เปิดชุดข้อมูลใหม่ สู้"วิกฤตฝุ่นควัน" จากปัญหาเผาป่าซ้ำซาก

เปิดชุดข้อมูลใหม่ สู้"วิกฤตฝุ่นควัน" จากปัญหาเผาป่าซ้ำซาก

"วิกฤตฝุ่นควัน"จากการเผาป่าในพื้นที่เดิมๆ ซ้ำๆ ซากๆ หนึ่งในปัญหาของภาคเหนือที่ไม่ค่อยมีคนพูดถึง ทั้งๆ ที่ GISTDA ยืนยันว่า ไฟภาคเหนือเกิดในพื้นที่ป่าของรัฐ (ป่าสงวน+ป่าอนุรักษ์) ราว 80%

นับจากคณะรัฐมนตรี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นำปัญหามลพิษฝุ่นควันในภาคเหนือ (ต่อมารัฐใช้คำว่าหมอกควัน) เข้าสู่การพิจารณา ครม.เมื่อมีนาคม ปี 2550 จนกระทั่งบัดนี้เป็นเวลา 16 ปีแล้ว

แต่ทว่าปัญหามลพิษอากาศฝุ่นควัน pm2.5 ยังเป็นวิกฤตเรื้อรังประจำปี และไม่ใช่แค่ภาคเหนือเท่านั้น สถิติข้อมูลตรวจวัดยังพบว่าปัญหามลพิษฝุ่นควันเกินมาตรฐานยังเกิดในกรุงเทพฯ ภาคกลาง ภาคอีสานโดยถ้วนหน้า

การเผาในที่โล่งมากสุดในภาคเหนือ

แต่ละโซนพื้นที่มีสาเหตุปัจจัยตามแต่ละบริบท อย่างภาคเหนือตอนล่างมีทุ่งนาและภาคเกษตรใหญ่สุด การเผาภาคเกษตรเป็นสาเหตุหลัก ส่วนภาคอีสานมีการเผาภาคเกษตรเช่นกันและก็มีปัจจัยฝุ่นควันข้ามมาจากเพื่อนบ้านด้วย

ส่วนภาคเหนือที่เป็นเขตปัญหาเรื้อรังใหญ่สุด มีความซับซ้อนของสาเหตุปัญหาทับซ้อนกันหลายเหตุที่เป็นเหตุหลักที่สุดคือ การเผาในที่โล่ง ทั้งจากภาคเกษตรและในเขตป่า ทั้งนี้เพราะภาคเหนือมีภูมิประเทศเป็นป่าเขาสูง สัดส่วนของป่าไม้มีมากกว่าที่ราบ แม่ฮ่องสอน ตาก เชียงใหม่ ลำปาง เป็นจังหวัดที่ปัญหาไฟไหม้มากสุด ซึ่งก็สอดคล้องกับภูมิประเทศที่มีสัดส่วนของพื้นที่ป่า 70% ขึ้นไป

ปัญหานี้ยังเรื้อรัง แต่ที่ภาพรวมปัญหาในภาคเหนือดูบรรเทาเบาลงในระยะ 2 ปีหลัง เนื่องจากปรากฏการณ์ลานีญ่า มีฝนเป็นระยะเพื่อดับไฟในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน แต่กระนั้นก็ตามก็พบว่า ในระหว่างที่ฝนทิ้งช่วงก็ยังมีไฟไหม้และเกิดมลพิษค่าอากาศเกินมาตรฐานในหลายพื้นที่

มองในมุมกลับ นี่ขนาดเป็นปีลานีญ่าและมีฝนตกยังไหม้และเกิดมลพิษได้ขนาดนี้ หากเป็นปกติจะยิ่งรุนแรงกว่าไปถึงขนาดไหน !!?

ประเด็นที่ต้องนำมาพิจารณาอย่างจริงจังก็คือ ขณะที่เรามีสถิติจุดความร้อน+พื้นที่รอยไหม้ดาวเทียม จาก GISTDA ยืนยันว่า ไฟภาคเหนือเกิดในพื้นที่ป่าของรัฐ (ป่าสงวน+ป่าอนุรักษ์) ราว 80% ที่เหลือเป็นไฟเกิดในเขตเกษตรกรรมและอื่นๆ

นั่นก็แปลว่าพื้นที่ป่าของรัฐเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษใหญ่ในพื้นที่ (นอกพื้นที่ก็คือควันข้ามแดน) !

