เปิดประวัติ"วันพืชมงคล" การเสี่ยงทายและคำทำนาย

เปิดประวัติ"วันพืชมงคล" การเสี่ยงทายและคำทำนาย

รู้ให้ครบเรื่องราว"วันพืชมงคล" ความเป็นมา, ประเพณีโบราณ ,การเสี่ยงทายและ"คำทำนาย" พระโคเลือกกินน้ำและหญ้า,กินถั่ว หรือกินเหล้าหมายถึงอะไร

พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพระราชพิธีที่มีความเก่าแก่สืบทอดมาตั้งแต่โบราณ  ประกอบพิธีเพื่อเสริมสร้างขวัญและกำลังใจให้กับเกษตรกร ที่มีความสำคัญต่อประเทศไทย

ในปีนี้ พ.ศ.2565 วันพืชมงคล หรือ วันพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ตรงกับวันศุกร์ ที่ 13 พฤษภาคม 2565 

 

 

แต่ละปีจะไม่ตรงกัน เนื่องจากสำนักพระราชวังเป็นผู้กำหนดวันตามฤกษ์ยาม“ปฏิทินหลวง” เป็นระยะเวลาเหมาะสมแก่การเริ่มต้นการทำนาของปีนั้น ๆ

  • ประวัติความเป็นมา

พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประกอบด้วย 2 พระราชพิธี คือ พระราชพิธีพืชมงคล และ พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ แตกต่างกันดังนี้

เปิดประวัติ"วันพืชมงคล" การเสี่ยงทายและคำทำนาย

1.พระราชพิธีพืชมงคล เป็นพิธีทำขวัญเมล็ดพันธุ์พืชต่าง ๆ อาทิ ข้าวเปลือกจ้าว, ข้าวเหนียว, ข้างฟ่าง, ข้าวโพด, ถั่ว, งา, เผือก, มัน เพื่อให้พันธุ์เหล่านั้นปราศจากโรคภัย อุดมสมบูรณ์ มีความเจริญงอกงามดี

    2.พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพิธีเริ่มต้นไถนาหว่านเมล็ดข้าว การประกอบพิธีเพื่อเป็นอาณัติสัญญาณว่า บัดนี้ ฤดูกาลแห่งการทำนา ทำไร่ เพาะปลูก ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว เพื่อความเป็นสิริมงคล และบำรุงขวัญเกษตรกร 

  • สืบทอดมาหลายสมัย

พระราชพิธีนี้มีมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย พระมหากษัตริย์เสด็จฯ มาเป็นองค์ประธาน ต่อมาสมัยกรุงศรีอยุธยา พระมหากษัตริย์ไม่ได้เสด็จฯ มาแต่จะทรงจำศีลเงียบ 3 วัน และมอบอาญาสิทธิ์ให้ “เจ้าพระยาจันทกุมาร” เป็นผู้แทนพระองค์

ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ผู้แรกนาได้เปลี่ยนเป็น “เจ้าพระยาพลเทพ” คู่กันกับการยืนชิงช้า

ต่อมาสมัยรัชกาลที่ 3 ให้ถือว่าผู้ใดยืนชิงช้าผู้นั้นเป็นผู้แรกนา มาในสมัยรัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้จัดพิธีสงฆ์เพิ่มขึ้น “พระราชพิธีพืชมงคล” จึงได้เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่บัดนั้นมา

เปิดประวัติ"วันพืชมงคล" การเสี่ยงทายและคำทำนาย พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เต็มรูปแบบจัดขึ้นครั้งสุดท้ายในปีพ.ศ. 2479 แล้วเว้นไป ในปีพ.ศ. 2503 คณะรัฐมนตรีมีมติฟื้นฟูพระราชประเพณีนี้ขึ้นมาใหม่จนถึงปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชกระแสให้ปรับปรุงพิธีการบางอย่างให้เหมาะสมกับยุคสมัย และทรงเสด็จฯ เป็นองค์ประธานมิได้ขาด

ในระยะแรก “พระยาแรกนา” ได้แก่ อธิบดีกรมการข้าว โดยตำแหน่ง ส่วนเทพีทั้งสี่พิจารณาจากภริยาข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ต่อมาพระยาแรกนา ได้แก่ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยตำแหน่ง ส่วนเทพีทั้งสี่ พิจารณาจากข้าราชการหญิงโสดในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตำแหน่งข้าราชการชั้นโทขึ้นไป

ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2509 เป็นต้นมา คณะรัฐมนตรีมีมติให้วันพระราชพิธีพืชมงคลเป็น “วันเกษตรกร” แล้วได้จัดงานวันเกษตรกรควบคู่ไปกับงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญตลอดมา

