Blonde หนังที่คนรอดูในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองเวนิสครั้งที่ 79

Blonde หนังที่คนรอดูในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองเวนิสครั้งที่ 79

“กัลปพฤกษ์” เจาะลึก ทำไม Blonde ถึงเป็นหนังที่คนรอดูมากที่สุดในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองเวนิส พร้อมหนังของผู้กำกับหญิง และผู้กำกับชาวอิหร่านที่โดดเด่นอีกหลายเรื่อง

หนังซึ่งเป็นที่จับตารอดูมากที่สุดในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองเวนิส ครั้งที่ 79 คือผลงานแนวชีวประวัติจากค่าย Netflix เรื่อง Blonde ซึ่งถ่ายทอดชีวิตส่วนตัวหลังกล้องของนักแสดงสาวผมบลอนด์ชื่อดัง Marilyn Monroe

Blonde หนังที่คนรอดูในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองเวนิสครั้งที่ 79

 

หนังเรื่องนี้กำกับโดยผู้กำกับนิวซีแลนด์ Andrew Dominik ที่ชอบไปทำหนังในสหรัฐอเมริกา และดัดแปลงมาจากนิยายความยาว 700 กว่าหน้าชื่อเดียวกัน (2000) ของ Joyce Carol Oates โดยได้นักแสดงสาวชาวคิวบา Ana de Armas มารับบทนำเป็น Norma Jeane ชื่อเก่าก่อนเข้าวงการของ Marilyn Monroe ตั้งแต่เพิ่งเข้าวงการใหม่ ๆ จนถึงค่ำคืนที่เธอตัดสินใจกินยาฆ่าตัวตาย เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 1962 และทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางของเรื่องราวทั้งหมด เกือบตลอดความยาวกว่าสองชั่วโมงครึ่งของหนังกันเลยทีเดียว

 

Blonde หนังที่คนรอดูในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองเวนิสครั้งที่ 79

Blonde ฉบับหนังของผู้กำกับ Andrew Dominik มุ่งถ่ายทอดภาพชีวิตส่วนตัว อันเป็นผลจากการเกิดมาในครอบครัวที่ไม่มีบิดา แถมมารดายังมีอาการทางจิตประสาทของ Norma Jeane อันจะมีผลต่อการเติบโตและชีวิตการทำงานไปตลอดชั่วอายุของ Marilyn Monroe

 

Blonde หนังที่คนรอดูในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองเวนิสครั้งที่ 79

 

โดย Norma Jeane จะพร่ำบ่นกับตัวเองและทุก ๆ คนอยู่บ่อยครั้งว่า ตัวตนของ Marilyn Monroe ที่ทุกคนเห็นในหนังนั้น ไม่ใช่ตัวเธอเองจริง ๆ แต่เป็นบทบาทสมมติที่เธอต้องตามน้ำ เพื่อยังให้มีการมีงานทำต่อไปในวงการ โดยคนที่เธอไม่ต้องการให้ภาพเหล่านี้สื่อสารไปถึงมากที่สุดก็คือ บิดาที่เธอไม่เคยได้พบหน้า

 

ในขณะที่ Norma Jeane เองกลับไม่สามารถจะถ่ายทอดตัวตนที่แท้ผ่านการงานอาชีพนี้ได้เลยว่าจริง ๆ แล้วเธอเป็นนักแสดงที่แสวงหาอยากจะเล่นแต่บทดี ๆ บทที่ต้องใช้ฝีมือเช่นตัวละคร Natasha ในเรื่อง Three Sisters (1900) ของนักประพันธ์ชาวรัสเซีย Anton Chekov ในขณะที่ความเป็นจริง เธอกลับได้รับบทเป็นลูกแมวยั่วสวาท หรือผู้หญิงโง่ ๆ ที่ขาดสติอยู่ตลอดเวลา

 

Blonde หนังที่คนรอดูในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองเวนิสครั้งที่ 79

 

ภาพลักษณ์ความเป็นหญิงงามเมืองนี้เองที่ทำให้ Marilyn Monroe ถูกใช้เป็นที่ระบายทางเพศของชายผู้มีอำนาจทั้งในแวดวงอุตสาหกรรมภาพยนตร์และการเมืองในสมัยนั้น แม้หลังจากที่เธอได้แต่งงานกับนักการละครดัง Arthur Miller ซึ่งรับบทโดย Adrien Brody แล้วก็ตาม ซึ่งหนังก็แสดงให้เห็นอย่างชวนใจหายว่า