ไฟส่วนใหญ่เกิดในป่า

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีสถิติมายืนยันว่าไฟส่วนใหญ่สุดเกิดในป่า แต่ทว่ารัฐก็ได้ชี้ปัญหาของภาคเหนือมาจากประชาชนทำการเกษตร การลักลอบเผาป่าเพื่อหาของป่าและล่าสัตว์ (ระบุในเอกสารมาตรการแก้ปัญหาฯ ตามวาระแห่งชาติ)

นั่นก็คือ ชี้ว่าการเผาทั้งในป่าและนอกป่ามาจากประชาชนและผู้ไม่หวังดีเป็นหลัก ไม่ได้มาจากการบริหารจัดการเชื้อเพลิงหรือชิงเผาของเจ้าหน้าที่รัฐแต่อย่างใด ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ผู้สนใจปัญหาคลางแคลงมาโดยตลอด

เพราะเป็นที่รู้กันว่าภาครัฐมีมาตรการชิงเผาบริหารเชื้อเพลิงในป่าและไม่ค่อยจะตรงตามหลักวิชาการ prescribed burning มากนัก มีการเผาแปลงใหญ่ไหม้ลาม มีการปล่อยให้ลามกลางคืน และ เลือกพิกัดการเผาที่เดิมซ้ำๆ

การเผาของภาครัฐในพื้นที่เดิมๆ ซ้ำๆ ซากๆ เป็นหนึ่งในปัญหาของภาคเหนือที่ไม่ค่อยจะมีใครหยิบมาพูดถึง

ขณะที่การลักลอบเผาป่า ไม่ว่าจะมาจากการหาของป่า การล่าสัตว์ หรือด้วยผลประโยชน์อื่นซึ่งก็เป็นหนึ่งในสาเหตุปัญหาก็ไม่เคยมีการชี้พิกัดจุดปัญหาที่เกิดซ้ำซากอย่างจริงจังเช่นกัน

เครื่องมือของรัฐที่ใช้เป็นข้อมูลสำหรับการบริหารจัดการในระยะ 5 ปีหลังมานี้ใช้จุดความร้อน (hotspot) เป็นหลัก โดยใช้สำหรับเป็นดัชนีชี้วัด KPI หลัก คือเอาจำนวนจุดความร้อนที่เกิดขึ้นระยะ 5 เดือนเป็นตัวตั้ง แล้วให้บริหารจัดการให้จุดความร้อนลดลงให้ได้ เป็นสำคัญ ไม่ได้ลงลึก และจำแนกแจกแจงรายละเอียดตามบริบทพื้นที่

ข้อมูลรายละเอียดพฤติกรรมไฟ ห้วงเวลา ลักษณะการเกิด รวมถึงความถี่ที่เกิด เป็นข้อมูลสำคัญของการออกแบบมาตรการแก้ปัญหาให้ตรงที่สาเหตุ

จนกระทั่งล่าสุด คณะทำงานวิชาการเฉพาะกิจเพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการบริหารจัดการไฟป่าและการเผาในที่โล่งเพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหาฝุ่น pm2.5 สำนักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี (ป.ย.ป.) ซึ่งประกอบขึ้นจากนักวิชาการและหน่วยงานอาทิ GISTDA ได้จัดทำข้อมูลพื้นที่ไฟไหม้ซ้ำซากในประเทศไทยขึ้นมา

 

  • พื้นที่ไฟไหม้ซ้ำซากของไทย

ข้อมูลดังกล่าวฉายภาพปัญหาการเผาและสาเหตุมลพิษฝุ่นละอองลึกลงกว่าข้อมูลเดิมๆ ที่มีแต่สถิติจุดความร้อน หรือ แค่รอยไหม้พื้นผิว เพราะสะท้อนพฤติกรรมและจูงใจให้สืบค้นสาเหตุการไหม้ซ้ำที่เดิมในแต่ละพิกัดพื้นที่ ซึ่งแน่นอนว่ามีความแตกต่างกันไปในสาเหตุปัญหาของแต่ละบริบทพื้นที่

ดร.เจน ชาญณรงค์ หนึ่งในคณะทำงานอธิบายว่า ระหว่างปี 2562-2564 ภาครัฐยังขาดข้อมูลการเผาไหม้ซ้ำซากในภาพรวมของประเทศ เนื่องจากหน่วยงานต่าง ๆ มุ่งเน้นการประมวลข้อมูลจุดความร้อนเป็นหลัก

