ควีนเอลิซาเบธที่ 2 ราชินี ผู้เป็นไอคอนแห่ง “ป๊อป คัลเจอร์”

ควีนเอลิซาเบธที่ 2 ราชินี ผู้เป็นไอคอนแห่ง “ป๊อป คัลเจอร์”

ทำความรู้จัก “สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2” หรือ “ควีนเอลิซาเบธ” จากสื่อบันเทิงและวัฒนธรรมร่วมสมัย ที่ผ่านมาเคยปรากฏผ่านสื่อใดบ้าง

เมื่อกลางดึกของคืนวันที่ 9 ก.ย. ที่ผ่านมา (ตามเวลาประเทศไทย) สำนักพระราชวังบักกิงแฮม ออกแถลงการณ์ว่า “สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2เสด็จสวรรคตอย่างสงบ ด้วยพระชนมายุ 96 พรรษา ณ พระตำหนักบัลมอรัลในสกอตแลนด์ สร้างความเสียใจให้แก่ผู้ที่ได้รับทราบข่าว และผู้คนต่างแสดงความไว้อาลัยผ่านทางโซเชียลมีเดียเป็นจำนวนมาก จนทำให้ “ทวิตเตอร์” ล่มไปพักหนึ่งเลยทีเดียว

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 หรือ “ควีนเอลิซาเบธ ที่ 2” พระประมุขแห่งเครือจักรภพ เป็นหนึ่งในกษัตริย์ที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดในโลก และเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ที่สำคัญของอังกฤษ ด้วยตลอดระยะเวลา 70 ปี 214 วันที่พระองค์ทรงครองราชย์นั้น พระองค์ได้ปรากฏอยู่ในสื่อต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นด้วยชื่อ การนำพระราชประวัติของพระองค์ไปทำภาพยนตร์หรือซีรีส์ รวมถึงพระองค์ไปปรากฏกายในสื่อต่าง ๆ ด้วยพระองค์เองก็ตาม

ควีนเอลิซาเบธ เป็นที่รู้จักของคนทั่วโลกตั้งแต่พระชนมายุ 3 พรรษา จากพระบรมฉายาลักษณ์ของพระองค์ที่ถูกเผยแพร่ผ่านหนังสือพิมพ์ Newsweek ในฐานะเจ้าหญิงองค์น้อยผู้น่ารัก “เจ้าหญิงลิลีเบต” (Princess Lilybet) ซึ่งภายหลังพระธิดาองค์เล็กของเจ้าชายแฮร์รี่ได้ถูกตั้งชื่อตามพระปัยยิกา (ควีนเอลิซาเบธ) และ พระอัยยิกา (เจ้าหญิงไดอานา) ว่า “ลิลีเบต “ลิลิ” ไดอานา เมานต์แบตเทน-วินด์เซอร์” (Lilibet “Lili” Diana Mountbatten-Windsor)

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ จึงได้รวบรวมผลงานในวงการบันเทิงทั้งเพลง ภาพยนตร์ ซีรีส์ แฟชั่น และงานศิลปะที่มีพระนาม พระราชประวัติ หรือ การปรากฏตัวของพระองค์ที่น่าจดจำจนกลายเป็นหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์ โดยเรียงลำดับตามปีที่เกิดเหตุการณ์ ดังนี้

Her majesty - The Beatles (2512)

“Her majesty’s a pretty nice girl / Someday I’m going to make her mine, oh, yeah”

นี่คือบางส่วนของเนื้อเพลง “Her Majesty” ที่มีความยาวเพียง 26 วินาที ของวงสี่เต่าทอง “The Beatles” ที่ซ่อนอยู่ในอัลบั้มในตำนาน “Abbey Road” แต่งโดยพอล แม็กคาร์ตนีย์ โดยในปี 2558 เขาได้ให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร Esquire ว่าเพลงนี้แต่งมาจาก เพื่อนสมัยเรียนของเขาที่แอบปลื้มพระราชินี 

“ตอนนั้นพวกเรายังเด็ก อายุ 11 ขวบเอง พระองค์มีพระชนมายุ 21 พรรษา ทรงสิริโฉมงดงาม เรารู้ว่าเราไม่ควรคิดแบบนั้นกับพระราชินี แต่หมอนั่นคลั่งพระองค์หนักมาก