 

ผู้หญิงในแวดวงบันเทิงก่อนจะมีกระแส #MeToo พวกเธอถูกหลู่เกียรติแห่งความเป็นสตรีด้วยการย่ำยีทางเพศอย่างหนักหน่วงรุนแรงขนาดไหน กลายเป็นบาดแผลที่กรีดเฉือนหัวใจของ Marilyn Monroe ได้ตลอดไปโดยไม่มีวันจะลบเลือน

 

 

นักแสดงสาว Ana de Armas รับบทบาทเป็นทั้ง Norma Jeane และ Marilyn Monroe (ตัวหนังได้แยกไว้อย่างชัดเจนว่าช่วงไหน ตัวละครควรใช้ชื่อใด) ได้อย่างแสนวิเศษ ทั้ง ๆ ที่โดยภาพรวมแล้ว ทั้งบทหนังและการกำกับในหลาย ๆ ช่วง ยังส่อให้เห็นถึงความประดักประเดิดเปิ่นเชย หรืออาการฟูมฟายจนเกินเลยที่ดูมากล้นไปสักนิด ทว่า Ana de Armas สามารถใช้การตีความเป็น Marilyn Monroe ของเธอกลบข้อบกพร่องต่าง ๆ เชิงการสร้างของหนังเหล่านี้ไว้เสียมิด

 

ทุกครั้งที่เธอปรากฏตัวมันช่างเฉิดฉายเปล่งประกาย ทำให้ผู้ชมรู้สึกได้ว่าเรากำลังได้เข้าไปสัมผัสความคิดความรู้สึกส่วนตัวของผู้หญิงที่ชื่อ Marilyn Monroe อย่างใกล้ชิดจนสามารถเอื้อมมือถึงได้จริง ๆ

 

Blonde หนังที่คนรอดูในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองเวนิสครั้งที่ 79

 

สิ่งที่น่าทึ่งก็คือ Ana de Armas เป็นนักแสดงสาวอายุเพียง 30 กว่าปี ที่เติบโตมาในยุคสมัยเทคโนโลยีปัจจุบัน หากเธอกลับสามารถทำความเข้าใจได้เป็นอย่างดีว่าสุภาพสตรีในยุค 1940-1950s มีวิถีชีวิตและความคิดอ่านต่าง ๆ ที่แตกต่างไปจากยุคสมัยนี้กันอย่างไร ซึ่งเป็นจุดที่เราจะเห็นนักแสดงรุ่นใหม่ ๆ พลาดกันหลายครั้ง เวลาต้องเล่นบทบาทแบบพีเรียดย้อนเวลากันแบบนี้

 

และที่สำคัญคือเธอไม่ได้หลับหูหลับตาพยายามทำให้ลีลาท่าทางทุกอย่างรวมไปถึงสำเนียงการพูดจาต้องเหมือนต้องถ่ายทอดดีเอ็นเอมาจาก Marilyn Monroe แบบเป๊ะ ๆ แต่เธอกลับพยายามสร้างตัวละคร Marilyn Monroe ในมุมใหม่ ให้สามารถทำหน้าที่เล่าในสิ่งที่บทหนังต้องการได้ จนกลายเป็นการแสดงที่น่าเชื่อเสียยิ่งกว่าการแสดงแบบลอกเลียนเพียงบุคลิกท่าทางภายนอก

 

ดูวี่แววแล้วการแสดงของ Ana de Armas จึงน่าจะไปได้สวยในการประกวดสาขาการแสดงที่เธอก็แรงได้ไม่แพ้นักแสดงหญิงคนอื่นใด แถมยังอาจมีโอกาสไปได้ไกลในเวทีออสการ์เสียด้วยซ้ำ

 

หมายเหตุ : ขณะนี้สามารถรับชม Blonde ได้แล้วทาง Netflix 

 

Blonde หนังที่คนรอดูในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองเวนิสครั้งที่ 79

 