คณะทำงานฯ โดย GISTDA ได้วิเคราะห์พื้นที่เกิดไฟไหม้ซ้ำซากของไทยขึ้นมาเป็นการเฉพาะ โดยใช้ข้อมูลพื้นที่เผาไหม้ ชื่อ “FIRECCI51” แบบรายเดือน ของ European Space Agency (ESA) ระหว่าง พ.ศ. 2553-2562 ซึ่งประมวลจากข้อมูลดาวเทียมระบบโมดิส มีรายละเอียดเชิงพื้นที่ (พิกเซล) ประมาณ 62,500 ตารางเมตร หรือ 39 ไร่ มาใช้งาน (ที่มาของข้อมูล https://geogra.uah.es/fire_cci/firecci51.php)

ทั้งนี้ GISTDA นิยามให้พื้นที่เผาไหม้ซ้ำซาก คือ พื้นที่เผาไหม้ที่เกิดไฟไหม้ซ้ำซากมากกว่า 5 ครั้ง ในรอบ 10 ปี เพื่อพิจารณาควบคู่กับข้อมูลการใช้ประโยชน์พื้นที่ของกรมพัฒนาที่ดินปีพ.ศ. 2560-2562 ซึ่งมีความละเอียด 1:25,000

เปิดชุดข้อมูลใหม่ สู้\"วิกฤตฝุ่นควัน\" จากปัญหาเผาป่าซ้ำซาก ข้อมูลพื้นที่ไหม้ซ้ำซากของประเทศไทย (ดูตารางประกอบ) ที่ได้มา ช่วยในการแก้ปัญหาไฟและมลพิษฝุ่นควันได้ในระดับสำคัญ เพราะเป็นการชี้เป้าให้เห็น “ปลาตัวใหญ” หรือ “พื้นที่ปัญหาลำดับต้น”

จะเห็นได้ว่าเขตพื้นที่ปัญหาลำดับต้นๆ นั้น มีทั้งขนาดและปริมาณความเข้มข้นมลพิษฝุ่น เริ่มจาก เขตอุทยานแห่งชาติสาละวิน ตอนใต้ของแม่ฮ่องสอนติดพรมแดนประเทศเมียนมาร์ ไหม้ปีละกว่า 5 แสนไร่ รองลงมาคือเขตอุทยานแห่งชาติแม่ปิง เชียงใหม่-ลำพูน 2.8 แสนไร่

ซึ่งล่าสุดได้มีการแก้ปัญหาการไหม้ในพื้นที่แม่ปิงดังกล่าว ด้วยการขอไม่ให้กรมอุทยานฯบริหารเชื้อเพลิงชิงเผาเมื่อต้นปี 2565 เพราะการเผาของรัฐเป็นการส่งสัญญาณให้กับชาวบ้านได้ร่วมเผาด้วย เมื่อไม่มีการเผาภาครัฐนำ ทำให้จำนวนไฟในเขตอุทยานแม่ปิงของปี 2565 ลดลงเหลือไปร่วมๆ 2 แสนไร่ คุณภาพอากาศเขตอำเภอลี้ดีที่สุดในรอบ 10 ปี

ความสำเร็จของการชี้เป้าพื้นที่ปลาใหญ่ที่ไหม้ซ้ำซาก นำไปสู่การขีดวงปัญหาและพยายามหาสาเหตุต้นตอที่อุทยานแห่งชาติแม่ปิงจนประสบความสำเร็จ จะเป็นโมเดลต้นแบบให้พื้นที่ไหม้ซ้ำซากไฟแปลงใหญ่ที่เหลือ เช่น ลุ่มน้ำปายสองฟากฝั่ง 2.1 แสนไร่ เขตป่าแม่ตื่น 1.8 แสนไร่ รวมถึงทราบว่าเริ่มมีการให้ความสนใจพื้นที่ไหม้ซ้ำซาก เขตอุทยานแห่งชาติออบหลวง จังหวัดเชียงใหม่ ขนาด 1.48 แสนไร่แล้ว

(ภาพประกอบ ตารางพื้นที่ไหม้ซ้ำซาก จาก เอกสารสถานการณ์และข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเกี่ยวกับการเผาที่โล่งในไทยและประเทศเพื่อนบ้านระหว่างปี พ.ศ.2562-2564 /สำนักงาน ป.ย.ป.)

เปิดชุดข้อมูลใหม่ สู้\"วิกฤตฝุ่นควัน\" จากปัญหาเผาป่าซ้ำซาก