เจาะลึกต้นตอ "น้ำเมา" บอกเล่าเรื่อง "เหล้า" ที่ไม่ใช่แค่ปัญหา "สุขภาพ"

เจาะลึกต้นตอ "น้ำเมา" บอกเล่าเรื่อง "เหล้า" ที่ไม่ใช่แค่ปัญหา "สุขภาพ"

ระดมสมอง ร่วมขุดคุ้ยรากลึกของปัญหา "น้ำเมา" ผ่านงานประชุมวิชาการสุราระดับชาติ ครั้งที่ 12 เมื่อการแก้ปัญหา ไม่ได้มีแค่มิติทางด้านสุขภาพ แต่ยังมีหลายมิติที่ทับซ้อนกันอยู่

"สุรา" หรือ "เหล้า" เป็นปัจจัยเสี่ยงหลักและปัจจัยเสี่ยงร่วม ก่อให้เกิดปัญหาต่อผู้ดื่มและคนรอบข้าง ทั้งสุขภาพ ระบบสาธารณสุข เศรษฐกิจและสังคม รวมถึงเป็นต้นตอสำคัญที่ทำให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-communicable diseases) หรือ NCDs ซึ่งคนไทยเสียชีวิตมากที่สุดทุกปี ซึ่งหากย้อนรอย ล้วงลึกถึงปัญหา กลับพบว่า หากจะแก้ปัญหาให้คนไม่ดื่ม น้ำเมา ไม่อาจมองแค่เพียงมิติด้านสุขภาพเพียงอย่างเดียว แต่ยังคงมีหลายมิติที่ทับซ้อนอยู่ รวมถึงประเด็น "ความเหลื่อมล้ำ"

นำมาสู่งานประชุมวิชาการสุราระดับชาติ ครั้งที่ 12 โดยศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) และภาคีเครือข่าย อาทิ กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ร่วมกันจัดขึ้น ณ ศูนย์จัดประชุมคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จ.สงขลา ภายใต้แนวคิด "ภัยแอลกอฮอล์ : ความเสมอภาค และการเปลี่ยนแปลงในสังคมปัจจุบัน" ซึ่งมีการหยิบยกประเด็นการแลกเปลี่ยน ร่วมกันขุดคุ้ยรากลึกปัญหาดังกล่าว เพื่อนำไปสู่ทางออกต่อไป
เจาะลึกต้นตอ "น้ำเมา" บอกเล่าเรื่อง "เหล้า" ที่ไม่ใช่แค่ปัญหา "สุขภาพ"

"เครื่องดื่มแอลกอฮอล์" ก่อปัญหาทั้งผู้ดื่มและผู้อื่น

รศ.ดร.สุรศักดิ์ ไชยสงค์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม นำเสนอข้อเท็จจริงว่า สุรา ไม่ได้ก่อปัญหาเฉพาะตัวเรา แต่ยังส่งผลกระทบต่อผู้อื่น อันเป็นผลจากการขาดความยับยั้งชั่งใจและขาดสติ สิ่งที่เรามองอันดับแรกคือ ปัญหาสุขภาพในแง่โรคเรื้อรังและอุบัติเหตุ ซึ่งยังเป็นสาเหตุการเสียชีวิต โดยในแต่ละปีมีคนที่เสียชีวิตด้วยแอลกอฮอล์เป็นต้นเหตุมากถึงปีละ 3 ล้านคนทั่วโลก

"หากดูจากรายงานข้อมูลของศาสตราจารย์ Jurgen Rehm ยิ่งตอกย้ำว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คือปัจจัยสำคัญของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา (Upper LMICs) ซึ่งรวมถึงประเทศไทย ทั้งจากโรคเรื้อรัง เช่น ตับแข็งและอุบัติเหตุ นอกจากนั้นยังทำให้เสียชีวิตก่อนวัยอันควร ไม่ว่าเราจะเดินอยู่เฉยๆ หรืออยู่กับครอบครัวก็มีโอกาสเสี่ยงต่อการเสียชีวิตทั้งจากคนที่อยู่ใกล้ หรือจากอุบัติเหตุที่มาจากผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์" รศ.ดร.สุรศักดิ์ กล่าว