ส่วนเรื่องที่อาจจะได้ลุ้นรางวัลนักแสดงนำฝ่ายชายบ้างก็ได้แก่ The Son ซึ่งดัดแปลงเป็นฉบับหนังจากละครเวทีฝรั่งเศสชื่อ Le fils (2018) ของผู้กำกับ Florian Zeller ต่อเนื่องจากการดัดแปลงบทละครเรื่อง Le père (2012) เป็นฉบับหนัง The Father (2020) จนประสบความสำเร็จมาก่อนหน้านี้แล้ว โดยใน The Son ผู้กำกับก็ได้ดารานักแสดงดัง ๆ มาร่วมรับบทกันอย่างคับคั่ง

 

 

เริ่มตั้งแต่ Hugh Jackman ในบท Peter นักธุรกิจหนุ่มผู้ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน แต่ล้มเหลวในชีวิตการแต่งงานครั้งแรกกับ Kate ซึ่งแสดงโดย Laura Dern พวกเขามีบุตรชายด้วยกันหนึ่งคนคือ Nicholas รับบทโดย Zen McGrath ซึ่งอาศัยอยู่กับมารดา ในขณะที่ฝ่าย Peter ก็ไปเริ่มต้นชีวิตคู่ใหม่กับ Beth ซึ่งแสดงโดย Vanessa Kirby กระทั่งมีบุตรชายวัยทารกด้วยกันอีกหนึ่งคน

 

นอกจากนี้ยังมีนักแสดงรุ่นใหญ่เจ้าเดิมจาก The Father นั่นคือ Anthony Hopkins มาร่วมเล่นสมทบเป็นคุณพ่อของคุณพ่อ Peter ในเรื่องอีกด้วย เรื่องราวน่าจะดำเนินไปได้ด้วยดี ถ้า Nicholas จะไม่ประพฤติตัวเกเรดื้อเงียบ ออกจากบ้านทุกเช้าแต่ไม่ยอมไปโรงเรียน แล้วตีเนียนสร้างเรื่องราวจนทั้งทางโรงเรียนและทางบ้านไม่มีใครรู้เลยว่าเขาแอบโดดเรียนมาเป็นเดือน ๆ

 

Nicholas ผู้ไม่เคยคิดคบหาเพื่อนฝูงใด ๆ จงใจสร้างปัญหาเพื่อให้บิดาและมารดาของเขาต้องกลับมาพบกันอีกครั้ง เพื่อบอกว่าการตัดสินใจหย่าร้างกันของทั้งคู่ จะถือเป็นเรื่องของผู้ใหญ่สองคนไม่ได้ ถ้าฝ่ายบุตรไม่ยินยอม พวกเขาก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะตัดขาดอะไรกัน

 

บทหนังเรื่อง The Son มีความลุ่มลึกเข้มข้น สะท้อนตัวตนความคิดของตัวละครได้อย่างละเอียดละเมียดสมเป็นบทที่มาจากละครเวที ในขณะที่นักแสดงฝ่ายผู้ใหญ่โดยเฉพาะ Hugh Jackman ก็เล่นได้ดี จนชวนให้รู้สึกสงสารเห็นใจในทุก ๆ การตัดสินใจที่กลับส่งผลร้ายเกินคาดคิดของเขา

 

แต่ในส่วนการแสดงของ Zen McGrath ในบทวัยรุ่นเจ้าปัญหา Nicholas กลับออกจะดูจงใจให้เป็นตัวละครฝ่ายร้ายที่ชัดเจนไปหน่อยจนไม่ค่อยมีมิติเท่าไหร่ ทั้ง ๆ ที่ในบทละครก็ได้เขียนไว้ให้เขาเป็นทั้งคนที่ทั้งอัธยาศัยดีและที่มีปัญหาทางจิตอยู่ในเวลาเดียวกัน จนสรุปได้ยากเหลือเกินว่าเขาเป็นคนที่น่าจะไว้วางใจได้หรือไม่

 

อย่างไรก็ดีสุดท้ายแล้ว Zen McGrath ก็อาจจะคว้ารางวัลยอดเยี่ยม Marcello Mastroianni Award สำหรับนักแสดงหน้าใหม่ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กและเยาวชนไป เพราะเท่าที่ดูก็ยังไม่เห็นบทไหนจะมีมิติได้มากเท่ากับบท Nicholas ในเรื่องนี้

 

 

