เมื่อ"เมือง"ไม่เชื่อมต่อ“พื้นที่สีเขียว” ต้องคิดใหม่อย่างไรดี

เมื่อ"เมือง"ไม่เชื่อมต่อ“พื้นที่สีเขียว” ต้องคิดใหม่อย่างไรดี

ปัญหาไม่เล็กที่คนตัวเล็กๆ อยากร่วมด้วยช่วยกันในเรื่องการเชื่อมต่อถนนหนทางกับ“พื้นที่สีเขียว" อีกเวทีใน “Sustainability Expo 2022”ที่น่าสนใจ

แม้หลายคนอยากออกไปนั่งเล่นในสวนสาธารณะ แต่เมื่อคิดคำนวณระยะเวลาในการเดินทางต้องฝ่าแดด ฝ่าฝน ฝ่าการจราจร ก็ต้องถอดใจ เพราะการเชื่อมต่อถนนหนทาง เพื่อไปสู่พื้นที่สีเขียวไม่ได้สะดวกเลย ส่วนสวนเล็กๆ ร่มรื่นใกล้บ้าน ก็มีน้อยมาก

คนตัวเล็กๆ จากหลายกลุ่มจึงมาช่วยกันหาทางออกในหัวข้อ "Bangkok Green Link" โครงข่ายทางเชื่อมพื้นที่สีเขียวกลางกรุงเทพฯ ในงาน Sustainability Expo 2022 ที่ศูนย์ประชุมสิริกิติ์

 

ขอเขียวเล็กๆ ใกล้บ้าน

การเชื่อมโยงเส้นทางคลอง ทางรถไฟ พื้นที่ใต้ทางด่วน ทางเท้า ย่านต่างๆ ในเมืองกับพื้นที่สีเขียวยังเป็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไข

ในวงเสวนาครั้งนี้  อดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้ รองผู้อำนวยการ ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง(UDDC) ให้ข้อมูลคร่าวๆ ว่า การเดินไปสวนสาธารณะหรือพื้นที่สีเขียวในกทม.มีค่าเฉลี่ย 45 นาที ต้องเดินประมาณ 5 กิโลเมตร และพื้นที่สวนที่มีอยู่ก็น้อยเกินไปสำหรับทุกคน

เกณฑ์มาตรฐานที่องค์การอนามัยโลก( WHO) กำหนดไว้ว่าเมืองใหญ่ๆ ควรมีพื้นที่สีเขียวมากกว่า 9 ตารางเมตร/คน ถ้าเทียบเมืองปารีส ประเทศฝรั่งเศส มีพื้นที่สีเขียว 13 ตารางเมตรต่อคน 

เมื่อ\"เมือง\"ไม่เชื่อมต่อ“พื้นที่สีเขียว” ต้องคิดใหม่อย่างไรดี ในงาน Sustainability Expo 2022 ที่ศูนย์ประชุมสิริกิติ์

 

เมื่อ\"เมือง\"ไม่เชื่อมต่อ“พื้นที่สีเขียว” ต้องคิดใหม่อย่างไรดี (เขียวๆ แบบนี้ ดีต่อใจและโลก ภาพจาก BIG Trees)

อดิศักดิ์ ตั้งคำถามว่า อีก5-10 ปีพวกเราจะต้องการพื้นที่สีเขียวแค่ไหน ถ้าเลือกได้พื้นที่สีเขียวไม่จำเป็นต้องเท่าสวนลุมพินีหรือสวนเบญจกิติก็ได้ อาจเป็นเขียวเล็กๆ ที่ดีต่อใจ 

และถ้าเมืองมีคนอยู่หนาแน่นมากขึ้น พื้นที่ของเอกชน ภาครัฐ วัดที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ และพื้นที่รกร้าง น่าจะมาเติมเต็มความเขียวได้ ส่วนพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ โจทย์ก็คือเรื่องการเชื่อมโยง

“ถ้าสามารถเชื่อมโยงทางเดิน สร้างเครือข่ายถึงกันได้ จะเป็นพื้นที่สีเขียวที่คนได้ใช้ เราคงไม่ต้องการสวนสาธารณะ 50 ไร่ในทุกๆ ที่ แต่ต้องการสวนที่แตกต่างตามบริบทของพื้นที่แต่ละย่าน"

พลิกพื้นที่รกร้างเป็นสีเขียว 

เพราะกรุงเทพฯมีพื้นที่รกร้างว่างเปล่าไม่ใช่น้อย ถ้าปรับให้เป็นพื้นที่สีเขียว ก็น่าจะสร้างความร่มรื่นให้คนเมืองได้ และที่ผ่านมาสวนในความหมายของราชการไม่ค่อยมีคนใช้บริการ เพราะไม่ตรงกับสิ่งที่พวกเขาต้องการ 

