"มนุษย์ออฟฟิศ" วัย 40+ เหนื่อยกับความเป็น "ซีเนียร์" ทำยังไงให้ไม่พัง?

"มนุษย์ออฟฟิศ" วัย 40+ เหนื่อยกับความเป็น "ซีเนียร์" ทำยังไงให้ไม่พัง?

เป็น "ซีเนียร์" มันเหนื่อย! เมื่อ "มนุษย์ออฟฟิศ" วัย 40 ขึ้นไป ท้อแท้กับหลายๆ บทบาทในชีวิต ทั้งด้านสุขภาพ หน้าที่การงาน การเงิน และครอบครัว จนนำไปสู่ความเครียดและ "วิกฤติวัยกลางคน" เปิดลิสต์วิธีฮีลใจให้กลับมามีพลังอีกครั้ง

Key Points: 

  • เจาะลึกสาเหตุ “วิกฤติวัยกลางคน” ที่มักเกิดกับกลุ่ม “พนักงานออฟฟิศ” รุ่น “ซีเนียร์” วัย 40 ปีขึ้นไป โดยเริ่มมีความรู้สึกท้อแท้กับหลายๆ สิ่งในชีวิต ทั้งด้านสุขภาพ หน้าที่การงาน การเงิน และครอบครัว
  • วัยกลางคน” นับเป็นห้วงเวลาที่คนเรามักจะเชื่อมโยงอดีต ปัจจุบัน และอนาคตว่า ตนเองกำลังเดินมาถึงจุดไหนของชีวิต ซึ่งภาวะดังกล่าวเป็นตัวแปรของความเครียด
  • สัญญาณเตือนของวิกฤติวัยกลางคน ได้แก่ ความผิดปกติทางอารมณ์ (หงุดหงิดง่าย โกรธ ฉุนเฉียว), น้ำหนักลดลง, นอนหลับไม่เต็มประสิทธิภาพ ฯลฯ

หนุ่มสาวหลายคนเริ่มทำงานในฐานะ “พนักงานออฟฟิศ” จนถึงวันนี้ก็ยังทำอยู่ บางครั้งก็เผลอลืมนับวันเวลา มารู้ตัวอีกทีอายุก็ก้าวเข้าสู่เลขสี่ไปแล้ว ซึ่งสิ่งที่ตามมากับความเป็น “ซีเนียร์” ในที่ทำงาน คงหนีไม่พ้นเรื่องหน้าที่การงานที่เปลี่ยนไปจากเดิม, ภาระงานมากขึ้น, ปัญหาสุขภาพ, ความกังวลด้านการเงิน, ภาระดูแลครอบครัว ฯลฯ หลายอย่างประดังประเดเข้ามาในชีวิตจนไม่รู้จะเครียดกับเรื่องไหนก่อนดี?

เมื่อมีหลายสิ่งที่ต้องรับผิดชอบ ทำให้คนทำงานรุ่นซีเนียร์มีอาการท้อแท้ใจกับสิ่งต่างๆ ในชีวิต เกิดเป็นความเครียดสะสม จนอาจนำไปสู่ภาวะเบิร์นเอาท์และซึมเศร้าได้ หากปล่อยร่างกายและจิตใจเครียดแบบนี้นานๆ คงไม่ดีแน่! 

กรุงเทพธุรกิจ ชวนทำความเข้าใจมนุษย์ออฟฟิศรุ่น “ซีเนียร์” ให้มากขึ้น พร้อมแนะนำวิธีรีเฟรชจิตใจให้สมดุล เพื่อให้กลับมาใช้ชีวิตได้อย่างสดชื่นและมีความสุขอีกครั้ง แม้จะมีเรื่องน่าปวดหัวมากมายก็ตาม

"มนุษย์ออฟฟิศ" วัย 40+ เหนื่อยกับความเป็น "ซีเนียร์" ทำยังไงให้ไม่พัง?

