รู้จัก "Me Books" โลกการอ่านใบใหม่ พาลูกน้อยข้ามพรมแดนโลกการเรียนรู้

รู้จัก "Me Books" โลกการอ่านใบใหม่ พาลูกน้อยข้ามพรมแดนโลกการเรียนรู้

พาไปรู้จัก "Me Books" แอปพลิเคชันหนังสือนิทานออนไลน์ 4 ภาษา โลกการอ่านใบใหม่บนแนวคิด "ปลุกหนังสือให้มีชีวิต" เครื่องมือเพิ่มช่องทางการเรียนรู้ เสริมพัฒนาการเด็ก ช่วยสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ลูก

ปัจจุบัน เด็กไทยกำลังเผชิญปัญหาด้านการเรียนรู้ไม่น้อย โดยเฉพาะหลังวิกฤติสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่ยาวนาน ได้สร้างผลกระทบโดยตรงด้านการเรียนรู้กับเด็กไทยอย่างรุนแรง เมื่อเด็กกว่า 4 ล้านคน อยู่ในช่วงวัยที่ระบบประสาทและสมองเจริญเติบโตในอัตราสูงสุดกว่า 80% ของชีวิต และถือเป็นช่วงเวลาที่ต้องได้รับการพัฒนา กลับต้องมีแนวโน้มภาวะการณ์เรียนรู้ถดถอย เนื่องจากไม่ได้ไปโรงเรียน หรือได้รับการเรียนรู้เต็มที่

ทว่าในวิกฤติ อาจเปลี่ยนเป็นโอกาสได้ หากเราเลือกที่จะนำ "เทคโนโลยีดิจิทัล" มาใช้ประโยชน์ เป็นบันไดที่ช่วยเพิ่มช่องทางการเรียนรู้แก่เด็กไทยในอนาคต จึงเป็นที่มาของการนำ "Me Books" หรือ มีบุ๊คส์ แอปพลิเคชันหนังสือนิทานออนไลน์ มาเป็นเครื่องมือเผยแพร่ความรู้ด้านสุขภาวะ ส่งเสริมพัฒนาการเรียนรู้ ที่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. จับมือ มีบุ๊คส์ มาเลเซีย พัฒนาขึ้นบนแนวคิด "ปลุกหนังสือให้มีชีวิต"

รู้จัก "Me Books" โลกการอ่านใบใหม่ พาลูกน้อยข้ามพรมแดนโลกการเรียนรู้

"เพราะการเรียนรู้ ที่นำสู่ literacy หรือการรอบรู้ของผู้คน มีความสัมพันธ์อย่างมากกับการมีสุขภาวะ ไม่ว่าจะเป็น กาย จิต อารมณ์ และสังคม สสส. จึงพยายามอุทิศตนเพิ่มการเรียนรู้ของเด็กไทยและสังคมไทย"

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เผยถึงที่มาของจุดยืนสำคัญ สสส. หลังประกาศเคลื่อนไปสู่ "online for all" ให้มากขึ้น ซึ่งในงานเปิดตัวนิทานออนไลน์ 4 ภาษา ที่ได้ถูกพัฒนาขึ้นผ่านแอปพลิเคชัน "Me Books" ครั้งนี้อาจเป็นการย้ำถึงหมุดหมายสำคัญคือ ความมุ่งมั่นไปสู่การสนับสนุนการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนไทยให้มากขึ้น เพื่อเพิ่มสุขภาวะทางปัญญาและการเรียนรู้ ด้วยการลดช่องว่างการเข้าถึงดิจิทัล  

รู้จัก "Me Books" โลกการอ่านใบใหม่ พาลูกน้อยข้ามพรมแดนโลกการเรียนรู้

ดร.สุปรีดา กล่าวว่า ด้วยจุดเด่นที่ หนังสือดิจิทัล สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในวงกว้างและอาจมีราคาถูกกว่าการผลิตหนังสือกระดาษในระยะยาว ปัจจุบันมีสถิติชัดเจนว่า เด็กไทยมีหนังสือไม่ถึง 3 เล่มในครัวเรือน และการผลิตหนังสืออาจไม่สามารถกระจายให้ทั่วถึงเด็กทุกคนในประเทศไทย แต่ในอนาคตเด็กในรุ่นนี้และถัดไปจะเข้าสู่การเป็น Digital Native มากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งแอปพลิเคชันหนังสือจะเข้าถึงผู้คนได้ง่ายขึ้นๆ

