ชีวิตที่บาลานซ์ ต้อง "ทิ้งงาน" ให้เป็น WLB ฉบับ "นพ.นพดล นพคุณ"

ชีวิตที่บาลานซ์ ต้อง "ทิ้งงาน" ให้เป็น WLB ฉบับ "นพ.นพดล นพคุณ"

“การบาลานซ์ชีวิตและครอบครัวเป็นเรื่องสำคัญ อยากจะแนะนำทุกคนว่า เรื่องงานเมื่อถึงเวลาก็ให้ทิ้งไปบ้าง” คำแนะนำจาก “นพ.นพดล นพคุณ” ที่บอกกับ "กรุงเทพธุรกิจ" ถึงช่วงเวลาหนึ่งที่ทุ่มเททำงานหนัก จนอาจละเลยคนรอบข้าง และลืมดูแลใส่ใจสุขภาพตัวเอง

เส้นทางของ “นพ.นพดล นพคุณ” ในวัย 65 ปี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีเอ็ม เนิร์สซิ่ง แคร์ จำกัด (TMNC) บริษัทในเครือบริษัท เทคโนเมดิคัล จำกัด (มหาชน) (TM) เรียกได้ว่าผ่านการบริหารโรงพยาบาลขนาดใหญ่มาแล้วหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็น ผู้ร่วมก่อตั้งและบริหาร รพ.ราชธานี จ.พระนครศรีอยุธยา รวมถึงบริหาร รพ.ปิยะเวท และ รพ. ในเครือ BDMS

 

บุคลากร คือ ทรัพย์สินมีค่า

 

ที่ผ่านมา เรียกได้ว่าเป็นการทำงานที่ทุ่มเทในฐานะแพทย์และผู้บริหาร ตั้งแต่เรียนจบและได้ไปใช้ทุนที่ รพ.สมเด็จพระยุพราชกระนวน จ.ขอนแก่น โดยร่วมพัฒนาด้านสาธารณสุขจนเป็นที่รักของชาวบ้าน จนกระทั่งร่วมก่อตั้ง รพ.ราชธานี กับเพื่อนที่เป็นแพทย์อีก 5 คน ทำให้ได้เรียนรู้การบริหารงานบุคคล ออกแบบโรงพยาบาล ปรับการทำงาน เก็บเกี่ยวประสบการณ์ สร้างการเปลี่ยนแปลง และพัฒนาระบบบริการ ในการบริหารโรงพยาบาลต่อๆ มา

 

“นพ.นพดล” เผยว่า แนวคิดการบริหาร คือ คิดอยู่อย่างเดียวว่าทำอย่างไรให้องค์กรเจริญ ทำอย่างไรให้คนในองค์กรเก่งและมีความสุข เราทำงานเต็มที่ มองว่าทุกอย่างสามารถเป็นไปได้ สนับสนุนบุคลากร เพราะบุคลากรเป็นทรัพย์สินมีค่าขององค์กร ดูแลความเป็นอยู่และพัฒนา

 

"ผมไปอยู่ที่ไหนก็จะขอให้ปรับสวัสดิการพนักงานในทุกแห่ง เพราะรู้สึกว่าเขาทำงานให้เรา เราต้องดูแลเขา และองค์กรจะต้องเป็นองค์กรที่มีคุณภาพ โดยต้องมีการรับรองคุณภาพมาตรฐาน เพื่อต่อสู้กับตัวเองเพื่อรักษามาตรฐาน เน้นเรื่องของมนุษยธรรม ความถูกต้อง นี่คือแนวคิดในการบริหารงาน" 

 

ชีวิตที่บาลานซ์ ต้อง \"ทิ้งงาน\" ให้เป็น WLB ฉบับ \"นพ.นพดล นพคุณ\"

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

ครอบครัว คือ สิ่งสำคัญ

 

แต่ความสำเร็จ และการทุ่มเททำงานหนักก็เป็นอีกหนึ่งจุดที่ นพ.นพดล ยอมรับว่า เป็นสิ่งที่ผิดพลาด ในการบาลานซ์ชีวิต การทำงาน และครอบครัว รวมถึงการดูแลสุขภาพ จนกระทั่งวันหนึ่งที่ตัดสินใจ ยอมทิ้งรายได้มหาศาลเพื่อมาดูแลคุณพ่อที่อยู่ในภาวะติดเตียง

 

“ช่วงนั้นอยู่ที่ รพ.สมิติเวช ศรีราชา คุณพ่ออายุ 93 มีภาวะติดเตียงโดยมีพี่ชายดูแล ตนต้องเดินทางไปกลับศรีราชา กรุงเทพฯ จนกลับมามองว่าเราเป็นแพทย์ และคุณพ่อเป็นคนส่งเสียเราเรียน แต่เราไม่เคยดูแลแบบจริงๆ จังๆ จึงตัดสินใจลาออกจากผู้อำนวยการโรงพยาบาลเพื่อมาดูแลท่านโดยเฉพาะ”

 

“ทุกคนงงว่าเกิดปัญหาอะไรทำไมต้องออก ทิ้งทุกอย่าง รายได้มหาศาล และมาดูแลคุณพ่อ ผมบอกว่าผมตัดสินใจแล้วว่าจะมาดูแลท่าน คุณพ่ออยู่ได้ 2 ปี อายุ 96 ปีก็จากไปอย่างสงบ”

 