ในปี 2545 แม็คคาร์ตนีย์ได้แสดงเพลงนี้ในงานคอนเสิร์ตเฉลิมฉลองครองราชย์ครบ 50 ปีของควีนเอลิซาเบธ (Golden Jubilee) ที่จัดขึ้นในสวนของพระราชวังบักกิงแฮม นอกจากเพลงนี้แล้วยังมีอีกหลายเพลงที่มีการกล่าวถึงพระราชินีในเพลงของเดอะ บีทเทิลส์ ไม่ว่าจะเป็น “Penny Lane,” “For You Blue,” และ “Mean Mr Mustard” 

 

Reigning Queens - Andy Warhol (2528)

แอนดี วอร์ฮอล ศิลปินแนวป๊อปอาร์ตเคยกล่าวว่า ในวันหนึ่งเขาอยากจะโด่งดังเหมือนกับราชินีแห่งอังกฤษ ในปี 2528 วอร์ฮอลได้ออกคอลเล็กชันชิ้นงาน “Reigning Queens” ซึ่งเป็นภาพพิมพ์แนวป๊อปอาร์ตสี่ช่องของราชินี 4 พระองค์ หนึ่งในนั้นคือ ควีนเอลิซาเบธ โดยใช้ต้นแบบมาจากภาพถ่ายในงานเฉลิมฉลองครองราชย์ครบ 50 ปีของพระองค์

ต่อมาในปี 2555 งานศิลปะชิ้นนี้ได้ถูกซื้อเข้าสู่คลังงานสะสมศิลปะของราชวงศ์อังกฤษ (Royal Collection) และนำมาจัดแสดงในปราสาทวินด์เซอร์ โดยให้คำอธิบายงานศิลปะชิ้นนี้ว่า "วอร์ฮอลทำให้รูปภาพถ่ายของราชินีดูง่ายขึ้น จนเหลือเพียงใบหน้าของพระองค์ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งอำนาจของราชวงศ์"

Naked Gun: From the Files of Police Squad! (2531)

Naked Gun: From the Files of Police Squad!” (2531) เป็นภาพยนตร์เรื่องแรก ๆ ที่นำเอาบทของควีนเอลิซาเบธมาใส่ในเรื่อง โดยเรื่องย่อของภาพยนตร์แอคชันคอมเมดี้เรื่องนี้ คือ ตำรวจหนุ่มนายหนึ่ง รับบทโดย เลสลี นีลเส็น ต้องทำภารกิจอย่างลับ ๆ ในการปกป้องพระราชินีจากการลอบสังหารระหว่างเสด็จเยือนนครลอสแอนเจลิส ในสหรัฐ ซึ่งผู้ที่มารับบทเป็นองค์ราชินีคือ เจนเนตต์ ชาร์ลส นักแสดงชาวอังกฤษที่มีผลงานการแสดงเพียง 10 เรื่อง และทั้ง 10 เรื่องที่เล่น เธอรับบทเป็นราชินีแห่งอังกฤษ เนื่องจากมีบุคลิกที่ใกล้เคียงกับพระราชินีนั่นเอง

นอกจากนี้ ยังมีภาพยนตร์อีกหลายเรื่องที่นำบทควีนเอลิซาเบธมาใส่ในภาพยนตร์ เพื่อให้ตัวละครหลักทำภารกิจปกป้องพระองค์จากผู้ร้ายที่ต้องการโค่นล้มราชวงศ์ หรือ ปองร้ายพระองค์ เช่น Johny English (2546)

 

The Uncommon Reader - Alan Bennett (2550)

มาถึงวงการวรรณกรรมกันบ้าง ควีนเอลิซาเบธที่ 2 กลายเป็นตัวเอกในนวนิยายของ อลัน เบ็นเน็ตต์ นักวิชาการที่ผันตัวมาเป็นนักเขียนบทละครและนักแสดง ในเรื่อง “The Uncommon Reader” (2550) หรือในฉบับแปลไทยชื่อเรื่องว่า ราชินีนักอ่าน