  • อะไรคือ "Me Books"

หากให้นิยาม มีบุ๊คส์ อาจกล่าวได้ว่า เป็นการขยายการเรียนรู้ข้ามพรมแดน ไม่ว่าจะเป็นพรมแดนทางกายภาพ ด้วยเป็นแหล่งรวมของหนังสือที่มีชื่อเสียงระดับโลกกว่า 450 เรื่องจากนานาประเทศ รวมถึงหนังสือคุณภาพของ SOOK Enterprise สสส. และมูลนิธิสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่านอีกกว่า 40 เล่ม ก็ได้บรรจุอยู่ในมีบุ๊คส์เรียบร้อยแล้ว มีบุ๊คส์ยังพาเราข้ามพรมแดนภาษา กับแอปพลิเคชันในรูปแบบ 4 ภาษา ที่นักอ่านรุ่นเยาว์สามารถเลือกได้ ทั้ง ไทย อังกฤษ จีน และมลายู แก้ไขพรมแดนการด้านโอกาสและการเข้าถึง เพราะมีบุ๊คส์คือแอปพลิเคชันที่อยู่ในแพลตฟอร์มออนไลน์ที่สามารถเรียนรู้ เข้าถึงได้ทุกที่ ทุกเวลา และยังเปลี่ยนข้อจำกัดข้ามพรมแดนแห่งจินตนาการ ด้วยรูปแบบการเรียนรู้ที่สามารถตอบโต้โดยการสัมผัสผ่านหนังสือได้

รู้จัก "Me Books" โลกการอ่านใบใหม่ พาลูกน้อยข้ามพรมแดนโลกการเรียนรู้

เฮา จิน ผู้ก่อตั้งแอปพลิเคชัน Me Books กล่าวว่า แอปฯ Me books ช่วยสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างเด็ก กับผู้ปกครอง ครู บรรณารักษ์ นักเล่านิทาน ด้วยระบบการสร้างพัฒนาการเด็กแบบขั้นบันได ตั้งแต่การอ่าน ฟัง พูดออกเสียง พร้อมตอบโต้โดยการสัมผัสผ่านหนังสือที่มีชื่อเสียงระดับโลก

ในการออกแบบเนื้อหา แอปพลิเคชัน "มีบุ๊คส์" เน้นการส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาการเด็ก ทั้งด้านสติปัญญา ความคิด ภาษา และพฤติกรรมที่เหมาะสมแบบเป็นขั้นเป็นตอน เช่น การออกแบบในบทที่หนึ่ง สำหรับผู้เริ่มต้น ทางทีมงานตั้งใจที่จะไม่มีบทพูด หรือภาษาเรื่องเลย หากแต่จะเป็นภาพเรื่องราวที่เปิดให้เด็กได้จินตนาการ เป็นการบ่งบอกว่า storytelling ที่ดีสำหรับเด็ก นั้นไม่จำเป็นต้องเริ่มจากการอ่านอย่างเดียว แต่ควรเริ่มจากจินตนาการมากกว่า

อีกความพิเศษคือ เครื่องมืออัดเสียงเพื่อให้ผู้ดูแลเด็กสามารถใช้แอปฯ สร้างเรื่องราวใหม่ร่วมกับเด็กเสริมสร้างการเรียนรู้ทางภาษาได้ มีบุ๊คส์เชื่อในการสร้างสรรค์เนื้อหาสื่อคุณภาพ ที่มาพร้อมกับความสนุกสนาน และคุณภาพเพื่อพัฒนาการเด็ก ซึ่งทุกสื่อหรือหนังสือที่มีบุ๊คพัฒนาออกไปเรามีความเชื่อเช่นนี้

