สตรีทอาร์ตบนลานลอยฟ้า

สตรีทอาร์ตบนลานลอยฟ้า

กลายเป็นสถานที่เช็คอิน ถ่ายรูป อัพสเตตัสที่ได้รับความนิยมทันทีที่เปิดให้บริการ สำหรับทางเชื่อมแยกปทุม หรือลานลอยฟ้าที่เชื่อมระหว่างสยามดิสคัฟเวอรี่ สยามสแควร์ ศูนย์การค้าเอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ และหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

ด้วยแนวคิดในการออกแบบที่ให้ความสำคัญกับอารยสถาปัตย์ (Universal Design) ตีความจากชื่อ ปทุมวัน นำไปสู่ลานที่มีศูนย์กลางเป็นทรงกลมแทนความหมายของสระน้ำ โดยมีประติมากรรมรูปทรงสูงแทนใบบัวกระจายอยู่ในพื้นที่รอบๆ และกระเบื้องสีเขียวเข้มอ่อนสลับกันไปตามทางเดินที่มีคุณสมบัติกันลื่น สร้างความมีชีวิตชีวาให้กับเส้นทางสัญจรลอยฟ้าที่เอื้อเฟื้อต่อการสัญจรกับผู้สูงวัยและผู้ทุพพลภาพได้เป็นอย่างดี

ทางเชื่อมลอยฟ้าแยกปทุมวัน

นอกจากเป็นทางเชื่อมในการเดินทางแล้ว ลานนี้ยังทำหน้าที่เป็นทางเชื่อมระหว่างศิลปะ สังคม และผู้คน ผ่านผลงานศิลปะที่ศิลปินสตรีทอาร์ตที่มีชื่อเสียงของไทยและต่างประเทศ สะท้อนอารมณ์ ความรู้สึก และเรื่องราวของ “สยามสแควร์” ศูนย์กลางของแฟชั่น ความล้ำยุคที่ไม่เคยตกสมัย บนประติมากรรมใบบัวที่กลายเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ของกรุงเทพฯวันนี้ไปแล้ว

P7
พีระพงศ์ ลิ้มธรรมรงค์

หรือที่รู้จักกันดีในนาม P7 ศิลปะกราฟฟิตีแถวหน้าของเมืองไทย 1ใน 13 ศิลปินที่ได้รับเชิญให้มาแสดงผลงานศิลปะบนลานลอยฟ้าแยกปทุมวัน กล่าวถึงผลงานที่เต็มไปด้วยสีสันมากมายว่าเป็นการสื่อให้เห็นถึงสีสันของกรุงเทพฯ สีสันของสยามสแควร์
“เป็นงานกราฟฟิตีที่ใช้วิธีการ improvise แบบไม่มีสเก็ตช์ เราจะไหลไปตามจังหวะการทำงานศิลปะของเรา วิธีการทำงานของผมคือ เตรียมสีสเปรย์มาเยอะๆ พอมาถึงที่นี่แล้วก็ลงมือทำเลยจนเสร็จ อารมณ์จะได้รู้สึกกับพื้นที่จริง ไม่ใช่สเก็ตช์มาจากบ้านแล้วมาทำงานอีกที
ใช้เวลาทำตอนกลางวัน ทำไปถึงตอนเย็นใช้เวลา 2 วัน เพราะว่าวันแรกทำไปแล้วฝนตก เลยต้องมาทำต่อในวันรุ่งขึ้น แต่จริงๆแล้ววันเดียวก็เสร็จ”
สำหรับการนำศิลปะเข้ามามีส่วนร่วมในพื้นที่สาธารณะ P7 กล่าวว่า “ผมต้องขอบคุณสยามพิวรรธน์นะครับ ที่เปิดพื้นที่ตรงนี้เป็นเหมือนเซ็นเตอร์ของประเทศ ที่นำศิลปะสมัยใหม่เข้ามาสอดแทรกภายในใจกลางกรุงเทพฯแบบนี้ เพื่อให้คนในรุ่นนี้หรือคนต่างาชาติได้สัมผัสศิลปะง่ายขึ้น โดยที่ไม่ต้องเดินเข้าแกลลอรี
เป็นศิลปะที่จับต้องได้ ซึมซับเข้าไปในสังคม ชุมชน วัฒนธรรมไทยเราได้โดยไม่ฝืน เป็นบรรยากาศที่ผมคิดว่าช่วยเรื่องการท่องเที่ยวได้ด้วย” P7 บอกกับเรา