นพ.นพดล เล่าต่อไปว่า ขณะเดียวกัน การที่ต้องทำงานต่างจังหวัด จนแทบไม่ได้ดูแลลูกด้วยตัวเอง ทำให้ลูกไม่อยากเรียนแพทย์เพราะเขามองว่าแพทย์จะไม่ค่อยได้กลับบ้าน ซึ่งผมทำไม่ถูก ในขณะที่เพื่อนซึ่งเป็นแพทย์เหมือนกันเขาทำงาน กลับบ้าน ดูแลลูก และสอนลูก”

 

“นี่คือสิ่งที่เรายอมรับและปรับเมื่อเราอายุมากขึ้น ทำให้มองเห็นว่าครอบครัวสำคัญ และต้องบาลานซ์ใหม่ ปรับการใช้ชีวิตเรื่องงาน ครอบครัว ทุกวันนี้ภรรยามาช่วยที่เนอร์สซิงโฮม ส่วนลูกก็เรียนจบและได้ทำงานตามสายที่เขาชอบ ซึ่งเขามีความสุขเราก็มีความสุข มีเวลาว่างก็ทำกิจกรรมร่วมกัน รวมถึงโทรหาคุณแม่เช้าเย็นทุกวัน เพราะอยู่กันคนละบ้าน ไปหาท่านบ่อยขึ้น เพื่อให้ท่านมีความรู้สึกว่าเราอยู่กับท่านตลอดเวลา”

 

“การบาลานซ์การใช้ชีวิตและครอบครัวเป็นเรื่องสำคัญ อยากจะแนะนำทุกคนว่า เรื่องงานเมื่อถึงเวลาให้ทิ้งไปบ้าง”

 

ชีวิตที่บาลานซ์ ต้อง \"ทิ้งงาน\" ให้เป็น WLB ฉบับ \"นพ.นพดล นพคุณ\"

 

จากความฝัน “ผู้ว่าฯ” สู่แพทย์

 

“นพ.นพดล” เล่าย้อนให้เราฟังว่า จริงๆ แล้วความฝันในวัยเด็ก คือ การเป็นผู้ว่าฯ เนื่องจากตนเองเป็นเด็กเรียนเก่ง และมักจะได้ที่หนึ่งของจังหวัด ทำให้มีโอกาสรับรางวัลจากท่านผู้ว่าฯ ได้เห็นท่านไปนั่งแล้วมีคนต้อนรับ มีคนเคารพ ได้มอบรางวัล ตอนนั้นใครถามก็จะบอกว่า “อยากเป็นผู้ว่าฯ”

 

“จุดเปลี่ยน เริ่มจากการย้ายจาก จ.ชุมพร เข้ามาเรียนที่ โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ช่วงซัมเมอร์มีโอกาสไปออกค่ายกับจุฬาฯ ธรรมศาสตร์ และได้เห็นความเป็นอยู่ ระบบสาธารณสุขของชาวบ้านทำให้เริ่มเปลี่ยนความคิด เหตุการณ์ที่จำจนทุกวันนี้ คือ ช่วยชาวบ้านเกี่ยวข้าวแล้วเคียวเกี่ยวนิ้วเป็นแผลเหวอะ ต้องเย็บแผลที่อนามัย ไม่มียาชา เข็มทื่อ มีแต่ด้ายไม่มีไหมอย่างอื่น และมันเจ็บมาก ทำให้รู้สึกว่าชาวบ้านต่างจังหวัดเขาลำบาก นั่นเป็นส่วนหนึ่งที่เรามองว่าวิชาชีพนี้เป็นวิชาชีพที่ช่วยคน จึงตัดสินใจเลือกเรียน คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล”


ดูแลสุขภาพตั้งแต่อายุยังน้อย

 

สำหรับ เรื่องการดูแลสุขภาพ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ “นพ.นพดล” ยอมรับว่าที่ผ่านมาทำได้ไม่ดี การทำงานหนัก ทำให้แทบจะไม่ได้ออกกำลังกายเลย อาหารชอบอะไรก็กิน แต่โชคดีที่ไม่เป็นโรคเบาหวาน ความดัน และตอนหลังรู้สึกว่าร่างกายไม่ค่อยแข็งแรง จึงหันมาออกกำลังกายให้ร่างกายแข็งแรงขึ้น เพราะฉะนั้น การดูแลสุขภาพ คือ พยายามหาเวลาออกกำลังกาย วันละประมาณ 1 ชั่วโมง อย่างน้อย 3 วันต่อสัปดาห์

 

อีกทั้ง เริ่มกลับมาให้ความสำคัญเรื่องอาหาร ทานผักเยอะๆ เลิกทานน้ำอัดลม ทานกาแฟดำ เลิกปรุงเครื่องปรุง ขณะที่ การพักผ่อน ยังเป็นเรื่องที่พยายามปรับ เพราะบางครั้งเที่ยงคืนงานยังไม่เสร็จ คิดยังไม่จบ แต่หากหลับแล้วจะหลับยาว ความจริงคนเราควรเข้านอนอย่างน้อย 7-8 ชั่วโมงต่อวัน และควรนอนประมาณ 22.00 น.

 

“เพราะฉะนั้น แนะนำทุกคนว่าสิ่งเหล่านี้ต้องทำตั้งแต่อายุน้อย ข้อดี คือ เมื่อเราอายุมากขึ้นเราจะไม่เป็นภาระใคร ไม่ต้องกินยาเยอะ หากรู้จักการออกกำลังกาย ทานอาหารให้ครบห้าหมู่ ทานผักผลไม้เยอะๆ ทานแป้งน้ำตาลให้น้อย ทานโปรตีนพอเหมาะ และพักผ่อนให้เพียงพอ” นพ.นพดล กล่างทิ้งท้าย