เกิดเรื่องราววุ่นวายในพระราชวังวินด์เซอร์ เมื่อควีนเอลิซาเบธที่สองแห่งอังกฤษ ทรงละเลยพระราชกรณียกิจ แต่กลับทุ่มเทเวลาให้กับการอ่านหนังสือ ความหลงใหลในโลกแห่งหนังสือทำให้พระองค์เปลี่ยนแปลงไป ไม่สนพระทัยแม้กระทั่งการแต่งตัวของพระองค์เอง จนข้าราชบริพารทั้งหลายพากันหวั่นใจและลงความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่าจะปล่อยให้พระองค์กลายเป็นราชินีนักอ่านแบบนี้ไม่ได้แล้ว ต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อให้ราชินีกลับมาเป็นพระองค์เดิม

 

พิธีเปิดกีฬาโอลิมปิก 2012 ร่วมกับเจมส์ บอนด์ (2555)

ทั่วโลกต่างตกตะลึง เมื่อแดเนียล เครก นักแสดงผู้รับบทเจมส์ บอนด์ ปรากฏตัวพร้อมกับ ควีนเอลิซาเบธที่ 2 ในวิดีโอพิธีเปิดกีฬาโอลิมปิก 2012 ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร โดยในวิดีโอจะเห็นว่าเจมส์ บอนด์ได้ทำหน้าที่คุ้มกันองค์ราชินีจากพระราชวังบักกิงแฮม เพื่อเดินทางมายังสนามกีฬาลอนดอนด้วยเฮลิคอปเตอร์ ก่อนที่เครกจะกระโดดลงมาจากเฮลิคอปเตอร์ ขณะที่บินอยู่เหนือสนาม และพระราชินีปรากฏกายอยู่บนอัฒจันทร์ของสนามกีฬา เป็นประธานในพิธีเปิดงานครั้งนี้

 



 

เยี่ยมชมกองถ่าย Game of Thrones (2557)

ในปี 2557 สมเด็จพระราชินีอลิซาเบธเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมชมกองถ่ายซีรีส์เรื่อง “Game of Thrones” ซีรีส์สุดฮิตแห่งยุคที่กวาดรางวัลมาแล้วมากมาย โดยมีภาพที่พระองค์ทรงทอดพระเนตรบัลลังก์เหล็กที่ใช้ประกอบฉากในเรื่อง ซึ่งภายหลัง คิต แฮริงตัน นักแสดงหลักของเรื่องได้ให้สัมภาษณ์กับแกรแฮม นอร์ตัน ว่า ควีนไม่น่าจะได้ดูซีรีส์เรื่องนี้ เพราะพระองค์ตรัสถามเขาว่า “คุณรับบทอะไรในเรื่องนี้”

มีเรื่องเล่าว่า เหล่านักแสดงและทีมงานต่างขอให้พระองค์ทรงประทับบนบัลลังก์เหล็ก แต่ผู้แทนพระองค์ปฏิเสธและอธิบายว่า พระองค์ไม่รับอนุญาตให้นั่งบนบัลลังก์อื่น แม้ว่าจะเป็นบัลลังก์ที่สร้างจากเรื่องแต่งขึ้นหรืออื่น ๆ ก็ตาม

 

Minion (2558)

หลังจากที่ควีนเอลิซาเบธมีบทบาทในภาพยนตร์หลายต่อหลายเรื่องแล้ว ในปี 2558 ภาพยนตร์แอนิเมชันภาคแยกของมินเนียน เหล่าวายร้ายตัวเหลือง ก็ได้เล่าถึงเรื่องราวของพระราชินีด้วยเช่นกัน โดยในเรื่องเหล่ามินเนียนได้รับภารกิจจาก สการ์เล็ต โอเวอร์คิลล์ จอมโจรสาวที่เป็นหัวหน้าของมินเนียนในขณะนั้นให้ไป ขโมยมงกุฎของควีน แต่แล้วก็เกิดเรื่องราวสุดพลิกผันอุตลุด

 

Winnie the Pooh and the Royal Birthday (2559)