  • การเสี่ยงทายในพระราชพิธี

ในพระราชพิธีฯแต่ละปีจะมีการ พยากรณ์ ความสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหารของปีนั้น ๆ สองช่วง

ช่วงแรก พระยาแรกนาจะตั้งสัตยาธิษฐาน เสี่ยงทายผ้านุ่งแต่งกาย แล้วไปไถหว่าน ด้วยการไถดะไปโดยรี 3 รอบ เพื่อพลิกดินให้เป็นก้อน

ไถโดยขวาง 3 รอบ เพื่อย่อยดินให้ละเอียด พร้อมหว่านเมล็ดพันธุ์พืช และไถกลบอีก 3 รอบ เพื่อกลบเมล็ดพันธุ์พืชลงในดิน 

เมื่อเสร็จสิ้นขั้นตอนการไถแล้ว ช่วงที่สอง จะเป็นการ เสี่ยงทายของกิน 7 สิ่งตั้งเลี้ยงพระโค

เปิดประวัติ"วันพืชมงคล" การเสี่ยงทายและคำทำนาย

  • คำทำนาย การเสี่ยงทายผ้านุ่งแต่งกาย

ผ้านุ่งแต่งกาย เป็นผ้านุ่ง วางไว้ให้พระยาแรกนาตั้งสัตยาธิษฐาน เป็นผ้าลาย 3 ผืน คือ หกคืบ, ห้าคืบ, สี่คืบ วางเรียงบนโตกมีผ้าคลุม ให้พระยาแรกนาหยิบ ถ้าหยิบได้ผืนใดก็จะมีคำทำนายไปตามนั้น คือ

ถ้าหยิบผ้าได้ 4 คืบ พยากรณ์ว่า น้ำจะมากสักหน่อย นาในที่ดอนจะได้ผลบริบูรณ์ดี นาในที่ลุ่มอาจจะเสียหายบ้าง ได้ผลไม่เต็มที่

ถ้าหยิบได้ผ้า 5 คืบ พยากรณ์ว่า น้ำในปีนี้จะมีปริมาณพอดี ข้าวกล้าในนาจะได้ผลบริบูรณ์ และผลาหาร มังสาหาร จะอุดมสมบูรณ์ดี

ถ้าหยิบได้ผ้า 6 คืบ พยากรณ์ว่า น้ำจะน้อย นาในที่ลุ่มจะได้ผลบริบูรณ์ดี แต่นาในที่ดอน จะเสียหายบ้าง ได้ผลไม่เต็มที่

  • คำทำนาย การเสี่ยงทายของกิน 7 สิ่ง

ของกิน 7 สิ่ง ที่นำมาตั้งเลี้ยงพระโค ได้แก่ ข้าวเปลือก, ข้าวโพด, ถั่วเขียว, งา, เหล้า, น้ำ, หญ้า ถ้าพระโคกินสิ่งใดก็มีคำทำนายไปตามนั้น

ถ้าพระโคกินข้าว หรือ ข้าวโพด พยากรณ์ว่า ธัญญาหาร ผลาหาร จะบริบูรณ์ดี

ถ้าพระโคกินถั่ว หรือ งา พยากรณ์ว่า ผลาหาร ภักษาหาร จะอุดมสมบูรณ์ดี

ถ้าพระโคกินน้ำ หรือ หญ้า พยากรณ์ว่า น้ำท่าจะบริบูรณ์พอสมควร ธัญญาหาร ผลาหารภักษาหาร มังสาหารจะอุดมสมบูรณ์

ถ้าพระโคกินเหล้า พยากรณ์ว่า การคมนาคมจะสะดวกขึ้น การค้าขาย กับต่างประเทศดีขึ้น ทำให้เศรษฐกิจรุ่งเรือง

เปิดประวัติ"วันพืชมงคล" การเสี่ยงทายและคำทำนาย

  • พิธีบวงสรวงบูรพกษัตริย์ องค์พระพิรุณทรงนาค

เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2565 เวลา 08.09 น. ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้ทำหน้าที่ พระยาแรกนา ประจำปี 2565

ได้เป็นประธานใน พิธีบวงสรวงบูรพกษัตริย์ เทวดา องค์พระพิรุณทรงนาคพญานาค และ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 

ได้แก่ ศาลพระภูมิ, ศาลท้าวเวสสุวรรณ, ศาลตา-ยาย ถือเป็นพิธีกรรมก่อนวันพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ โดยมี พระมหาราชครูพิธีศรีวิสุทธิคุณ เป็นผู้ดูแลและมี เทพีคู่หาบทอง เทพีคู่หาบเงิน ร่วมในพิธี

กำหนดให้ วันพฤหัสบดีที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2565 เป็นวันสวดมนต์เริ่มการ “พระราชพิธีพืชมงคล” พระราชพิธีทางสงฆ์ ประกอบพระราชพิธีในพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง และเป็นวันเกษตรกร

ส่วนวันศุกร์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ.2565 เป็นวัน “พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ” (วันไถหว่าน) เป็นพิธีพราหมณ์ประกอบพระราชพิธี ณ มณฑลพิธี ท้องสนามหลวง ฤกษ์พิธีไถหว่าน ระหว่างเวลา 08.19-08.49 น.