สำหรับความร่วมมือกับ Sook Enterprise ซึ่งนับเป็นผู้พัฒนาสื่อรายแรกของประเทศไทยที่เข้ามาอยู่ในแพลตฟอร์มนี้ ผู้บริหารมีบุ๊คส์ ให้ความเห็นว่า การร่วมมือกันครั้งนี้คืออีกก้าวไปสู่การปฏิวัติรูปแบบการเรียนรู้ในอนาคตผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มของกันและกัน เติมเต็มระหว่างกัน

มร.เฮา จิน กล่าวเสริมว่า มีบุ๊ค จะนำองค์ความรู้ด้านสุขภาวะมาเติมเต็มแก่เด็กไทย ที่สำคัญคือการพัฒนาการเรียนรู้ในเชิงคุณภาพโดยผ่านสื่อดิจิทัลแพลตฟอร์ม

  • นิทานออนไลน์ อีกโมเดลธุรกิจเพื่อสังคม

ภาสวรรณ สังฆสุบรรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์กิจการสร้างสุข (Sook Enterprise) สสส. กล่าวว่า "Educations has no border" คือจุดแข็งสำคัญของการเรียนรู้ผ่านมีบุ๊คส์ เราเชื่อว่าการอ่านออกเสียงให้เด็กฟังคือ กุญแจสำคัญสู่การเรียนรู้ การอ่านออกเสียงทำให้เด็กเปิดโลกกว้างขึ้นและทำให้เด็กรู้จักกับสังคมเพิ่มขึ้น และจะนำไปสู่การมีความคิดสร้างสรรค์ และะมีมายนด์เซ็ตที่เป็นพลเมืองโลกมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องขององค์ความรู้เรื่องสุขภาวะ

รู้จัก "Me Books" โลกการอ่านใบใหม่ พาลูกน้อยข้ามพรมแดนโลกการเรียนรู้

ภาสวรรณ กล่าวต่อว่า ควรส่งเสริมให้เขาเรียนรู้ตั้งแต่วัยเยาว์ เพื่อให้ตระหนักในเรื่องการดูแลสุขภาพที่ดี และจะเป็นพื้นฐานให้เขาจะพยายามพัฒนาตัวเองให้มีสุขภาวะที่ดีมากขึ้นเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่  

"เราเชื่อว่า การเรียนรู้ไม่สิ้นสุด สำหรับเราเองมีเด็กไทยกว่าสี่ล้านคนเป็นเป้าหมาย ปีนี้คาดว่า มีบุ๊คส์ จะเข้าถึงเด็กได้ประมาณแสนคน สำหรับแผนในปีหน้าตั้งเป้าจะผลิตหนังสือให้ได้ 100 เรื่อง ขณะเดียวกัน เราพยายามส่งเสริมนักเขียน นักทำสื่อรุ่นใหม่ ด้วยการเปิดโอกาสให้มาร่วมงานกับเรา ผ่านการประกวด Search for the next storyteller การเฟ้นหานักเล่าเรื่อง และนักพากย์เสียงในแอปพลิเคชัน Me Books โฉมใหม่ที่จะเปิดตัวในปี 2566 ซึ่งกำลังเปิดรับเยาวชนทั่วประเทศ ผ่านทาง sooklifeภาสวรรณ กล่าว

ฟังเสียงจากตัวแทนคุณพ่อลูกแฝด กวี ตันจรารักษ์ เผยความรู้สึกหลังทดลองใช้แอปพลิเคชันมีบุ๊คส์ว่า จุดเด่นคือ เป็นสื่อหนังสือที่อยู่ได้ทุกที่โดยที่ไม่ต้องขนหนังสือไป อีกทั้งการมีอินเตอร์แอคทีฟทำให้ไม่รู้สึกน่าเบื่อสำหรับเด็กๆ 

