อบอุ่นอารมณ์ไม้ Gingerbread House

อบอุ่นอารมณ์ไม้ Gingerbread House

บ้านไม้หลังเก่า ชวนให้ย้อนความทรงจำในวันวานที่วิถีแบบไทยๆ ยังคงเรียบง่ายงดงาม

ตื่นเช้าได้ยินเสียงนกร้อง ออกมานั่งเล่นนอกชานยามบ่าย แม้ทุกวันนี้จะเป็นเรื่องห่างไกล แต่ถ้าใครยังคิดถึง แนะนำให้มาที่นี่....

แพร่ เมืองที่เต็มไปด้วยเสน่ห์วิถีชีวิตเช่นในอดีต บ้านไม้สักยังคงมีให้เห็นทั่วไป เช่นเดียวกับเสื้อผ้าหม้อห้อม รวมถึงรอยยิ้มของผู้คนที่ไม่เคยจางหาย 

และถ้าอยากใช้เวลาอ้อยอิ่งอยู่ในเมืองเก่า Gingerbread House คือที่พักที่จะทำให้คุณรู้สึกไม่ต่างจากมาพักบ้านญาติ ด้วยอาคารที่ปรับปรุงจากบ้านไม้เก่าสองชั้น ชั้นบนทำเป็นที่พักอารมณ์วินเทจ ส่วนชั้นล่างเป็นร้านกาแฟ เปิดบริการทุกวันตั้งแต่ 8.00-17.00 น.

ด้วยความที่เป็นคนแพร่แต่กำเนิด เจ้าของ Gingerbread House ธีรวุธ กล่อมแล้ว เล่าว่า หลังจากเรียนจบจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และทำงานไกลบ้านอยู่หลายปี เริ่มมีความคิดว่าอยากกลับมาอยู่แพร่ 

“ผมเรียนด้านสถาปัตย์มา พอมาเดินเล่นในเมือง เห็นอาคารเก่าๆ เยอะ ก็เกิดไอเดียจากที่ได้เห็นในเชียงใหม่ว่า เขาเอาอาคารมารีโนเวททำเป็นธุรกิจเพื่อซัพพอร์ทการท่องเที่ยว ก็เลยซื้อบ้านไม้เก่าตรงนี้มารีโนเวท”

คอนเซ็ปต์ในการออกแบบได้แรงบันดาลใจมาจากเรือนขนมปังขิงที่มีชื่อเสียงของแพร่ อย่างคุ้มเจ้าหลวง, บ้านวงศ์บุรี กลายเป็นที่มาของชื่อ Gingerbread โดยปรับให้มีความเรียบง่าย และสะดวกสบายเหมาะกับการเป็นที่พักนักท่องเที่ยว

 

“ด้วยความที่แพร่มีชื่อเสียงมานานแล้วเรื่องไม้สัก อยากให้เขามาแล้วมานอนบ้านไม้แบบแพร่ๆ ว่าเป็นอย่างไรบ้าง แล้วก็ไม่อยากทำสเกลใหญ่กว่านี้เพราะดูแลกับแฟนสองคน ทำกันในครอบครัว ถ้าใหญ่มากก็คงไม่ไหว”

 

จากชั้นล่างซึ่งเป็นร้านกาแฟ บันไดไม้นำทางสู่ระเบียงเล็กๆ ด้านบน เสียงออดแอดดังขึ้นทุกครั้งหากลงฝีเท้าหนักไป ทำให้นึกถึงคำสั่งสอนของคนโบราณว่า “เวลาเดินอย่าลงส้น” นี่คงจะเป็นความนอบน้อมอย่างหนึ่งของคนสมัยก่อน เปิดประตูห้องเข้าไปด้านในตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์ไม้สัก มีอุปกรณ์เครื่องใช้ครบ ห้องน้ำแยกเป็นสัดส่วนด้วยผ้าม่านสีขรึม

“เฟอร์นิเจอร์ของเรามีทั้งของใหม่และของเก่า ถ้าเป็นของใหม่จะดีไซน์ให้เหมาะกับฟังก์ชั่นแล้วสั่งช่างที่อำเภอสูงเม่นทำ ส่วนเฟอร์นิเจอร์เก่าก็จะเป็นของพม่า ซื้อมาจากร้านขายของเก่า ด้วยความที่เป็นไม้สักทองมันก็จะมีเสน่ห์ ยิ่งใช้นานๆ ยิ่งสวย ไม้สักเป็นเฟอร์นิเจอร์ที่มีค่า ขายต่อได้ ไม่มีราคาตก ก็มีนะครับ..บางทีลูกค้าเขาชอบเขาก็สั่ง บางชิ้นถ้าขายได้เราก็ขายเลย” ธีรวุธ  บอก

