เจาะลึก “มะเร็งลำไส้ใหญ่” ทำไมคนอายุน้อยป่วยโรคนี้มากขึ้น?

เจาะลึก “มะเร็งลำไส้ใหญ่” ทำไมคนอายุน้อยป่วยโรคนี้มากขึ้น?

ช่วง 10 ปีก่อนหน้านี้ อุบัติการณ์ “มะเร็งลำไส้ใหญ่” มักตรวจเจอในกลุ่มคนสูงอายุ 50-70 ปี แต่ในช่วงหลังมานี้ เริ่มพบผู้ป่วยที่มีอายุน้อยลงเรื่อยๆ ส่วนหนึ่งมาจากพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปและปัจจัยสิ่งแวดล้อมภายนอก

Key Points:

  • โดยทั่วไปอายุเฉลี่ยของผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่อยู่ที่ 50 ปีขึ้นไป แต่ปัจจุบันผู้ป่วยเริ่มมีอายุน้อยลง
  • นอกจากปัจจัยเสี่ยงทางด้านพันธุกรรมและพฤติกรรมแล้ว ปัจจัยภายนอก เช่น สิ่งแวดล้อม ก็สามารถเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้
  • สิ่งสำคัญสำหรับบุคคลทั่วไปคือการสังเกตอาการตัวเอง หากพบว่าเริ่มมีความผิดปกติจำเป็นต้องพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยอย่างละเอียด

“มะเร็งลำไส้ใหญ่” คือโรคมะเร็งชนิดหนึ่ง มีลักษณะคล้ายกันกับมะเร็งอวัยวะอื่นๆ ในร่างกายมนุษย์ เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ลำไส้ใหญ่ โดยเซลล์เกิดการแบ่งตัวแบบเพิ่มจำนวนจนควบคุมไม่ได้ ส่งผลให้เกิดเนื้องอก และเมื่อปล่อยให้เวลาผ่านไปเรื่อยๆ นานหลายปี ก็จะบ่มเพาะตัวเองเป็นเซลล์เนื้อร้าย และกลายเป็นมะเร็งที่พร้อมจะลุกลามแพร่กระจายไปที่อวัยวะอื่นๆ ของร่างกาย ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ที่ตรวจพบว่าเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่มักมีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป แต่ในปัจจุบันผู้ป่วยโรคนี้กลับมีอายุน้อยลง

ปัจจุบันพบข้อมูลจาก CNN ระบุว่า สัดส่วนของผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ในกลุ่มผู้ใหญ่ที่อายุน้อยกว่า 55 ปีเพิ่มขึ้นจาก 11% ในปี 1995 เป็น 20% ในปี 2019 นอกจากนี้ 60% ของผู้ป่วยโรคลำไส้ใหญ่และทวารหนักรายใหม่ในทุกช่วงอายุมักพบในช่วงระยะสองถึงสามแล้ว หรืออยู่ในอาการวิกฤติ

เจาะลึก “มะเร็งลำไส้ใหญ่” ทำไมคนอายุน้อยป่วยโรคนี้มากขึ้น?

สำหรับ “ปัจจัยเสี่ยง” ของผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่อายุน้อยในอดีต หากแบ่งกลุ่มตาม “ไลฟ์สไตล์” การใช้ชีวิตที่เพิ่มความเสี่ยงให้เกิดโรค ได้แก่ อาหารบางชนิด ไม่ออกกำลังกาย และน้ำหนักมากเกินไป แต่ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะยังมีข้อมูลระบุว่าแม้บางคนจะกินอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และมีน้ำหนักตัวตามมาตรฐาน ก็ยังป่วยเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้เนื่องจากปัจจัยสิ่งแวดล้อมภายนอก

 

  • สารพิษและปัญหาสิ่งแวดล้อมอีกหนึ่งตัวการก่อมะเร็งลำไส้ใหญ่

มะเร็งลำไส้ใหญ่และสิ่งแวดล้อม อาจดูเหมือนว่าไม่มีความเกี่ยวข้องกัน แต่ข้อมูลจาก CNN อธิบายว่า สารพิษในสิ่งแวดล้อม รวมถึงสารพิษจากอุตสาหกรรม มีความเชื่อมโยงกับอัตราการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในเมืองที่เคยเป็นที่ตั้งของโรงงานหรือมีโรงงานอุตสาหกรรมอยู่ 