ยศพล บุญสม ภูมิสถาปนิก ผู้ร่วมก่อตั้งโครงการ we!park ที่เริ่มจากวิ่งออกกำลังกาย และเห็นพื้นที่มากมายถูกทิ้งร้าง จึงเกิดไอเดียทำงานร่วมกับหลายเครือข่าย หาพื้นที่รกร้างมาทำสวนเล็กๆ ให้คนเมือง

"แทนที่เอกชนจะปลูกกล้วย เพื่อใช้ลดหย่อนภาษี น่าจะนำเงินจำนวนเดียวกันที่ปลูกกล้วยมาทำสวน แล้วทางกทม.ช่วยดูแลจะดีกว่าไหม ไม่ใช่ว่าเป็นสวนกล้วยไม่ได้ แต่ถ้าเป็นฟาร์มที่มีคุณภาพมีผลิตภัณฑ์อาหารจริงๆ คงดีกว่า"

เมื่อ\"เมือง\"ไม่เชื่อมต่อ“พื้นที่สีเขียว” ต้องคิดใหม่อย่างไรดี (ช่วยกันคิดการวางพื้นที่ร่วมกับชุมชน จากเฟซบุ๊ค  We! Park)

ยศพล ยังมองว่า โครงสร้างพื้นฐานอย่างการตัดถนนหรือการสร้างทางเท้า พื้นที่เศษๆ ที่เหลือน่าจะนำมาใช้ประโยชน์เพื่อประชาชน

"ถ้าเราทำโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเมืองได้ ทำไมเราวางแผนโครงสร้างสีเขียวไม่ได้ เพื่อให้เป็นเมืองของคนกับธรรมชาติ พื้นที่เขียวๆ ให้นก แมลง รวมถึงเรื่องอาหารและสุขภาพ โครงสร้างสีเขียวทำได้ทุกหนทุกแห่ง สร้างชอปปิ้งมอลล์ มีหลังคาสีเขียว พื้นที่โล่งว่าง พื้นที่ซึมน้ำ ก็ทำได้"

ด้วยเหตุผลดังกล่าว คนกลุ่มเล็กๆ We! Park จึงพยายามทำงานเชื่อมโยงกับทุกเครือข่าย โดยเน้นพื้นที่ขนาดเล็กรกร้างหรือทิ้งไว้เฉยๆ มาทำเป็นพื้นที่สีเขียว 

"สิ่งที่เราทำมาสองปี เราไม่ได้สร้างแค่สวน แต่สร้างสังคม เราทำไปแล้ว 5 พื้นที่ ที่ดินบริจาคจากเอกชน มีการระดมทุนจากเทใจและเชื่อมโยงกับกทม. ทำงานกับน้องๆ จุฬาฯ ถ้าเอกชนร่วมด้วยช่วยกัน จะทำให้คนเมืองมีสวนเล็กๆ มากขึ้น 

ถ้าจะให้พื้นที่สีเขียวเกิดได้จริงและเร็ว พลังต้องมาจากทุกคน พื้นที่สีเขียวคิดแบบแยกส่วนไม่ได้ ถ้าเรามีองค์ความรู้ เงินทุนสนับสนุน มีสำนักเขตและชุมชนดูแล เราต้องมีคนทำงานรับผิดชอบด้านกล้าไม้ และการดูแลสวนด้วย ”

เมื่อ\"เมือง\"ไม่เชื่อมต่อ“พื้นที่สีเขียว” ต้องคิดใหม่อย่างไรดี

บิ๊กทรี ชวนรับพลังจากต้นไม้

เวลาอยู่ท่ามกลางต้นไม้ใหญ่ นอกจากรู้สึกสดชื่น ยังรู้สึกถึงพลังของต้นไม้ที่ส่งต่อถึงมนุษย์ ต้นไม้ใหญ่จึงเป็นสิ่งมีชีวิตที่ดีต่อโลกและมนุษย์

อนันตา อินทรอักษร ผู้ร่วมก่อตั้ง Big Trees Project กลุ่มที่มักจะออกมารณรงค์เรื่องการดูแลต้นไม้ใหญ่ และการตัดแต่งต้นไม้อย่างถูกวิธี บอกว่า พื้นที่สีเขียวในเมืองมีน้อยไป

"ต้นไม้ต้องดูแลให้ถูกวิธี ถ้าเราไปบั่นยอดเพื่อลดความเสี่ยงการติดสายไฟ การบั่นยอดจะทำให้เกิดกิ่งกระโดง รุกขกรหลายคนสอนเราว่า จะตัดแต่งต้นไม้ ไม่ใช่แค่ตัด ต้องเข้าใจธรรมชาติต้นไม้