ชาญณรงค์ ขลุกเอียด

 

ชาญณรงค์ ขลุกเอียด

ศิลปินและดีไซเนอร์เจ้าของเสื้อผ้าแบรนด์ Dee Sweet Drug ถ่ายทอดความรู้สึกที่นึกออกผ่านลงไปในลายเส้นและตัวหนังสือ
“เราพูดถึงสยาม สยามสแควร์ สยามดิสคัฟเวอรี่ มันค่อนข้างจะแฟชั่น ค่อนข้างหลากหลาย เราอยากเขียนสิ่งเหล่านั้นอัดลงไปใน word มีทั้ง symbolic ตัดทอน เป็นตัวอักษรเป็นคำพูดที่พูดแล้วคิดถึงสยาม เช่น Pop, Fashion ,shopping
มีคำว่า sweet หวานๆเหมือนร้านไอติม POP แทนแฟชั่นที่กำลังเป็นที่นิยม มีสัญลักษณ์ต่างๆเช่น ไอศกรีม แฟชั่น มีรูปสามเหลี่ยมมีดวงตาอยู่ข้างใน อันนั้นเป็นความเชื่อครับ วัยรุ่นใช่มั้ยครับ? ก็ค้นหาความเชื่อความศรัทธาของตัวเอง คือมาสยาม มาแล้วได้แรงบันดาลใจอะไรเยอะๆ” Dee Sweet Drug อธิบาย พลางเอ่ยถึงความรู้สึกที่ได้มาสร้างสรรค์ผลงานครั้งนี้ว่า
“รู้สึกมีเกียรติครับที่ได้รับการคัดเลือกให้มาอยู่ตรงนี้ ได้เจอศิลปินที่มีชื่อเสียง 12 ท่าน ได้ทำงานร่วมกันเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์อยู่แล้ว คัดมาแต่ละคนมีความแตกต่างกันในวิถีการทำงานอยู่แล้ว ได้ศึกษาเทคนิค วิธีการในการทำงานของแต่ละคน
หลังจากทำงานเสร็จมีโอกาสได้เผยแพร่กับคนส่วนใหญ่ ที่เรียกว่าแลนด์มาร์กแห่งใหม่จะดีกว่า ทำให้ได้เป็นที่รู้จักมากขึ้น
ผลงานของผมรับผิดชอบใบบัว 2 ต้นครับ อีกต้นยังไม่เสร็จ อีกอันจะเป็นแนวคิดที่เชื่อมต่อกันมีคำพูดขึ้นมาเรื่อยๆ เราก็ improvise เขียนสด เขียนไปเรื่อยๆไม่ได้มีสเก็ตช์อะไร สตรีทอาร์ตเป็นการเล่นกันพื้นที่จริง อะไรก็ได้ที่เข้ากับพื้นที่ตรงนั้นไม่ขัดไม่ขวาง เราก็มาคิดตรงหน้างานได้ ทุกคนมีภาพอยู่ในหัวอยู่แล้ว”

Jeck bkk

JECK BKK

สนุกกับการเล่นกับพื้นทีโดยการนำคาแรกเตอร์นักล่ามาดำน้ำอยู่ใต้ใบบัว โดยอาศัยเทคนิค 3 D ดึงดูดสายตาของผู้คนที่เดินผ่านไปมา ได้เห็นใบหน้าของคาแรกเตอร์ที่ยืดยาว หดสั้น และพอดี ตามตำแหน่งของการเดินโดยรอบ
“คาแรกเตอร์ที่ใช้เป็นตัวผมเองที่เป็นนักล่า มนุษย์ทุกคนเป็นนักล่า ล่าความฝัน ล่าอะไรที่ได้มาแล้วมีความสุข คือ เป็นนักล่า เมื่อมาถึงแยกปทุมวันนี้ คาแรกเตอร์ของผม เหมือนกำลังแหวกว่ายในเมืองสยาม ค้นหาความเป็นสยาม
อีกอย่างนึ่งส่วนใหญ่งานคนอื่นจะเล่นกับระนาบแต่ผมเห็นสเปซแล้ว คิดว่าจะทำยังไงให้ตัวคาแรกเตอร์ของเราเด้งออกมาและอยู่ตรงนั้นจริงๆได้ เป็นเรื่องของมุมมองแล้วครับ ผมเลยใช้หลักสามมิติในการขับเน้นตัวงาน
ใช้สเปรย์กระป๋องพ่น งานมันจะยากตรงที่คนนึงต้องยืนในตำแหน่งที่เป็นมุมสายตาคนมองคนที่ผ่านมา คือจะต้องมีคนคอยจิ้มเลเซอร์กำหนดจุดวาด
ความพิเศษของมันคือ ถ่ายวิดีโอ เดินมาจากทางหอศิลป์เดินมาเรื่อยๆจากภาพที่เห็นหน้าคนยืดๆจะมาพอดีตรงจุดที่เรากำหนดเลยครับ”
ใครเดินผ่านนักล่าที่กำลังแหวกว่ายอยู่กลางสระบัว ลองถ่ายวิดีโอตามตำแหน่งที่ศิลปินแนะนำก็จะได้ชมศิลปะในเทคนิคที่ตื่นตาตื่นใจ