เปิดประวัติ"วันพืชมงคล" การเสี่ยงทายและคำทำนาย

  • วันพืชมงคล ปี 2565

ในปีนี้ ผู้ทำหน้าที่ พระยาแรกนา ได้แก่ ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

เทพีคู่หาบทอง ได้แก่ ณัฐชยา ศรีสุขสวัสดิ์ นักวิชาการปฏิรูปที่ดินฯ และ อาทิตยา ทองแกมแก้ว นักวิชาการเกษตร

เทพีคู่หาบเงิน ได้แก่ กันยารัตน์ เศวตนันทิกุล นักทรัพยากรบุคคลฯ และ ชลธิชา ทองอ่อน นายสัตวแพทย์ชำนาญการฯ

ผู้อัญเชิญเครื่องอิสริยยศ จำนวน 4 ราย คู่เคียงในกระบวนแห่อิสริยยศพระยาแรกนา จำนวน 16 ราย

พระโคแรกนา ได้แก่ พระโคพอ และ พระโคเพียง

พระโคสำรอง ได้แก่ พระโคเพิ่ม และพระโคพูล

  • พันธุ์ข้าวพระราชทาน

ที่เตรียมไว้ในพระราชพิธีมี 6 สายพันธุ์ น้ำหนักรวมทั้งสิ้น 1,728 กิโลกรัม ได้แก่

1) ขาวดอกมะลิ 105 จำนวน 245 กิโลกรัม

2) ปทุมธานี 1 จำนวน 399 กิโลกรัม

3) กข 43 จำนวน 125 กิโลกรัม

4) กข 6 จำนวน 70 กิโลกรัม

5) กข 87 จำนวน 300 กิโลกรัม

6) กข 85 จำนวน 589 กิโลกรัม

กระทรวงเกษตรฯ เตรียมแจกจ่ายพันธุ์ข้าวพระราชทานให้กับเกษตรกรและประชาชน เพื่อความเป็นสิริมงคล

สอบถามได้ที่ กรมการข้าว กองเมล็ดพันธุ์ข้าว 02-561-3794 ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว ทั้ง 29 แห่ง ศูนย์วิจัยข้าว ทั้ง 27 แห่ง และสถาบันวิทยาศาสตร์ข้าว จังหวัดสุพรรณบุรี

.............

ผู้สนใจ สามารถรับเมล็ดพันธุ์พระราชทานผ่านการลงทะเบียนออนไลน์ได้ทาง https://rice.moac.go.th แล้วไปรับได้ที่สำนักงานเกษตรจังหวัด หรือสำนักงานเกษตรอำเภอ หลังวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ.2565 เป็นต้นไป โดยจะได้รับเมล็ดพันธุ์ข้าวพระราชทานคนละ 2 ซอง

ในงานยังมีการมอบรางวัลยกย่องประกาศเกียรติคุณให้แก่เกษตรกร, สถาบันเกษตรกรและสหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติประเภทต่าง ๆ

รวมทั้งปราชญ์เกษตรของแผ่นดินที่ผ่านการคัดเลือก เพื่อเผยแพร่ให้คนทั่วไปได้รู้จักและยึดถือเป็นแบบอย่างอีกด้วย

เปิดประวัติ"วันพืชมงคล" การเสี่ยงทายและคำทำนาย

  • เกษตรกรและบุคคลากรทางการเกษตรดีเด่นแห่งชาติ จำนวน 16 ราย

1) อาชีพทำนา ได้แก่ นายพัด ไชยวงค์ จ.เชียงใหม่

2) อาชีพทำสวน ได้แก่ นายวีรวัฒน์ จีรวงส์ จ.ชุมพร

3) อาชีพทำไร่ ได้แก่ นายรุ่งเรือง ไล้รักษา จ.ประจวบคีรีขันธ์

4) อาชีพไร่นาสวนผสม ได้แก่ นางจิระวรรณ ยืนนาน จ.ชุมพร

5) อาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ได้แก่ นางนิกร แก้ววิสัย จ.อุดรธานี

6) อาชีพเลี้ยงสัตว์ ได้แก่ นายเกรียงศักดิ์ เสรีรัตน์ยืนยง จ.ยะลา

7) อาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด ได้แก่ นายประวัติ พิริยศาสน์ จ.ปราจีนบุรี

8) อาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำกร่อย ได้แก่ นายอรรถพงษ์ บุญเลิศฟ้า จ.นครปฐม

9) อาชีพเพาะเลี้ยงปลาสวยงามและพรรณไม้น้ำ ได้แก่ นายวัลลภ วุ่นสุด จ.นครปฐม

10) อาชีพปลูกสวนป่า ได้แก่ นายสมพร โล่ห์จินดา จ.เชียงราย

11) สาขาบัญชีฟาร์ม ได้แก่ นายอดุลย์ วิเชียรชัย จ.ปทุมธานี

12) สาขาการพัฒนาที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ได้แก่ นายบรรจง แสนยะมูล จ.มหาสารคาม

13) สาขาการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืช ได้แก่ นายสานนท์ พรัดเมือง จ.สุราษฎร์ธานี

14) สาขาเกษตรอินทรีย์ ได้แก่ นางสุจารี ธนสิริธนากร จ.กาฬสินธุ์

15) ที่ปรึกษายุวชนเกษตรกร ได้แก่ นางสาวประทุมรัตน์ จงคูณกลาง จ.นครราชสีมา

16) สมาชิกกลุ่มยุวชนเกษตรกร ได้แก่ นางสาวศิริมน พันธุ์พิริยะ จ.ตราด

เปิดประวัติ"วันพืชมงคล" การเสี่ยงทายและคำทำนาย

  • สถาบันเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ จำนวน 11 กลุ่ม

1) กลุ่มเกษตรกรทำสวน ได้แก่ กลุ่มเกษตรกรทำสวนยางค้อม จ.นครศรีธรรมราช

2) กลุ่มเกษตรกรเลี้ยงสัตว์ ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้เลี้ยงแพะแกะ อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์

3) กลุ่มเกษตรกรทำประมง ได้แก่ กลุ่มเกษตรกรทำประมงเกษตรพอเพียง 49 จ.สมุทรสาคร

4) กลุ่มเกษตรกรแปรรูปสัตว์น้ำ ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนปลาส้มบ้านคำกลาง จ.อุบลราชธานี

5) กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร ได้แก่ กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านทุ่งโฮ้งหมู่ 5 จ.แพร่

6) กลุ่มยุวเกษตรกร ได้แก่ กลุ่มยุวเกษตรกรโรงเรียนบ้านบุเขว้า จ.นครราชสีมา

7) กลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว ได้แก่ กลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวตะเคียนงาม จ.กำแพงเพชร

8) สถาบันเกษตรกรผู้ใช้น้ำชลประทาน ได้แก่ กลุ่มบริหารการใช้น้ำระบบท่อส่งน้ำบ้านชำตาเรือง จ.จันทบุรี

9) ศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชน ประเภท ข้าวหอมมะลิ ได้แก่ ศูนย์ข้าวชุมชน ต.บัวงาม จ.อุบลราชธานี

10) ศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชน ประเภท ข้าวอื่น ๆ ได้แก่ ศูนย์ข้าวชุมชนเกษตรอินทรีย์สีคิ้ว จ.นครราชสีมา

11) วิสาหกิจชุมชน ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนพัฒนาผลิตภัณฑ์พืชผักสมุนไพรและผลไม้ จ.ลำพูน

  • สหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติ จำนวน 4 สหกรณ์

1) สหกรณ์การเกษตร ได้แก่ สหกรณ์การเกษตรกุดข้าวปุ้น จำกัด จ.อุบลราชธานี

2) สหกรณ์โคนม ได้แก่ สหกรณ์โคนมลำพูน จำกัด จ.ลำพูน

3) สหกรณ์ออมทรัพย์ ได้แก่ สหกรณ์ออมทรัพย์โรงพยาบาลชัยภูมิ จำกัด จ.ชัยภูมิ

4) สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ได้แก่ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนเลิงฮังสามัคคี จำกัด จ.สกลนคร

  • ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน จำนวน 3 สาขา

1) สาขาปราชญ์เกษตรผู้ทรงภูมิปัญญามีคุณูปการ ได้แก่ นายเอนก สีเขียวสด จ.อ่างทอง

2) สาขาปราชญ์เศรษฐกิจพอเพียง ได้แก่ นายสงวน มงคลศรีพันเลิศ จ.กระบี่

3) สาขาปราชญ์เกษตรดีเด่น ได้แก่ นายสุพจน์ สิงห์โตศรี จ.ราชบุรี

โดยทั้งหมดจะเข้ารับพระราชทาน โล่ประกาศเกียรติคุณในวันพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ วันศุกร์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2565 ณ พลับพลาที่ประทับมณฑลพิธีท้องสนามหลวง