 

  • นาฬิกาชีวิตเปลี่ยนไป เมื่อก้าวสู่วัย “ซีเนียร์”

วัยกลางคน คือ วัยทำงานที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป เป็นช่วงเวลาที่ผู้คนมักใช้ไปกับการทบทวนตัวเอง มักจะเริ่มคิดว่าเราเคยเป็นใครมาก่อน ตอนนี้เราเป็นใคร และเรากำลังจะเป็นใคร นับเป็นห้วงเวลาของการเชื่อมโยงทั้ง อดีต ปัจจุบัน และอนาคตว่า ตนเองกำลังเดินมาถึงจุดไหนของชีวิต ซึ่งภาวะดังกล่าวเป็นสาเหตุให้เกิดความเครียด และเสี่ยงต่อภาวะที่เรียกว่า “วิกฤติวัยกลางคน” ได้

จุดสังเกตอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือ เมื่อมนุษย์งานก้าวเข้าสู่วัยซีเนียร์ การรับรู้ในเรื่องของ “เวลา” จะเปลี่ยนไป จากเดิมในช่วงวัยรุ่นเคยคิดว่าตอนนี้มีชีวิตอยู่มาแล้วกี่ปี? แต่เมื่ออายุมากขึ้นเรามักคิดว่ายังเหลือเวลาใช้ชีวิตอีกกี่ปี? นาฬิกาเรือนนี้เป็นสัญญาณเตือนให้เราเริ่มคิดว่าจะใช้เวลาที่เหลืออยู่นี้อย่างไรให้ดีที่สุด?

ความรู้สึกแบบนี้อาจค่อนข้างหดหู่ แต่หากมองในแง่ดี มันสามารถสร้างเป้าหมาย และเติมเต็มชีวิตให้วัยซีเนียร์ได้อย่างไม่น่าเชื่อ เมื่อความรู้สึกเหล่านี้เกิดขึ้น มันจะกระตุ้นให้เราตระหนักและให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง และใส่ใส่กับกิจกรรมตรงหน้ามากขึ้น เพราะเรื่องของเวลามีอิทธิพลอย่างมากต่อเป้าหมายชีวิตที่เหลืออยู่นั่นเอง

"มนุษย์ออฟฟิศ" วัย 40+ เหนื่อยกับความเป็น "ซีเนียร์" ทำยังไงให้ไม่พัง?

 

  • สัญญาณเตือน วิกฤติวัยกลางคน (Midlife Crisis) มีอะไรบ้าง? 

สัญญาณเตือนของวิกฤติวัยกลางคน มักแสดงให้เห็นได้ชัดทางด้านความผิดปกติทางอารมณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความโกรธหรือความหงุดหงิดเพิ่มขึ้น น้ำหนักลดลง นอนหลับไม่เต็มประสิทธิภาพ และการถอยห่างจากความสัมพันธ์ รวมไปถึงเรื่องของการตกงาน การนอกใจ การหย่าร้าง และการเสียชีวิตของพ่อแม่ ความกังวลทางการเงิน และความตาย

สิ่งเหล่านี้บีบคั้นให้มนุษย์ออฟฟิศต้องทำใจยอมรับความเป็นจริงของโลกนี้ให้ได้ หลังจากนั้นวัยทำงานจะมีความต้องการจัดระเบียบชีวิตเสียใหม่ พยายามทำความเข้าใจกับขีดจำกัดต่างๆ ของชีวิต และเผชิญหน้ากับความเสียใจที่ยังคงตามหลอกหลอนจากอดีต

นอกจากนี้ คนรุ่นซีเนียร์ยังต้องรับมือกับความเจ็บป่วยมากขึ้น เพราะเป็นวัยที่เริ่มจะได้พบเจอกับความเสื่อมโทรมทางด้านร่างกายและจิตใจ เช่น วัยหมดประจำเดือน อีกทั้งต้องดูแลพ่อแม่ที่แก่ตัวลง ในขณะที่ลูกๆ ก็กำลังเติบโตขึ้นทุกวัน ชีวิตของวัยกลางคนจึงเป็นช่วงเวลาแห่งความเครียด ทั้งเรื่องที่ทำงานและที่บ้าน

ที่น่าเศร้าไปกว่านั้น คือ คนส่วนใหญ่ไม่ต้องการบอกให้ใครทราบเกี่ยวกับความเครียดที่ตนกำลังเผชิญอยู่ ส่งผลให้ไม่สามารถมีความสุขกับชีวิตประจำวันได้เท่าที่ควร กลายเป็นเรื่องยากที่วัยกลางคนจะใช้ชีวิตได้อย่างราบรื่น

"มนุษย์ออฟฟิศ" วัย 40+ เหนื่อยกับความเป็น "ซีเนียร์" ทำยังไงให้ไม่พัง?