หนังสายประกวดเทศกาลเวนิสปีนี้ มีผลงานของผู้กำกับหญิงเข้าร่วมชิงรางวัลมากถึง 5 เรื่อง หากจะไม่นับผลงานของผู้กำกับ Emanuele Crialese ซึ่งได้กลายเป็นชายข้ามเพศไปแล้ว โดยนอกจากหนังของ Laura Poitras และ Rebecca Zlotowski ที่ได้กล่าวถึงไปก่อนหน้านี้แล้ว หนังผู้กำกับหญิงอีกสามเรื่องก็ดูจะมีลีลาเชิงทดลองที่แตกต่างจากขนบการทำหนังโดยทั่วไปอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน

 

เริ่มตั้งแต่ Joanna Hogg กับงานกึ่งสยองขวัญเรื่องใหม่ The Eternal Daughter ที่ให้นักแสดงหญิง Tilda Swinton มารับบทบาทเป็นทั้งคุณแม่วัยชราและบุตรสาวที่มีอาชีพเป็นศิลปิน ซึ่งได้กลับมาพักที่คฤหาสน์เดิมของพวกเขา หลังจากที่ได้กลายสภาพเป็นโรงแรมซึ่งไม่มีใครอื่นมาพัก

 

Blonde หนังที่คนรอดูในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองเวนิสครั้งที่ 79

หนังเล่าเหตุการณ์ประหลาดต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับพนักงานในโรงแรมเพียงไม่กี่คน เพื่อที่จะนำไปสู่จุดหักมุมรุนแรงมากกว่าจะนำเสนอปมความหลังเมื่อครั้งอดีตของตัวละครคู่แม่ลูก

 

The Eternal Daughter จึงเหมือนเป็นหนังมุกเดียว ซึ่งต้องแล้วแต่ผู้ชมแต่ละรายว่าจะคล้อยตามมุกของหนังได้หรือไม่ ในฐานะหัวใจสำคัญเพียงหนึ่งเดียวของเรื่องราวทั้งหมด

 

ส่วนเรื่อง Saint Omer ของ Alice Diop ก็อาจจะทดลองเสียยิ่งกว่า กับการนำฟอร์มของหนังขึ้นโรงขึ้นศาลหรือ courtroom drama มาผสานกับงานเขย่าขวัญเชิงจิตวิทยา และการศึกษาตำนานเรื่องเล่ากรีกโบราณ เล่าเรื่องราวขนานคู่กันระหว่าง Rama และ Laurence สาวผิวสีจากทวีปแอฟริกาที่มาอาศัยอยู่ในฝรั่งเศสและมีการศึกษาดีทั้งคู่

 

โดย Rama เป็นนักเขียนกำลังหาวัตถุดิบเพื่อนำไปเขียนนิยายเรื่องใหม่ที่ใช้บทละครกรีกเรื่อง Medea ของ Euripides มาเล่าใหม่ด้วยบริบทปัจจุบัน เธอจึงไปร่วมเข้าฟังการไต่สวนคดีสะเทือนขวัญ เมื่อ Laurence มารดาแม่ลูกอ่อนวัยขวบเศษ ๆ ที่ตัดสินใจปล่อยบุตรตัวเองไว้ริมตลิ่งแม่น้ำ เพื่อให้สายน้ำนำบุตรของเธอคืนสู่ธรรมชาติ

 

Blonde หนังที่คนรอดูในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองเวนิสครั้งที่ 79

Blonde หนังที่คนรอดูในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองเวนิสครั้งที่ 79

ทั้ง Rama และผู้พิพากษาหญิงต่างก็รับฟังพฤติกรรมและความคิดสุดประหลาดของ Laurence อย่างงุนงง โดยเฉพาะเมื่อหนังให้เวลากับ Laurence ในการให้การตอบคำถามต่าง ๆ ที่ฟังอย่างไรก็ไม่เคยจะตรงประเด็นเลยสักครั้ง แม้ว่าเธอจะตั้งใจเล่าทุกอย่างด้วยความจริงใจไม่ปิดบังอะไรเพื่อหลบหนีความผิด เลยกลายเป็นว่ายิ่งไต่สวนก็ยิ่งนำพาผู้ฟังรายอื่น ๆ ไกลพ้นจากความเข้าใจ ให้ความหมายใหม่แห่งการเป็นมารดาที่ไม่น่าจะมีใครถกถึงมาก่อน

 