ล่าสุดบิ๊กทรีกำลังทำเรื่องทะเบียนต้นไม้ เพื่อจะรู้ถึงจำนวนประชากรต้นไม้ โดยเปิดให้คนทั่วไปมาลงทะเบียนผ่านออนไลน์ อนันตา บอกว่า ต่อไปก็จะรู้ว่า ต้นไม้จะได้รับการดูแลและทำศัลยกรรมเมื่อไร

“บิ๊กทรีลองเรียนรู้การทำทะเบียนต้นไม้ ถ้าเรารู้เรื่องคาร์บอนเครดิต(ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่สามารถลดได้จากการดำเนินโครงการกลไกการพัฒนาที่สะอาด)ที่เกิดขึ้น เราสามารถเทรดกับต่างประเทศได้ และไม่ใช่แค่เมือง

เมื่อ\"เมือง\"ไม่เชื่อมต่อ“พื้นที่สีเขียว” ต้องคิดใหม่อย่างไรดี “เราอยากได้พื้นที่ที่เป็นสมบัติร่วมกัน ได้เพาะปลูกด้วยกัน กินอยู่รู้ที่มา เป็นพื้นที่ที่สร้างความหลากหลาย เป็นพื้นที่ตลาด ห้องเรียนธรรมชาติให้เด็กๆ  ดังนั้นถ้าทำเมืองยั่งยืน ต้องกลับมาที่ราก ถ้าเราจะปลูกต้นไม้ เวลาที่ดีที่สุดคือปลูกตอนนี้" 

เพิ่มเขียวๆ บนดาดฟ้า

เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีคนกลุ่มเล็กๆ พัฒนาโมเดลธุรกิจฟาร์มบนดาดฟ้า โดยใช้หลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน สร้างไลฟสไตล์ใหม่ให้คนเมือง และพยายามทำอย่างต่อเนื่อง

ปารีณา ประยุกต์วงศ์ ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม Bangkok Rooftop Farming  เล่าถึงฟาร์มแรกที่เราทำที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นเตอร์วัน อนุสาวรีย์ชัย ว่า

"ก่อนโควิดมีเศษอาหารประมาณ 200 กิโลกรัมต่อวัน เราไปคำนวณคาร์บอนฟู้ดพริ้นท์ (ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมา)ปีหนึ่งกำจัดเศษอาหารได้ 22 ตัน แต่เจ้าของไม่เคยเคลิม 

เมื่อ\"เมือง\"ไม่เชื่อมต่อ“พื้นที่สีเขียว” ต้องคิดใหม่อย่างไรดี ภาพจากเฟซบุ๊ค Bangkok Rooftop Farming 

ถ้าเอาขยะเศษอาหารมาทำปุ๋ยหมัก จะมีโมเดลธุรกิจแบบไหนที่จะสร้างมูลค่าและทำให้เอกชนอยากทำเรื่องนี้ ฟาร์มเล็กๆ 200 ตารางเมตรที่ดาดฟ้าเซ็นเตอร์วัน เราสามารถปลูกผักได้ 240 กิโลกรัมต่อเดือน เราจัดการขยะอาหารได้หมด"

ที่ผ่านมาพวกเขาทำฟาร์มดาดฟ้า 19 ฟาร์มทั่วกรุงเทพฯ ในช่วงสองปีสามารถจัดการขยะอาหารได้ 220 ตัน

"กรุงเทพฯมีตึกประมาณ 1280 ตึก ขอเพียง 10 % นำมาทำฟาร์มดาดฟ้า ปีที่ผ่านมาทำไป 2 ไร่ ถ้าเราตั้งเป้าไว้ 5  ปี อีก 4 ปีที่จะถึงจะมีวิธีทำให้พื้นที่ดาดฟ้าได้ใช้ประโยชน์อย่างไรบ้างฟาร์มดาดฟ้าเป็นเสมือนโอเอซิสของชีวิต ปีนี้พวกเรากำลังจะทำเรื่องดอกไม้กินได้เป็นฟาร์มแรก

เมื่อไม่นานมีร้านค้าในซอยทองหล่อมาบอกว่า ให้ช่วยปลูกดอกไม้กินได้ให้อาทิตย์ละ 500 กรัม ทุกวันนี้ฟาร์มของเรา 200 ตารางเมตร มีนกเขาสามตัวแล้ว ตอนนี้เราให้เด็กประถมมาเรียนรู้เรื่องหนอน ไส้เดือน ในแปลงผัก เด็กๆ ไม่เคยเจอแบบนี้" ปารีณา เล่า

และนี่คือพื้นที่สีเขียวของคนเล็กๆ ที่ไม่ใช่สวนขนาดใหญ่ อาจเป็นฟาร์มดาดฟ้า พื้นรกร้างที่ถูกเปลี่ยนเป็นสวนเล็กๆ เพื่อทำกิจกรรมร่วมกันในชุมชน