 

  • ทำอย่างไร ให้วัย “ซีเนียร์” ฝ่าฟันทุกความเครียดได้อย่างมีประสิทธิภาพ?

ชาวออฟฟิศวัยกลางคนอาจคิดว่า ตนเองแก่เกินไปสำหรับการทำกิจกรรมใหม่ๆ ที่น่าตื่นเต้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว ช่วงนี้คือเวลาเหมาะสมในการสำรวจประสบการณ์ใหม่ และมองหาโอกาสใหม่ในชีวิต โดยปกติช่วงอายุจะส่งผลต่อทัศนคติในการใช้ชีวิตของคนเราอยู่แล้ว ดังนั้น แม้ว่าคนเราจะไม่สามารถหลีกเลี่ยงช่วงเวลานี้ไปได้ แต่คำแนะนำต่อไปนี้ อาจช่วยให้คุณก้าวผ่านช่วงวิกฤติวัยกลางคนไปได้ 

1. ยอมรับและเข้าใจสภาวะอารมณ์ตนเอง : ให้ลองนึกว่าความเปลี่ยนแปลงในชีวิตครั้งที่ผ่านๆ มา อาจเป็นเรื่องดีที่ทำให้เราได้เรียนรู้ จากประสบการณ์ชีวิต ที่หลอมรวมให้เราเป็นเราในทุกวันนี้

2. ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง : อาจหันมาให้ความสำคัญกับสุขภาพมากขึ้น เช่น การออกกำลังกาย และพักผ่อนให้เพียงพอ

3. จัดการความเครียดอย่างเหมาะสม : ความเครียดเป็นสิ่งที่วัยทำงานพบเจอได้เสมอ ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงอายุไหน แต่เมื่ออายุมากขึ้นเราควรหาวิธีการจัดการกับความเครียดเหล่านั้นให้อยู่หมัด เช่น การนั่งสมาธิ ฝึกสติ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เป็นมิตรกับผู้อื่น ฟังเพลงหรือออกไปเที่ยวผ่อนคลาย สิ่งเหล่านี้จะส่งผลดีต่อสุขภาพจิตใจ

4. เปิดโอกาสให้ตัวเอง : การลองเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เช่น การทำกิจกรรมที่ไม่เคยคิดจะลองทำมาก่อน หรือการลงคอร์สเรียนร้องเพลง นอกจากจะช่วยบรรเทาความเครียดได้แล้ว อาจทำให้เรารู้สึกมีคุณค่ามากขึ้นได้ด้วย

5.ใช้เวลากับสิ่งที่รัก : การทำกิจกรรมที่ชื่นชอบ หรือกลับมาทำงานอดิเรกที่เคยชอบมากในวัยเด็กแต่ไม่ค่อยได้ทำตอนโต ก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ หรือลองทำกิจกรรมกับครอบครัวให้มากขึ้น

6. ปรึกษาแพทย์เมื่อมีปัญหาสุขภาพ : ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของโรคประจำตัว หรืออาการป่วยต่างๆ การเข้าไปปรึกษาแพทย์เป็นเรื่องที่สำคัญมาก สิ่งนี้จะช่วยคลายกังวลของเราได้

การเปลี่ยนผ่านของช่วงอายุอาจเป็นเรื่องที่ท้าทาย แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นได้เช่นกัน แทนที่เราจะกระโดดสู่การเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นอย่างทันทีทันใด ให้ลองทำแบบค่อยเป็นค่อยไป ใช้เวลาทำความเข้าใจกับตัวเอง เเล้วจัดลำดับความสำคัญอย่างเหมาะสม สุดท้ายแล้ว ชีวิตมนุษย์ออฟิศวัยซีเนียร์อาจเป็นช่วงเวลาที่สร้างประโยชน์ให้แก่เรามากกว่าที่คิด ถึงแม้ว่าเราจะมีความสัมพันธ์กับใครบางคนน้อยลง แต่ความสัมพันธ์ที่มีนั้นมักจะลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น และมีความหมายมากกว่าเดิม

----------------------------------------------

อ้างอิง : Psychologytoday1, Psychologytoday2, Pobpad