ในขณะที่หนังย้อนยุคไปยังปลายสมัยกลางในอิตาลีของผู้กำกับ Susanna Nicchiarelli เรื่อง Chiara ก็ดูจะมีเจตนาในการเล่าเรื่องราวชีวประวัติของนักบวชสตรี Clare แห่งเมือง Assisi ช่วงต้นคริสตศตวรรษ 1210 ที่เป็นผู้บุกเบิกคำสอนทางศาสนาในกลุ่มสตรีจนถูกมองว่าเป็นผู้มีอภินิหารเหนือบุรุษ ด้วยน้ำเสียงที่เรียบ ๆ ง่าย ๆ ไม่เน้นความหวือหวา

 

Blonde หนังที่คนรอดูในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองเวนิสครั้งที่ 79

ซึ่งโดยรวมแล้วก็อาจจะแลดูเป็นหนังเล่าชีวประวัติธรรมดา ๆ ยังไม่สามารถนำเสนอความพิเศษของบุคคลในตำนานนี้ได้อย่างเต็มที่นัก ต่อให้พยายามใส่ฉากมิวสิคัลร้องรำทำเพลงมาด้วยแล้วในหลาย ๆ ช่วง

 

ส่วนผู้กำกับระดับตำนานชาวอิตาเลียน Gianni Amelio ก็ได้ทดลองทำหนังแบบที่เขาไม่เคยทำมาก่อนเช่นกันในเรื่อง Lord of the Ants

 

Blonde หนังที่คนรอดูในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองเวนิสครั้งที่ 79

นั่นคือการเล่าชะตากรรมของกวีหนุ่ม Aldo Braibanti ในช่วงปลายยุค 1960s ที่ถูกจับกุมและไต่สวนจากเหตุที่เขาเป็นชายเกย์และชอบล่อลวงลูกศิษย์ลูกหาและเด็กหนุ่ม ๆ ให้หลงระเริงไปกับพฤติกรรมรักเพศเดียวกันแบบเดียวกับเขา แม้ว่าจะเป็นการคบหากันแบบสมยอมก็ตาม สะท้อนความล้าหลังของกฎหมายอิตาลีในขณะนั้น ที่ยังมองว่าพฤติกรรมรักร่วมเพศเป็นสิ่งชั่วร้ายที่ต้องกำจัดให้หายไปจากสังคม

 

ผิดกับผู้กำกับและนักแสดงนำ Roschdy Zem ชาวฝรั่งเศสกับหนังใหม่เรื่อง Our Ties ที่ยังคงปักหลักเล่าเรื่องราวชีวิตในครอบครัวเชื้อสายอาหรับในฝรั่งเศสอยู่อย่างเหนียวแน่น

 

 

โดยคราวนี้จับเรื่องราวไปยังปมปัญหา middle life crisis ของสองหนุ่มพี่น้องวัยผู้ใหญ่สองนาย คนหนึ่งชื่อ Ryad เป็นนักข่าวกีฬาออกหน้าทางโทรทัศน์ ส่วนอีกคนชื่อ Moussa เป็นผู้บริหารระดับสูงของบริษัทแห่งหนึ่ง

เมื่อ Moussa ประสบอุบัติเหตุล้มจนหัวกระแทกพื้นในค่ำคืนที่ออกไปเลี้ยงฉลองวันเกิดเพื่อนพนักงาน ฝ่าย Ryad จึงต้องปลีกเวลาเข้ามาดูแลน้องชาย ในขณะที่ญาติโกโหติกาไม่ว่าจะฝ่ายไหน ต่างก็เข้ามาช่วยดูแล Moussa ด้วยความห่วงใย จนกลายเป็นความโกลาหลวุ่นวาย โดยเฉพาะเมื่อ Moussa กำลังอยู่ในขั้นตอนขอหย่าขาดจากภรรยาที่ไม่เคยสนใจเขา

 

เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองเวนิสปีนี้ เหมือนจะจงใจปิดท้ายสายประกวดหลักกันด้วยหนังสองเรื่องจากประเทศอิหร่าน จึงเก็บเอาไว้ฉายในสองวันสุดท้าย โดยเรื่องแรกก็คือ Beyond the Wall ของผู้กำกับ Vahid Jalilvand ซึ่งก็ถือว่ามาแปลกผิดหูผิดตาไปจากหนังอิหร่านโดยทั่วไป เพราะมาในแนวทางหนังแอ็คชันแบบ Hi-concept

 