เมธี น้อยจินดา

เมธี น้อยจินดา

หนึ่งในศิลปินเพลงวงโมเดิร์นด็อกที่มีความสามารถทางด้านศิลปะแนวกราฟฟิตี กล่าวถึงการวาดรูปกบลงบนใบบัวว่าเกิดจากจินตนาการว่าพื้นที่นี้คือโอเอซีส
“ได้ยินว่าต่อไปจะมีเก้าอี้ให้คนนั่งด้วย เลยอยากให้อะไรที่เย็นๆสดชื่น เลยมีกบมาเกาะที่ใบบัว มีหยดน้ำมีอะไรที่เย็นๆ พอมาคิดว่าตรงนี้เป็นย่านเศรษฐกิจ เป็นย่านสำคัญของประเทศ เลยคิดถึงกบคาบเหรียญตามความเชื่อของคนจีน เลยจะมีเหรียญทองเพิ่มเข้ามาเป็นการเรียกเงินทองให้ไหลมาเทมา
เวลาทำงานก็ลำบากนิดนึงเพราะพ่นสเปรย์แล้วมันจะไหลโดนหน้า ก็ต้องใส่หน้ากากกันไว้ ใช้เวลาทำงานสองวันครับ ตั้งใจให้เป็นสีสะท้อนแสงหน่อย เพราะว่าเป็นแหล่งวัยรุ่น ทุกคนมาซื้อเสื้อผ้าแฟชั่นสีสันสดใส ถ้าเสร็จแล้วมันจะมีโน้ต มีรุ้ง เหมือนเป็นความสนุกของดนตรี ในพื้นที่ๆเย็นๆ ประมาณนี้ครับ”

trk

TRK

ศิลปินหนุ่มหน้าเข้มเจ้าของฉายา “วาดอะไรก็ออกมาเป็นเสือ” กล่าวถึงผลงานครั้งนี้ว่า
“ผมเขียนเสือกับช้าง คือตัวผมเองชอบเขียนอะไรที่มันบิดจากฟอร์มเดิมของสิ่งที่มีอยู่ เสือนี่ผมก็เขียนในรูปแบบผมเอง ผมจะเล่าว่าเสืออยู่มาในกลางเมือง เป็นเสือเมืองที่พร้อมจะบุกลุยไปเรื่อยแทนตัวเอง
ผมเป็นคนที่ไม่ว่าจะเขียนอะไรก็แล้วแต่มันจะออกมาเป็นเสือโดยทีผมไม่รู้ตัวเลย มารู้ตัวอีกทีผมเขียนเสืออยู่ทุกครั้งเลยทั้งๆที่ผมอยากเขียนตัวโน้นตัวนี้แต่มันกลายเป็นเสือทุกที
ในภาพนี้มีช้างที่ผมอยากสื่อว่าเป็นสัญลักษณ์ของกรุงเทพมหานคร แล้วเสือตัวนี้ก็อยู่ร่วมกันกับช้างได้ เหมือนวัยรุ่นห้าวๆอย่างผมที่เหมือนเสือ สามารถอยู่ร่วมกับช้างก็ได้ อยู่กับนกก็ได้”

ภาพ :ชาลินี ถิระศุภะ

ทางเชื่อมแยกปทุมวัน หรือลานลอยฟ้า เปิดแล้วแต่ยังไม่มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการ ใครมีไอเดียดีๆส่งชื่อเข้าร่วมประกวด”ตั้งชื่อ” ได้ที่ www.siam-synergy.com ชิงเงินรางวัล100,000 บาท ภายใน 4 กันยายน ศกนี้

ทางเชื่อมแยกปทุมวัน