ในปี 2559 ที่ควีนเอลิซาเบธและหมีพูห์ ตัวละครสุดคลาสสิกขวัญใจคนทั้งโลก มีอายุครบรอบ 90 ปี ด้วยวาระพิเศษเช่นนี้ ทำให้ดิสนีย์ได้จัดทำนิทานหมีพูห์ฉบับพิเศษชื่อว่า “Winnie the Pooh and the Royal Birthday” ซึ่งเป็นครั้งแรกที่คริสโตเฟอร์ โรบิ้น หมีพูห์ พิกเล็ต และอียอร์ เดินทางออกจากป่าร้อยเอเคอร์ ไปสถานที่ต่าง ๆ ทั่วกรุงลอนดอน รวมถึงพระราชวังบักกิงแฮมเพื่อพบกับสมเด็จพระราชินี โดยหมีพูห์ได้อ่านจดหมายที่เขียนถึงพระราชินี และพระองค์ทรงแย้มพระสรวลในแก่หมีพูห์ นอกจากนี้พวกเขายังได้พบกับเจ้าชายจอร์จแห่งเคมบริดจ์อีกด้วย

 

The Crown (2559)

ในปีเดียวกันนั้นเอง “The Crown” ซีรีส์ตีแผ่เรื่องราวเบื้องลึกเบื้องหลังของราชวงศ์วินด์เซอร์ของ Netflix ได้เผยแพร่เป็นครั้งแรก ซึ่งตัวซีรีส์เล่าถึงชีวิตของควีนอลิซาเบธที่ 2 ตั้งแต่วัยเยาว์ โดยในแต่ละซีซันก็จะเล่าช่วงเวลาที่แตกต่างกันไป และเพื่อไม่ให้กระทบกับสมาชิกราชวงศ์หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่ยังมีชีวิตอยู่ทำให้ต้องปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางด้านประวัติศาสตร์อย่างลึกซึ้ง ซึ่งมีการเสริมแต่งเรื่องราวบางส่วนเข้ามาด้วยเช่นกัน โดยปัจจุบันนี้เดินทางมาถึงซีซันที่ 4 ที่เป็นตอนที่เจ้าหญิงไดอานาเข้ามาอยู่ในวัง และกำลังเดินหน้าถ่ายทำซีซันที่ 5 (แต่อาจจะต้องพักกองในช่วงงานพระราชพิธีพระบรมศพ)

 

ร่วมงาน London Fashion Week (2561)

ในงานวันสุดท้ายของงาน London Fashion Week ปี 2561 ควีนเอลิซาเบธเสด็จร่วมงาน เป็นครั้งแรก โดยประทับ ณ แถวหน้าติดเวทีแคทวอล์กคู่กับ “แอนนา วินทัวร์” หัวหน้าบรรณาธิการบริหาร นิตยสารโว้กฉบับสหรัฐ ผู้ทรงอิทธิพลในวงการแฟชั่นโลก ในโอกาสนี้พระราชินียังได้พระราชทานรางวัล Queen Elizabeth II Award for British Design ให้แก่ “ริชาร์ด ควินน์” ดีไซเนอร์ชาวอังกฤษ ขณะที่วินทัวร์ ได้เปิดเผยว่าเธอได้คุยกับควีนว่า ทั้งคู่ได้ทำงานของตัวเองมานานกันขนาดไหนแล้ว 

 

เสวยแซนด์วิชร่วมกับ Paddington (2565)

เนื่องในโอกาสฉลองครบรอบการครองราชย์ 70 ปีของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 (Platinum Jubilee) เมื่อเดือนมิ.ย. 2565 ที่ผ่านมา พระองค์ได้ร่วมแสดงภาพยนตร์สั้นร่วมกับ “Paddington” หมีสีน้ำตาลตัวละครในนิทานสำหรับเด็กที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลกตัวหนึ่ง นี่จึงถือว่าเป็นการปรากฏตัวในสื่อบันเทิงครั้งสุดท้ายของพระองค์

 

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการปรากฏตัวของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ในสื่อบันเทิงเท่านั้น ยังมีภาพยนตร์ ซีรีส์ วรรณกรรม เพลง และงานศิลปะอีกหลากหลายชิ้นงานที่มีพระองค์ไปเป็นต้นแบบหรือทรงไปมีส่วนร่วม  ยังไม่รวมถึงสไตล์แฟชั่นของพระองค์ที่มักจะถูกหยิบยกมาทำเป็นมีมอยู่เสมอ แม้ว่าพระองค์จะจากไปแล้ว แต่ความเป็นไอคอนแห่งวัฒนธรรมร่วมสมัยจะคงอยู่เป็นที่เล่าขานต่อไปตราบนานเท่านาน

 

ที่มา: Cheat Sheet, CNBC, Esquire, Newsweek, Vanity Fair