Blonde หนังที่คนรอดูในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองเวนิสครั้งที่ 79

 

เล่าถึงชายหนุ่มตาบอดที่อาศัยอยู่ในห้องอพาร์ทเมนต์ตามลำพัง กระทั่ง วันดีคืนดี มีการประท้วงของคนงานละแวกใกล้เคียง ทำให้มารดาที่พลัดหลงกับบุตรชายต้องระเห็จหนีตำรวจมาแอบหลบอยู่ในอพาร์ทเมนต์ของชายตาบอด

 

เบื้องแรกเขายังไม่ทราบว่ามีผู้บุกรุก แต่เมื่อมีเจ้าหน้าที่มาถามหาเขาก็เริ่มระแคะระคาย แล้วเขาจะตัดสินใจอย่างไรกับแขกที่ไม่ได้รับเชิญนางนี้

 

 

ผู้กำกับ Vahid Jalilvand ดูจะยังมีความมือใหม่ ที่ทำให้การเล่าในหลาย ๆ จุดยังออกจะเยอะล้นจนเกินไปจนผู้ชมเริ่มจะคาดเดาได้ แม้ว่าสุดท้ายเขาจะพยายามตลบเรื่องด้วยการหักมุมรุนแรงต่ออีกหนึ่งชั้นก็ตามที

 

แต่หนังที่ฉายให้สื่อชมเป็นเรื่องสุดท้าย จนอาจจะกลายเป็นการจัดฉายที่เศร้าที่สุด นั่นก็คือรอบปฐมทัศน์หนังใหม่เรื่อง No Bears ของผู้กำกับอิหร่าน Jafar Panahi ที่ปัจจุบันถูกทางการอิหร่านจับกุมตัวหลังถูกสงสัยว่าให้การสนับสนุนผู้กำกับรุ่นน้อง Mohammad Rasoulof ที่ถูกจับกุมไปก่อนหน้านี้ ทำให้ Jafar Panahi ไม่สามารถเดินทางมาร่วมงานฉายรอบปฐมทัศน์หรือให้สัมภาษณ์ต่อสื่อได้ในเทศกาลครั้งนี้เหมือนผู้กำกับคนอื่น ๆ ได้ ซึ่งนับเป็นเรื่องที่สร้างความตื้นตีบตันใจให้ผู้ชมที่เวนิสเป็นอย่างมาก

 

Blonde หนังที่คนรอดูในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองเวนิสครั้งที่ 79

อย่างในรอบสื่อเอง ที่ทันทีที่ชื่อของ Jafar Panahi ปรากฏบนจอเสียงปรบมือก็ดังกึกก้องต่ออีกยาวนานหลายนาที ยิ่งได้ดูเนื้อหาของหนังที่เล่าถึงชีวิตของผู้กำกับเอง ขณะพยายามกำกับหนังเรื่องใหม่ด้วยวิธีทางไกลแบบ work-from-home โดยให้ผู้ช่วยคอยกำกับนักแสดงและคิวต่าง ๆ ณ ต่างแดน เนื่องจากเขาเดินทางออกนอกประเทศไม่ได้ แต่ติดปัญหาเรื่องสัญญาณ

 

และที่สำคัญคือเขาเข้าไปพัวพันกับชุมชนท้องถิ่นที่ประกอบอาชีพลักลอบขนของเถื่อนข้ามแดน ซึ่งก็ยิ่งทำให้เขาเป็นคนที่แสนอันตรายทุกครั้งเวลาถือกล้องไปถ่ายผู้คน ณ จุดต่าง ๆ สร้างภาพความแปลกแยกไม่มีใครต้องการของผู้กำกับ Jafar Panahi ได้อย่างน่าสะเทือนใจ โดยเขาอาจไม่ได้รับรู้เลยว่าผู้ชมที่เทศกาลเวนิสต่างให้เกียรติและอยากจะพบเจอเขามากขนาดไหน

 

Blonde หนังที่คนรอดูในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองเวนิสครั้งที่ 79 Sally Potter ประธาน Venezia 79 International Jury, Julianne Moore, Alberto Barbera ผู้อำนวยการ Venice International Film Festival ครั้งที่ 79 ร่วมกันถือป้ายประท้วงให้มีการปล่อยตัวผู้กำกับ Jafar Panahi (Credit : Tiziana FABI / AFP)