รศ.ดร.สุรศักดิ์ ยังให้ข้อมูลต่อว่า จากการสำรวจพฤติกรรมการกระทำความผิดของเด็กและเยาวชนในสถานพินิจ ยอมรับว่า ก่อคดีภายใน 5 ชั่วโมงหลังจากดื่มแอลกอฮอล์ แต่นอกจากการสูญเสียสุขภาพและชีวิต ส่วนในด้านเศรษฐกิจ การดื่มแอลกอฮอล์เป็นผลกระทบที่ต้องการสูญเสียทางเศรษฐกิจและสังคมรวมมูลค่า 165 ล้านบาท หรือเฉลี่ย 2,500 ต่อหัวประชากร ดังนั้น แอลกอฮอล์ยังเป็นต้นเหตุทำให้เกิด ความเหลื่อมล้ำ มากขึ้น เพราะในคนจนพบว่า มีค่าใช้จ่ายค่าเกี่ยวกับเหล้าสูงกว่าคนรวยถึง 6 เท่า ยิ่งทำให้คนจนต้องมีเงินไว้ใช้จ่ายในด้านอื่นที่จำเป็นกว่าน้อยลง

เจาะลึกต้นตอ "น้ำเมา" บอกเล่าเรื่อง "เหล้า" ที่ไม่ใช่แค่ปัญหา "สุขภาพ"

ภัยแอลกอฮอล์ และความเหลื่อมล้ำ

พญ.วิมลรัตน์ วันเพ็ญ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพและวัยรุ่นราชนครินทร์ กล่าวว่า คนที่มีปัญหาจากการใช้ เหล้า ไม่ใช่เพื่อความสุขสนุกสนานอย่างเดียว แต่อาจมีที่มาที่ไปคือ คนที่มีปัญหาเรื่องการดื่มการ สุรา มักไม่ใช่คนที่มีครอบครัวดีพร้อม อบอุ่นหรือฐานะดี ซึ่งจากการทำงาน พบว่า เด็กและเยาวชนส่วนใหญ่ที่หันมาดื่มแอลกอฮอล์ มักมีปัญหาหรือความเครียดบางอย่างในชีวิตที่ใกล้เคียงกัน เช่น ถูกทำร้าย มีพ่อแม่ติดสุราอยู่แล้ว เป็นต้น

"งานที่เราทำอยู่ทุกวันนี้ คือการส่งเสริมให้เด็กและวัยรุ่นมีทางออกในการจัดการชีวิตที่ดีขึ้น ดีกว่าการพึ่งพา สิ่งเสพติด รวมถึงเหล้า เรามีการทำระบบในการดูแลช่วยเหลือนักเรียน ปัจจุบันมีแอปพลิเคชันที่ชื่อว่า ฮีโร่ ในการดูแลประเมินเด็กในโรงเรียน เพื่อประเมินเด็กที่มีปัญหาสุขภาพจิตเพื่อแก้ไขก่อนจะนำมาสู่การใช้สุรา การสร้างภูมิคุ้มกัน และปรับพฤติกรรมการดูแลลูกอย่างถูกต้อง" พญ.วิมลรัตน์ กล่าว

จเด็จ เชาว์วิไล ร่วมวิเคราะห์ปัญหาถึงรากเหง้าว่า สาเหตุการดื่มส่วนหนึ่ง เพราะคนจนต้องเผชิญกับความเหลื่อมล้ำ อันเนื่องจากปัญหาความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้าง สังคมไทยมีระบบทุนผูกขาด ซึ่งเข้าไปมีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางในภาคนโยบายบางอย่างที่เป็นอุปสรรคทำให้การขับเคลื่อนไม่มีประสิทธิภาพพอ รวมถึงปัญหาความยากจนที่เข้าไม่ถึงทรัพยากรที่เท่าเทียมกันของคนจน