เนื่องจากเป็นบ้านไม้เก่าพื้นที่มีไม่มากนัก ห้องพักจึงมีเพียง 3 ห้อง และเป็นเตียงเดี่ยวรูปแบบเดียว ใครที่มาเป็นครอบครัว หรือมีเด็กเล็กมาด้วยสามารถเสริมที่นอนได้

“ห้องเราจะค่อนข้างเล็ก แต่ก็พยายามให้คนที่มาพักได้สัมผัสบรรยากาศเหมือนบ้านไม้ สิ่งอำนวยความสะดวกพยายามให้ครบที่สุด แต่ว่ากระชับ เพราะว่าด้วยพื้นที่คงทำอะไรมากไม่ได้ แต่เราก็จะใช้พวกแสงไฟช่วยให้ห้องดูกว้างขึ้น และที่น่าจะเป็นเสน่ห์ของบ้านไม้ คือมันมีเสียงเวลาเดิน ซึ่งบางคนอาจมองว่าไม่มีความเป็นส่วนตัว แต่ด้วยความที่เราเป็นคนพื้นที่ เมื่อก่อนบ้านหลังหนึ่งมีห้องนอนห้องเดียวนะครับ แล้วนอนกันเป็นสิบ ผมยังเคยเห็นเขากั้นผ้าอะไรแบบนี้ก็เป็นเสน่ห์ดี เราก็อยากให้คนได้สัมผัสบรรยากาศอย่างนั้น”

ทำเลที่ตั้งถือเป็นข้อได้เปรียบโดยเฉพาะกับนักท่องเที่ยวที่ไม่ได้มีรถยนต์มาเอง Gingerbread House ตั้งอยู่บริเวณสี่แยกสภอ.เมืองแพร่ ห่างจากสนามบิน และสถานที่ท่องเที่ยวหลักๆ ในรัศมีไม่เกิน 2 กิโลเมตร 

“เราค่อนข้างเป็นเซ็นเตอร์ แล้วเราก็พยายามให้ข้อมูลนักท่องเที่ยว แนะนำให้เขาไปโน่นไปนี่ ไปดูเสน่ห์เล็กๆ น้อยๆ ที่อยู่ในแพร่ ถ้าเป็นคนที่มาพักกับเราก็มีจักรยานให้ ปั่นไปเที่ยวได้ไม่คิดสตางค์ ถ้าไม่อยากออกไปไหนก็นั่งเล่นในร้านกาแฟได้ มีไวไฟฟรี ชั้นบนพื้นที่ส่วนหนึ่งเราจัดเป็นแกลเลอรี่ เปิดพื้นที่ให้ศิลปินในท้องถิ่นมาจัดแสดงงานด้วย” 

ธีรวุธ บอกว่า อยากให้นักท่องเที่ยวได้มาสัมผัสเสน่ห์ของเมืองแพร่ ที่ไม่ใช่แค่เมืองเก่า แต่ยังมีเรื่องราวของศิลปะร่วมสมัยแทรกตัวอยู่ในเมืองเล็กๆ แห่งนี้

“ความจริงคนรุ่นใหม่ๆ เขาอยากกลับมาแพร่เยอะมาก ตอนนี้ก็มีการรวมกลุ่มกัน บางคนทำร้านกาแฟ ทำหม้อห้อมที่มีดีไซน์ ทำงานศิลปะ อีกหน่อยก็จะมีงานที่เหมือนเชียงใหม่ ที่เขาเรียกว่างาน nap น่าจะเป็นปลายปีนี้”

สำหรับใครที่ยังมองแพร่ผ่านๆ แนะนำว่าควรลองมาใช้ชีวิตสโลว์ไลฟ์ในเมืองแพร่สักครั้ง แล้วจะรู้ว่าเมืองนี้มีเสน่ห์มากแค่ไหน และถ้าใครมาพักที่ Gingerbread House เขามีบริการรับส่งถึงสนามบินเลยทีเดียว

“แพร่ยังเงียบสงบไม่วุ่นวาย ผู้คนเป็นมิตร เมืองมีความปลอดภัย ถ้าต้องการประสบการณ์ใหม่สไตล์ล้านนาตะวันออก ลองมาสัมผัสบรรยากาศทางเหนืออีกรูปแบบหนึ่ง แล้วคุณอาจจะเจอมุมเล็กๆ น้อยๆ ที่น่าประทับใจ” หนุ่มแพร่กล่าวเชิญชวน