รู้จัก "Me Books" โลกการอ่านใบใหม่ พาลูกน้อยข้ามพรมแดนโลกการเรียนรู้

"เราให้เขาอ่านหนังสือหนังสือเฉยๆ มันก็เบื่อนะ แต่แอปฯ มันทำให้การอ่านหนังสือสนุกมากขึ้นกว่าเดิม ได้ลองแล้วก็รู้สึกว่าเด็กสนุกอยู่กับเราได้นานขึ้น แล้วบางเวลา เราไม่ได้อยู่กับเขา ผมก็ให้พี่เลี้ยงเปิดมีบุ๊คส์ให้เขาดู ซึ่งเราก็อยากให้เขารู้สึกว่าเราอยู่กับเขาด้วย แอปฯ นี้ก็มีฟังก์ชันการอัดเสียง อันนี้คือตอบโจทย์เราได้" คุณพ่อนักร้อง กล่าว 

  • การอ่านกับลูก เท่ากับการสร้างอนาคตเพื่อลูก

"หนังสือเป็นวิธีที่เรียบง่ายที่สุด และดีที่สุดที่จะกระตุ้นสมอง ทำให้เติบโตและนำไปสู่การพัฒนาทักษะการใช้ชีวิตและพฤติกรรมหลายอย่างอีกมากมายในอนาคต"

รู้จัก "Me Books" โลกการอ่านใบใหม่ พาลูกน้อยข้ามพรมแดนโลกการเรียนรู้

ผศ.นพ.วรวุฒิ เชยประเสริฐ กุมารแพทย์เฉพาะทางโลหิตวิทยาและมะเร็งในเด็ก หรือเจ้าของเฟซบุ๊กแฟนเพจ เลี้ยงลูกตามใจหมอ กล่าวว่า สำหรับเด็ก หากมีคุณพ่อคุณแม่นั่งอ่านหนังสือนิทานไม่ว่าจะเป็นภาษาไทย ภาษาอังกฤษ หรือภาษาที่สามก็ตาม โดยการอ่านเป็นการเตรียมความพร้อมในการเรียน เด็กคนหนึ่งจะเรียนรู้ได้ต้องเป็นนักฟังที่ดี สังเกตได้จากเวลา พ่อแม่เริ่มอ่านออกเสียงเด็กจะเงียบนั่งฟังและมอง 

"หากถามว่าควรอ่านหนังสือนิทานให้ลูกเมื่อไรถึงจะดี คำตอบคือ วันนี้แหละ ต้องเริ่มเลย ไม่ต้องรอ เชิญชวนคุณพ่อคุณแม่ให้อ่านหนังสือนิทานอย่างน้อยวันละ 10 ถึง 15 นาที หรือถ้ายังไม่เคยชินเริ่มแค่ 5 นาทีต่อวันก็ได้ครับ ช่วงเวลาที่ดีที่สุดก็จะเป็นช่วงเวลาก่อนนอน อ่านหนังสือออกเสียงชี้ตามไปด้วยกัน ยังเป็นการเตรียมการเข้านอนที่ดี เพราะค่อยๆ ลดระดับของคลื่นสมองลงเพื่อให้พร้อมนอน และการทำให้เด็กเรียนรู้อย่างสม่ำเสมอมีมีประโยชน์กับเด็กช่วงวัยแรกสุด ต่อจากนั้นค่อยขยับจากหนังสือภาพทั่วไป เป็นหนังสือภาพที่มีเรื่องราวและต่อจากนั้นจะกลายเป็นเรื่องยาวหน่อย และสุดท้ายเขาจะอ่านให้เราฟังเอง แต่นอกบ้าน หากไม่สะดวกพกหนังสือก็อาจจะมีแอปพลิเคชันที่มีหนังสือบรรจุหนังสือเล่มโปรดอยู่ในนั้น อย่างเช่น มีบุ๊คส์ เราควรใช้อุปกรณ์เป็นสื่อที่มีประโยชน์ต่อการเรียนรู้ แต่ไม่ควรปล่อยให้ลูกอยู่หน้าจอเพียงลำพัง" ผศ.นพ.วรวุฒิ กล่าว

ผศ.นพ.วรวุฒิ ทิ้งท้ายว่า อยากให้เก็บช่วงเวลานี้ให้ยาวที่สุดเท่าที่จะยาวได้ เพราะลูกโตครั้งเดียว ลองอ่านนิทานให้เขาฟัง มันจะดีกับเขาไปตลอดทั้งชีวิต