"สุรา ไม่ใช่มาจากรสนิยมอย่างเดียว แต่ปัญหาจากการที่ไม่มีทางเลือก และยังถูกวาทกรรมของสังคมที่มีค่านิยมเชื่อว่า คนจนไม่พ้น โง่ จน เจ็บ การพนัน สิ่งมึนเมา ถูกตีตราจนทำให้คนจนวนเวียนอยู่แบบนี้ การไม่มีพื้นที่แสดงออก ก็ทำให้ต้องไปกินเหล้า ขณะเดียวในสังคมชายเป็นใหญ่ยังทำให้เพศชายเชื่อว่า การดื่มเหล้าทำให้ตัวเองมีอำนาจ" จเด็จ กล่าว

จเด็จ ยังกล่าวต่อไปถึงการแก้ปัญหาเหล้า ต้องแก้ไปพร้อมกัน 3 เรื่อง คือ ความเหลื่อมล้ำ การเพิ่มรายได้ และการสร้างพื้นที่ ซึ่งการแก้ปัญหาไม่ใช่แค่เรื่องการเลิกเหล้า หรือมองแต่ประเด็นสุขภาพ แต่จำเป็นต้องช่วยให้ผู้ที่มีฐานะยากจนมีรายได้เพิ่ม และมีโอกาสในการสร้างรายได้เป็นธรรม ทุกคนต้องการมีศักดิ์ศรี และมีพื้นที่ให้ระบายมีทางออกเวลามีปัญหาอะไร การที่คนสังคมมองคนติดเหล้าเป็นคนไม่ดี และถูกเบียดออกไปจากสังคม ผลสุดท้ายปัญหานั้นก็กลับมาทำร้ายคนอื่น

ศรีสุวรรณ ควรขจร รองประธานกรรมการบริหารแผน คณะ 1 สสส. กล่าวเสริมโดยอ้างอิงจากการสำรวจพบว่า คนที่มีรายได้น้อย มีผู้ที่ต้องดูแลมากกว่าผู้ที่มีรายได้ เฉลี่ย 2 คนกว่าๆ ขณะที่คนฐานะดีต้องดูแลเพียงไม่ถึงหนึ่งคน ดังนั้นการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำเป็นเรื่องจำเป็น โดยในแง่ของสังคม คนที่ล้มเหลวหรือคนที่เป็นเหยื่อ ควรมีมาตรการดูแล

นอกจากนี้ ในโลกยุคเปลี่ยนไป ยังพบว่า เหตุผลของการดื่มยิ่งมีความซับซ้อน เช่น การดื่มของวัยรุ่นปัจจุบัน ซึ่งไม่ฟังพ่อแม่ครูอาจารย์ แต่เชื่อเพื่อนและข่าวสารในโซเชียลฯ มองว่า การดื่มเป็นการแสดงออกเสรีภาพทางประชาธิปไตย รวมถึงผู้หญิงที่ดื่มมากขึ้น เพราะการดื่ม คือการแสดงความเท่าเทียม ไม่ใช่แค่หญิงชาย ในกลุ่ม LGBQT ก็มีปัญหาความเหลื่อมล้ำและการโดนกดทับจากสังคม จนอาจทำให้ต้องพึ่งพาการดื่ม

หนุนพื้นที่สร้างสรรค์และปลอดภัยจากแอลกอฮอล์

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า จากงานวิจัยการศึกษาต้นทุนผลกระทบทางสังคมจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทย พ.ศ. 2560 ได้ประมาณการความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พบว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจกว่า 86,000 ล้านบาท แบ่งเป็น

  1. ค่ารักษาพยาบาล 2,508 ล้านบาท
  2. ค่าดำเนินคดีความ 1,407 ล้านบาท
  3. ค่าความเสียหายต่อทรัพย์สินจากอุบัติเหตุจราจรทางบก 31 ล้านบาท
  4. ค่าการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรและสูญเสียบุคลากรด้านการงานที่ดี 82,000 ล้านบาท

