ยงทำให้ BEESANC มีผลิตภัณฑ์น้ำผึ้งหลายชนิด

Beesanc น้ำผึ้งออร์แกนิค

ผลิตภัณฑ์ Beesanc เป็นน้ำผึ้งออร์แกนิคแท้ 100% ผ่านการตรวจรับรองมาตรฐานและคุณค่าบ่งชี้ทางสุขภาพจากแลบวิจัย  ศ.ดร.อรวรรณและทีมงาน วางแนวทางไว้ว่า ผู้บริโภคสามารถเลือกได้ว่า อยากได้ค่าน้ำผึ้งแบบไหน รสชาติอย่างไร ด้วยแนวคิด น้ำผึ้งธรรมชาติที่มีคุณภาพออกแบบเองได้โดยผู้บริโภค หรือน้ำผึ้งตามสั่งนั่นเอง

"เพื่อนำไปสู่การสร้างอาชีพให้ชุมชน และปลูกฝังให้เกษตรกรลดการใช้สารเคมี เป็นนวัตกรรมทางเลือกสำหรับผู้บริโภคที่ต้องการรสชาติน้ำผึ้งเขตร้อนในมิติที่แตกต่างจากดอกไม้ที่ผึ้งเก็บมา โดยมี Beesanc ทำหน้าที่เสมือนโชว์รูมให้คนเข้ามาชิม ช้อป และนำไปสู่การยอมรับในตลาดโลก

ปัจจุบัน Beesanc มีการฝึกอบรมและให้ความรู้แก่ผู้สนใจในการเลี้ยงผึ้งและชันโรง โดยทางชุมชนได้ขยายเครือข่ายไปยังเด็กชายขอบและโรงเรียนใกล้เคียง เนื่องจากกลุ่มเยาวชนในพื้นที่เหล่านี้ หลังจากจบการศึกษาระดับประถมไม่มีโอกาสได้เรียนต่อ ดังนั้นการมีอาชีพรองรับพร้อมๆ กับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ย่อมเป็นเรื่องดี

ซึ่งทุกคนที่เข้าร่วมโครงการนี้สามารถนำน้ำผึ้งมาขายให้ศูนย์ฯ ได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้มาตรฐานที่ศูนย์ฯ กำหนด เป็นน้ำผึ้งแท้จากธรรมชาติ มีการเก็บน้ำผึ้งที่ถูกสุขลักษณะ เป็นต้น ซึ่งราคาที่ได้จะเป็นไปตามกลไกของตลาด”

โมเดลการเลี้ยงผึ้ง Beesanc

โมเดลนี้สนับสนุนให้เกิดการค่อยๆ ปรับเปลี่ยนพื้นที่ให้เป็นมิตรกับผึ้ง ทั้งในแง่ความปลอดภัยจากสารเคมี การปลูกพืชอาหารเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำผึ้ง และการปลูกพืชสมุนไพรชนิดพิเศษ ที่เพิ่มคุณค่าทางสุขภาพให้กับน้ำผึ้งที่ผลิต

"น้ำผึ้งตามสั่ง" โมเดลการเลี้ยงผึ้ง-ชันโรงของนักวิจัย เลือกรส กลิ่น สีได้ น้ำผึ้ง Beesanc สูตรต่างๆ 

แมนรัตน์ ฐิติธนากุล ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 11 ตำบลบ้านคา อำเภอบ้านคา จังหวัดราชบุรี ประธานกลุ่มผู้เลี้ยงผึ้งพื้นเมืองและชันโรง อำเภอบ้านคา กล่าวว่า เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้วชุมชนแห่งนี้เคยเป็นหนึ่งในพื้นที่สีแดงที่ขึ้นชื่อเรื่อง“การใช้ยาฆ่าแมลงอย่างเข้มข้น” ปลูกสับปะรดเป็นอาชีพหลัก 

"พ่อผมเสียชีวิตจากโรคติดเชื้อในกระแสเลือดเนื่องจากยาฆ่าแมลงจากการทำไร่สับปะรด จากความสูญเสียดังกล่าว จึงหันมาทำเกษตรปลอดสารเคมี โจทย์คือทำอย่างไรให้ชาวบ้านเลิกใช้สารเคมี ไม่อยากทำไร่สับปะรด แต่อยากมีอาชีพเสริม จึงได้เรียนรู้เรื่องการเลี้ยงผึ้งและชันโรง ตอนแรกลองเอามาเลี้ยงเองก่อน และแจกชันโรงให้ชาวบ้านในชุมชนลองเลี้ยงไปสัก 5-6 เดือน แล้วนำมาขายได้เงินมาเลี้ยงครอบครัว"

จากประสบการณ์และองค์ความรู้ที่ได้จากนักวิจัย ทำให้ผู้ใหญ่แมนรัตน์สานต่ออุดมการณ์เพื่อลดการใช้สารเคมีในการทำเกษตรและต้องการให้ลูกบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้น จึงร่วมมือกับภาคีเครือข่ายโรงเรียนใกล้บ้านอบรมหลักสูตรการเลี้ยงผึ้ง 

“ผึ้งจะดูดน้ำหวานจากผลไม้หรือดอกไม้ที่ไม่มีสารเคมี ซึ่งทางกลุ่มได้มีการฝึกอบรมอาชีพการเลี้ยงผึ้งและชันโรง ปัจจุบันวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้เลี้ยงผึ้งพื้นเมืองและชันโรงอำเภอบ้านคา มีสมาชิกประมาณ 300 คน 

วิสาหกิจชุมชนฯ ได้รวบรวมน้ำผึ้งจากสมาชิกเพื่อส่งขายต่อให้กับศูนย์ฯ เพื่อนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์แบรนด์ Beesanc โดยน้ำผึ้งโพรงทางศูนย์ฯรับซื้ออยู่ที่กิโลกรัมละ 500- 600บาท น้ำผึ้งชันโรงรับซื้อที่กิโลกรัมละ 1,000 บาท"

"น้ำผึ้งตามสั่ง" โมเดลการเลี้ยงผึ้ง-ชันโรงของนักวิจัย เลือกรส กลิ่น สีได้ การเลี้ยงผึ้งสามารถสร้างรายได้ให้เยาวชนได้