นอกจากนี้มลพิษจากสารเคมีที่แผ่กระจายไปทั่วโลกกำลังคุกคามเสถียรภาพของระบบนิเวศทั่วโลกที่มนุษย์เราต้องพึ่งพาอาศัย ด้านข้อมูลจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติสหรัฐ รายงานว่าในปี 2020 มีการวิเคราะห์ปัจจัยในสิ่งแวดล้อมว่าเป็นสาเหตุที่เป็นไปได้ของมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักในระยะเริ่มต้น โดยมักจะมาจากปัจจัยด้าน มลพิษทางอากาศและน้ำ สารเคมีในดินและอาหาร และการใช้ยาฆ่าแมลง เป็นต้น

 

  • ปรับพฤติกรรม ลดความเสี่ยงมะเร็งลำไส้ใหญ่

ข้อมูลจากคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีระบุว่า ในประเทศไทย “มะเร็งลำไส้” พบมากเป็นลำดับที่ 4 หรือพบผู้ป่วยรายใหม่ 11,496 รายต่อปี อัตราการเสียชีวิต 6,845 รายต่อปี รองจาก มะเร็งตับ, มะเร็งปอด และ มะเร็งเต้านม, ตามลำดับ โดยสามารถแบ่งปัจจัยความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งได้ 2 ประเภท ดังนี้

1. ปัจจัยความเสี่ยงจากตัวบุคคล ได้แก่ กลุ่มผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปี ขึ้นไป, ผู้ที่คนในครอบครัวมีประวัติป่วยเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่, กรรมพันธุ์, ประวัติการเกิดติ่งเนื้อในลำไส้หรือประวัติลำไส้อักเสบ เป็นต้น

2. ปัจจัยความเสี่ยงจากสิ่งแวดล้อมและพฤติกรรม ได้แก่ การรับประทานอาหาร, ไม่ออกกำลังกายเป็นประจำ, มีน้ำหนักตัวมากเกินมาตรฐาน, สูบบุหรี่ และ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

ดังนั้นหากใครพบว่าตนเองกำลังตกอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากพฤติกรรมตัวบุคคล ก็จำเป็นต้องรีบปรับปรุงพฤติกรรมของตนเองเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากโรคมะเร็งที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต อาจเริ่มต้นง่ายๆ ด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ กินอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ส่วนปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมภายนอก เช่น สารพิษ หรือปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอื่นๆ เป็นปัจจัยภายนอกที่เราแก้ไขได้ยากกว่า ดังนั้นจึงจำเป็นต้องเริ่มที่ตนเองก่อนเสมอ

เจาะลึก “มะเร็งลำไส้ใหญ่” ทำไมคนอายุน้อยป่วยโรคนี้มากขึ้น?

 

  • เช็กอาการเบื้องต้น แบบไหนเข้าขาย “มะเร็งลำไส้ใหญ่”

สำหรับการสังเกตอาการเบื้องต้นว่าตนเองเข้าข่ายป่วยเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่หรือไม่นั้น สามารถสังเกตได้ด้วยตนเองในเบื้องต้น และหากพบว่ามีอาการผิดปกติดังต่อไปนี้ ก็จำเป็นต้องรีบพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดก่อนจะสายเกินไป

  • ท้องเสียสลับท้องผูกบ่อย
  • อึดอัด แน่นท้อง ปวดท้อง มีอาการท้องอืดบ่อยผิดปกติ
  • ถ่ายอุจจาระเป็นมูกเลือด
  • เบื่ออาหาร มีอาการอ่อนเพลีย กินอาหารได้น้อยลง
  • น้ำหนักลดลงผิดปกติ แม้ไม่ได้ควบคุมหรือลดปริมาณอาหารลง
  • คลำพบก้อนเนื้อที่ท้อง กดแล้วเจ็บ

สุดท้ายแล้วแม้ว่าสภาพแวดล้อมจะมีผลต่อการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ก็ตาม แต่สิ่งสำคัญก็คือการดูแลสุขภาพตัวเองให้ดีก่อน และไม่เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรค ซึ่งสามารถทำเองได้ด้วยการปรับพฤติกรรมในการใช้ชีวิตประจำวันและหากมีอาการน่าสงสัยก็ต้องรีบพบแพทย์ทันที

อ้างอิงข้อมูล : CNNคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และ รพ.พญาไท 3