ทั้งหมดนี้ สะท้อนให้เห็นผลกระทบของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ส่งผลเสียต่อสังคมวงกว้าง

เจาะลึกต้นตอ "น้ำเมา" บอกเล่าเรื่อง "เหล้า" ที่ไม่ใช่แค่ปัญหา "สุขภาพ"

ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าวต่อว่า แต่ข่าวดีคือ ข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2564 พบอัตราการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของคนไทยมีแนวโน้มลดลง ร้อยละ 28 จาก ร้อยละ 28.40 เมื่อปี 2560 ขณะที่ข้อมูลภาวะสังคมไทย โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พบค่าใช้จ่ายบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปี 2564 ลดลงเช่นกัน เหลือเพียง 167,775 ล้านบาท จาก 169,946 ล้านบาท เมื่อปี 2563 จึงเป็นกำลังใจที่ดีในการสานพลังกับภาคีเครือข่าย ผ่านการดำเนินงาน 4 ข้อ คือ

  1. พัฒนาฐานข้อมูลเชิงวิชาการและนักวิชาการให้เกิดข้อเสนอเชิงนโยบาย
  2. ผลักดันกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เข้มข้น 
  3. พัฒนาพื้นที่สร้างสรรค์เพื่อเด็ก-เยาวชน-คนทุกกลุ่ม
  4. พัฒนาต้นแบบนวัตกรรมเพื่อรณรงค์สื่อสาร สร้างความตระหนักรู้ให้สังคมปลอดภัยจากปัจจัยเสี่ยง

"สสส. ขอประกาศเจตนารมณ์ว่า จะทำหน้าที่สานพลัง สร้างนวัตกรรม สื่อสารสุขภาวะ เพื่อทำให้ทุกคนมีวิถีชีวิตสังคม และสิ่งแวดล้อมที่สนับสนุนต่อการมีสุขภาวะที่ดี ปลอดภัยจากปัจจัยเสี่ยงที่ทำลายสุขภาวะ งานประชุมวิชาการสุราระดับชาติ ครั้งที่ 12 ปีนี้ เปรียบเสมือนขุมพลังที่ยิ่งใหญ่จากทั้งนักวิชาการ ภาคีเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ ที่ร่วมกันจุดประกาย กระตุ้น สาน และเสริมพลัง ขบวนการสร้างเสริมสุขภาพเพื่อประชาชนต่อไป" ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว

ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าวต่อว่า ควรส่งเสริมให้มีการออกแบบพื้นที่สร้างสรรค์และปลอดภัยจากแอลกอฮอล์ขึ้นในสังคมไทยอย่างแท้จริง โดยคำนึงถึงผู้ใช้ประโยชน์แท้จริงและไม่ให้เกิดผู้ได้รับผลกระทบ ถือเป็นปัจจัยสำคัญอย่างมาก โดยที่ผ่านมา สสส. พยายามทำในหลายมาตรการที่ทำได้ เช่น การให้พื้นที่จัดกิจกรรมงานบุญงานประเพณีต่างๆ เป็นพื้นที่ปลอดแอลกอฮอล์ รวมถึงในสถานศึกษา นอกจากนี้ในเรื่องการกำหนดเป็นกฎหมายแล้วก็ยังไม่เพียงพอ แต่จะให้ความสำคัญต่อการบังคับใช้กฎหมายอย่างไรให้มีประสิทธิภาพด้วย รวมถึงการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจ ที่สำคัญต้องมีแกนนำที่จะเกาะติดในหลายกระบวนการ หลายประเด็น

"เราอยากเห็นพื้นที่ในทุกสถานที่ ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ทำงานราชการ โรงงาน เป็นพื้นที่ปลอดภัยจากแอลกอฮอล์ แต่ที่เราอยากจะเน้นก็คือทั้งบ้านและชุมชนเป็นโจทย์ใหญ่" ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าวทิ้งท้าย